ถกอนาคตกับดร. สันติธาร เสถียรไทย และสิ่งที่น่ากังวลกว่าการถูก AI แย่งงาน | Techsauce

ถกอนาคตกับดร. สันติธาร เสถียรไทย และสิ่งที่น่ากังวลกว่าการถูก AI แย่งงาน

เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 แต่ประเด็นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ยังคงเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางและเข้มข้น ตั้งแต่เวทีสภาเศรษฐกิจโลก World Economic Forum การเปิดตัว ChatGPT 4-o ของ OpenAI ไปจนถึงงานเปิดตัวนวัตกรรมทั่วทุกมุมโลก

Techsauce ได้พูดคุยกับ ดร. สันติธาร เสถียรไทย นักยุทธศาสตร์แห่งอนาคต อดีตผู้บริหารบริษัทเทคฯ และภาคการเงินระดับโลก เขายังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

นี่ไม่ใช่บทสนทนาว่าด้วยความกังวลหรือความกลัวของมนุษย์ที่มีต่อเทคโนโลยีอัจฉริยะ

แต่เป็นการขยับถอยหลังออกมามองภาพรวมและตั้งคำถามกับปัจจุบันและอนาคต

AI ไม่ใช่แค่เรื่องของนโยบายด้านเทคโนโลยี เพราะมันส่งผลกระทบกับทุกคน

AI ภัยคุกคามด้านแรงงาน?

“โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยคือ เราขาดคน เนื่องจากประชากรวัยทำงานกำลังลดลง โดยคาดว่าจะหายไปประมาณ 10 ล้านคนในอีก 25 ปีข้างหน้า แต่ผลิตภาพ (Productivity) ของเรายังต่ำอยู่ เหมือนกับโรงงานที่ขาดแคลนคน คนที่ยังทำงานอยู่ก็ไม่สามารถผลิตทดแทนได้ ดังนั้นเราจึงต้องเพิ่มผลิตภาพอย่างมหาศาล ถ้าหากเรานำ AI มาปรับใช้ก็อาจตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงานและการขาดทุนทางเศรษฐกิจได้ จะเห็นได้ว่าการใช้ระบบอัตโนมัตินั้นไม่ได้เข้ามาแทนที่ ‘คน’ เสมอไป” ดร.สันติธาร ชี้ว่าไทยขาดความพร้อมเชิงโครงสร้างและแรงงาน อีกทั้งยังมีผลิตภาพต่ำ ซึ่งฉุดรั้งศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำตั้งแต่ก่อนยุคโควิด-19 และยังฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน อัตราการเติบโตลดลงเหลือ 1.6%

แม้ว่าการมาถึงของระบบอัตโนมัติและ Generative AI จะมาพร้อมกับความเสี่ยง แต่เทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะโอบรับและนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างถูกต้อง

  • Automation: ใช้ระบบอัตโนมัติทำงานบางประเภท เช่น จัดการงานเอกสาร ทำให้ครูมีเวลากับนักเรียนมากขึ้น
  • Augmentation: นำ AI มาเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เช่น การวิเคราะห์ผลเอ็กซ์เรย์ การตรวจข้อสอบ
  • Inclusion: ใช้เทคโนโลยีเปิดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะและแหล่งความรู้ เช่น การเรียนออนไลน์ การตรวจเบาหวานผ่านตาด้วย telemedicine ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ห่างไกลเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง 
  • Innovation การเข้ามาของระบบอัตโนมัติจะทำให้คนมีเวลาเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือแม้แต่ยารักษาโรค ขณะที่ธุรกิจ SME ก็จะมีเวลาคิดแผนธุรกิจและยุทธศาสตร์มากขึ้น เมื่อไม่ต้องจัดการเอกสาร

"โจทย์ไม่ใช่ว่าเราควรจะควบคุม AI อย่างไร แต่ตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้เกิด Smart adoption ใช้อย่างสร้างสรรค์ ปลอดภัย รู้เท่าทันความเสี่ยง และทั่วถึง พอรู้แล้วมันก็เปรียบได้กับดาวเหนือที่จะช่วยเปลี่ยนมุมมองความคิดต่อ AI”

กฎหมายไม่ควรเป็น ‘จุดหมาย’ ในการออกนโยบาย

“หากมองประเทศสิงคโปร์ ในเชิงยุทธศาสตร์เขามอง AI เป็นนโยบายเศรษฐกิจ โดยสร้าง smart adoption ผ่าน 3 ปัจจัยหลัก นั่นคือ ด้านผู้ใช้ (demand) โดยขับเคลื่อนผ่านโปรเจ็กต์เรือธงที่นำโดยภาครัฐและเอกชนประมาณ 3-4 use case ด้านความสามารถของคน (supply) คนต้องมีความรู้พื้นฐานและใช้ AI เป็น ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างระบบการจัดการคน (pipeline talent) และกลุ่มสตาร์ทอัพด้าน AI ที่จะต่อยอดธุรกิจและบริการในประเทศ ตลอดจนมีสภาพแวดล้อม (trusted environment) กฎกติกาและจริยธธรรมที่จะช่วยลดความไม่แน่นอน ไม่ใช่ควบคุมอย่างเดียว เช่น จริยธรรมด้านสื่อ เพื่อให้นักเขียนหรือนักข่าวรู้ว่าสิ่งไหนที่ควรหรือไม่ควรใช้ AI เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล ละเมิดลิขสิทธิ์ และข้อมูลผิดที่เกิดจากอาการหลอนของ AI (Hallucination)”

“ผมไม่อยากให้กฎหมายเป็นจุดหมาย (goal) เพราะการร่างกฎหมายเป็นการสร้างกรอบขึ้นมา แต่ถ้ามันไม่ได้มาพร้อมกับความรู้ความเข้าใจของคน มันจะถูกทิ้งไว้แบบนั้น และไม่ได้ช่วยป้องกันเรื่องความปลอดภัย เรามีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำให้คนที่ต้องการใช้ข้อมูลทำได้ยากขึ้น แต่มิจฉาชีพทำได้เหมือนเดิมทุกอย่างเลย เพราะฉะนั้นกฎหมายไม่ควรเป็นจุดหมาย แต่เป็นเครื่องมือที่ควรนำมาใช้ประกอบกับเครื่องมืออื่นๆ”

ความเสี่ยงที่ถูกซ่อนอยู่ใต้พรม

ข่าวการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมกำลังหดตัวอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากบทวิเคราะห์ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรพบว่า ค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานของไทยเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2021 จากเฉลี่ย 57 โรงงานต่อเดือน เป็น 83 โรงงานต่อเดือนในปี 2022 จนกระทั่งต้นปี 2023 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง

ดร. สันติธารทิ้งท้ายว่าคนยุคต่อไปจะถูกแบ่งกลุ่มเป็น ‘คนที่ใช้ AI เป็น’ กับ ‘คนที่ใช้ AI ไม่เป็น’ โจทย์สำคัญคือการสร้าง AI literacy เพื่อให้คนมีความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัลและรู้เท่าทันความเสี่ยงจากปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังเสริมว่าความรู้เฉพาะทาง (domain knowlege) จะยังคงมีความสำคัญในยุคที่เราจะต้องแยกแยะและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจาก AI

“เรากังวลกันว่า AI จะมาแทนที่คนหรือเปล่า แต่มีอีกความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การปลดคนอีกจำนวนมาก นั่นคือ ถ้าเราไม่นำ AI มาปรับใช้ แต่ประเทศคู่แข่งเขาใช้กันหมด ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เราเก่ง แต่ประเทศจีนและประเทศอื่นใช้หุ่นยนต์ผลิตทั้งหมด ทำให้ราคารถถูกลงมาก ขณะที่ข้าวของแพงขึ้นและงานบางส่วนหายไป แต่เราจะไม่รู้เลยว่าทำไมของที่เคยขายได้ถึงขาดไม่ได้แล้ว ทำไมต้นทุนของเขาถูกกว่าเรามากมาย ทำไมเขากินส่วนแบ่งตลาดหมดเลย สุดท้ายอุตสาหกรรมของเราถูกพับหายไป เราคิดว่าเราสู้จีนไม่ได้ แต่จริงๆ เบื้องหลังมันอาจจะเป็นเรื่องของ AI และหุ่นยนต์ซึ่งจีนมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่า ทำให้ต้นทุนสินค้าของเขาถูกกว่า และผลิตได้มากกว่าเรา”

ถ้าเรามัวแต่กลัวและไม่ได้ทำอะไรเลย สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาทดแทนโดยที่เราไม่รู้ตัว

อ้างอิง: บทวิเคราะห์ "โรงงานไทยที่กำลังปิดตัวบอกอะไรเรา?" จาก KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

6 เทคนิคใช้ AI ยกระดับธุรกิจ SME ให้โดดเด่นและติดตลาดไว

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันกันอย่างดุเดือด การสร้างแบรนด์ที่โดดเด่นและเป็นที่จดจำไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจ SME ที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านทรัพยากรและงบประมาณ อย่างไรก็ตามป...

Responsive image

Startup Ecosystem จีน ถึงจุดต่ำสุด นักลงทุนหาย startup เกิดใหม่น้อย

‘จีน’ ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก เป็นตลาดส่งออกสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดของนักลงทุน…แต่ในตอนนี้ประเทศมหาอำนาจอย่างแห่งนี้กำล...

Responsive image

Gartner เผย! AI เป็นตัวการสำคัญ ทำค่าความปลอดภัยด้านข้อมูลทั่วโลกพุ่ง 15% ภายในปี 2025

Gartner เผยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าองค์กรทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านความปลอดภัยข้อมูล (Information Security) ที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์...