ทักษะ AI วันนี้ไม่มีไม่ได้แล้ว ใครเก่ง AI นายจ้างไทยยินดีจ่ายเงินเดือนเพิ่มให้ 41% ด้านคนทำงานเร่งพัฒนาทักษะ หวังสร้างงาน สร้างอาชีพให้ดีขึ้น
รายงาน Accelerating AI Skills: Preparing the Asia-Pacific Workforce for Jobs of the Future ฉบับล่าสุด ที่จัดทำโดย Amazon Web Service (AWS) และ Access Partnership ได้สำรวจการใช้งานและทักษะด้าน AI ของพนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 15,000 คน รวมถึงความเห็นจากนายจ้าง 5,000 คน โดยมีสาระสำคัญน่าสนใจดังนี้
นายจ้างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยินดีจ่ายเงินเดือนเพิ่มให้พนักงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้าน AI แม้ไม่ได้อยู่แผนก IT เช่น แผนก R&D (41%) การขายและการตลาด (39%) Business operation (39%) การเงิน (37%) กฎหมาย (33%) และทรัพยากรบุคคล (33%) สำหรับพนักงานในแผนก IT ที่ใช้ AI เป็นบริษัทยินดีให้เงินเพิ่มถึง 44%
ส่วนด้านคนทำงาน 93% เชื่อว่าการมีทักษะ AI จะส่งผลเชิงบวกต่ออาชีพการงาน ทั้งในแง่ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ความพึงพอใจในงานเพิ่มขึ้น และมีความก้าวหน้าในอาชีพ 4 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสอบถามจึงอยากพัฒนาทักษะด้าน AI และแยกตามช่วงอายุได้ดังนี้ Gen Z (87%), Millennial (88%), Gen X (79%) ส่วนด้าน Baby Boomer 68% เผยว่าจะเรียนคอร์สเพิ่มทักษะ AI หากนายจ้างเสนอให้เรียน
สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจนายจ้างพบว่ายินดีเพิ่มเงินเดือนให้คนมีทักษะ AI ถึง 41% มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย (54%)
จากการสำรวจ นายจ้างหวังว่าผลิตภาพขององค์กรจะเพิ่มขึ้น 51% จากการใช้ AI เช่น ทำให้งานซ้ำซากเป็นอัตโนมัติ (64%), ปรับปรุงขั้นตอนการทำงานและผลลัพธ์ (60%) และปรับปรุงการสื่อสาร (59%)
92% ของนายจ้างคาดว่าภายในปี 2571 องค์กรของตัวเองจะต้องใช้ AI ขับเคลื่อน และ 91% เชื่อว่าแผนก IT จะได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยหากเจาะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมจะเห็นว่าภาค IT เป็นผู้นำในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดย 97% คาดว่าจะใช้ AI ภายในปี 2571 ตามมาด้วยการธนาคารและบริการทางการเงิน (95%) และ ภาครัฐ (91%)
นายจ้าง 9 ใน 10 ในภูมิภาคนี้ (93%) และพนักงาน (90%) คาดว่าจะใช้ Generative AI ทำงานภายในห้าปีข้างหน้า
นายจ้าง 79% มองว่าการจ้างงานผู้มีทักษะและเชี่ยวชาญด้าน AI เป็นความสำคัญอันดับแรก แต่ 75% ไม่สามารถหาคนคนนั้นได้ นอกจากนั้นส่วนใหญ่ (79%) ของนายจ้างยังไม่รู้ว่าจะใช้โปรแกรมฝึกทักษะ AI ให้พนักงานยังไง
ด้านฝั่งคนทำงาน 71% ไม่รู้ว่าทักษะ AI ที่พวกเขาต้องมีคืออะไร และ 74% ยังขาดความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมเพิ่มทักษะที่กำลังเรียนอยู่ แสดงให้เห็นช่องว่างของสิ่งที่คาดหวังกับความพร้อมของแรงงานในปัจจุบัน โดยสำหรับประเทศไทยนายจ้าง 94% ให้ความสำคัญกับการจ้างคนมีทักษะ AI แต่ 64% ตอบว่ามีอุปสรรคที่จะตามหา ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดในภูมิภาค
สำหรับทักษะที่นายจ้างมองว่าจำเป็นนั้น รวมถึงทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ (57%) การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (53%) และจริยธรรม (36%) เป็นสามทักษะสำคัญที่สุด ที่ต้องบูรณาการใช้กับ AI
อ้างอิง: aboutamazon
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด