'Ash Maurya' เจ้าของไอเดีย Lean Canvas มาไทย แนะสตาร์ทอัพให้โตไวด้วยการลด 'ข้อผิดพลาดส่วนเกิน' | Techsauce

'Ash Maurya' เจ้าของไอเดีย Lean Canvas มาไทย แนะสตาร์ทอัพให้โตไวด้วยการลด 'ข้อผิดพลาดส่วนเกิน'

"เราจีบ 'Ash Maurya' มา 3 ปีแล้ว ในที่สุดก็ได้เขามาร่วม dtac accelerate Batch 5 ในปีนี้" คุณเหมง - สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมธุรกิจและดีแทค แอคเซอเลอเรท กล่าวอย่างมีความสุข

Ash Maurya ผู้คิดค้น 'Lean Canvas'

สำหรับผู้ที่อาจจะยังไม่คุ้นชื่อของ Ash Maurya (แอช มารียา) ถ้าบอกว่าเขาคือผู้เขียนหนังสือ 'Running Lean' ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่ Startup ต้องอ่าน และเป็นผู้คิดค้นโมเดล 'Lean Canvas' เฟรมเวิร์กโมเดลธุรกิจบนหน้ากระดาษแผ่นเดียวที่สตาร์ทอัพทั่วโลกนิยมใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้ธุรกิจเติบโต สตาร์ทอัพไทยทั้งหลายคงจะอยากรู้จักเขามากขึ้น

จากการสัมภาษณ์เพิ่มเติม Ash บอกว่า นี่เป็นการมาประเทศไทยครั้งที่สอง และเป็น Business Trip ครั้งแรกของเขาเลยทีเดียว โดย Ash เคยบรรยายในประเทศใกล้ๆ บ้านเราอย่างสิงคโปร์มาบ้าง แต่ก็ไม่บ่อยเลยจริงๆ ที่เขาจะมีโอกาสได้มาเยือน Southeast Asia

Ash มาแชร์อะไรให้ชาว dtac accelerate และสื่อ Techsauce ฟังบ้าง?

สาเหตุที่สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจ เนื่องจากสตาร์ทอัพไม่เข้าใจ 'ปัญหา' ในธุรกิจที่ทำจริงๆ ทำให้ธุรกิจที่ทำไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงเสียทั้งเวลาและเงินทุนในการผลิตสินค้าและบริการที่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค จึงต้องมีขั้นตอนต่อมา คือ การหาโซลูชันส์ที่เป็นไปได้ เพื่อตอบสนองกลุ่มคนที่ชอบลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ (Early Adopter) และต้องทดลองตลาด นำผลตอบรับมาพัฒนาสินค้าและบริการต่อไป

จากเดิมคนที่เริ่มต้นทำธุรกิจต้องเขียน Business Plan (แผนธุรกิจ) ยาวหลายสิบหน้าและต้องใช้เวลานาน Ash จึงคิดค้น Tool ที่ชื่อว่า 'Lean Canvas' เฟรมเวิร์กที่ช่วยให้สร้างธุรกิจได้เร็วขึ้นภายในหน้ากระดาษเดียว ซึ่งนำไปใช้ได้จริงและช่วยลดความผิดพลาดได้ คิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยให้สตาร์ทอัพเริ่มต้นจากคำถามว่า 'ทำไม' แล้วตอบทุกช่องในเฟรมเวิร์ก

สิ่งสำคัญของ Lean canvas อีกประการคือ การกำหนดดัชนีชี้วัดที่สำคัญ (Key Metrics) ในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนและประเมินผลได้ง่าย ซึ่งกำหนดเพียงแค่ 1-2 ดัชนีที่ตอบโจทย์หัวใจของธุรกิจก็ชัดเจนเพียงพอ ต่างจากยุคดั้งเดิมที่มีตัวกำหนดดัชนีชี้วัดการประเมินผลมากมาย แต่ดัชนีเหล่านั้นกลับไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ

ปัญหาที่สตาร์ทอัพทั่วโลกเผชิญ คือ เมื่อธุรกิจดำเนินไประยะหนึ่งจะเจอทางตันในการทำให้ธุรกิจเติบโต และเมื่อหาทางออกไม่เจอก็จะเกิดความล้มเหลว ซึ่ง Lean Canvas นี้ จะเป็นโมเดลที่ทำให้เห็นว่าสตาร์ทอัพจะโตได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้เป็นสตาร์ทอัพที่มีประสิทธิภาพ Ash กล่าว

แนวคิด Lean Canvas นี้ ไม่จำกัดการใช้เพียงแค่ในกลุ่มสตาร์ทอัพเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ในองค์กรใหญ่ๆ ได้ ขอเพียงผู้ใช้มีความคิดของการเป็นผู้ประกอบการในใจ (Enterpreneurial Thinking) ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Intel, Microsoft ก็มีการนำแนวคิด Lean Canvas ไปใช้ในการร่างแผนธุรกิจด้วยเช่นกัน

การตั้งคำถามและทดลองสมมติฐานเหล่านั้น ทำให้เรามองธุรกิจได้ชัดและกว้างมากขึ้น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจได้

Ash กับความคิดเห็นเกี่ยวกับสตาร์ทอัพไทย

ปัจจุบัน วงการสตาร์ทอัพมีความตื่นตัวและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมี Co-working Space มีโปรแกรมสนับสนุนสตาร์ทอัพ (Startups House และ Incubator Programme) จากบริษัทต่างๆ ตลอดจนเทรนด์ Corporate Venture Capital ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดีของวงการสตาร์ทอัพไทยที่มีสภาพแวดล้อมซึ่งเอื้อต่อการเติบโต

และบนเว็บไซต์ Lean Canvas เขายังเห็น Traffic จากคนไทยเข้าไปดูข้อมูลมากขึ้น พอมาเมืองไทยก็เห็นโมเดล เห็นวิธีการทำธุรกิจ ก็พบว่าคนไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ประกอบการมากขึ้นเรื่อยๆ

เทรนด์ของสตาร์ทอัพไทยในสายตา Ash

สำหรับประเทศไทย รูปแบบของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ที่เขาเห็น ยังเป็นแบบ 'Marketplace' สิ่งที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้สินค้าและบริการส่งไปถึงมือผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายได้ แต่ช่วงเริ่มต้นจะยากเพราะต้องหา Buyer-Seller ให้เจอทั้งคู่ ซึ่งก็ต้องเริ่มจากทำตลาดเล็กๆ ให้เกิดก่อน

ชีวิตนั้นสั้นเกินกว่าจะสร้างอะไรที่คนไม่ได้ใช้ขึ้นมา

Lean Canvas กับบริษัทใหญ่

เนื่องจากมีคนสนใจ Lean Canvas มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ เวลาครึ่งหนึ่งของ Ash จึงใช้ไปกับการเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทใหญ่ๆ เช่น Microsoft, Cisco, HP แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าออกมาแล้วและผู้ที่จะผลิตสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด ตลอดจนมหาวิทยาลัยชั้นนำ

วิธีสร้างยูนิคอร์น สตาร์ทอัพในประเทศไทย

การที่จะทำให้เกิดยูนิคอร์น สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ได้นั้น ต้องคิดอะไรให้ใหญ่ขึ้นก่อน คือต้องคิดถึงโซลูชันส์ที่แก้ปัญหาของคนทั้งโลก ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้น

ถาม Startup บ้าง มี Ash มาเทรนให้แล้วได้เรียนรู้อะไร

Seekster และ Tourkrub (ทัวร์ครับ) เป็นสองสตาร์ทอัพจาก dtac accelerate Batch 5 ที่ได้มาแชร์ความรู้ให้ฟัง

Seekster ได้แชร์ให้พวกเราฟังว่า Ash ได้มาสอนเรื่องการคิดแผนการทำงานอย่างมีระบบ เป็นสูตร 2-2-2 ให้มองภาพว่าอีก 2 ปีจะเป็นอย่างไรต่อ แล้วภารกิจที่จะต้องทำใน 2 เดือนนี้คืออะไร แล้วอะไรคือสิ่งที่จะต้อง Buid ก่อนได้ 2 สัปดาห์นี้

Tourkrub (ทัวร์ครับ) เล่าว่าตนได้ทำ Riskiest Assumption Test (RAT - วิธีทดสอบความเสี่ยงสูงสุด) ซึ่ง Ash จะคอยถามว่า ความเสี่ยงที่จะทำให้แต่ละช่องสั่นคลอนมีอะไรบ้าง แล้วก็จะคอยถามทีมว่า ทำไมถึงต้องเขียนแต่ละช่อง ต้องการจะวัดผลอะไรจากแต่ละช่อง (Metrics) ซึ่งทำให้ทีมมองภาพธุรกิจได้ลึกขึ้นและดีต่อการทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปอย่างมาก

หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของ Ash เป็นคีย์ลัดที่วัดผลได้ เครื่องมือที่จะทำให้สตาร์ทอัพโตไวขึ้นอีก

คำถามสุดท้าย Ash จะเขียนเรื่องอะไรเป็นเล่มต่อไป

แรงบันดาลใจที่ทำให้ Ash เขียนหนังสือเล่มแรกออกมาคือประโยคที่ว่า Life is too short to build something nobody wants (ชีวิตนั้นสั้นเกินกว่าจะสร้างอะไรที่คนไม่ได้ใช้ขึ้นมา) ซึ่งเมื่อคนส่วนใหญ่สร้างอะไรออกมาแล้วก็มักจะตกหลุมรักโซลูชันส์นั้นของตนเอง นั่นกลายเป็นหลุมพลางหนึ่งที่อาจนำมาสู่ความล้มเหลว

เล่มต่อไปที่เขาจะเขียนจึงเป็นภาคต่อ เพื่อจะบอกว่า 'อย่าตกหลุมรักโซลูชันส์ที่คุณคิด แต่จงตกหลุมรัก ปัญหา ของคุณ' ดังนั้น แนวการเขียนจึงเป็นคำถามและทางออกที่ว่า 'ทำไมเราจึงติดกับดักนั้น และจะมีวิธีเลี่ยงมันอย่างไร'

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...