สัมภาษณ์พิเศษ Asiola: Crowdfunding ที่มุ่งสร้างสรรค์งานศิลปะ ดนตรี แฟชั่น และอาหาร | Techsauce

สัมภาษณ์พิเศษ Asiola: Crowdfunding ที่มุ่งสร้างสรรค์งานศิลปะ ดนตรี แฟชั่น และอาหาร

พูดถึง Crowdfunding เรามักจะนึกถึงภาพของโปรเจคเทคโนโลยีเจ๋งๆล้ำสมัย นั่นทำให้ทีมงาน Techsauce รู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยที่ได้รู้จักกับ Asiola บริษัท Crowdfunding เพื่องานศิลปะโดยเฉพาะ อะไรคือที่มาของคอนเซปต์นี้? ยิ่งพอได้รับทราบชื่อของทีมงานเบื้องหลังแล้ว เรียกว่าไม่ธรรมดาแน่นอน ทั้งทายาทตระกูลดังสยามกลการ ศิลปินชื่อดัง รวมถึงผู้บริหารคนเก่ง ทีมงานจึงได้เดินทางมาเยี่ยมชมออฟฟิศที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุง บนอาคาร Siam Motors เพื่อมาพูดคุยกับ CEO หนุ่มไฟแรง จอน ลอร์  หนุ่มอเมริกัน-ไชนีส ที่จะมาเล่าถึง Asiola แบบเข้มข้น

อะไรคือที่มาของ Asiola ในการเป็น Crowdfunding ด้านศิลปะ ดนตรี แฟชั่น และอาหาร?

ในตอนแรกพวกเราต้องการจะทำเป็น Music crowdfunding เพราะในบรรดาหุ้นส่วนทั้งหมดหกคน หนึ่งในนั้นคือ ชานจิ ทานดาน เขาเคยเป็น MD ที่วาร์เนอร์ มิวสิค (Warner Music) ในประเทศอังกฤษ แถมเขายังเป็นหุ้นส่วนใน PledgeMusic ซึ่งเป็นเหมือน Music crowdfunding platform ในประเทศอังกฤษและอเมริกาด้วย เพื่อนผมคนนี้ก็อยู่ในแวดวงดนตรี ต่อมาเลยได้ชวนคุณ เจ มณฑล คุณขันเงิน เนื้อนวล (ไทยเทเนี่ยม) คุณพีท ประณิธาน พรประภา (KPN) รวมถึงชวนผม เข้ามาเป็น CEO และคุณคริส ฮวง มาเป็น CTO ครับ พอดีว่าผมมีพื้นฐาน Technology และ Marketing อยู่แล้ว พอมีกันครบทีม พวกเราก็ตกลงกันว่า Asiola จะไม่ทำแค่ Crowdfunding สำหรับดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่จะสนับสนุบความคิดสร้างสรรค์ในด้านอื่นๆ ด้วย

คุณ Jon Lor - CEO ของ Asiola

ที่ Asiola เกี่ยวข้องกับดนตรี เป็นเพราะพวกคุณมีแบ็กกราวด์ด้านดนตรี ถ้าอย่างนั้นศิลปะ แฟชั่น และอาหารล่ะคะ ทำไมถึงเลือกกลุ่มนี้ด้วย?

หลักๆของ Asiola คือการริเริ่มสร้างสรรค์ การรับผิดชอบในสังคม และการตอบแทนสังคม เราคิดว่าทั้งดนตรี อาหาร แฟชั่นและศิลปะ ล้วนเป็นเสาสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้เราจะยังทำอีก Category ในเดือนหน้าด้วย ซึ่งก็คือหัวข้อที่เกี่ยวกับชุมชน (Community) ประเด็นก็คือถ้าคุณมีทักษะเฉพาะทาง คุณสามารถต่อยอดทำผลงานแนวอื่นก็ได้ เช่น ถ้ามีทักษะด้านสถาปัตยกรรม ก็อาจจะสร้างบ้านสำหรับคนไร้บ้านก็ได้

เราได้ร่วมงานกับศิลปินดังๆหลายท่าน เพื่อคิดค้นไอเดียที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับสังคมได้ เรายังได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการรณรงค์รักษาความสะอาดในเมือง รวมไปถึงควบคุมการใช้พลาสติกที่ทำลายธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยก็ติดโผประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากเป็นอันดับต้นๆ และนี่คือปัญหาที่เราอยากจะให้ผู้คนได้ตระหนัก และได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่า

ในขณะเดียวกันเราทราบดีครับว่า คนไทยหลายๆ คนชอบติดตามดารา  ซึ่งเราก็เลยอยากทำให้มัน win-win นอกจากจะได้ทำแคมเปญที่เป็นประโยชน์แล้ว แฟนๆยังสามารถได้ใกล้ชิดกับศิลปินที่พวกเขาชอบ ไม่ว่าจะเป็นการให้คุณได้ไปอยู่ในห้องอัดเสียง ไปกินข้าวร่วมกันหรือทำกิจกรรมต่างๆ เป็นกิจกรรมที่ปกติแฟนทั่วไปไม่ได้มีโอกาสสัมผัส เป็นการส่งเสริม Personal connection ที่ผมมองว่ายังไม่มี Crowdfunding platform ตัวไหนทำในรูปแบบนี้เลย 

เห็นศิลปินที่เข้าร่วมเป็นศิลปินดังทั้งนั้นเลย แล้วอย่างนี้ศิลปินโนเนมสามารถเข้าร่วมได้ไหม?

มีคนถามผมไม่น้อยเลยครับ  เพราะเราเปิดตัวแต่กับศิลปินดังๆ จริงๆเราไม่อยากให้คนมองว่าเราเลือกแต่ศิลปินที่มีชื่อเสียง ในการเปิดตัวครั้งหน้าก็จะได้เห็นว่ามีศิลปินที่เพิ่งกำลังเริ่มสร้างชื่อเสียงอีกเยอะที่เข้ามาร่วมกับเรา

เหตุผลที่เริ่มต้นจากศิลปินดังก่อน เพราะเราเล็งเห็นว่าในไทย หลายคนยังไม่รู้จักว่า Crowdfunding คืออะไร พวกเขาไม่รู้ว่าแคมเปญคืออะไร จะริเริ่มความคิดอย่างไร เราต้องการจะกระตุ้นและดึงดูดให้เข้ามาเรียนรู้ทำความเข้าใจว่าตัวแคมเปญคืออะไร และเราจะได้อะไรตอบแทนจากการทำหรือการเข้าร่วมแคมเปญบ้าง

ศิลปินที่มีฐานแฟนอยู่แล้ว จะช่วยให้เราสามารถส่งสารไปหาแฟนๆ ของเขาได้เร็วกว่า เราได้เข้าไปหาศิลปินดังๆ และอธิบายให้พวกเขาฟังว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับเงิน มันเกี่ยวกับการเชื่อมต่อเข้ากับแฟนๆ ของคุณ มันมีมากกว่าการที่ยื่นอัลบัมเพลงแล้วให้คนซื้อ ถ้าเราอยากให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของอัลบั้ม เราควรจะทำอย่างไร ซึ่งนี้เป็นความคิดที่แตกต่างออกไป

ในที่สุดแล้วเราอยากจะเปิดกว้างให้กับทุกๆคน ไม่จำเป็นว่าต้องมีชื่อเสียงหรือไม่ มาเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

asiola screen2

Asiola กับความแตกต่างจาก Crowdfunding เจ้าอื่นๆ

เรามีความแตกต่างจาก Crowdfunding อื่นๆพอสมควร เราติดต่อกับศิลปินโดยตรงในทุกๆช่องทาง และไม่ใช่แค่คุยกับทางศิลปิน เราคุยกับฝ่ายผลิตชิ้นงาน เรามีการวางแผนล่วงหน้า เพราะฉะนั้นเราเข้าใจในทุกขั้นตอนของการผลิต ไม่ว่าใครจะทำอะไรและที่ไหนก็ตาม ในทุกๆงาน จะต้องมีการวางแผนขั้นต่ำ 6 - 8 สัปดาห์ Crowdfunding ส่วนใหญ่จะจ่ายเงินให้ แล้วไปลุยเองเลย แต่สำหรับเรา เรารู้สึกว่าควรจะต้องปกป้องผู้ใช้งานของเรา เพราะถ้ามีคนเอาเงินไปแล้ว แต่ผลิตผลงานออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร การทำงานของแพลตฟอร์มเราก็คือ เราจะไม่มีการจ่ายเงินทุนให้จนกว่าจะทำตามขั้นตอนให้เสร็จ

ได้ยินว่าได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรด้วย?

เราเป็น Startup รายแรกๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางธนาคารกสิกรไทย พวกเขาช่วยเหลือในเรื่องของระบบการชำระเงิน ช่องทางการสื่อสารและการทำตลาดครับ

ที่นี่เก็บค่าคอมมิชชั่น 20 เปอร์เซ็นต์ ดูเหมือนจะสูงกว่า Crowdfunding อื่นๆนะคะ?

บางคนอาจจะมองว่าดูสูงครับ แต่จริงๆสิ่งที่เขาจะได้รับถือว่าคุ้มค่ามาก เราทุ่มเทกันทั้งทีมให้กับงาน เราอยู่ในฝ่ายผลิตอีกด้วย ซึ่งแปลว่าเรามีการถ่ายทำ มีออกกองถ่าย เราทั้งคิดค้นไอเดีย ทำการตลาดให้อีก ซึ่งเราลงทุนกับการตลาดให้เยอะมาก ผลักดันออกสู่หลายช่องทางทั้งวิทยุ บิลบอร์ดและอื่นๆมากมาย เราทำมากกว่าแค่ใส่แคมเปญลงไปในแพลตฟอร์ม จึงกล่าวได้ว่าเรามีการบริการที่มากกว่า Crowdfunding ทั่วไปครับ

ช่วยเล่าถึงตัวอย่างเคสที่ประสบความสำเร็จหน่อยได้ไหมคะ?

รายแรกของเราสามารถปิดดีลได้ใน 30 - 45 วัน ในช่วงมกราคม รายหนึ่งคือ Wonderfruit กับอีกรายซึ่งเป็นทีมที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนที่อยากเข้าสู่วงการศิลปะ แต่ไม่รู้ต้องทำอย่างไร ถ้าคุณเดินผ่านถนนบางรักจะเห็นได้ว่ามีภาพวาดอยู่ตามผนังตึก เรารู้สึกดีมากที่พอได้ลงมือทำไอเดียต่างๆให้กลายเป็นจริงมันกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เราอยากให้คนอื่นๆคิดเหมือนกับเรา ผมคิดว่าสิ่งที่ Crowdfunding มีก็คือ เราสามารถร่วมมือกันผลักดันสิ่งดีๆต่างๆ อย่างเช่นงานศิลปะเป็นต้น

พวกเราเคยเห็นปรากฏการณ์ Painting ที่บางรักนี้ค่ะ ตอนนั้นก็สงสัยว่าใครทำ แล้วทำได้ยังไง ที่แท้ก็มาจาก Asiola นี่เอง

เราช่วยให้มันเกิดขึ้นได้ เพราะเป้าหมายคือ “Asiola จะช่วยทำให้ความฝันของศิลปินเป็นจริง” เราช่วยวางแผนการว่าควรจะออกมายังไง รวมไปถึงช่วยประชาสัมพันธ์ และใครจะมาเข้าชมผลงานเหล่านี้ ถ้าศิลปินไม่มีเงินที่จะใช้กับพวกสื่อ เราก็จ่ายตรงนี้ให้ สำหรับเราแล้ว สิ่งสำคัญก็คือ เรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อถ่ายทอดข้อความที่เราอยากจะบอกกับสังคม

Wall Injection : Bang Rak by Luke Satoru หนึ่งในแคมเปญใน Asiola

แผนต่อไปของคุณคืออะไรคะ?

เราจะเน้นในเรื่องของ Engagement การเข้าหาผู้คนและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ Crowdfunding และมีส่วนร่วมกับโครงการต่างๆ ผลักดันสังคมให้มากขึ้น เราไม่อยากเป็นแค่แพลตฟอร์มที่ใส่เงินไว้อย่างเดียว ซึ่ง Crowdfunding ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ สำหรับเรา เราอยากจะใช้ชีวิตที่อยู่นอกกรอบของแพลตฟอร์ม ผลักดันเนื้อหาและไอเดียที่ดี ในตอนนี้เหมือนว่าความคิดต่างๆ มาจาก Asiola เสียส่วนใหญ่ เราอยากได้ยินจากคนอื่นๆ ด้วย

แปลว่าในอนาคต คุณอยากให้แฟนๆ สามารถมีส่วนรวมในการสร้างสรรค์แคมเปญด้วยใช่ไหมคะ?

ใช่แล้ว มันจะดีมากถ้าหากแฟนๆ ได้ร่วมงานกับศิลปินที่มีชื่อเสียง ซึ่งมันไม่ใช่แค่การไปดูคอนเสิร์ตอีกต่อไป แต่เป็นการร่วมมือกันสร้างคอนเสิร์ตด้วยกันต่างหาก นั่นหมายถึงการร่วมงานกับศิลปินในรูปแบบที่คุณไม่เคยได้ทำ เราจะทำให้ศิลปินสามารถถามเสียงตอบรับจากแฟนๆ ได้ ว่าพวกเขาอยากให้งานออกมาในรูปแบบไหน ชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร ซึ่งมันน่าสนใจมากที่เราทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด และสร้างสังคมขึ้นมา นั่นคือสิ่งที่เราอยากจะไปให้ถึง

เป็นไอเดียที่ดีนะคะ เพราะดูเหมือนตอนนี้จะมีแต่ Instagram เป็นช่องทางเดียวที่แฟนๆจะได้เชื่อมต่อกับศิลปิน

ใช่เลยครับ ที่ Instagram คุณจะได้แค่เห็นอัปเดตชีวิตของศิลปิน แต่ที่นี่คุณสามารถร่วมทำอะไรกับศิลปินได้จริงๆ เพราะเราคือพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนไอเดีย จริงอยู่ที่อาจจะฟังดูเข้าใจยาก แต่มันไม่จำเป็นต้องซีเรียส แพลตฟอร์มของเราก็สามารถสนุกได้ ซึ่งเป็นความท้าทายของเราเหมือนกัน

มีแผนจะขยายไปด้านอื่นๆ นอกจากงานศิลปะไหม?

ด้านต่อไปที่เราจะขยายไปก็คือด้านชุมชน ซึ่งจะมีการร่วมงานกับศิลปินดังๆ เช่นเคย เราอยากให้ผู้คนได้รับรู้ว่ามีช่องทางการบริจาค และใครเป็นผู้บริจาคบ้าง ปัญหาก็คือไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจเท่าไหร่ ซึ่งเราไม่อยากจะแค่บริจาคเงิน และไม่รู้ว่าเงินของเราจะไปอยู่ที่ไหน สำหรับบางคนบริจาคเงินเพื่อสร้างบ้านให้คนยากไร้ ในขณะเดียวกันเราสร้างบ้านให้กับพวกเขาเลย เราเชื่อในการช่วยเหลือที่มากกว่าเงิน โดยที่มีเงินเป็นตัวช่วยเท่านั้น นอกเหนือจากชุมชนแล้วเราอาจจะไปในส่วนของกีฬาและการแสดง แต่เราไม่อยากจะขยายให้ใหญ่มากเกินไป เราแค่อยากเจาะจงและตั้งใจทำในสิ่งที่เราถนัดให้ดีก่อน

จากวิสัยทัศน์ต่างๆ ดูเหมือนคุณอยากให้ Asiola เป็นเหมือน Social enterprise เลยนะคะ?

ผมคิดว่ามันก็กำลังไปในทิศทางนั้นแหละครับ ก่อนหน้านี้เราก็แค่คิดไอเดียกันเล่นๆ แต่พอได้พัฒนาจริงๆ มันทำให้เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้ว มันไม่ได้เกี่ยวกับเงินไปเสียทุกอย่าง ไม่ได้เกี่ยวว่าเราจะต้องทำแคมเปญที่มีชื่อเสียงที่สุด เราอยากทำงานกับคนที่มีความเชื่อมั่น ยิ่งเรามีแพลตฟอร์มออนไลน์และศิลปินดังๆ ที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากมาย ผมคิดว่าเรามีทรัพยากรที่ดีสำหรับช่วยเหลือสังคม

แต่อย่างไรก็ดี Asiola ก็คือธุรกิจ Crowdfunding แหละครับ ตอนนี้เราเป็น Reward-based crowdfunding (การระดมทุนแบบให้ของตอบแทน) แต่เรามีแผนที่จะต่อยอดทำ Equity crowdfunding (การระดมทุนแบบให้หุ้นตอบแทน) ด้วย แต่สิ่งที่เราแตกต่างคือ Asiola ไม่ได้มองว่าจะเอาเงินจากไหนก็ได้เข้ามา เรามองว่าต้องเป็นเงินที่มาจากถูกที่ด้วย มันเกี่ยวกับการที่เอาไอเดียที่เหมาะสม ไม่ใช่ไอเดียจากไหนก็ได้ ไม่ได้เกี่ยวกับปริมาณ แต่อยู่ที่คุณภาพ และการทำสิ่งดีๆ

ในความคิดของคุณ อะไรคือปัจจัยสู่ความสำเร็จของการทำ Crowdfunding ทั้งในไทยและในระดับโลก

นอกจากเรื่องการเลือกกลุ่ม Target ที่มีศักยภาพแล้ว ปัจจัยความสำเร็จของ Crowdfunding  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย มีอยู่หลายปัจจัยทีเดียวครับ ผมมองว่าได้แก่

  1. การให้ความรู้ความเข้าใจ ว่า Crowdfunding คืออะไร และพวกเราทุกคนควรจะให้ความสำคัญกับมันมากขนาดไหน
  2. ต่อมา “ไอเดีย” ก็เป็นจุดสำคัญ โดยไอเดียต้องมีความเกี่ยวข้อง (Relevancy) ตามมาด้วยความเป็นเอกลักษณ์ (Uniqueness) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และความรับผิดชอบต่อสังคม (Social responsibility) การที่เราจะทำให้คนสนใจได้นั้น มันจะต้องเป็นอะไรที่เป็น “บางสิ่ง” สำหรับพวกเขา
  3. สุดท้ายก็การ Execute ไอเดียให้เกิดขึ้นจริง ถ้าไอเดียมันไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ (หรือเป็นเพียงการโฆษณา) ก็จะทำให้ประสบการณ์ผู้ใช้เสียหาย เพราะฉะนั้นสำคัญมากเลยที่ไอเดียและ Reward ที่ตอบแทนจะต้องเกิดขึ้นจริง ตรงเวลา และตรงตามที่ระบุไว้ การสร้างความเชื่อมั่นและความน่าไว้ใจให้ผู้ใช้ประจักษ์ มีความสำคัญมาก ไม่แพ้ขั้นตอนการสร้างไอเดียเลย

คุณมีแผนที่จะขยายไป SEA ไหมคะ? แล้วที่ไหนคือตลาดต่อไป?

เราเคยคุยกันเรื่องการขยายไป SEA ครับ อินโดนีเซียจะเป็นจุดเริ่มต้นก่อน แต่ถึงแม้ว่าการเติบโตไปทั่วภูมิภาคจะดูเป็นบทบาทที่ยิ่งใหญ่ พวกเรายังคงเลือกโฟกัสประเทศไทยให้ดีที่สุดเท่าที่พวกเราจะทำได้ สร้างธุรกิจ Crowdfunding ในประเทศนี้ให้ได้ คือเป้าหมายอันดับหนึ่งของเราครับ


การสนทนาเป็นไปอย่างสนุกสนาน สิ่งที่เราสัมผัสได้จากจอน คือพลังและความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจนี้ เราเชื่อว่า Asiola จะเป็นอีกหนึ่ง Startup ที่ช่วยผลักดันให้วงการเกิดโครงการที่มาพร้อมความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ อีกมายมาย ภายใต้การนำทีมของ CEO หนุ่มไฟแรงคนนี้

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเรื่องราวของ Asiola

  • Asiola เริ่มต้นมาจากการต่อยอดสิ่งที่ทีมมี นั่นก็คือประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในวงการดนตรี จากนั้นจึงค่อยต่อยอดไปยังวงการที่ใกล้เคียง
  • สร้างรูปแบบ Win-win ทั้งการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและแฟน และการตอบแทนสังคม ไปพร้อมๆ กัน
  • เนื่องจากยังเป็นแพลตฟอร์มที่ใหม่ จึงตั้งใจให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ กลุ่มผู้ใช้
  • สร้างมูลค่าโดยการเป็น Solution มากกว่าเป็น Online platform เพราะบริการดูแลตั้งแต่เริ่มต้นไอเดีย ไปจนถึงการช่วยส่งไอเดียให้เกิดขึ้นจริง

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...