ถอดบทเรียนความร่วมมือกับพันธมิตร FinTech กับการปลดล็อคนวัตกรรมทางการเงิน | Techsauce

ถอดบทเรียนความร่วมมือกับพันธมิตร FinTech กับการปลดล็อคนวัตกรรมทางการเงิน

ในงาน Techsauce Global Summit 2019 หนึ่งในเวทีที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามต่อเนื่องทุกปีก็คือ เวที FinTech โดยในปีนี้มีหนึ่งธุรกิจการเงินสำคัญที่เข้าร่วมงานเสวนาบนเวทีอย่างธนาคารกรุงเทพ ที่ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ทั้งในส่วนของการเข้าร่วมเสวนา และการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมแชทบอท (Chatbot) ภาษาไทย ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) 

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพยังเป็นธนาคารรายแรกของประเทศไทย ในการจัดตั้งโครงการ Bangkok Bank InnoHub โครงการบ่มเพาะ Startup กลุ่ม FinTech จากทั่วโลก โดยมีเป้าหมายสำคัญในการร่วมขับเคลื่อน ecosystem พร้อมทั้งร่วมส่งเสริมนวัตกรรม และเทคโนโลยีในประเทศไทย ตลอดจนสนับสนุนการเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนความรู้เชิงเทคโนโลยีกับพันธมิตรทั้งใน และต่างประเทศ 

สำหรับหัวข้อการเสวนาครั้งนี้คือ “Successful synergy – unlocking the power of partnerships” เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ของธนาคารในการสนับสนุน Startup กลุ่ม FinTech ทั้งในประเทศไทย และในระดับภูมิภาค ซึ่งดำเนินช่วงเสวนาโดย Mr. Ian Mason ผู้ร่วมก่อตั้ง Virgin Startup ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.เปาว์ ศรีประเสริฐสุข เจ้าหน้าที่บริหารระดับ Vice President ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรมจากธนาคารกรุงเทพ คุณกฤษณ์ พันธ์รัตนมาลา Investment Advisor บริษัท บัวหลวง เวนเจอร์ส จำกัด Mr. Richard Jones รองประธานอาวุโส APAC บริษัท AntWorks และ Mr. Varun Mittal, Global Emerging Markets & ASEAN FinTech Lead จาก Ernst & Young Advisory Pte. Ltd.

Successful Synergy – Unlocking the Power of Partnerships 

ในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจนั้น นอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสที่ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกันแล้ว ยังช่วยให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เร็วขึ้น ช่วยในการสร้างเครือข่าย การจัดการสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ การสร้างตลาด และเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ อีกทั้งยังช่วยในการเปิดมุมมอง และทักษะของพนักงานให้กว้างขึ้นอีกด้วย

เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลในการปรับกลยุทธ์ของธุรกิจธนาคาร อีกทั้งผู้บริโภคยังมีความคาดหวังให้ทางสถาบันการเงินมีจริยธรรม มีความรับผิดชอบ และซื่อสัตย์มากขึ้น เช่นเดียวกับการใส่ใจในความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้สถาบันการเงินแบบดั้งเดิมต้องมองหาแนวทางเพื่อรับมือกับคลื่น Digital Disruption อย่างเช่นการปรับแนวคิดที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าเป็นหลัก แม้ว่าองค์กรจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาปรับใช้ หรือนำผู้เชี่ยวชาญที่ดีที่สุดมาทำงาน ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะช่วยธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในการทำ Digital Transformation หากละเลยการทำความเข้าใจในความต้องการของลูกค้า จึงมีความจำเป็นที่องค์กรจะต้องทำงานร่วมกันกับผู้ออกแบบนวัตกรรม เพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของผู้ใช้ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า และรวมถึงการมุ่งเน้นเพื่อสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าเป็นหลัก

นอกจากนี้ ในการผลักดันให้มีการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หลายองค์กรในปัจจุบันยังได้มีการจัดตั้งโครงการ Accelerator หรือโครงการบ่มเพาะ Startup  เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร รวมไปถึงการสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่สำคัญ เพื่อสร้างโอกาสในการสำรวจ ทดลอง การนำวิธีคิด และวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ มาใช้ นำไปสู่การตอบโจทย์ และมอบประสบการณ์ที่ลูกค้าต้องการอย่างแท้จริง

พันธมิตรทางธุรกิจ’ ความได้เปรียบในโลกยุคดิจิทัล

ดร.เปาว์ ศรีประเสริฐสุข เจ้าหน้าที่บริหารระดับ Vice President ผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรม ธนาคารกรุงเทพ

โครงการ Bangkok Bank InnoHub Program เป็นโครงการบ่มเพาะกลุ่ม Startup ด้าน FinTech จากทั่วโลกรายแรกในประเทศไทย ที่ดำเนินการในฐานะตัวแทนการขับเคลื่อนเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร โดยการนำนวัตกรรมจากภายนอกมาปรับใช้  ทั้งนี้ ดร. เปาว์  ได้พูดถึงประโยชน์ของโครงการที่ได้จากความร่วมมือกันของทั้ง 2 ฝ่าย อาทิเช่น การพัฒนาโซลูชั่นจนก่อให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ๆ (Commercialization) ให้สามารถนำออกสู่ตลาดได้  พร้อมทั้งยกระดับ และพัฒนากลุ่มธุรกิจ FinTech จากทั่วโลกให้เกิดขึ้นในประเทศไทยในหลายด้านด้วยกัน

“โครงการ Bangkok Bank InnoHub เป็น FinTech Accelerator ที่ไม่ได้เพียงเฟ้นหา Startup จากแค่ในประเทศไทย หรือระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในสเกลระดับโลก นอกจากนี้ เรายังมุ่งเน้นไปที่การทำ Proof of Concept (POC) เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ของโซลูชั่นว่าสามารถทำงานร่วมกันกับธนาคารได้จริงหรือไม่”

ซึ่งหากทาง Startup สามารถผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ ก็จะนำไปสู่โอกาสในความร่วมมือในการนำผลิตภัณฑ์ หรือบริการมาต่อยอดในเชิงธุรกิจต่อไป อีกหนึ่งจุดแข็งของโครงการคือ การคัดสรร Mentor มาร่วมให้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาตลอดระยะเวลา 12 สัปดาห์ของโครงการ ซึ่ง Mentor ของ Season 2 ที่เพิ่งผ่านไปนี้ เป็นผู้บริหารจากหน่วยงานของทางธนาคาร ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ทั้งทางฝั่ง Startup ที่สามารถเรียนรู้ได้จากผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในธุรกิจอย่างแท้จริง นอกจากนี้ทางฝ่ายผู้บริหารก็สามารถเรียนรู้อย่างใกล้ชิดจาก Startup ในด้านของนวัตกรรม เทคโนโลยี วัฒนธรรมการทำงาน รวมทั้งแนวคิด และทัศนคติต่างๆ ที่จะสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานและการสื่อสารภายในองค์กรได้เช่นกัน

ในแง่ของเกณฑ์ในการเลือกพันธมิตร ดร. เปาว์ กล่าวว่า “ความน่าเชื่อถือของผู้ก่อตั้ง และทีมงาน และการมีเป้ามหายร่วมกันกับทางธนาคาร คือ สิ่งสำคัญที่ทางธนาคารใช้ในการพิจารณา ธนาคารมุ่งหวังให้ การสร้าง Partnership เป็นความร่วมมือที่จะก่อให้เกิด win-win situations ในท้ายที่สุด”

กุญแจสำคัญที่ใช้ในการเลือก Startup เพื่อตัดสินใจลงทุนในธุรกิจนั้นๆ คือ

  1. ความน่าเชื่อถือของ Founder และ Management Team 
  2. เป้าหมายร่วมกันในระยะยาวว่าสามารถส่งเสริมกันในเชิงกลยุทธ์ได้จริงหรือไม่

ประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับจากการเป็นพันธมิตร

  1. การได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจาก Startup พร้อมกับโอกาสในการค้นหาแนวทางใหม่ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์ พัฒนาและส่งเสริมด้านธุรกิจให้กับองค์กร
  2. Startup ในฐานะผู้คิดค้นโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า มักมีความใกล้ชิดกับลูกค้าค่อนข้างมาก ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถเข้าใจกลุ่มลูกค้าได้ดีมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
  3. ได้เรียนรู้วิธีการทำงานในรูปแบบของ Startup ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Agile รวมถึงวัฒนธรรมการทำงานที่สามารถนำมาปรับใช้ในองค์กรได้
  4. เพิ่มโอกาสในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ และรายได้ช่องทางใหม่ๆ มากขึ้น

ประโยชน์ที่ทางฝั่ง Startup จะได้รับจากการเป็นพันธมิตร 

  1. Startup ไม่ต้องหาแหล่งเงินทุนจากข้างนอก เพราะองค์กรสามารถที่จะลงทุนสนับสนุน Startup ได้โดยตรง
  2. ความท้าทายของ Startup คือการขยายธุรกิจ (Scalable) ด้วยการจับมือกับองค์กรขนาดใหญ่ จะทำให้ Startup สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าขององค์กรได้โดยตรง
  3. เมื่อเกิดความร่วมมือกันแล้ว ก็สามารถนำความสำเร็จที่เกิดขึ้นไปใช้อ้างอิงในการขยายตลาดในอนาคตต่อไปได้ 
  4. Startup จะได้รับความรู้ และคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงในโลกธุรกิจ

บทบาทของบริษัท บัวหลวง เวนเจอร์ส ในการสนับสนุน Startup และระบบ Ecosystem

คุณกฤษณ์ พันธ์รัตนมาลา Investment Advisor บริษัท บัวหลวง เวนเจอร์ส จำกัด

อีกหนึ่งพันธมิตรหลักที่มีความเกี่ยวข้องในการผลักดัน Startup Ecosystem และขาดไม่ได้เลย คือกลุ่มนักลงทุน ซึ่งนอกจากการสนับสนุนเรื่องเงินทุนแล้ว ยังให้คำแนะนำ และคำปรึกษาเพื่อช่วย Startup ให้เติบโตอย่างยั่งยืน และพันธมิตรดังกล่าวคือบัวหลวง เวนเจอร์ส คุณกฤษณ์ ได้เล่าถึงบทความที่เข้ามาเกี่ยวข้องในโครงการนี้ว่า 

“สำหรับบัวหลวง เวนเจอร์ส ในความร่วมมือกับโครงการ Bangkok Bank InnoHub เรามีเป้าหมายเดียวกัน โดยเล็งเห็นว่า Startup ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการนั้น มีศักยภาพและมีตลาดอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตามเพื่อที่จะเติบโตไปอีกขั้นกุญแจสำคัญคือทางเราจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการขยายธุรกิจในแนวทางที่ยั่งยืนต่อไป และสำหรับ Startup รายไหนที่มีศักยภาพ เรามีแผนที่จะสนับสนุนเงินทุนต่อไปในอนาคตด้วยเช่นเดียวกัน”

มุมมองการทำงานร่วมกันจากฝั่ง Startup

Mr. Richard Jones รองประธานอาวุโส APAC บริษัท AntWorks

ทางด้าน มร.ริชาร์ด ตัวแทนจากบริษัท AntWorks หนึ่งในสตาร์ทอัพจากซีซั่น 2 ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานร่วมกับโครงการฯ ในครั้งนี้ว่า “สำหรับเราแล้ว การได้ผ่านเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกของโครงการถือเป็นความสำเร็จและชัยชนะ เพราะเมื่อพิจารณาและเปรียบเทียบโครงการนี้กับโครงการบ่มเพาะนวัตกรรมอื่นๆ เราสามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่า เราได้พบกับพันธมิตรที่ใช่ เนื่องจากผู้บริหารมาพร้อมกับเป้าหมายที่ชัดเจนในการจับมือร่วมกับ Startup  สำหรับเราแล้วนี่คือ สิ่งที่แตกต่างอันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับธนาคารและสร้างตลาดใหม่ๆ ร่วมกันในอนาคต”

“นอกจากนี้ การผลักดันผลิตภัณฑ์สู่ตลาดท้องถิ่น และวิธีการทำธุรกิจบนพื้นฐานที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ดังนั้น การที่ได้ร่วมงานกับผู้คนที่เข้าใจธุรกิจ และเข้าใจตลาดท้องถิ่น โดยการมีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งอย่างธนาคารกรุงเทพนั้น จะช่วยให้การทำธุรกิจของเราบรรลุเป้าหมายได้”

เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลก FinTech ทาง มร.วรุณ ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ได้ให้คำตอบไว้อย่างน่าสนใจ “ในเวลานี้ช่องทางการให้บริการทางการเงินนั้นไม่ได้อาศัยเพียงแค่สาขาธนาคารอีกต่อไป ลูกค้าสามารถที่จะทำการฝาก หรือถอนเงินได้ที่ร้านค้าปลีก หรือสามารถใช้โทรศัพท์มือถือทำธุรกรรมทางการเงินได้ อีกทั้งตอนนี้มีหลายผู้เล่นที่ไม่ใช่ธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ให้บริการด้าน Ride-Hailing หรือด้าน E-Commerce ต่างมีช่องทางให้บริการทางการเงินในแพลตฟอร์มของตัวเอง ดังนั้น กุญแจสำคัญก็คือสถาบันทางการเงินจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นเสมือนระบบ SMS ในโลกของธุรกิจสื่อสาร ในขณะที่ผู้บริโภคต่างหันไปใช้ LINE หรือ WhatsApp กันไปแล้ว” มร.วรุณ ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด เพื่อให้เห็นว่า ในโลก FinTech ไม่เป็นเพียงแค่การจับกระแสของเทรนด์และเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว และตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างไรนั้นกลับเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่า

การสนับสนุน Ecosystem ของ  Bangkok Bank InnoHub นอกจากการเสวนาบนเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้ความรู้แล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญคือ การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมได้ทดลองปฏิบัติจริง โดยธนาคารกรุงเทพได้จัด Workshop ในหัวข้อ “Thai-language AI Chatbot Development Workshop (Google Dialogflow)” โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) และวิศวกรด้าน Machine Learning จาก Bangkok Bank InnoHub ได้ร่วมกันนำเสนอการพัฒนาโปรแกรมแชทบอท (Chatbot) สำหรับสร้างระบบโต้ตอบสนทนาอัตโนมัติภาษาไทย ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ผ่านเครื่องมือ Google Dialogflow พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองสร้าง Chatbot ภาษาไทย เพื่อสอบถามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วยตนเองอีกด้วย

ในที่สุดแล้วการขับเคลื่อนนวัตกรรมนั้นประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนคือ เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ, บุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และสามารถนำเทคโนโลยีนั้นๆ มาใช้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และสิ่งสุดท้ายคือ ความร่วมมือกันเพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่, Startup, นักลงทุน, พันธมิตรต่างๆ ในการช่วยกันผลักดันนวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้นจริง และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และนี่คือสิ่งที่ทางธนาคารกรุงเทพเล็งเห็นถึงความสำคัญ และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน  Startup Ecosystem นี้

บทความนี้เป็น Advertorial

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก เหลียง เหวินเฟิง CEO และผู้ก่อตั้ง Deepseek จากอดีตเฮดจ์ฟันด์ สู่ผู้ท้าทายยักษ์ใหญ่ AI โลก

รู้จัก เหลียง เหวินเฟิง ผู้อยู่เบื้องหลังของ DeepSeek จากอดีตผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ สู่ CEO และผู้ก่อตั้ง Deepseek ที่พกความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งส...

Responsive image

เปิดลิสต์ 3 ประเภท AI Startup ที่นักลงทุน VC สนใจมากที่สุดในปี 2025

ค้นพบ 3 ประเภท AI Startup ที่นักลงทุน VC ให้ความสนใจในปี 2025 ตั้งแต่โซลูชัน AI เฉพาะด้าน โครงสร้างพื้นฐาน AI ไปจนถึงระบบที่น่าเชื่อถือและยืดหยุ่น พร้อมโอกาสใหม่ในการสร้างธุรกิจที่...

Responsive image

วิเคราะห์บทบาท AI ด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญจาก AI House ที่ดาวอส

ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่จัดขึ้นที่ Davos นั้นหัวข้อสำคัญที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือบทบาทของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมพูดคุยถึง...