Ethereum (อีเธอเรียม) เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าตลาด หรือ Market Cap ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองมาจากบิตคอยน์ ถูกสร้างขึ้นในปี 2013 โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา Ethereum เกิดการอัปเกรดในทุก ๆ ปี ซึ่งในแต่ละครั้งก็ยังมีรายละเอียดและผลลัพธ์ต่อเครือข่ายที่แตกต่างกันไป ในบทความนี้จะพามาทบทวนการอัปเกรดของ Ethereum ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2013 เอกสาร Whitepaper ของ Ethereum ได้ถูกเผยแพร่ขึ้นโดยนักโปรแกรมเมอร์และคอมพิวเตอร์ชาวรัสเซีย-แคนาดาและผู้ก่อตั้ง Ethereum นามว่า Vitalik Buterin ซึ่งในขณะนั้นเขามีอายุเพียง 19 ปี โครงการของเขาก็ได้รับแรงผลักดันอย่างต่อเนื่อง
Image Source : CNN
ในปี 2014 มีการปล่อย Yellow Paper ที่เขียนโดย Dr. Gavin Wood ที่ให้คำจำกัดความทางเทคนิคของโปรโตคอล Ethereum และในปีเดียวกันนี้ยังเกิดการซื้อขาย ETH ด้วย BTC ขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งในปี 2015 ก็ได้มีการก่อตั้ง Ethereum Foundation ขึ้น และเปิดตัว Frontier ซึ่งเป็นเครือข่ายแรกตามแผนพัฒนาที่ได้วางไว้และก็มีการอัปเกรดเครือข่าย Frontier ในปีเดียวกันด้วยการเพิ่มขีดจำกัดและกำหนดค่าแก๊ส เริ่มต้นเป็น 51 Gwei
เหตุการณ์สำคัญครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ Ethereum เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2016 เมื่อองค์กรปกครองตนเองแบบกระจายอำนาจ หรือ DAO ที่ตั้งขึ้นเพื่อทำการระดมทุนสำหรับนำไปใช้ในโปรเจคใหม่เกิดถูกแฮ็กขึ้นมา โดยแฮ็กเกอร์สามารถขโมย Ether ได้มากกว่า 3.6 ล้านรายการ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะนั้น ทำให้ Vitalik และชุมชน Ethereum เลือกที่จะย้อนกลับการอัปเดตของบล็อกเชนการและสร้าง Ethereum เวอร์ชันใหม่ที่จะคืนเงินที่ถูกขโมยไปยังเจ้าของที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามมีชุมชนส่วนน้อยไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจนี้และยังคงใช้บล็อกเชนแบบเก่าต่อไป ส่งผลให้มีการสร้าง Ethereum Classic นั่นเอง
ในเดือนตุลาคม 2017 Ethereum ได้ทำการ Hard Fork ที่มีชื่อว่า Byzantium ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อมอบคุณสมบัติใหม่และการปรับปรุงให้กับเครือข่าย การอัปเกรด Byzantium ครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ต่อมาชุมชน Ethereum ก็ยังคงพัฒนาเครือข่ายด้วยการเปิดตัว Metropolis ในปีเดียวกัน การอัปเกรด Metropolis จะเพิ่มคุณสมบัติใหม่หลายอย่าง รวมถึงการแยกบัญชี ซึ่งทำให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันแบบกระจายอำนาจ (DApps) บนเครือข่าย Ethereum ได้ง่ายขึ้น
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 Ethereum ได้ทำการ Hard Fork อีกครั้งที่เรียกว่า Constantinople ซึ่งเป็นการปรับปรุงเพิ่มเติมให้กับเครือข่ายรวมถึงค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ลดลงและรางวัลการขุด อย่างไรก็ตามการ Hard Fork ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คาดไว้ และพบข้อบกพร่องหลังจาก Hard Fork ได้ไม่นาน ก็จำเป็นต้องมีการอัปเกรดเครือข่ายครั้งที่ 2 เพื่อย้อนกลับการเปลี่ยนแปลงของ Constantinople ดั้งเดิม โดยเรียกการอัปเกรดครั้งนี้ว่า St. Petersburg และเกิดขึ้นบนบล็อกหมายเลขเดียวกับ Constantinople ด้วย
ช่วงปี 2019 ได้เกิดการอัปเกรดชื่อว่า Istanbul ขึ้น ซึ่งช่วยเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายของรหัสต่าง ๆ เพื่อป้องกันบล็อกสแปมและปรับปรุงความยืดหยุ่นในการโจมตี อีกทั้งยังช่วยให้ Zcash สามารถทำงานร่วมกันได้มากขึ้น และในเดือนธันวาคม 2019 เครือข่าย Ethereum 2.0 ได้เปิดตัว ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงความสามารถในการปรับขนาดและความปลอดภัยของเครือข่าย
Ethereum 1.0 แบบดั้งเดิมใช้กลไกการตรวจสอบธุรกรรมที่เรียกว่า Proof-of-Work (PoW) แต่ Ethereum 2.0 จะใช้กลไกการตรวจสอบธุรกรรมแบบเดิมพันที่เรียกว่า Proof-of-Stake (PoS)" โดยที่ PoW และ PoS เป็นการทำให้เครือข่ายบล็อกเชนสามารถใช้งานได้อย่างมั่นคงและเป็นระบบที่สร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรม
Ethereum 2.0 หรือที่เรียกว่า Eth2 หรือ “Serenity” เป็นการอัปเกรดเป็น Ethereum blockchain การอัปเกรดมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความเร็ว ประสิทธิภาพ และความสามารถในการปรับขนาดของเครือข่าย Ethereum เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาคอขวดและประมวลผลธุรกรรมได้มากขึ้นพร้อมกัน เริ่มต้นเมื่อเดือนธันวาคม 2020 กับการอัปเกรดที่ชื่อว่า Beacon Chain
ต่อมาในปี 2021 เกิดการอัปเกรดที่ชื่อว่า Berlin Hard Fork ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพค่าธรรมเนียมแก๊ส ความเร็วการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น และความปลอดภัยที่ได้รับการปรับปรุง และตามติดมาด้วยการอัปเกรดที่ชื่อว่า London Hard Fork ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายอย่างกับเครือข่าย รวมถึงข้อเสนอ EIP-1559 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความผันผวนของค่าธรรมเนียมแก๊ส ส่วนการอัปเกรดที่ชื่อว่า Altair ในเดือนตุลาคม 2021 ก็ได้มีการปรับปรุง Beacon Chain หลายรายการ เช่น บทลงโทษใหม่สำหรับผู้ตรวจสอบที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม และการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมของเครือข่ายอีกด้วย
สุดท้ายในปี 2022 กับการอัปเกรดครั้งใหญ่ที่มีชื่อเรียกว่า The Merge หรือ Paris เป็นการอัปเกรดเพื่อรวมเครือข่าย Ethereum 1.0 ที่มีอยู่เข้ากับเครือข่าย Ethereum 2.0 ใหม่ ให้สามารถทำงานเป็นระบบเดียวกันได้ การอัปเกรดนี้ส่งผลดีอย่างมากให้กับเครือข่าย เช่น การรองรับปริมาณงานธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น และการใช้พลังงานที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
Image Source : Ethereum.org
ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมา การอัปเกรด Shapella ได้เสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย โดยก่อนหน้านี้ได้ถูกเรียกว่า Shanghai Hard Fork ซึ่งจะเป็นจะเป็นการอัปเกรดในฝั่ง Execution Layer แต่เนื่องจากในช่วงวันและเวลาดังกล่าว การอัปเกรดอีกเลเยอร์หนึ่งที่ได้ถูกวางแผนไว้แล้วเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ Capella ซึ่งจะเป็นการอัปเกรดในฝั่งของ Consensus Layer และนี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “Shapella” นั่นเอง การอัปเกรดครั้งนี้ส่งผลดีให้ผู้ใช้ stETH สามารถถอนเงินของพวกเขารวมถึงรางวัล Staking ที่เกี่ยวข้องได้ การถอนเหรียญบน Ethereum 2.0 อาจมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลง
อ้างอิง: Ethereum.org, Bitkub Blog, Consensys
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด