ไม่รู้ไม่ได้แล้ว! นี่คือ Key Messages จากวงเสวนา The Future of Thailand ก้าวต่อไปของประเทศไทย เมื่อโลกเปลี่ยน คุณพร้อมหรือยัง? ที่มีผู้นำความเปลี่ยนแปลงและผู้บริหารระดับสูง มาร่วมพูดคุยบนเวทีใน Bitkub Summit 2024 งานสัมมนาแชร์ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและสินทรัพย์ดิจิทัลระดับประเทศ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด 'Gateway to the Future: เปิดประตูเทคโนโลยีและการลงทุน สู่โลกอนาคตอย่างยั่งยืน' โดย บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ในระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2567 ณ เพลนารี ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
The Future of Thailand ก้าวต่อไปของประเทศไทย เมื่อโลกเปลี่ยน คุณพร้อมหรือยัง?
เซสชัน The Future of Thailand ก้าวต่อไปของประเทศไทย เมื่อโลกเปลี่ยน คุณพร้อมหรือยัง? เป็นวงเสวนาที่ คุณสุทธิชัย หยุ่น ผู้ดำเนินรายการ ชวนผู้ร่วมวงเสวนาพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตหรือก้าวต่อไปของประเทศไทยว่า ถ้าเปลี่ยนประเทศได้หรือกำหนดนโยบายได้ จะออกนโยบายอะไร และจะพาประเทศไปในทิศทางไหน โดย 3 ผู้ร่วมเสวนาที่มาพูดคุยกันอย่างออกรส ได้แก่
- คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อดีตนายกรัฐมนตรีไทย - คุณวราวุธ ศิลปอาชา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ - คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป
คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีไทย
- ถ้าให้เลือกทำเพียงนโยบายเดียวเพื่อเปลี่ยนประเทศ คุณอภิสิทธิ์ตอบว่า จะวางนโยบายด้านการเพิ่มทักษะใหม่ให้คนไทยที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบันและโลกในอนาคต โดยเล่าถึงสิ่งที่เคยนำเสนอไว้ในอดีตมา นั่นคือ การให้คูปองคนไทยเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ การเพิ่มทักษะใหม่ แทนการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินงานด้วยเพื่อเชื่อมโยงให้ 'เอกชนที่ขาดแคลนแรงงานและต้องการกำลังคน' มาเจอกับ 'คนที่ต้องการเพิ่มทักษะ' หากทำได้ ประเด็นนี้จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอีกทางหนึ่ง
- ประเทศไทยควรต้องปรับกฎระเบียบ ให้สามารถเปลี่ยนแปลงและทำอะไรได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้การประกอบธุรกิจยุคใหม่ ทำได้จริง โดยต้องปรับทัศนคติคนในภาครัฐก่อน เพื่อให้ทุกอย่างเปลี่ยน เช่น เลิกใช้กระดาษ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจใหม่ทำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น หรือหากเป็นเรื่องสุจริต ไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม ภาครัฐก็ควรอนุญาตให้ทำได้เลย แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องมีนายกฯ เกรด A ก่อน
- ต้องกระตุ้นให้ผู้คนเรียนรู้ว่า 'หยุดเรียนรู้ไม่ได้' เพราะความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ ปัญหาคือ คนที่อายุมากไม่ค่อยเรียนรู้สิ่งใหม่ สิ่งที่เรียนไปแล้วคิดว่าจะใช้ประกอบอาชีพเดียวจนเกษียณ แล้วมุ่งไปสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ยุคนี้ไม่ใช่ คนรุ่นใหม่คาดหวังที่จะมีชีวิตที่เป็นอิสระ ไม่สังกัดองค์กร อยากเป็นผู้ประกอบการ ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและมีทักษะที่กว้าง เพราะต้องรับผิดชอบองค์กร
- ให้ทุกคนลองคิดดูว่า อะไรคือสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เลียนแบบมนุษย์ได้ช้าที่สุด ซึ่งถ้ามองในมุมคนไทย คนไทยมีจิตใจบริการ มีอัธยาศัยดี และไทยก็มีจุดแข็งด้าน 'เศรษฐกิจภาคการดูแล (Care Economy)' ไม่ว่าจะเป็นการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วย การดูแลชุมชน ดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งทักษะการดูแลเป็นสิ่งที่ AI ทดแทนได้ยาก Care Economy จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยเติบโตได้
- ไทยกำลังสร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้น แต่แน่นอนว่ามันเกิดการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ต้องมีคนแพ้ เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสามารถทำให้เกิดการผูกขาดมากขึ้น และเสียอำนาจการต่อรองได้ อาทิ ผูกขาดโดยคนที่เป็นเจ้าของเครือข่าย ภาครัฐจึงต้องมีนโยบายออกมาต่างหากว่า จะแก้ความเหลื่อมล้ำอย่างไร เช่น ต้องปรับระบบภาษี ปรับกติกาที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
- 4 ประเด็นที่อยากฝากไว้
- เรื่องความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไทยจะตั้งรับอย่างเดียว ไม่ต้องการเลือกข้างแต่สุดท้ายก็จะถูกบีบให้เลือกข้าง เราจึงต้องรวมตัวกันในอาเซียนมากขึ้น ที่เราบอกว่าจะเป็น ประชาคมอาเซียน องค์ประกอบสำคัญคือ การข้ามพรมแดนได้อย่างเสรี แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเลย ทั้งที่มันจะตอบโจทย์เศรษฐกิจทุกฝ่าย นี่จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดความร่วมมือและเสริมบทบาทให้ภูมิภาคนี้ ช่วยกันคลี่คลายบทบาทของมหาอำนาจลงได้ เพราะภูมิภาคนี้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ รวมกันเป็นอาเซียนแต่ไม่เคยทำ 'ผลิตภัณฑ์ของอาเซียน' เลย จึงควรนำห่วงโซ่อุปทานมาเชื่อมโยงกันและส่งออกผลิตภัณฑ์ของอาเซียนอย่างยิ่ง
- เรื่องเทคโนโลยี เราต้องเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมเพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่
- เรื่องสิ่งแวดล้อม เราต้องพูดความจริง ว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ต้นทุนมันสูง รัฐจะจ่ายได้แค่ไหน เอกชนจะเฉือนเนื้อได้เท่าไหร่ ผู้บริโภคจะยอมจ่ายเพิ่มอีกเท่าไหร่
- เรื่องความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลจะสร้างโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อยได้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำลงได้
คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- ถ้าให้เลือกทำเพียงนโยบายเดียว คุณวราวุธบอกว่าในระยะสั้น ต้องการ Deregulation คือ แก้กฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศกระทรวง กำกับดูแลอย่างยืดหยุ่น ให้ทำบางเรื่องได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แล้วทำทุกอย่างให้เป็น Digitalization เพื่อให้คน Gen Y, Gen Z ที่มีศักยภาพมากได้แสดงความสามารถออกมา ร่วมกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อช่วยดึงศักยภาพคนออกมาในระยะสั้น
- หากเป็นนโยบายระยะยาว อยากให้กลับมาดูสิ่งที่เรามี นั่นคือ จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ Silver Economy เป็นตลาดที่ใหญ่ในอนาคต เนื่องจากช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยเกิดใหม่ลดลงกว่า 500,000 คน Gen Y, Gen Z, Gen Alpha จึงมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อย่ามองว่าสังคมสูงอายุเป็นภาระ แต่ให้มองเป็น 'โอกาส' ที่สังคมไทยควรตอบรับ สอดคล้องกับ Care Economy เพราะในอนาคต Sliver Economy จะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้คนไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
- ในด้าน ESG ประเทศไทยใส่ใจและทำเรื่อง E - Environment กับ G - Governance มากกว่าเรื่อง S - Social ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับเรื่องผู้สูงอายุที่ปัจจุบันมีอยู่ 13.5 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเยอะมากในอีก 30 ปีข้างหน้า ทำด้วยหรือเปล่า พาเดินไปด้วยกันหรือเปล่า
- การมีกฎระเบียบมากทำให้เกิดการจ่ายเงินใต้โต๊ะ หรือคอร์รัปชัน หรือมีส่วย มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ถ้าสามารถ Digitalization ได้ ลดขั้นตอนได้ การดำเนินงานต่างๆ จะเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดโอกาสที่จะเกิดคอร์รัปชันได้
- ต้องทำให้ภาคเกษตรและอาหารเป็น Business Titan จากสิ่งที่ประเทศไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว โดยเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ที่ประเทศไทยมีถึง 10% ของโลก หากทำได้จะทำให้ไทยเข้มแข็งในระยะยาว
- คนไทยต้องเพิ่มความคิดว่า เราต้องพึ่งแรงงานต่างชาติ ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยหาคนทำงานยาก หากไปร้านอาหารก็จะเจอแต่พนักงานต่างชาติ แล้วแรงงานต่างชาติก็มีระเบียบวินัยในการทำงาน ทำงานเก็บเงินแล้วส่งกลับไปที่บ้าน เราจึงต้องให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยได้ ซึ่งจะส่งผลดีคือ ทำให้เกิดการแข่งขันของแรงงาน และถ้าทำให้พวกเขาเข้ามาอยู่ในวงจรภาษี สร้าง Productitivity ให้ไทยได้ก็จะยิ่งดีต่อประเทศ
คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป
- คุณจิรายุสบอกว่า การให้เลือกทำนโยบายใดเพียงนโยบายเดียวเป็นเรื่องยาก เพราะโลกไม่เหมือนเดิมโดยมี '4 Major Changes ที่เปลี่ยนพร้อมกันและจะเปลี่ยนประเทศในอนาคต'ดังนี้
- 1) Geopolitics เปลี่ยนไป ไม่ใช่สหรัฐอเมริกาที่ใหญ่ประเทศเดียว แต่เกิดโลกที่แตกเป็นเสี่ยงๆ และไม่ได้ขับเคลื่อนด้วย Globalization อีกต่อไป แต่ขับเคลื่อนด้วย ‘Regionalization’
- 2) Fourth Industrial Revolution เราเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนกระบวนการทำงานทั้งหมด ดิสรัปต์ธุรกิจเก่าๆ ทั้งหมด
- 3) Green ทั้งเรื่อง Net Zero, Carbon Emission, Energy Transition และอีกหน่อย CBAM ก็จะเข้ามาเปลี่ยนกฎการแข่งขันทางธุรกิจทั้งหมด
- 4) Social Contract ที่เปลี่ยนไป คนอายุยืนมากขึ้น อายุเกษียณก็จะยืดออกไป ทำงานนานขึ้นเรื่อยๆ ผู้หญิงจะออกมาทำงานนอกบ้านและเป็นผู้นำองค์กรมากขึ้น
- หากมองแบบจัดลำดับความสำคัญ สิ่งที่อยากจะทำต่อจากคุณอภิสิทธิ์และคุณวราวุธกล่าวคือ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อหารายได้ใหม่ๆ เข้าประเทศ เพราะประเทศไทยติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมาเกือบ 20 ปี จึงต้อง 1) พัฒนาความสามารถของคน 2) ต้องเปลี่ยนกฎหมายให้ทันความเปลี่ยนแปลง แล้วก็ต้อง 3) ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้พร้อม อย่าพึ่งพาแต่ Physical Trade ของที่จับต้องได้ เช่น ข้าวหอมมะลิ ยางพารา รถสันดาป ให้ทำอย่างประเทศพัฒนาแล้วที่พึ่งพา Digital Trade, Service Trade, Digital Service Trade และ Free Trade เป็นกิจกรรมใหม่ที่สร้างรายได้และเพิ่ม GDP ยกตัวอย่างประเทศจีน ที่พัฒนาดิจิทัลจน 44% ของ GDP มาจากเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อหารายได้ใหม่ๆ ก็จะมาจากการใช้ AI, Big Data, 3D Printing, IoT Devices
- อยากให้ 'กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ' และ 'กระทรวงดิจิทัลฯ' เป็นกระทรวงเกรด A ของประเทศไทย และปรับงบประมาณมาให้สองกระทรวงนี้มากขึ้น สอดรับกับ Digital - Green Revolution ที่เข้ามาเปลี่ยนโลก
- Digitize เป็นเรื่องที่ต้องทำด่วนและสำคัญมาก ลองเข้าแอปดูว่า แอปไหนเป็นของคนไทยบ้าง อย่าง Facebook ก็ครองตลาดไทยไปแล้วและมันเกิด Network Effect Economy of Scale ดังนั้น ถ้าเราไม่ทำดิจิทัลให้เป็นสินค้าพรีเมียมไปบุกต่างประเทศ ไทยก็จะขาดดุลมหาศาลและติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงต้องมีนโยบายสนับสนุน ให้เกิด National Champion