เราได้ติดตามข้อมูลและข่าวต่างๆ เกี่ยวกับเรื่อง Bitcoin และ Blockchain กันมาสักพักแล้ว แต่ยังมีหลายเรื่องที่คนมักเข้าใจผิด หรือสับสนอยู่ วันนี้ Guest post จากทีม coins.co.th ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Bitcoin และ Blockchain ในประเทศไทย จะมาพูดถึง 5 เรื่องที่คุณต้องรู้ เกี่ยวกับ Bitcoin และ Blockchain
หลายคนอาจจะได้ยินคำๆ นี้คู่กันมาเสมอ โดยเฉพาะคนที่เคยหาข้อมูลมาบ้างแล้วว่า Blockchain คืออะไร แต่ที่จริงแล้วสองอย่างนี้ไม่เหมือนกันเลย Blockchain เป็นเหมือนฐานข้อมูล หรือ สมุดบัญชี ส่วน Bitcoin ก็คือข้อมูลหรือ Token ในสมุดบัญชี พูดกันง่ายๆ คือ Blockchain เป็นเหมือนอินเตอร์เน็ตค่ะ แล้ว Bitcoin เหมือน Google เราใช้อินเตอร์เน็ตค้นหาข้อมูลใน Google ก็ได้ เล่น Facebook ก็ได้ หรือจะอ่าน TechSauce ก็ได้ เท่ากับว่าเราจะใช้ Blockchain ในด้านอื่นๆ นอกจาก Bitcoin ก็ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเรื่องของ Smart Contract หรือ Copyright เป็นต้น เพียงแต่ Bitcoin คือการทดลองใช้งาน Blockchain เป็นครั้งแรก ซึ่ง Bitcoin Blockchain นั้นต่างจาก Blockchain แบบอื่นๆ และตอนนี้ก็เป็นเครือข่าย Blockchain ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั่นเอง
เราอาจจะเคยได้ยินกันมาว่า Blockchain เปิดให้คนทั่วโลกสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่ายได้ เรียกว่า Blockchain สาธารณะ หรือ Public Blockchain ซึ่งเป็นระบบที่ Bitcoin ใช้อยู่ตอนนี้ โดยทุกคนสามารถทำธุรกรรมผ่านระบบนี้ได้ ข้อดีก็คือ มีการแชร์ข้อมูลเพื่อการตรวจสอบได้แบบทั่วโลก เช่น ถ้ามีคนพยายามปลอมแปลงธุรกรรม เครือข่ายทั่วโลกก็ช่วยกันเช็คข้อมูลแล้วบอกว่า ข้อมูลนี้ไม่ใช่นะ แล้วการปลอมแปลงก็จะล้มเหลวไป ส่วน Blockchain แบบส่วนตัว หรือ Private Blockchain นั้นเหมาะกับการใช้ในองค์กร เพื่อจำกัดว่าใครจะสามารถเข้าถึงเครือข่ายนี้ได้บ้าง ใครจะอนุมัติธุรกรรมหรือการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ ในขณะที่ยังคงข้อดีของการกระจายศูนย์อยู่ ซึ่งระบบนี้มีความคล้ายกับ Shared database แต่สามารถให้ความปลอดภัยได้มากกว่า ป้องกันการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเนื่องจากเป็นการเข้ารหัสทางเดียว และเข้าถึงได้หลายคน โดยโอกาสหน้าเราจะมาเจาะลึกเรื่องนี้กัน
โดยปกติแล้วค่าธรรมเนียมการโอนเงินต่างประเทศนั้นค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8 -10% หรือมีค่าธรรมเนียมตายตัว เช่น 1,200 บาท แปลว่า อยู่ดีๆ เราคงไม่โอนเงิน 5 บาท 10 บาท ไปอเมริกา เพราะว่าค่าธรรมเนียมมันไม่คุ้มกันใช่ไหมล่ะ แต่เพราะ Bitcoin และ Blockchain ทำให้เราโอนเงินได้ฟรีหรือมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลงกว่าเดิมมาก ทีนี้จะฝากเพื่อนซื้อช็อกโกแลตกลับมาสักกล่อง โอนไป 20 บาทก็ได้ หรือว่าสิ้นเดือนเพื่อนตังค์หมด จะโอนเงินซัก 500 ไปให้เพื่อนซื้อมาม่าก็ได้ ไม่ต้องกลัวอดกันแล้ว อย่างมีบทความที่เคยกล่าวถึงการประยุกต์ใช้ Bitcoin ก่อนหน้านี้
คนมักพูดกันว่า Bitcoin นั้นเป็นนิรนาม เวลาโอนเงินไปไหนอะไรไม่มีใครรู้เลย แต่ที่จริงแล้วการทำธุรกรรมทั้งหมดนั้นจะถูกเก็บไว้ใน Blockchain แบบเป็นสาธารณะและถาวร เปลี่ยนแปลงไม่ได้ด้วย หมายความว่า คุณสามารถเห็นธุรกรรมทุกอันบนโลกนี้ได้
แต่ข้อที่แตกต่างก็คือ เราจะเห็นแค่ว่ากระเป๋า A โอนให้กระเป๋า B โดยไม่รู้ว่าเจ้าของกระเป๋าเป็นใคร ดังนั้นที่อยู่กระเป๋า Bitcoin ก็เหมือนนามปากกาของเรา เวลาเราอ่านหนังสือเราก็เห็นนามปากกา แต่ไม่รู้ว่าคนเขียนจริงๆ คือใคร ทีนี้แต่ละบริษัทที่ให้บริการกระเป๋า Bitcoin ก็จะมีนโยบายต่างกันค่ะ แล้วแต่กฏระเบียบของแต่ละประเทศ เช่น บางบริษัทก็จะต้องใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตน ถ้าหากมีข้อบังคับทางกฏหมายขึ้นมาก็สามารถตรวจสอบได้ เหมือนกับธนาคารนั่นเอง
ราคา Bitcoin อาจจะมีความผันผวนสูงในความคิดของหลายๆ คน แต่เราอยากให้มองว่าตลาด Bitcoin ก็เหมือนสระว่ายน้ำ ส่วนตลาดค่าเงินทั่วไปก็เหมือนทะเล ที่พอมีการกระโดดลงไป แน่นอนว่าคลื่นในสระว่ายน้ำก็ต้องมากกว่า เปรียบได้ว่า ถ้ามีเหตุการณ์มากระทบตลาด ในตลาดของ Bitcoin ก็อาจจะมีการผันผวนมากกว่า แต่ถ้ามีคนใช้มากขึ้นเรื่อยๆ สระว่ายน้ำนี้ก็จะกลายเป็นทะเลได้ ปัจจัยต่างๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดน้อยลง จนไม่มีผลกระทบในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม สระว่ายน้ำนี้มีมูลค่าเกือบหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว (อ้างอิงจาก https://coinmarketcap.com/) แล้วถ้ามาดูกันจริงจัง จะพบว่า ความผันผวนของเงินปอนด์ต่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 11.47% ส่วนความผันผวนของ Bitcoin ในช่วงเดียวกันอยู่ที่ 1.16% เท่านั้นเองค่ะ (อ้างอิงจาก https://btcvol.info/)
เป็นยังไงกันบ้างกับ 5 เรื่องที่คุณต้องรู้ เกี่ยวกับ Bitcoin และ Blockchain เราหวังว่าทุกคนจะชอบกัน ถ้ามีข้อสงสัยยังไงอย่าลืมเข้ามาพูดคุยสอบถามกันที่ coins.co.th แล้วไว้ติดตามตอนต่อไปกันนะคะ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด