กรณีศึกษา : Blockchain จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาคอรัปชั่นของรัฐบาลอย่างไรได้บ้าง? | Techsauce

กรณีศึกษา : Blockchain จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาคอรัปชั่นของรัฐบาลอย่างไรได้บ้าง?

Blockchain เทคโนโลยีที่มีคุณสมบัติหลักในเรื่องความปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้  และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Blockchain มีศักยภาพในการช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ประโยชน์ ภาครัฐบาลก็สามารถนำมาใช้ในการบริหารประเทศได้เช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกต่างทุ่มงบประมานในการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานและบริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญก็สามารถช่วยรื้อปัญหาใหญ่อย่างการคอรัปชั่นได้ด้วยเช่นกัน 

เพราะการคอรัปชั่น คือ Pain Point ของการบริการประชาชน ที่ต้องได้รับการแก้ไข

สมัยนี้ทุกสังคมการทำงานต้องการ … คนเก่งและคนดี ที่ควบคู่กันไป เพราะถ้าย้อนกลับไปในยุคก่อนหน้านี้ในสังคมมักจะมีคำถามที่บังคับให้ต้องเลือก ระหว่างคนเก่งกับคนดีอยู่เสมอ คนเก่งอาจจะวัดได้จากผลงาน แต่คนดี นี่บางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะต้องวัดอย่างไร มาตรฐานอะไรถึงจำกัดความได้ โดยเฉพาะในหน่วยงานขนาดใหญ่อย่างรัฐบาล ซึ่งการที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นนี้ นำมาซึ่งการเพิ่มโอกาสในการทุจริตมากขึ้น จากระบบการทำงาน

เพราะถ้าระบบการทำงานมีประสิทธิภาพ คนก็จะพึงพอใจที่จะอยู่ภายใต้ขอบเขตของระบบนั้น แต่ในทางกลับกันถ้าหากไม่มีประสิทธิภาพ คนจำนวนมากก็มักจะหาวิธีในการแก้ไข และในขณะเดียวกันระบบที่เป็นธรรมก็จะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ถ้าไม่เป็นธรรม ในทางกลับกันก็จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้คนหาทางเลือกที่ผิดกฎหมาย โดยที่พวกเขาจะไม่รู้สึกสำนึกผิดอะไรเลย เพียงเพราะรู้สึกไม่เป็นธรรมจากระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ

จากรายงานของ Transparency International ในปี 2021 พบว่าดัชนีการคอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index: CPI) ของไทยอยู่ในอันดับที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ซึ่งแย่ลงกว่าปีก่อนหน้า แล้วยังเป็นหนึ่งในกลุ่ม 27 ประเทศที่ได้คะแนน CPI ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในเชิงเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2012  (คำนวนจากระดับความรู้สึกเกี่ยวกับหรือการมองปัญหาคอร์รัปชั่นในภาครัฐของแต่ละประเทศ)  

อย่างไรก็ตามเราก็ได้เห็นความพยายามในการแก้ปัญหานี้มาอย่างยาวนาน ในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งหน่วยงานเพื่อมาตรวจสอบ ออกแคมเปญเพื่อรณรงค์ เพิ่มเนื้อหาในบทเรียน รวมถึงแต่งเพลง เพื่อสร้างค่านิยมและปลูกจิตสำนึก แต่ก็ยังไม่เห็นผลที่ออกมาเป็นรูปธรรม

ทั้งหมดนี้เรากำลังเกริ่นนำถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการทำงานของรัฐบาลที่ทำให้เกิดการคอรัปชั่น ที่ไม่ได้มองแค่ในประเทศไทย แต่เหล่านี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งแนวคิดในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจากความผิดพลาดในการทำงานของมนุษย์ และแก้ปัญหาการโกงที่ไม่สามารถตรวจสอบได้จากความไม่โปร่งใส่ เทคโนโลยีนี้คือ Blockchain 

Blockchain จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาคอรัปชั่นอย่างได้บ้าง ?

สำหรับประเทศไทยนับว่าทางรัฐบาลมีความสนใจในการนำเทคโนโลยีอย่าง Blockchain เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวไม่น้อยเลยทีเดียว จากการที่นายกรัฐมนตรีถึงกับได้มีการออกคำสั่งกลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ทุกภาคส่วนศึกษาในการนำ Blockchain มาใช้บริหารประเทศ เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาตร์ชาติ

ดังนั้นในบทความนี้เราจึงได้หยิบยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่าในเบื้องต้น Blockchain จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการคอรัปชั่น ที่เป็นสิ่งฉุดรั้งประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานราชการอย่างไรได้บ้าง 

Blockchain ต้านโกงในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง 

หนึ่งในกระบวนการทำงานที่พบการโกงได้บ่อยก็คือขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยงบประมาณปี 2013 สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลในประเทศกลุ่ม OECD มีมูลค่า 4.2 ล้านล้านยูโร (ประมาณ 155 ล้านล้านบาท) 

จากการประมาณการของ OECD คาดว่า 10-30% ของงบสาธารณะจะสูญหายไปจากการทุจริตในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยจำนวนเงินที่มากขนาดนี้จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการทุจริต โดยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่และบริษัทคู่ค้าทำให้ง่ายต่อการปิดบัง หรือซ่อนการกระทำผิด 

ดังนั้น Blockchain จึงมีศักยภาพในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ …

ในขั้นตอนการวางแผนเจ้าหน้าที่จะสร้างเกณฑ์การประเมินผล ซึ่งการพิจารณาให้คะแนนขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ จึงอาจมีความไม่เป็นธรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง รวมถึงเกณฑ์การประเมินอาจมีการเปลี่ยนแปลงย้อนหลัง หรือมีการแก้ไขใบเสนอราคาของบริษัท เพื่อให้ได้บริษัทที่ตกลงกันไว้ เป็นต้น

โดยการใช้ Blockchain ในขั้นตอนนี้จะทำให้ทุกอย่างถูกบันทึกไว้ และถ้าเกิดการแก้ไขก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นคนแก้ และแก้เมื่อไหร่

นอกจากนี้ Blockchain ยังทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการสามารถติดตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ เพราะมากกว่าครึ่งหนึ่งของคดีสินบนในประเทศต่างๆ มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องและปิดบังสื่อเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน รวมถึงกีดกันประชาชนให้ติดตามไม่ได้ การใช้บล็อกเชนจึงทำให้ประชาชนเห็นทุกขั้นตอนในกระบวนการทำงานทั้งหมดได้แบบ Real-time และสามารถเช็คคุณสมบัติหรือคุณภาพจากการทำงานได้ด้วย

ปัจจุบันมีโครงการนำร่องแล้วในประเทศโคลอมเบีย ซึ่งให้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชนทำให้ขั้นตอนในการทำงานถูกบันทึกทันที ไม่สามารถแอบมาแก้ไขหรือปรับปรุงบัญชีในภายหลังได้ ข้อมูลสามารถตรวจสอบได้ทำให้เกิดความโปร่งใส อย่างไรก็ตามโครงการนี้ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงอยู่ เช่น ข้อกำหนดเรื่องการเปิดตัวตนของบริษัทคู่ค้า รวมถึงการปรับขนาด (Scalability)

ชนะกลโกงในการขึ้นทะเบียนที่ดินด้วย Blockchain

ความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนหรือกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่ดินและสินทรัพย์ ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น การปิดการขายอสังหาริมทรัพย์อาจใช้เวลาหลายเดือน ทำให้มีการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนที่ดินของอังกฤษที่มีความล่าช้าในการทําธุรกรรมหกเดือนในปี 2015 เนื่องจากกระบวนการขึ้นทะเบียนมีลักษณะเป็นคอขวดและยังคงมีการเรียกร้องในประเด็นเดียวกันนี้อีกถึงปี 2020 ดังนั้นการทุจริตจึงเกิดขึ้นในระบบการขึ้นทะเบียนที่ดินเปรียบเทียบขั้นตอนระหว่างการใช้ Blockchain กับระบบการขายสินทรัพย์แบบเดิมของอังกฤษ
ที่มา: World Economic Forum

จากผลการศึกษาโครงการทุจริตในระบบทะเบียนที่ดินของบังคลาเทศ ประจําปี 2019 ซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานอาชญากรรมและการทุจริต พบว่าการได้รับใบอนุญาตในฐานะนายทะเบียนโฉนดที่ดินทำให้เกิดการติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งการทุจริตในประเด็นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในภูมิภาคที่กําลังพัฒนา แต่ในภูมิภาคที่มีกฎหมายที่มั่นคงมายาวนานขึ้นแล้วก็มีการทุตริตที่ซับซ้อนมากขึ้น องค์กรพัฒนาเอกชนต่อต้านการทุจริต และ Global Witness ประมาณการในปี 2019 ว่าที่ดินในอังกฤษและเวลส์มูลค่า 100 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท) เป็นของคนเดียวซึ่งใช้บริษัทนิรนามแห่งหนึ่งที่จดทะเบียนในประเทศที่เป็นสวรรค์แห่งการเลี่ยงภาษี (tax heaven) ในการขึ้นกรรมสิทธิ์ที่ดินและทรัพย์สิน

การใช้ Blockchain เข้ามาช่วยจะช่วยลดกระบวนการที่มีความทับซ้อนและลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีการทดลองใช้ที่จอร์เจียในปี 2018 โดยการเปลี่ยนระบบการจดทะเบียนแบบเดิมมาใช้บล็อกเชนทำให้สามารถขึ้นทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินมากกว่า 1.5 ล้านรายการ นอกจากนี้ยังมีการใช้ที่แอฟริกาในเขตเมืองที่ยากจนและมีประชากรหนาแน่น แต่ไม่เคยมีทะเบียนบ้านมาก่อน ซึ่งใช้วิธีการตรวจสอบชื่อในทะเบียนบ้านและความถูกต้องในการขึ้นทะเบียนที่ดิน โดยการให้ผู้อาวุโสรับรองและยืนยันผ่านแอพลิเคชั่น ซึ่งข้อมูลจะถูกบันทึกลงบนบล็อกเชน ทำให้การประเมินมูลค่าที่ดินมีความสะดวกมากขึ้น

ความท้าทายในการนำมาใช้ (adoption)

จากโครงการตัวอย่างในบทความนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลในประเทศอื่นๆ จริงจังกับการแก้ไขบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการ Blockchain ย่อมได้กำไรจำนวนมากจากการให้บริการ 

แต่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาก็ต้องทุ่มเทในการออกแบบและใช้งานสําหรับองค์กรขนาดใหญ่ เช่น รัฐบาล ซึ่งต้องมีการปรับแอปพลิเคชันใน Blockchain ให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กร 

นอกจากนี้การเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี Blockchain จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้และความเข้าใจในระบบ เช่นเดียวกับ Digital Transformation ที่จำเป็นต้องใช้เวลาและความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง


อ้างอิง:  World Economic Forum 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AI จะเป็น ‘ผู้กอบกู้’ หรือ ‘ผู้ทำลาย’ การ์ตูนญี่ปุ่น

เมื่อประตูสู่วัฒนธรรมและเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นอย่าง อนิเมะและมังงะกำลังถูก AI แทรกแซง อนาคตของวงการนี้จะเป็นยังไง ?...

Responsive image

เจาะลึกเทรนด์ Spatial Computing จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับองค์กรยุคใหม่

Spatial Computing คือเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนจริงและโลกจริงเข้าด้วยกัน ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กรในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการฝึกอบรมและ...

Responsive image

ถอดกลยุทธ์ ‘ttb spark academy’ ปั้น Intern เพิ่มคนสายเทคและดาต้า Co-create การศึกษาคู่การทำงานจริง

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เห็น Pain Point ว่าประเทศไทยขาดกำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) และธนาคารก็ต้องการคนเก่ง Tech & Data จึงจัดตั้ง ‘ttb spark academy’ เพื่อปั้น ...