ข้อมูลจากกล้องวงจรปิดจะเข้ามาเป็นแกนหลักสำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างไร? | Techsauce

ข้อมูลจากกล้องวงจรปิดจะเข้ามาเป็นแกนหลักสำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างไร?

สรุปประเด็นความท้าทายและโซลูชั่นการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยีกล้องวงจรปิด AIoT Video Solutions และการเอา Data มาขับเคลื่อนการพัฒนา จากงาน “ปลดล็อกปัญหาเมืองด้วย AIoT Video Solutions”  ด้วยความร่วมมือระหว่าง Bosch และ Techsauce

รวม speakers ผู้เชี่ยวชาญใน AIoT Video Solutions และการจัดการ Data เพื่อแก้ปัญหาเมือง 

  • คุณเอกรินทร์ วัชรยิ่งยง, Country Business Director, Building Technologies, บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช จำกัด (Bosch)
  • Lori Chou , Business Development Manager , APAC บริษัท Azena
  • ดร. ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) สังกัดสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
  • ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

รู้จัก Bosch บริษัทที่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เคียงข้างความยั่งยืน 


คุณเอกรินทร์เริ่มต้นการเสวนาด้วยการเล่าถึงประสบการณ์และความตั้งใจของ Bosch ซึ่งดำเนินธุรกิจมามากกว่า 135 ปี และปัจจุบันมุ่งมั่นจะเป็นบริษัทผู้นำทางด้าน AIoT อีกทั้งมีวิสัยทัศน์ในการจะทำธุรกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืนของโลก โดยมีเป้าหมายจะเป็นบริษัท CO2 Neutral (การเป็นกลางทางคาร์บอน) ซึ่งหมายถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ การให้บริการ หรือการทำกิจกรรมใดๆ ของบริษัทที่มีการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับศูนย์ มุ่งเน้นทำธุรกิจ ใน  4 ด้าน ด้วยกัน   

  • Mobility Solutions 
  • Industrial Technology 
  • Energy & Buildings Technology 
  • Consumer Goods 

นอกจากนั้นคุณเอกรินทร์ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของบริษัท ในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและความยั่งยืนให้มากที่สุด

“เรามีการลงทุนด้าน R&D ค่อนข้างมาก ต่อปีจะมีการแบ่งผลประกอบการประมาณ 10% หรือหลายพันล้านยูโร ถ้าคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณหลักแสนล้านบาทต่อปี เพื่อที่จะมั่นใจว่าสินค้าและโซลูชั่นของเราจะตอบโจทย์ทั้งโลกในปัจจุบันและอนาคต”

สำหรับความสำคัญของ Data และเทคโนโลยีกล้องวงจรปิด คุณเอกรินทร์กล่าวว่าปัจจุบันข้อมูลมีมูลค่าเปรียบเสมือนน้ำมัน และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็มีมูลค่าเทียบเท่ากับพลังงานไฟฟ้าในโลกยุคใหม่ เพราะฉะนั้นกล้องวงจรปิดจึงเป็นเสมือน AI device ตัวหนึ่ง ที่สามารถเก็บข้อมูลภาพ และแปลงไปเป็นข้อมูลเชิงสถิติมาใช้ในการบริหารเมือง ทั้งในเชิงความปลอดภัย การจัดการปัญหาการจราจร กระทั่งการโปรโมตการท่องเที่ยว

วิวัฒนาการของกล้องวงจรปิดและบทบาทการพัฒนาเมือง  


กล้องวงจรปิดเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตามการเติบโตของเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่เป็นแอนะล็อก จนกลายเป็นดิจิทัล และกลายมาเป็น Deep learning ในปัจจุบัน โดยคุณเอกรินทร์กล่าวว่าปัจจุบันกล้องวงจรปิดกลายเป็นอุปกรณ์ Andriod based นั่นหมายถึงเราสามารถดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ ลงไปในกล้อง มาใช้งานได้ตามความต้องการ เสมือนเป็นโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่ง ซึ่งในวงการกล้องจะมี Application Strore ของตัวเองที่ชื่อว่า Azena Store

โดยคุณเอกรินทร์ได้ยกตัวอย่างกล้องวงจรปิดของ Bosch ที่มี Video Analytic อยู่ในตัวกล้อง ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้กล้องมีความสามารถด้าน AI สามารถเก็บข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ต่อได้ เช่น การนับปริมาณรถยนต์บนถนน การตรวจจับรถยนต์ที่ทำผิดกฎจราจร เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันกล้องมีความสามารถมากกว่าดวงตาของมนุษย์ ที่สามารถแยกแยะวัตถุต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ 

 “กล้องไม่ต่างจากดวงตาของคน ที่มองเห็นภาพและเข้าใจจาก Chip set ในตัวกล้อง และเหมือนคนที่มีสมองในการวิเคราะห์ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กล้องจะเห็นภาพเหมือนที่คนเห็น” คุณเอกรินทร์กล่าว

สำหรับ Bosch เอง ก็มุ่งมั่นจะเป็นผู้ผลิตกล้องวงจรปิด ที่เป็น AIoT camera โดยคำนึงถึงสามด้านหลัก  

  • Predictive กล้องจะสามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากการเก็บข้อมูลและทำสถิติ 
  • Sustainable ด้วยวิสัยทัศน์ของ Bosch ที่ต้องการจะทำธุรกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืน เพราะฉะนั้นโซลูชั่นด้านกล้องวงจรปิดของ Bosch จะสนับสนุนความยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ใช้งานสามารถควบคุมกล้องจากระยะไกล หรือผ่านโทรศัพท์ได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเดินทาง เท่ากับว่าเราสามารถลดปริมาณการใช้รถยนต์ และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปโดยปริยาย 
  • Trusted  โซลูชั่นของ Bosch เกิดขึ้นจากรากฐานของความไว้วางใจ เชื่อมั่นได้ นั่นแปลว่ากล้องต้องเชื่อใจได้  และมีการปกป้องข้อมูลในเชิง data และ privacy 

มากกว่ากล้องวงจรปิด

วิวัฒนาการของกล้องในปัจจุบัน ทำให้กล้องวงจรปิดสามารถดูแลความปลอดภัยของเมืองได้ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง หรือตลอดเวลาแทนการใช้มนุษย์ ซึ่งกล้องวงจรปิดที่เป็น AIoT จะสามารถส่งสัญญาณแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุเกิดได้ทันท่วงที นอกจากนั้นด้วยความสามารถในการบันทึกและวิเคราะห์ภาพ ทำให้กล้องวงจรปิดเป็นมากกว่าอุปกรณ์ดูแลด้านความปลอดภัย เราสามารถใช้กล้องเป็น Marketing tools ได้ หากเราทำให้เมืองมีความปลอดภัย ด้วยระบบกล้องวงจรปิด ก็จะเกิดความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและผู้คนในเมือง และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้ 

ในด้านการจัดการจราจร เมื่อกล้องวงจรปิดสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้ ทำให้เราสามารถบริหารจัดการจราจรได้ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการจราจรที่ดีขึ้น ย่อมทำให้การไปถึงจุดหมายของการเดินทางเร็วขึ้น และเช่นเดียวกันก็จะช่วยลดเวลาในการใช้รถยนต์ และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ได้

กรณีศึกษาการติดตั้งกล้อง Bosch จากเชียงใหม่และภูเก็ต 

คุณเอกรินทร์ได้ยกตัวอย่างการใช้งานโซลูชั่นกล้องวงจรปิดของ Bosch ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ต

จังหวัดเชียงใหม่ 

  • ยกระดับการจราจรและความปลอดภัย โดยมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังอุบัติเหตุบนท้องถนน และด้วยความสามารถของกล้องวงจรปิดในการแยกแยะวัตถุ บุคคล หรือสีได้ ทำให้มีความแม่นยำในการตรวจสอบ ซึ่งในหนึ่งปีสามารถแก้ปัญหาคดีบนท้องถนนได้มากกว่า 100 คดี อีกทั้งยังสามารถตรวจจับการทำตามกฎจราจร การเก็บข้อมูลรถยนต์ในช่วงรถติด เพื่อพิจารณาเปิดเลนพิเศษในชั่วโมงเร่งด่วน หรือทำเส้นทางพิเศษช่วงเลี่ยงเมือง 

  • ยกระดับการบริการสาธารณะ โดยมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในรถบัสภายในของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Bosch และอ่างแก้ว startup  เพื่อนับจำนวนผู้ใช้บริการบนรถแบบ Real time ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบจากแอปพลิเคชันได้ว่ายังมีที่นั่งว่างไหม อีกทั้งยังสามารถติดตามตำแหน่งของรถได้ด้วย นอกจากนั้นยังมีการทำ Smart Parking หรือลานจอดรถอัจฉริยะ โดยกล้องวงจรปิดจะสามารถนับจำนวนที่ว่างในลานจอดรถ ทำให้ บุคลากรในมหาวิทยาลัยที่จะเข้ามาใช้งานทราบว่าตรงไหนสามารถจอดรถได้ รวมถึงทำให้การบริหารจัดการจราจรภายในมหาวิทยาลัยสะดวกขึ้น 

  • ยกระดับการบริหารจัดการน้ำ การใช้กล้องวงจรปิดเพื่อตรวจวัดระดับน้ำ ซึ่งกล้องจะเรียนรู้ว่าหากระดับน้ำมีปริมาณสูง ก็จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้แจ้งเตือนไปยังประชาชนได้ รวมถึงสามารถเก็บข้อมูลเพื่อนำมาบริหารจัดการภาคการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำได้ด้วย

 จังหวัดภูเก็ต 

  • ยกระดับการท่องเที่ยวอัจฉริยะ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด บริเวณแหลมพรหมเทพ เพื่อดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยว เพื่อบันทึกเป็นเป็นสถิติและแสดงบน dashboard เพื่อดูว่าแต่ละวัน มีนักท่องเที่ยวกี่คน เทศบาลจะได้จัดบุคลากรมาดูแลนักท่องเที่ยวตามจำนวนนั้นๆ ทำให้การบริหารการจัดการท่องเที่ยวจะดีมากขึ้น ส่งผลถึงเศรษฐกิจชุมชน เพราะเราสามารถวางแผนการทำการตลาดได้ 

Azena Application Store แพลตฟอร์มใหม่ล่าสุดในอุตสาหกรรมรักษาความปลอดภัย 

 คุณเอกรินทร์ได้ยกตัวอย่าง กล้องวงจรปิดของ Bosch ที่เป็น Open camera platform ชื่อรุ่นว่า INTEOX ซึ่งเปิดโอกาสให้ทั้งนักพัฒนาและผู้ที่มีความสามารถทาง Supply developer เข้ามาเขียนแอปพลิเคชันและวางขายใน store ได้จาก Azena Aplication Store ซึ่งวันนี้คุณ Lori Chou  Business Development Manager , APAC บริษัท Azena ได้แนะนำให้เรารู้จักกับ Azena Application Store ที่เกิดจากความต้องการจะให้คำจำกัดความใหม่สำหรับ Video Analytics หรือระบบวิเคราะห์ภาพ และต้องการให้มีพื้นที่ที่จะสามารถเชื่อมโยงทั้งผู้ผลิตกล้อง ผู้วางระบบ และลูกค้าเข้ามาไว้ใน ecosystem เดียวกัน โดย Azena Application Store เป็นแพลตฟอร์มใหม่ล่าสุดในอุตสาหกรรมรักษาความปลอดภัย  ที่มีแอปพลิเคชันสำหรับโซลูชันหลากหลายรูปแบบ เพื่อบริการลูกค้าและ Integrators ทั่วโลก ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคมในปีที่ผ่านมา และกำลังจะเข้าตลาดประเทศไทยเร็วๆ นี้

 ทั้งนี้คุณ Lori กล่าวว่าวิสัยทัศน์ขององค์กรคือการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมเข้าไว้ด้วยกัน โดยเชื่อว่าจะสามารถให้ประโยชน์กับผู้ใช้งานได้สามข้อหลัก 

  • เป็นช่องทางสำหรับการทำรายได้ สำหรับผู้วางระบบ ด้วยเครือข่ายผู้พัฒนาแอปพลิเคชันของ Azena ที่ช่วยสร้างแนวทางที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างเฉพาะเจาะจง 
  • ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย ผู้ใช้งานสามารถลดค่าใช้จ่ายในบางส่วนลงได้ อย่างเช่น ยืดระยะเวลาการใช้งานของกล้อง ด้วยอุปกรณ์ที่มีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย และยังมีค่า License ที่ถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโซลูชั่นแบบ server-based
  • ยืดหยุ่น แพลตฟอร์มนี้ไม่มี ‘lock-in’ effect ทำให้สามารถการติดตั้งและใช้งานหลายแอปพลิเคชันพร้อมกัน 3-5 แอปพลิเคชันในกล้องตัวเดียวได้

จากนั้นคุณ Lori ได้ยกตัวอย่างแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า FLOW traffic ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับกล้องที่น่าสนใจในการสนับสนุนการพัฒนา Smart City และได้สาธิตการใช้งาน Azena Application Store ให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นถึงภาพรวมการใช้งานที่สะดวก เข้าใจง่าย และแอปพลิเคชันที่น่าสนใจให้เลือกซื้อและทดลองใช้ฟรี

ซึ่งคุณเอกรินทร์ได้กล่าวเสริมว่า Azena application store ก็จะเหมือนกันกับ App store หรือ Play store สำหรับกล้องวงจรปิด ซึ่งบริษัทผู้ผลิตและผู้พัฒนากล้องที่เป็น Android based ทั้งหมด สามารถไปใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันเหล่านี้ได้ และ Application Store นี้ยังเปิดโอกาสให้กลุ่ม Startup สามารถเขียนแอปพลิเคชั่นแล้วนำไปขายได้ เพื่อสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ที่กล้องสามารถรองรับได้ ให้ตรงกับโจทย์ปัญหาที่เราเจอมากขึ้น

Data จะมีบทบาทใน Smart City ยังไง 

 ดร. ธีรณี กล่าวว่าข้อมูลมีความสำคัญมากในการบริหารจัดการเมือง หากเราสังเกตจากช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดหนักในประเทศไทย ซึ่ง ณ ขณะนั้นการบริหารจัดการเตียงเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยการใช้ Data ทำให้แต่ละหน่วยงานภาครัฐหรือโรงพยาบาลสามารถใช้เพื่อบรรเทาสถานการณ์ตอนนั้นได้  ซึ่งหากเมืองมี Data Platform ที่สามารถรวบรวมทุกข้อมูลมาอยู่ในที่เดียวกัน จะทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในยุค Internet of people ยุคที่คนใช้โซเชียลมีเดีย ถ้ารัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนแล้วมาปรับปรุงการบริหารให้ดีขึ้นได้ก็จะดีมาก

นอกจากนั้น ดร.ธีรณียังได้ยกตัวอย่างหากเราสามารถใช้ AIoT  กับการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งบนชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง หรือ Antigen test kit ทุกครั้งที่ตรวจแล้วมีผลบวก เราจะมีข้อมูลส่งไปถึง Data center หรือหากเราสามารถใช้โซลูชั่นกล้องในการแจ้งเตือนบริเวณที่มีคนจำนวนมาก เพื่อดำเนินการตามนโยบายเว้นระยะห่างในช่วงโควิด ต่อให้เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ การบริหารจัดการก็จะง่ายขึ้น 

ในมิติของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล ดร.ธีรณีได้กล่าวถึง ความสำคัญของการมี Data Platform ในการพัฒนาเมือง เพราะปัจจุบันเรามีแหล่งข้อมูลมากมาย ไม่ว่าจะจากกล้องวงจรปิด หรือข้อมูลจากรถบัสสาธารณะเป็นต้น หากเราสามารถดึงข้อมูลทั้งหมดมาไว้ที่ Data Platform 

เราจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น 

  • ทำกราฟฟิคแสดงผล เพื่อช่วยในการวางแผนและตัดสินใจ
  • แอปพลิเคชั่นแจ้งเตือนของประชาชน หรือบริการด้านข้อมล (Data service)  
  • สร้างโอกาส ทำ Open data เพื่อให้นวัตกร นักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือผู้ประกอบการ เข้ามาใช้เพิ่มมูลค่า และเข้ามาสร้างธุรกิจเพื่อบริการประชาชนมากขึ้น  

“City data platform ในเมืองๆ หนึ่ง จะมีข้อมูลทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา ประกันสังคมและหลายๆ เรื่อง ถ้าเราสามารถรวมให้เกิดเป็น Warehouse แล้วมีการเก็บ Data อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิด ข้อมูลพิกัด หรือข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย เข้ามาใน Data Lake เราสามารถจัดทำ Data Catalog เพื่อบอกว่าเรามี Data อะไรจาก City data platform นี้บ้าง เราต้องติดต่อหน่วยงานภายนอกใดบ้างเข้ามาสนับสนุน แล้วสร้างให้เกิด Data Service ที่ให้บริการประชาชน บริการรัฐด้วยกัน จะทำเป็นลักษณะ analytics service ก็ได้ จะทำเป็นลักษณะ data portal หรือกระทั่งการบริการ Mobile App ก็ได้ นี่คือคอนเซปต์ของ City data platform”

ท้ายที่สุดแล้ว ดร.ธีรณีได้เน้นย้ำประโยชน์ของการมี City data platform ที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์และตัดสินใจ โดยยกตัวอย่างภาพรวมการกระจายตัวในเขต EEC และที่ตั้งโรงพยาบาลและโรงงาน ซึ่งจากภาพเราจะตัดสินใจได้ทันทีว่า หากเราจะสร้างสถานีอนามัยเพิ่ม ควรจะตั้งในจุดไหน 

 นอกจากนั้นยังได้ยกตัวอย่าง Pre-crime programs ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่คุณเอกรินทร์กล่าวและสอดคล้องกับโซลูชั่นของ Bosch โดยดร.ธีรณียกตัวอย่างว่า หากสถานีตำรวจมีข้อมูลและประวัติอาชญากรรมในรูปแบบ Digital Data เมื่อนำมาบูรณาการใช้กับ Real time camera จะทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าพื้นที่ไหนมักจะเกิดอาชญากรรมประเภทไหน ช่วงวันและเวลาใด สุดท้ายแล้วจะทำให้สามารถกำหนดพื้นที่เสี่ยงและจัดบุคลากรลงมาตรวจตรา พื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น เพื่อลดโอกาสการเกิดอาชญากรรม

สำหรับแนวทางของการใช้ Data จากภาครัฐในอนาคต ดร.ธีรณีเผยว่า รัฐบาลกำลังทำโครงการที่ชื่อว่า Big rock ซึ่งเป็นแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทางด้าน Data ตอนนี้รัฐบาลมุ่งเน้น Data ทางสาธารณสุขก่อนอันดับแรก ตามมาด้วยการบริหารจัดการน้ำและการเกษตร การท่องเที่ยว การทำให้ SMEs มีรายได้มากขึ้นผ่านการทำโลจิสติกส์ และสุดท้ายคือการส่งเสริม startup 

ตอกย้ำความสำคัญ ทำไมเราต้องใช้ Data และ AIoT Video Solutions มาบริหารเมือง  

 ดร. ณภัทรได้กล่าวเสริมถึงความสำคัญของโซลูชันกล้องวงจรปิด  ซี่งนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างเมืองอัจฉริยะเพราะทำให้เราเข้าถึงต้นตอของข้อมูล ซึ่งการมีข้อมูลช่วยให้เราสามารถนำไปวัดผล เพื่อประเมินการทำแผนและนโยบายได้ เพราะหากไม่มีการวัดผลแล้ว เราคงไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นดีจริงหรือไม่

หากถามว่าเราจะทำ Smart City ไปเพื่ออะไร ดร. ณภัทรกล่าวว่าหากถามประชาชน ว่าชีวิตที่ดีในเมืองคืออะไร ส่วนใหญ่ก็จะได้คำตอบที่ไม่ได้ไปไกลจาก ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน สุขภาพ ซึ่งสำหรับดร.ณภัทรมองว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างพื้นฐาน แต่บริหารจัดการยาก ซึ่งในอนาคตหากความต้องการและพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง หรือเรื่องอื่นๆ ทำให้เวลาจะบริหาร ถ้าเราไม่มีข้อมูลเลย เราจะวัดยากมากว่าเราควรทำอะไร แล้วสิ่งที่เราทำไปมันได้ผลจริงไหม 

เรื่องหนึ่งที่ ดร.ณภัทรให้ความสำคัญและมองว่าโซลูชั่นเรื่องกล้องจะสามารถเข้ามาตอบโจทย์ได้ นั่นก็คือ  คือเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตสูงจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งเป็นประเด็นที่แก้ยาก ทำให้กล้องวงจรปิดธรรมดาไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป เพราะเราต้องการกล้องที่สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างละเอียดด้วย ซี่งโซลูชั่นกล้องวงจรปิด ที่เป็น AIoT Video Solutions จะเข้ามาตอบโจทย์ทั้งในแง่ของการดูแลสอดส่อง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และการจัดการจราจร ทั้งนี้ดร.ณภัทรได้กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากโซลูชั่นเรื่องกล้อง แล้วยังมีอีกหลายแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องรถติด ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน Work from home หรือการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...