กุญแจสำคัญที่ทำให้ไทยก้าวขึ้นสู่ประเทศชั้นนำด้าน Startup | Techsauce

กุญแจสำคัญที่ทำให้ไทยก้าวขึ้นสู่ประเทศชั้นนำด้าน Startup

สรุป Key Takeaways จากงาน MEGA TECH FORUM 2022 by Techsauce ในหัวข้อ Building the Golden Era for Thai Startups’ Opportunities: How Can We Become the Next Leading Country for Startups? กับ ดร. ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ GM แห่ง True Digital Park ในมุมของ Ecosystem และคุณคมสันต์ แซ่ลี ซีอีโอแห่ง Flash Group ซึ่งเป็น Unicorn รายแรกของไทย ดำเนินรายการโดย คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด

ทำไม Startup Ecosystem ยังคงเติบโตแม้เผชิญกับ COVID-19

ในปี 2021 ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ Startup เติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากผู้คนมีความตั้งใจในการปรับตัวจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า หากทำธุรกิจแบบเดิมหรือขายผลิตภัณฑ์หรือบริการแบบเดิมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เราจะต้องมีการปรับตัวเพราะการระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม มี Startup จำนวนไม่น้อยที่ล้มหายตายจากไป อีกทั้ง SME หรือแม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังมี Startup ที่มีอัตราการเติบโตที่ดีอยู่ ซึ่งตรงนี้จะทำให้เห็นได้ว่าอุตสาหกรรมไหนที่ Startup เติบโตได้ ทำให้เป็นช่องทางให้คนอื่นๆ ได้ลองลงมือทำในอุตสาหกรรมนั้น และบริษัทขนาดใหญ่ก็เข้ามาลงทุน จะเห็นได้ว่าเม็ดเงินในการลงทุนใน Startup ในบางอุตสาหกรรมสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่

ในทางกลับกัน หากเทียบตลาดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศจีน ก็จะเห็นได้ว่าภูมิภาคเรามีความซับซ้อนกว่าจีนทั้งในเรื่องภาษา กฎหมาย และวัฒนธรรม เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ใหญ่มาก ทำให้สามารถทำธุรกิจขนาดใหญ่ได้ในภาษาเดียวกัน กฎหมายเดียวกัน แต่สำหรับประเทศไทยการที่จะขยายไปยังหลายๆ ประเทศยังต้องใช้เวลาอยู่

ความท้าทายที่ทำให้ประเทศไทยมี Unicorn Startup ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมี Unicorn Startup แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียหรือเวียดนามเติบโตและมี Unicorn ก่อนประเทศไทย ซึ่งก็มีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกหลายๆ อย่างที่ทำให้ประเทศไทยเติบโตช้า 

ปัจจัยภายในอย่างแรกเลยคือ กำลังคน เราต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมทีมถึงจะผลักดัน Startup ไทยให้เติบโตได้ และวิสัยทัศน์ของการจัดการทีมก็สำคัญเช่นเดียวกันว่า Startup นั้นๆ จะเล่นบทบาทเป็นแค่ Local play หรือ International play 

การที่ Startup จะประสบความสำเร็จได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวของ Startup เองเท่านั้น เมื่อมองถึงปัจจัยภายนอกอย่างระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ผู้ลงทุน ข้อกฎหมายต่างๆ ก็ยังไม่ได้สนับสนุน Startup ขนาดนั้น ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างจึงทำให้ Startup ไทยไม่ได้พุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว 

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการผลักดัน Startup สำหรับประเทศไทยในตอนนี้คือ ศูนย์การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หากเรามี Knowledge sharing ที่มาจากต่างประเทศหรือมาจากบริษัทที่ประสบความสำเร็จแล้วเพื่อเป็นบทเรียนให้กับคนรุ่นถัดๆ ไป ก็จะเป็นประโยชน์ต่อวงการ Startup เป็นอย่างมาก

Capital Gain Tax มีความสำคัญอย่างไรต่อ Startup

ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้ปลดล็อกการเก็บภาษีกำไรจากการลงทุน (Capital Gain Tax) เพื่อปั้น Startup ไทย ซึ่งอาจทำให้ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้ แต่จริงๆ แล้วอำนาจในการดึงดูดนักลงทุนมีหลายปัจจัย สิ่งนี้จึงอาจยังไม่ใช่สูตรสำเร็จในการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามา

อีกทั้งการที่ Capital Gain Tax จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิด Capital Gain ขึ้นก่อน และการจะเกิด Capital Gain ได้ บริษัท Startup เองจะต้องมีคุณภาพและถูกส่งเสริมให้เติบโตได้ก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งที่จะทำให้ Startup เติบโตได้ก็ต้องทำให้ตลาดมีความแข็งแกร่ง แหล่งลงทุนต้องดี และมีบุคลากรที่มีความสามารถ จึงจะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาได้

ESOP เปลี่ยนพนักงานเป็นผู้ถือหุ้นเพื่อดึงดูด Talent

เมื่อพูดถึงคนที่มีความสามารถ การที่จะทำให้ Startup สามารถดึงดูดคนเก่งเข้ามาร่วมทีมได้ส่วนหนึ่งก็คือ ESOP เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเงินลงทุน เพราะทุกคนที่รวมตัวกันทำ Startup ต่างก็มีความฝันเป็นของตัวเอง และการรับเงินเดือนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการทำให้ชีวิตและความฝันของตัวเองดีขึ้น การทำให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นเจ้าของและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญ

นอกจากนี้ ESOP ไม่ได้มีความสำคัญแค่กับ Startup ที่อยู่ในขั้น Early Stage เท่านั้น แต่สำคัญตั้งแต่วันแรกที่เริ่มก่อตั้ง Startup เพราะจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าเราร่วมกันสร้างองค์กรมาด้วยกัน 

ทำอย่างไรให้เกิด Startup ไทยหน้าใหม่มากขึ้นในอนาคตอันใกล้

การที่จะทำให้คนกล้าเข้ามาเริ่มทำ Startup ได้ สิ่งสำคัญคือกลไกทุกอย่างจะต้องเอื้ออำนวยความสะดวกและสามารถทำให้เขาเดินไปข้างหน้าอย่างมีสุขภาพดี ตัวอย่างหนึ่งคือ การมีระบบเมนเทอร์ โดยมีรุ่นพี่ Startup หรือนักธุรกิจใหญ่ๆ มาไกด์ตั้งแต่ต้นก็จะทำให้เขามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น True Digital Park ก็พยายามสร้าง Ecosystem ที่มีผู้เล่นหลายๆ แบบมาอยู่รวมกัน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน บริษัทขนาดใหญ่ รุ่นพี่ Startup หรือน้องๆ Startup ให้มาอยู่รวมกัน ถ้าใครที่เริ่มมาจากศูนย์ก็จะมีตัวอย่างให้เห็นเลยว่ารุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนเขาทำกันอย่างไร 

ถอดบทเรียน Ecosystem ของประเทศจีน

การบ่มเพาะผู้ประกอบการที่ประเทศจีนมี 2 อย่างที่น่าสนใจ อย่างแรกเลยคือ ประเทศจีนมีศูนย์รวมของ Startup ในแต่ละมณฑล ซึ่งเขามีเหมือนเป็นชุมชนใหญ่หรือสถานที่เช่าให้บริษัท Startup มาอยู่รวมกัน โดยในแต่ละบริษัทก็จะทำธุรกิจที่มีความแตกต่างออกไป เช่น IT development หรือ Marketing ทำให้คนที่มาเริ่มทำธุรกิจที่นั่น สามารถใช้ทรัพยากรของบริษัทที่อยู่ใกล้เคียงกันได้ ทำให้คนเหล่านี้สามารถพัฒนาได้เร็วกว่าผู้อื่น ประเทศไทยเองก็ควรมีการสร้างพื้นที่ให้กับ Startup โดยเฉพาะ เพื่อบ่มเพาะการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์

อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ ประเทศจีนมีบริษัท รวมถึงหน่วยงาน และมหาวิทยาลัยที่ให้บริการเรื่อง Training กับ Startup ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแจก ESOP การหาผู้ลงทุน การระดมผู้ลงทุน ไปจนถึงเรื่อง IPO สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนที่ Startup ควรรู้ไว้ว่าเมื่อเจอวิกฤตหรือโอกาสที่เข้ามาจะรับมืออย่างไร

คำแนะนำสำหรับน้องๆ รุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามาเป็น Startup

การที่จะประสบความสำเร็จได้ไม่มีทางลัด เราจะต้องใช้กำลังกาย กำลังใจ และกำลังสมองอย่างมหาศาลกว่าจะผ่านอะไรหลายๆ อย่างไปได้ การที่เราฝันว่าวันหนึ่งเราจะสามารถเป็น Unicorn Startup ได้เป็นเรื่องที่ไม่ผิด แต่การจะทำให้เป็นจริงได้เราต้องเริ่มทำตั้งแต่วันแรกที่คิด ในระหว่างที่เราเริ่มลงมือทำ แน่นอนว่าเราต้องเจอความท้าทายอีกมากมาย ก็ให้สนุกไปกับมัน เรียนรู้จากสิ่งนั้นใหม่มาก และลุยให้ถึงที่สุด 

แม้ว่าปัจจุบันจะมีช่องทางในการทำธุรกิจหลายแบบ แต่อุตสาหกรรมที่น่าสนใจคือ การวิจัยและการพัฒนา (R&D) เพราะประเทศไทยเน้นซื้อเทคโนโลยี แต่ไม่เน้นพัฒนาเทคโนโลยีเอง ดังนั้นการมีวิธีการหรือความรู้เป็นของตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะสามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความแข็งแกร่งได้ 

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับการเริ่มทำ Startup คือ ควรโฟกัสกับสิ่งที่ทำ ไม่ใช่โฟกัสว่าเราอยากเป็น Unicorn ตั้งแต่วันแรก โดยจะต้องคิดว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองคืออะไร จะทำอย่างไรให้ลูกค้ารักมากที่สุด แล้วจะสร้างคุณค่าอะไรให้กับลูกค้าได้บ้าง สิ่งนี้จะทำให้ลูกค้าต้องการเรามากขึ้น และบริษัทก็จะมีมูลค่าตามมาทีหลัง

Partnership กุญแจสำคัญของการทำธุรกิจยุคใหม่

ในมุมมองของ Startup ที่มีพาร์ทเนอร์เป็นบริษัทขนาดใหญ่ การเริ่มต้นทำ Startup แรกๆ เรายังไม่มีความแข็งแรงพอ ให้หาทิศทางของตนเองให้เจอ อย่าคาดหวังว่าไปอยู่กับบริษัทใหญ่ๆ แล้วตัวเองจะประสบความสำเร็จได้ทันที แต่หลังจากที่บริษัทขยายใหญ่ขึ้นแล้ว เราจำเป็นต้องมี Partnership ที่ดี เพื่อที่จะทำให้ตัวเองก้าวไปสู่ความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง และสิ่งหนึ่งที่บริษัท Startup ต้องการจากบริษัทขนาดใหญ่คือ นอกจากการให้ทรัพยากรที่สามารถให้ได้แล้ว ควรให้ช่องว่างและความเป็นอิสระในการลองผิดลองถูกแก่บริษัท Startup ด้วย เพื่อให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาดและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไป

ในทางกลับกัน เมื่อมองในมุมบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องทำงานร่วมกับ Startup อย่างแรกคือบริษัทขนาดใหญ่ต้องรู้ก่อนว่าการลงในแต่ละครั้งมีจุดประสงค์อะไร และต้องคุยกับบริษัท Startup ที่จะลงทุนให้ชัดเจนตั้งแต่แรกในเรื่องของการทำงานร่วมกันว่าจะสามารถให้ความยืดหยุ่นในการทำงานได้ประมาณไหน 

หากประเทศไทยอยากเป็นประเทศชั้นนำด้านธุรกิจ Startup เป็นประเทศต่อไป กลไกหลายๆ อย่างในประเทศจะต้องเอื้อให้เกิดความกล้าที่จะก้าวเข้ามาเป็น Startup และคนที่อยากทำ Startup เองก็ต้องเรียนรู้ก่อนลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากพี่ๆ Startup ที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน หรือเริ่มต้นเรียนรู้จากสถานการณ์ที่เราเป็นอยู่ ต้องเปิดหูเปิดตาให้มากขึ้น และไขว่คว้าหาโอกาสให้ตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่ามัวแต่คิด แต่ให้ลงมือทำ



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...