บำรุงราษฎร์ รุดหน้านวัตกรรมการแพทย์ นำ Radiology AI ช่วยวิเคราะห์ความผิดปกติของปอด และมะเร็งเต้านม แม่นยำ รวดเร็ว รักษาทันท่วงที | Techsauce

บำรุงราษฎร์ รุดหน้านวัตกรรมการแพทย์ นำ Radiology AI ช่วยวิเคราะห์ความผิดปกติของปอด และมะเร็งเต้านม แม่นยำ รวดเร็ว รักษาทันท่วงที

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) และ การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ   โดยเฉพาะการนำไปจัดการกับความท้าทายในการวิเคราะห์ข้อมูลในระดับเซลล์จำนวนมหาศาล เพื่อที่จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคต่าง ๆ รวมไปถึงวางแผนในกระบวนการรักษาผู้ป่วยได้เหมาะสมและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ที่ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายในการวินิจฉัยและรักษาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการนำเทคโนโลยีอย่าง AI และ Deep Learning เข้ามาบูรณาการจะมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยเพิ่มความแม่นยำ รวดเร็วต่อกระบวนการวินิจฉัย และการตัดสินใจของแพทย์ ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ในการรักษาผู้ป่วยที่ดีขึ้น 

บุกเบิก  Medical Imaging Technology 

หากพูดถึงความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ในประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถือเป็นผู้นำในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น  AI/Big Data ที่นำไปสู่การพัฒนาการรักษาที่แม่นยำและจำเพาะมากขึ้น  การศึกษาเกี่ยวกับยีนอย่าง Genomics ในการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม (Genetic Testing)  ที่ทำให้สามารถระบุถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคในอนาคต และนำไปสู่การป้องกันโรคเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังเป็นโรงพยาบาลแรก ๆ ของไทยที่นำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัดรักษา หรือแม้แต่หุ่นยนต์จัดยาอีกด้วย  

โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง การใช้ AI และ Deep Learning ในการรักษาโรคมะเร็ง ที่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลในระดับเซลล์เข้ามาใช้ในการตรวจวินิจฉัย ดังนั้น Big Data จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่ต้องอาศัยข้อมูลภาพทางการแพทย์ (Medical Imaging) เช่น ผล CT Scan, X-ray, Ultrasound, MRI เป็นต้น เข้ามาใช้เพื่อเทรนให้ AI ได้เกิดการฝึกฝนเรียนรู้ โดยผ่านการอ่านและวิเคราะห์ข้อมูลหลายล้านภาพ ที่จะช่วยให้รังสีแพทย์ (Radiologist) สามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ จำเพาะ และรวดเร็วยิ่งขึ้น 

เภสัชกรหญิงอาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า สำหรับการนำ AI มาใช้ในด้านรังสีวิทยาที่บำรุงราษฎร์นั้น ถือว่ามีความโดดเด่นมาก เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นแผนกแรก ๆ ในโรงพยาบาล เรียกได้ว่า ‘รังสีแพทย์’ เป็นแถวหน้าด้านการแพทย์ในยุคดิจิทัล ซึ่งหากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2543 หรือประมาณ 22 ปีก่อน บำรุงราษฎร์ได้เริ่มใช้งานระบบ Picture Archiving and Communication System (PACS) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการจัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์ (Medical Images) หรือภาพถ่ายทางรังสี โดยมีการรับส่งข้อมูลภาพในรูปแบบดิจิทัลเป็นครั้งแรก 

ต่อมาในปี 2544 นับเป็นปีแรกที่เริ่มนำเทคโนโลยีการถ่ายภาพแบบ Computed Radiography คือการใช้แผ่นรับภาพหรือเรียกว่า image plate แทนการใช้ฟิล์ม โดยมีเครื่องอ่านภาพ (image reader) เพื่ออ่านข้อมูลบนแผ่นก่อนนำส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยแพทย์สามารถอ่านผลได้ทั้งการสั่งพิมพ์ฟิล์มหรือบนคอมพิวเตอร์

และต่อมาในปี 2550 ได้พัฒนาเป็นดิจิตัลเต็มรูปแบบ โดยใช้ระบบเซ็นเซอร์หรือตัวรับภาพขนาดใหญ่ (detector) แทนการใช้แผ่นรับภาพแบบเดิม โดยประมวลผลและทราบผลภาพในเวลาเพียงเสี้ยววินาทีโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์อ่านข้อมูล 

เปิดตัว Radiology AI ปัญญาประดิษฐ์รังสีวิทยา 

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้มีการเปิดตัว Radiology AI ปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยาเข้ามาใช้ ที่สามารถช่วยรังสีแพทย์ในการคัดกรอง วิเคราะห์ วินิจฉัย ตลอดจนสามารถระบุตำแหน่งภาวะความผิดปกติของปอด และมะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มได้  ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการรักษาโรคได้อีกด้วย 

นายแพทย์อลงกรณ์ เกียรติดิลกรัฐ รองหัวหน้าแผนกรังสีวิทยา และแพทย์ชำนาญการด้านรังสีวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า Radiology AI ถือเป็น Deep Learning AI ซึ่งเป็นโมเดลการเรียนรู้ในเชิงลึก เป็นอัลกอรึทึมที่ใช้โครงข่ายใยประสาทเสมือน ด้วยการเลียนแบบการทำงานระบบประสาทของมนุษย์ที่มีเซลล์ประสาทเชื่อมต่อกัน 

ฉะนั้น Radiology AI จะสื่อสารโดยการประมวลผลที่ละเอียดลึกซึ้งกว่า Machine Learning รวมถึงสามารถประมวลผลต่อได้เอง ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาในปี 2564 ที่สำคัญ Radiology AI มีความล้ำทันสมัยในการวินิจฉัย มีความเสถียร แม่นยำ และรวดเร็ว ด้วยการใช้ Microsoft Azure แพลตฟอร์มคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก  

ทั้งนี้ บำรุงราษฎร์ได้ใช้เทคโนโลยี Radiology AI ในศูนย์ตรวจสุขภาพ แผนกผู้ป่วยวิกฤต (ICU)  แผนกฉุกเฉิน และแผนกอื่น ๆ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก Radiology INSIGHT CXR ช่วยรังสีแพทย์ในการตรวจหาภาวะความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ปอด เช่น ก้อนมะเร็งปอด ซึ่งรวมถึงจุดเล็กๆ ในตำแหน่งที่ยากต่อการวินิจฉัย วัณโรคในระยะที่แสดงอาการ ส่วนที่สอง คือ Radiology INSIGHT MMG จะใช้วิเคราะห์มะเร็งเต้านมจากภาพถ่ายแมมโมแกรม (Mammogram)

มะเร็งปอด ตรวจพบไว เพิ่มโอกาสรอดชีวิตสูง

มะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด โดยเฉลี่ยประมาณ 1 ใน  5 ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง สำหรับประเทศไทยความรุนแรงของสถานการณ์โรคมะเร็งปอดอยู่ที่อันดับ 18 ของโลก โดยสถิติเมื่อปี 2563 พบว่ามะเร็งปอดมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยพบจำนวนผู้ป่วยรายใหม่สูงถึง 23,717 ราย หรือ 65 รายต่อวัน

แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วมะเร็งปอด ถือเป็นโรคที่สามารรักษาให้หายได้ หากมีการตรวจพบและทำการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แต่โดยส่วนมากจะสามารถตรวจพบได้ก็ต่อเมื่อก้อนมะเร็งเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีการแพร่กระจายไปยังบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้

นายแพทย์กุรุวินท์ ลิ้มสมุทรเพชร แพทย์ชำนาญการด้านรังสีวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้มีการนำปัญญาประดิษฐ์สำหรับการเอกซเรย์ปอด หรือ Radiology INSIGHT CXR ช่วยรังสีแพทย์ในการตรวจหาภาวะความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ปอด เช่น ก้อนมะเร็งปอด ซึ่งรวมถึงจุดเล็กๆ ในตำแหน่งที่ยากต่อการวินิจฉัย วัณโรคในระยะที่แสดงอาการ รวมถึงช่วยวินิจฉัยภาวะฉุกเฉินได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น ภาวะลมรั่วในปอด 

หากเกิดลมรั่วน้อย ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจยังไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจมาด้วยอาการเจ็บหน้าอก แต่หากรังสีแพทย์สามารถวินิจฉัยได้เร็วและทราบผลตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่พลาดโอกาสในการรักษา โดยมีงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม จะทำให้มีอัตราการรอดชีวิต 5 ปี ถึง 73% แต่หากวินิจฉัยช้า อัตราการรอดชีวิต 5 ปีจะเหลือเพียง 18% เท่านั้น

เพิ่มความแม่นยำวินิจฉัยมะเร็งเต้านม พร้อมรักษาทันท่วงที

มะเร็งเต้านม อันดับหนึ่งของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งเมื่อปี 2563 ระบุว่า พบหญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ ประมาณ 18,000 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม ประมาณ 4,800 คน หรือเฉลี่ย 13 คนต่อวันเลยทีเดียว ดังนั้น ผู้หญิงในวัย 40 ปีขึ้นไป จึงควรเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี

แพทย์หญิงพัชรี ประสิทธิ์วรนันท์ แพทย์ชำนาญการด้านรังสีวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้มีการนำ Radiology INSIGHT MMG มาใช้ในการช่วยวินิจฉัยมะเร็งเต้านมบนภาพถ่ายแมมโมแกรมให้มีความแม่นยำ และรวดเร็วด้วยระยะเวลาในการแปลผลเพียง 50 วินาทีเท่านั้น จากเดิมที่ก่อนหน้านี้รังสีแพทย์ก็มีการอ่าน แปลผล วิเคราะห์ และวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายต่างๆ อยู่แล้ว แต่การนำ AI เข้ามาใช้จะช่วยวิเคราะห์ และเพิ่มความรอบคอบให้กับแพทย์ได้มากขึ้น 

ทั้งนี้ รังสีแพทย์จะนำผลของ Radiology AI มาประกอบการวินิจฉัย มะเร็งเต้านมหากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และเริ่มการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิต 5 ปี สูงถึง 99% แต่หากวินิจฉัยช้า ทำให้อัตราการรอดชีวิต 5 ปี จะลดลงเหลือ 86% ลงมาจนถึง 29% ตามระยะของมะเร็งที่สูงขึ้น ดังนั้น หากตรวจพบเร็วจะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น เพราะแมมโมแกรมไม่เพียงช่วยในการตรวจหามะเร็ง แต่เทคโนโลยีนี้ยังสามารถทำนายความเสี่ยงมะเร็งล่วงหน้าได้อีกด้วย 

อย่างไรก็ตามจากการที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้มีการนำ Radiology AI เข้ามาใช้นั้น ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มีส่วนช่วยในการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก โดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยรังสีแพทย์ที่จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนสำหรับกระบวนการวินิจฉัยและตัดสินใจของรังสีแพทย์ โดยจะเป็นรูปแบบการให้ “ความเห็นที่สอง” (Second Opinion) ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความแม่นยำรวดเร็วในการวินิจฉัยแล้ว ยังสามารถลดภาระงานให้กับรังสีแพทย์ และปรับปรุงผลลัพธ์การรักษาให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในการรักษาสูงสุดต่อผู้ป่วย อีกทั้งยังเป็นตัวเร่งการเรียนรู้ของรังสีแพทย์รุ่นใหม่ ๆ ในเวลาจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน  

สำหรับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มุ่งหวังที่จะส่งมอบการบริการแก่ผู้ป่วยอย่างมีคุณค่าที่สุด โดยการตรวจหามะเร็งในเวลาที่เหมาะสมเพื่อความสำเร็จในการรักษา ซึ่งนอกจากความชำนาญการและประสบการณ์ของรังสีแพทย์แล้ว Radiology AI ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนให้บำรุงราษฎร์ขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวล้ำสู่ระดับโลกอีกด้วย


บทความนี้เป็น Advertorial




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AI จะเป็น ‘ผู้กอบกู้’ หรือ ‘ผู้ทำลาย’ การ์ตูนญี่ปุ่น

เมื่อประตูสู่วัฒนธรรมและเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นอย่าง อนิเมะและมังงะกำลังถูก AI แทรกแซง อนาคตของวงการนี้จะเป็นยังไง ?...

Responsive image

เจาะลึกเทรนด์ Spatial Computing จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับองค์กรยุคใหม่

Spatial Computing คือเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนจริงและโลกจริงเข้าด้วยกัน ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กรในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการฝึกอบรมและ...

Responsive image

ถอดกลยุทธ์ ‘ttb spark academy’ ปั้น Intern เพิ่มคนสายเทคและดาต้า Co-create การศึกษาคู่การทำงานจริง

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เห็น Pain Point ว่าประเทศไทยขาดกำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) และธนาคารก็ต้องการคนเก่ง Tech & Data จึงจัดตั้ง ‘ttb spark academy’ เพื่อปั้น ...