กระแสยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยได้รับแรงผลักดันจากความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบตเตอรี่
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ EV ในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และการเติบโตยังไม่เต็มที่ ซึ่งเห็นได้ชัดจากผลสำรวจ Deloitte 2024 Global Automotive Consumer Study ที่เผยให้เห็นว่า ความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ล้วน (BEV) ในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยลดลงจาก 31% เหลือ 20%
ในขณะที่ BEV ในไทยกำลังเผชิญกับอุปสรรค ‘ตลาดรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV)’ ในจีนกลับเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในเดือนพฤษภาคม 2024 มียอดขายสูงถึง 47% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงโอกาส และศักยภาพของรถ PHEV ในฐานะทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่ BEV ยังมีข้อจำกัด
PHEV คือ รถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริด โดยมีทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน และมอเตอร์ไฟฟ้า แต่ PHEV มีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่กว่ารถไฮบริดทั่วไป จึงสามารถวิ่งด้วยไฟฟ้าได้เป็นระยะทางไกลกว่า และสามารถชาร์จไฟจากภายนอกได้ PHEV จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างรถยนต์ ICE และ BEV
BYD แบรนด์จีนที่กำลังครองตลาด EV ในไทยอยู่ตอนนั้นดูเหมือนจะมองเห็นโอกาสของ PHEV ในไทย หลังล่าสุดกำลังนำรถยนต์ PHEV อย่าง Sealion 6 ที่พ่วงเทคโนโลยี DM-i Super Hybrid เข้ามาทดสอบความนิยมของผู้ใช้ประเทศไทยในยุคเปลี่ยนผ่านเช่นนี้
คำถามคือ DM-i Super Hybrid จะเป็นคำตอบหรือไม่ สำหรับตลาด EV ไทยในยุคเปลี่ยนผ่านนี้?
BYD ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการรถยนต์ไฮบริด พวกเขาคือผู้ผลิตรถยนต์ไฮบริดเชิงพาณิชย์รายแรกของโลกด้วย BYD F3DM ที่วางจำหน่ายในปี 2008
ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน BYD ได้พัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็น DM-i (Dual Mode Intelligent) สำหรับรถยนต์ระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริด ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขจุดอ่อนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV นั่นคือ ระยะทางขับขี่ที่จำกัด เวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ และราคาที่สูง
มอเตอร์ขับเคลื่อนกำลังสูง + Blade Battery ขนาดใหญ่ + เครื่องยนต์สำหรับเสริมการขับเคลื่อน
DM-i แตกต่างจากระบบไฮบริดแบบเดิม ‘เน้นการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก และใช้เครื่องยนต์สันดาปเป็นตัวเสริม’ สังเกตได้จากโหมดการขับขี่ทั้ง 3 รูปแบบที่ BYD พยายามให้รุ่นนี้เป็นได้ทั้งรถไฟฟ้าล้วนที่วิ่งได้ไกลพอสำหรับขับในเมือง และรถไฮบริดที่วิ่งออกต่างจังหวัดแบบประหยัดน้ำมัน
BYD เชื่อมั่นว่า DM-i Super Hybrid จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ EV แต่ยังมีความกังวลเรื่องระยะทางขับขี่
อ้างอิงข้อมูลการใช้งานในจีน BYD ระบุว่าระยะทางวิ่งด้วยไฟฟ้าราว 100 กิโลเมตร เพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน และคาดการณ์ว่าพฤติกรรมการใช้งานในไทยน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
BYD Sealion 6 จึงถูกวางตำแหน่งให้เป็นรถยนต์ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานทั้งในเมือง และนอกเมือง โดยในวันธรรมดา ผู้ใช้สามารถชาร์จไฟ และขับขี่ในโหมด EV เพื่อการประหยัดพลังงาน ส่วนในวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็สามารถใช้โหมดไฮบริดเพื่อการเดินทางไกลได้อย่างสบายใจ
โดยคาดหวังให้ Sealion 6 เป็นตัวเปิดตลาด PHEV ในประเทศไทย และอาจส่งผลต่อส่วนแบ่งทางการตลาดของรถยนต์สันดาป โดย DM-i Super Hynrid อาจเป็นตัวเร่งให้ตลาด EV ในไทยเติบโตเร็วขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ผลิตรายอื่นในการนำเสนอรถยนต์ PHEV สู่ตลาด
ในตอนนี้ในประเทศไทยที่ยังใช้เทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ ICE เป็นหลักอยู่ การมาถึง PHEV โดยเฉพาะ BYD ที่มีโรงงานผลิต และประกอบอยู่ที่จังหวัดระยอง ประเทศไทยอยู่แล้วนั้น อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการ Transform จากรถ ICE สู่ EV ล้วนได้เร็วขึ้น
เชื่อว่า PHEV จะแก้ปัญหา Network การชาร์จที่ไม่สมบูรณ์แบบ จะเปิดช่องทางให้ชาวไทยได้สมัผัสถึงรถยนต์พลังงานใหม่
Benson Ke, General Manager of BYD Thailand ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนในช่วง Q&A
อย่างไรก็ตาม DM-i Super Hybrid ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของราคา PHEV มีราคาสูงกว่ารถยนต์สันดาปภายใน และ EV บางรุ่น ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
การทำตลาด การวาง Position และราคาของ BYD Sealion 6 นั้นสำคัญอย่างยิ่ง
อ้างอิง : ข้อมูลจากงาน Beyond Limits, Beyond Expectations ณ ซีอาน ประเทศจีน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด