แผนก้าวเป็นผู้นำด้าน AI และ Global Tech Hub ของ Canada ในโลกที่เปลี่ยนแปลง | Techsauce

แผนก้าวเป็นผู้นำด้าน AI และ Global Tech Hub ของ Canada ในโลกที่เปลี่ยนแปลง

  • รัฐบาลทุ่มเงิน 125 ล้านเหรียญลงทุนในยุทธศาสตร์ ‘Pan-Canadian Artificial Intelligence Strategy’ ให้กับสถาบันวิจัยระดับนานาชาติ เพื่อการวิจัยเกี่ยวกับอนาคตของ AI ทั้งสนับสนุนการลงทุนในการศึกษา งานวิจัย วิทยาศาสตร์
  • ออก Global Skills Strategy ดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถทั่วโลก ผู้ที่ต้องการขอใบอนุญาตทำงานสามารถดำเนินการได้ภายในสองอาทิตย์ หากมีคุณสมบัติตรงตามกำหนด
  • มีความพร้อมด้านบุคลากร หลายบริษัทชั้นนำทั่วโลกต่างเดินทางเฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ในแคนาดา
  • ด้วยความที่เป็นประเทศเต็มไปด้วยคนหลากเชื้อชาติ ทำให้แคนาดามีคลังข้อมูลมหาศาลและหลากหลาย ถือเป็นขุมทรัพท์ของนักพัฒนา AI
  • Startup และบริษัทเอกชนสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการสร้างงานวิจัยที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี ผลักดันการสร้างนวัตกรรมทั้งในภาคธุรกิจและภาคการศึกษา

ดูเหมือนว่าการแข่งขันด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเริ่มเข้มข้นเข้าไปทุกที หลายประเทศได้ออกนโยบายและแสดงตัวเป็นผู้นำด้าน AI กันอย่างดุเดือด ซึ่งประเทศที่กำลังมาแรงและน่าจับตาไม่แพ้ที่ใดในโลกคือประเทศแคนาดา ที่นี่เต็มไปด้วยเหล่า AI เนิร์ด อีกทั้งรัฐบาลมีความพยายามอย่างหนักในการผลักดันประเทศให้ก้าวเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี

เมื่อไม่นานมานี้ Bloomberg รายงานว่าโตรอนโต (Toronto) เป็นหนึ่งใน Tech hub ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่นี่มีบริษัทพัฒนาด้าน AI จำนวนมาก อีกทั้งมีมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่มีชื่อเสียง โดยผลสำรวจของ CBRE พบว่ามี 28,900 งานใหม่ ๆ ด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 14 เปอร์เซ็นต์จากปี 2016 ซึ่งมากกว่าใน Silicon Valley เสียอีก

แคนาดาได้มีการวางกลยุทธ์ในการเป็นผู้นำด้านงานวิจัยและแนวความคิดด้าน AI ได้น่าสนใจ มาดูกันว่าทำไม

ยุทธศาสตร์และนโยบายด้าน AI

รัฐบาลได้ทุ่มเงิน 125 ล้านเหรียญลงทุนในยุทธศาสตร์ ‘Pan-Canadian Artificial Intelligence Strategy’ ให้กับสถาบันวิจัยระดับนานาชาติ CIFAR เพื่อการวิจัยเกี่ยวกับอนาคตของ AI ทั้งสนับสนุนการลงทุนในการศึกษา งานวิจัย วิทยาศาสตร์ โดยทำงานร่วมกับ 3 สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัย ได้แก่ Alberta Machine Intelligence Institute (AMII) ที่เอ็ดมันตัน, Vector Institute ในโตรอนโตและ Montreal Institute for Learning Algorithms (MILA) ในมอนทรีออล

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ออก Global Skills Strategy (GSS) เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนานวัตกรรมของแคนาดา (Canada’s Innovation Agenda) ดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถทั่วโลกเข้ามายังแคนาดาเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงานใหม่ ๆ โดยผู้ที่ต้องการขอใบอนุญาตทำงานสามารถดำเนินการได้ภายในสองอาทิตย์หากมีคุณสมบัติตรงตามกำหนด

ภาพจาก Fortune

นาย Navdeep Bains รัฐมนตรีด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และการพัฒนาเศรษฐกิจของแคนาดา กล่าวในงาน Fortune Global Forum เมื่อเดือนตุลาคมว่า

หากคุณเป็นเจ้าของบริษัทในแคนาดา การที่ไม่สามารถหาคนที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการได้นั้นเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถหาคนเก่งจากที่ไหนก็ได้บนโลก และสามารถนำพวกเขาเข้ามาทำงานในแคนาดาได้ภายในสองอาทิตย์

ความพร้อมด้านบุคลากร ทั้งนักวิจัยและบริษัทชั้นนำ

โลกกำลังขาดแคลนบุคลากรด้าน AI อย่างหนัก ทุกคนต่างก็มองหาวิศวกรระดับ Ph.D และบุคคลเหล่านี้ก็รวมตัวกันอยู่ที่แคนาดา

การลงทุนด้าน AI ยังได้ดึงดูดนักวิจัย อีกทั้งหลายบริษัทชั้นนำทั่วโลกได้เดินทางเฟ้นหานักวิจัยในแคนาดา นอกจากนี้เม็ดเงินดังกล่าวยังเข้าไปส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับระบบ AI ใน 25 มหาวิทยาลัยชั้นนำของแคนาดา รวมถึงส่งเสริมการลงทุนทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อื่น ๆ

โดยเป็นเวลาหลายปีแล้วที่ University of Toronto และ Universy of Waterloo ได้มีการลงทุนส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ก่อนที่จะได้รับความนิยมเสียอีก นอกจากนี้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในมอนทรีออลและเอ็ดมันตันก็ได้มีการเตรียมความพร้อมด้าน AI เช่นกัน นี่ทำให้ปัจจุบันแคนาดาเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีคนที่เก่งด้าน AI มากแห่งหนึ่งของโลก

ความคืบหน้าด้าน AI ที่น่าสนใจจากบริษัทชั้นนำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีดังนี้

  • บริษัท AI สัญชาติอังกฤษอย่าง DeepMind ของ Google ได้เปิดออฟฟิศนอกประเทศแห่งแรกที่เอ็ดมันตัน
  • สถาบันวิจัยมูลค่า 170 ล้านเหรียญอย่าง Vector Institute ควบคุมโดย Geoffrey Hinton (หรือเป็นที่รู้จักกันว่า “the godfather of AI”) ถูกตั้งขึ้นที่โตรอนโต
  • Geoffrey Gordon นักวิจัยผู้มีชื่อเสียงจากภาควิชา Machine Learning จาก Carnegie Mellon University ประกาศย้ายทำงานที่สถาบันวิจัยของ Microsoft ที่มอนทรีออล
  • นอกจากนี้ Facebook Inc ได้เปิดศูนย์วิจัยด้าน AI ในมอนทรีออล ถือเป็นการลงทุนด้าน AI ครั้งแรกของ Facebook ในแคนาดา โดย Yann LeCun, Chief AI Scientist ของ Facebook บอกกับทาง Bloomberg ว่า

สาเหตุที่เราเลือกเปิดศูนย์วิจัยด้าน AI ที่แคนาดา เนื่องจากที่นี่มีระบบ Ecosystem ที่สนับสนุนการพัฒนา AI อย่างรอบด้าน ทั้งนักศึกษา บุคลากร Startup และการผลักดันจากภาครัฐ

มีคลังข้อมูลมหาศาลและหลากหลาย

รัฐได้สนับสนุนการพัฒนา AI เพื่อนำไปใช้ในด้านการขนส่ง (Transportation), ด้านบริการสุขภาพ (Healthcare), และระบบรักษาความปลอดภัย (Security) ซึ่งการที่มีข้อมูลที่มหาศาลและหลากหลายนั้นเรียกได้ว่าเป็นขุมทรัพท์ของนักพัฒนา AI

การไม่มีข้อมูลที่หลากหลายนั้นถือเป็นจุดอ่อนของการพัฒนา AI เลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น ระบบการจดจำเสียง บางครั้งก็ไม่สามารถทำการการถอดเสียงผู้หญิงได้ เนื่องจากนักพัฒนาได้ฝึกซอฟต์แวร์ให้จำเฉพาะเสียงผู้ชาย, ระบบจดจำใบหน้าทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรเมื่อต้องทำการสแกนใบหน้าคนผิวสี ซึ่งการที่ประเทศแคนาดามีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทำให้ได้เปรียบในแง่ความหลากหลายของชุดข้อมูล

Startup ที่พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยสร้างความหลากหลายทางสังคมได้แก่

  • Knockri Startup จากโตรอนโต ทำการพัฒนา AI ช่วยบริษัทในการคัดคนเข้าทำงาน เนื่องจากประชากรกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในโตรอนโตนั้นเป็นชาวต่างชาติ ดังนั้นผู้สมัครจะมีความหลากหลายในแง่ของเชื้อชาติ สีผิว เพศสภาพ และอื่น ๆ โดยซอฟต์แวร์นี้จะช่วยบริษัทในการคัดคนโดยปราศจากอคติ และยังสามารถระบุ soft skills ของผู้สมัครจากวิดีโอได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
  • Integrate.AI อีก Startup จากโตรอนโต ที่ช่วยบริษัทใหญ่ในการพัฒนาความสัมพันธ์ผู้บริโภค ขณะนี้ได้ร่วมวิจัยกับสถาบัน Vector Institute พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้มีความยืดหยุ่นและลดอคติในการตัดสินใจ

ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน

Startup และบริษัทเอกชนสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการสร้างงานวิจัยที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นทั้งในภาคธุรกิจและภาคการศึกษา ตัวอย่างความร่วมมือที่น่าสนใจมีดังนี้

  • Royal Bank of Canada (RBC) ได้สร้าง Borealis AI เปิดโอกาสให้พนักงานได้ทำงานกับมหาลัยในการผลิตงานวิจัย
  • Element AI ทำงานร่วมกับนักวิจัยจาก University of Montreal และ McGill University ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ AI ที่จะช่วยบริษัทในเสริมการตัดสินใจ เพื่อให้ธุรกิจมีความปลอดภัย แข็งแกร่ง และคล่องตัวยิ่งขึ้น

การยกระดับบทบาทผู้นำด้าน AI ในเอเชีย

ทุกวันนี้ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกกำลังเคลื่อนเข้าหาเอเชีย ทั้งบุคลากรที่ย้ายมาทำงานที่นี่ อีกทั้งเรื่องของเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ล่าสุดนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดาได้เดินทางมายังสิงคโปร์ เพื่อเป็นสักขีพยานในการประกาศความร่วมมือระหว่าง Element AI บริษัทระดับโลกผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับ GIC, SGInnovate และ Singapore Management University (SMU) ในการพัฒนานวัตกรรมด้านการเงิน

การจับมือเป็นพันธมิตรครั้งนี้เป็นการยกระดับบทบาทของแคนาดาในเอเชีย อีกทั้งวางตัวเป็น Global Tech Hub ต้อนรับคนเก่งจากทั่วโลกโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ

ในฐานะการเป็นพลเมืองโลก หากเราได้พูดคุย เรียนรู้ แลกเปลี่ยน เคารพ และเข้าใจความแตกต่างของกันและกันมากเท่าไร ยิ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่ง และสร้างชีวิตที่ดีขึ้นร่วมกันได้มากเท่านั้น

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลแคนาดาได้วางตัวเป็นผู้นำด้าน AI อย่างชัดเจน มีการออกนโยบายดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถจากทั่วโลก เพื่อช่วยป้องกันอัตราการว่างงาน อีกทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำในประเทศตัวเองอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราพากันหวาดกลัวว่า AI จะเข้ามาแย่งงานในอนาคต หรือจะพัฒนาจนเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์นั้นยังคงต้องรอกันไปอีกสักพัก

เราไม่รู้แน่ชัดว่าอนาคตของ AI จะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ คือมันจะเข้ามาเปลี่ยนทุกอย่าง เราจะปรับตัวรับมือกับมันอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย ยังไงมนุษย์ก็ถูกสร้างมาให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว ท้ายที่สุดมนุษย์อาจพัฒนาเป็น AI ก็ได้ เราสามารถใช้ประโยชน์จากมันในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้ล้ำขึ้น นี่อาจนำไปสู่การสร้างเจเนอเรชันใหม่ที่ดีกว่า

อ้างอิง Bloomberg, Forbes, Fortune, WIRED, The Verge, Digital Journal, IT World Canada

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...