ถ้าคุณเคยสั่งซื้อ 'เคสมือถือ' ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ น่าจะเคยเห็นเคสของ CASETiFY (เคสติฟาย) แบรนด์ผู้ผลิตและจำหน่ายเคสมือถือผ่านตาอยู่บ้าง โดยแบรนด์นี้ก่อตั้งมาแล้ว 11 ปี มีทั้งร้านค้าออนไลน์-ออฟไลน์ และผู้บริโภคสามารถ Customization หรือ ปรับแต่ง ข้อความ (text) และลวดลายหรือภาพ (photo) ผ่านแพลตฟอร์มเองได้ ไม่ว่าจะดีไซน์สำหรับเคสมือถือ (iPhone, Samsung, Google Pixel) เคสใส่หูฟัง (Airpods Case) กระเป๋าใส่โน้ตบุ๊ก (Laptop Sleeve) สติกเกอร์ติดโน้ตบุ๊ก ฯลฯ
CASETiFY ถือกำเนิดที่ฮ่องกงในปี 2011 และเติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากการเป็นผู้ผลิตเคสมือถือที่เน้นดีไซน์และสามารถคัสตอมได้ ต่อมาขยับขยายเป็น Tech Accessories Brand ที่ผลิตออกมาหลายคอลเล็กชัน ทั้งยัง Co-lab (Collaboration) กับแบรนด์ ศิลปิน และคอนเทนต์อย่างหลากหลาย อาทิ Coca Cola x CASETiFY, Blackpink x CASETiFY, Barbie x CASETiFY, Harry Potter x CASETiFY, Minion x CASETiFY, One Piece x CASETiFY, Disney and Pixar’s Toy Story x CASETiFY
ในมุมรายได้ CASETiFY เป็นแบรนด์ D2C (Direct to consumer) มานาน โดยในปี 2020 สร้างรายได้รวมกว่า 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นสูงกว่า 70% จึงเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตสู่ธุรกิจแบรนด์ระดับโลกอย่างก้าวกระโดด
การเติบโตส่วนใหญ่มาจาก ร้านค้าปลีกแบบออฟไลน์ (CASETiFY Studio) โดยเฉพาะความสำเร็จในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของร้านค้าปลีก 18 แห่งทั่วเอเชียแปซิฟิก ด้วยยอดขายเฉลี่ยต่อตารางฟุตใน CASETiFY Studio 18 แห่งทั่วเอเชียแปซิฟิก ในปี 2021 อยู่ที่ 1,441 ดอลลาร์ ทำให้เห็นว่า 'หน้าร้านจริง' มีผลต่อการเพิ่มการรับรู้ในตลาดนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีคุณภาพสูง ความหลากหลายของดีไซน์ รวมถึงการตกแต่งที่มีสีสันมากมายเป็นตัวเลือกและไฮไลต์ โดยใช้กลยุทธ์การสร้างความแตกต่างที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ด้วยการพลิกโฉมจากเคสโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ให้กลายเป็นเครื่องประดับแฟชั่นที่ได้รับความนิยมในตลาดทั่วโลกอย่างสูง
หน้าร้านแบบออฟไลน์ของ CASETiFY กระจายอยู่ในฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย
จุดขายอีกอย่างคือ แบรนด์ CASETiFY จะเข้าไปร่วมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่เชื่อมโยงกับตลาด ทั้งยัง Collaboration กับแบรนด์ทั่วโลก กับศิลปินท้องถิ่นในแต่ละประเทศ เช่น Jeff Satur ศิลปินมากความสามารถจากประเทศไทยที่โด่งดังจากเพลง 'ลืมไปแล้วว่าต้องลืมยังไง' Sundae Kids ศิลปิน/นักวาดชาวไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในหกศิลปินระดับโลกกลุ่มแรกที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานหรือ Co-lab กับ CASETiFY
หลายเดือนมานี้ CASETiFY (ทดลองตลาดด้วยการ) เข้ามาเปิด Pop-up Store แห่งแรกในกรุงเทพฯ โดยเป็นร้านแบบ semi-permanent ที่สแตนด์บายนาน 6 เดือน หลังจากเปิดตัวไม่นาน ยอดขาย CASETiFY เติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการสั่งสินค้าทางออนไลน์ ส่งผลให้ได้ฐานลูกค้าใหม่ในเมืองไทยเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว จากความสำเร็จก้าวแรกนี้ทำให้ CASETiFY มั่นใจในศักยภาพของประเทศไทย จึงตั้งเป้าลุยตลาดไทยอย่างเต็มตัว ด้วยแผนเปิด CASETiFY Studio ร้านค้าถาวรในไทย และคาดว่าจะเปิดร้านได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566
ในปี 2564 CASETiFY ยังเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจด้วยการร่วมทุนนับสิบล้านดอลลาร์กับ C Ventures บริษัทร่วมทุนชื่อดังซึ่งก่อตั้งโดย เอเดรียน เฉิง (Adrian Cheng)
ตอนนี้ CASETiFY บุกตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์กับสินค้าแฟชั่นแบบเต็มตัว ซึ่งนอกจาก CASETiFY พร้อมลุยตลาดไทยตาม Roadmap แล้ว ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะเปิดตัวร้านค้าใน 5 เมืองใหญ่ ได้แก่ ซิดนีย์ เซี่ยงไฮ้ ไทเป โซล และโตเกียว นอกจากนี้ยังตั้งเป้ากวาดรายได้ 3 พันล้านดอลลาร์ กับมีแผนเปิดสาขาใหม่ 100 แห่ง (รวม 20 แห่งในสหรัฐอเมริกา) ภายในปี 2025
เวสลีย์ อิ้ง (Wesley Ng) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง CASETiFY ชาวฮ่องกง กล่าวถึงแบรนด์ที่ปลุกปั้นเองว่า
"ผลิตภัณฑ์ของ CASETiFY เปรียบเสมือนผืนผ้าใบสำหรับการสร้างสรรค์ไม่มีที่สิ้นสุด ผ่านการร่วมมือกับแบรนด์ที่โดดเด่น และความหลงใหลในคิดค้นนวัตกรรมป้องกันที่แข็งแรงทนทาน เพื่อให้ลูกค้ามีตัวเลือกตกแต่งอุปกรณ์ไอทีที่พวกเขาหวงแหนได้อย่างเต็มที่ และเชื่อมต่อกับความชอบของพวกเขาอย่างแท้จริง งานของเราคือการสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ที่มีตัวเลือกเพียงพอจะตอบทุกสไตล์ ทุกเทรนด์แฟชั่น และทุกบุคลิก ตั้งแต่แบบเรียบง่ายไปจนถึงงานดีไซน์ที่จัดจ้าน"
สินค้าใดๆ ก็ตามที่มีดีไซน์สวย เท่ เก๋ น่ารัก หลังจากออกสู่ตลาดได้ไม่นานก็มักจะถูกลอกเลียนแบบ ผู้บริโภคอาจถูกหลอกให้จ่ายแพงและไม่ได้สินค้าคุณภาพ และเพื่อให้ผู้ซื้อตรวจสอบได้ว่าเป็นของจริงหรือของก๊อป CASETiFY จึงแปะ QR Code บนสินค้าทุกชิ้นที่ผลิตตั้งแต่กลางปี 2022 เป็นต้นมา เพื่อให้สแกนและรู้ได้ว่า ชิ้นที่ได้ไปเป็นของแท้แน่นอน
CASETiFY มีความมุ่งมั่นและใส่ใจด้านความยั่งยืน เห็นได้จากแคมเปญ Re/CASETiFY ที่นำเคสไม่ใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นสินค้ารุ่นใหม่กว่า 28,000 กิโลกรัม ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทได้มากถึง 20% นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม earthday.org ปลูกต้นไม้อีกกว่า 165,000 ต้น
CASETiFY เป็นแบรนด์ตกแต่งอุปกรณ์เสริมของสินค้าเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในกลุ่มผู้บริโภค Gen Z โดยสามารถเข้าถึง 1 ใน 5 ของผู้บริโภค Gen Z ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย
มีข้อสังเกตว่า การที่ผู้ผลิตเคสรีไซเคิลได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภค Gen Z สอดคล้องกับเทรนด์รักษ์โลกของเจเนอเรชันนี้อย่างชัดเจน โดยในรายงานของ Forbes ในปี 2019 “The State of Consumer Spending: Gen Z Shoppers Demand Sustainable Retail” ระบุว่า 62% ของ Gen Z ยินดีที่จะซื้อสินค้าของแบรนด์ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด