ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหลายอย่างทำให้ชีวิตประจำวันของเราง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการติดต่อสื่อสาร บริการทางการเงิน การเดินทาง ไปจนถึงการสั่งอาหาร เรียกได้ว่าปัจจัยพื้นฐานในชีวิตประจำวันของเราได้มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหา ลดข้อจำกัดเดิมๆ โดยหัวใจหลักคือทุกสิ่งถูกทำให้ง่าย และสะดวกสบายมากขึ้น
แต่หนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญไม่แพ้กันและเราอาจยังไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างพื้นฐานมากนักคือในเรื่องของการใช้บริการทางการแพทย์ แม้ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชื่อเสียงในระดับสากลในด้านระบบสุขภาพ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแง่ของการจัดการของโรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่คนจะเข้าไปรับบริการยังสามารถพัฒนาระบบการจัดการได้อีกมาก โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญในการเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐบาล ซึ่งต้องดูแลชีวิตและสุขภาพของคนในประเทศจำนวนมาก
ปัญหาที่เคยมีมาหลักๆ ตั้งแต่เรื่องของเวลาที่ผู้ป่วยต้องใช้เป็นจำนวนมากในการติดต่อเข้ามาใช้บริการในแต่ละครั้ง และเรื่องที่สำคัญอย่างสิทธิ์ค่ารักษาที่ยังมีความสับสนในเรื่องของสิทธิ์ต่างๆ ซึ่งเป็นความดูแลจากทางภาครัฐ ยังมีกระบวนการตรวจสอบสิทธิ์ที่มีขั้นตอนยุ่งยาก เพราะลักษณะการใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐคือการต้องจ่ายก่อนเข้ารับการบริการ กินเวลาทั้งส่วนบุคลากรของโรงพยาบาล และตัวผู้ป่วยที่มาใช้บริการเอง ไปจนถึงอีกหลายๆ เรื่องที่เทคโนโลยีสามารถเข้ามามีบทบาทช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกรวดเร็วให้กับระบบการจัดการของโรงพยาบาลได้
ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นคือการที่ภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อบริการลูกค้าเข้าไปช่วยภาครัฐในการบริการประชาชน ล่าสุด โรงพยาบาลชลบุรีร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย พัฒนาแอปฯ CBH PLUS แอปฯ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดการของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นระบบของการรับคิวพบแพทย์ การจัดเก็บและการเข้าถึงประวัติของผู้ป่วย การชำระค่าบริการผ่านแอปฯ และที่สำคัญที่สุดคือในด้านของการจัดการฐานข้อมูล เพราะแอปฯ CBH PLUS สามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ผู้ป่วยเช็คสิทธิ์รักษาพยาบาล 3 กองทุน ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ผ่านแอปฯ ได้เอง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย จุดประสงค์ขั้นต้นเพื่อรองรับผู้ป่วยนอกของรพ.ชลบุรี ที่มีจำนวนเฉลี่ยมากกว่า 4,000 รายต่อวัน และต่อยอดขยายการเชื่อมต่อครอบคลุมทุกโรงพยาบาลทั่วชลบุรี
ตรวจสอบสิทธิ์การรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุน เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ผู้ป่วยเช็คสิทธิ์รักษาพยาบาล 3 กองทุน ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ผ่านแอปฯ ได้ด้วยตนเอง ช่วยลดขั้นตอนและเวลาในการเข้ามาติดต่อโรงพยาบาลเพื่อเช็คสิทธิ์ โดย CBH PLUS เป็นแอปฯ โรงพยาบาลแห่งแรกที่ทำได้
ข้อมูลและประวัติส่วนตัวในรูปแบบดิจิทัล (Personal Health Record: PHR) ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูล ประวัติทางการแพทย์ของตัวเองที่ถูกจัดเก็บเป็นข้อมูลดิจิทัลในแอปฯ ได้ทุกที่ทุกเวลา ขั้นต้นในเฟสแรกจะแสดงข้อมูลทั้งหมด 4 ด้าน คือ การนัดหมายพบแพทย์, ประวัติการแพ้ยา, ประวัติการรับยา และผลแลป ซึ่งในส่วนของข้อมูลส่วนบุคคลด้านอื่นๆ จะถูกพัฒนาเพิ่มเติมขึ้นอีกในอนาคต
เช็คอิน-รับบัตรคิว และอัพเดทคิวเรียลไทม์ ด้วยระบบคิวเดียว หรือ Single Queue ผู้ป่วยสามารถรับคิวผ่านทางแอปฯ ได้ด้วยตัวเอง และใช้คิวที่ได้นั้นตลอดทุกขั้นตอนของการรับบริการจากทางโรงพยาบาล ไม่ต้องไปขอคิวใหม่ทุกครั้งเหมือนที่เคยเป็นมา ไม่ว่าจะเป็นห้องตรวจ ห้องปฏิบัติการต่างๆ ไปจนถึงคิวรับยาและคิวชำระเงิน และยังมีการอัพเดตคิวแบบเรียลไทม์ผ่านทางแอปฯ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดและบริหารจัดการเวลาของตัวเองได้ดีขึ้น ลดความแออัดบริเวณหน้าห้องตรวจ
แจ้งเตือนนัดหมายพบแพทย์ ระบบที่ช่วยแจ้งล่วงหน้าก่อนถึงวันนัดหมาย และในวันนัด
ระบบการชำระเงิน แอปฯ จะส่งระบุรายการค่าใช้จ่ายและยอดเงินที่ต้องชำระ ซึ่งผู้ป่วยสามารถชำระเงินผ่านทางแอปฯ ได้ โดยจะเลือกจ่ายด้วยบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตก็ได้
ข่าวสารทางสุขภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลการดูแลสุขภาพผ่านทางแอปฯ ทั้งในรูปแบบของบทความและวิดีโอ
โดยทางโรงพยาบาลชลบุรีได้ทำการเปิดตัวแอปฯ CBH PLUS อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากได้ทดลองใช้ระบบมาร่วมสามเดือน ซึ่งนับว่าความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนนั้นสอดคล้องกับจุดประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีนโยบายลดการเจ็บป่วยของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการโดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เป็น Smart Hospital เพื่อให้ผู้ป่วยที่มารับบริการ ได้รับความสะดวกรวดเร็ว และมีขั้นตอนการรับบริการลดลง
นอกเหนือจากประโยชน์ด้านฟังก์ชันต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไป ความน่าสนใจของโปรเจคการพัฒนาแอปฯ นี้คือการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเข้ากับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งทำให้เราได้เห็นโมเดลของการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล (Database) ร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ซึ่งจะทำให้ข้อมูลของผู้ใช้บริการหรือประชาชนมีความเชื่อมโยงกัน นำไปสู่การสร้างประโยชน์ต่อการเข้ารับบริการจากทางภาครัฐซึ่งจะสามารถต่อยอดได้อีกมาก โดยเฉพาะความเป็นไปได้ที่จะไปสู่โครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลดิจิทัลของบริการทางการแพทย์ของประเทศในอนาคต โดยมีโปรเจคแอปฯ CBH PLUS เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ
โดย คุณทวี ธีระสุนทรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า "นี่เป็นจุดเริ่มต้น เหมือนเป็นการจุดประกายให้กับทุกโรงพยาบาลลองคิด โดยอยากให้ลองมาดูงานจากโรงพยาบาลชลบุรีเพื่อเป็นต้นแบบและนำไปต่อยอด" และยังพูดถึงภาพเป้าหมายสูงสุดเมื่อข้อมูลดิจิทัลของผู้ป่วยทั้งหมดสามารถเชื่อมต่อและเอื้อประโยชน์ต่อกันได้ "ถ้าเป็นไปได้ในอนาคต หากข้อมูลทั้งหมดอยู่บน Cloud หมายความว่าคุณจะสามารถไปที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ สามารถเปิดข้อมูลประวัติทางการรักษาให้โรงพยาบาลที่ไปได้เลย เพราะข้อมูลทั้งหมดอยู่บน Cloud แล้ว แต่ประเด็นนี้ยังเป็นเพียงเป้าหมายในอนาคต เพราะยังมีประเด็นเรื่องของข้อกฏหมาย พรบ.ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพ หรือเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งในระยะยาวเราก็คงได้เห็นภาพเป้าหมายนั้นเป็นจริงได้ แต่ในวันนี้อยากให้เห็นก่อนว่าเทคโนโลยีพร้อมที่จะพาเราไปถึงจุดนั้นได้แล้ว"
ถ้าเป็นไปได้ในอนาคต หากข้อมูลทั้งหมดอยู่บน Cloud หมายความว่าคุณจะสามารถไปที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ สามารถเปิดข้อมูลประวัติทางการรักษาให้โรงพยาบาลที่ไปได้เลย..ในระยะยาวเราก็คงได้เห็นภาพเป้าหมายนั้นเป็นจริงได้ แต่ในวันนี้อยากให้เห็นก่อนว่าเทคโนโลยีพร้อมที่จะพาเราไปถึงจุดนั้นได้แล้ว
บทความนี้เป็น Advertorial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด