จีนจะกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก ล้มยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมันและญี่ปุ่น ที่น่าสนใจคือในประเทศไทย ภูมิภาคที่เคยมีผู้ผลิตรถยนต์เจ้าหลักอย่างญี่ปุ่น ทำไมถึงพ่ายแพ้ให้กับจีน อะไรคือจุดเปลี่ยน
นับตั้งแต่ปี 2565 อุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 57% ก้าวมาเป็นผู้ส่งออกรถยนต์อันดับ 2 ของโลกแซงหน้าเยอรมนี และในไตรมาสแรกของปี 2566 การส่งออกก็เพิ่มขึ้นถึง 76% แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างญี่ปุ่น และจุดเปลี่ยนสำคัญคือรถยนต์ไฟฟ้า
การที่จีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ความพร้อมและจังหวะเวลาที่เหมาะสม ในช่วงที่ผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งตะวันตกประสบปัญหาการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ เพราะแหล่งที่จำหน่ายชิ้นส่วนให้กับพวกเขากระจายกันอยู่ในหลากหลายประเทศ
แต่ผู้ผลิตฝั่งจีนมีชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการผลิตรถยนต์ครบครันและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้สามารถผลิตรถยนต์ได้มากขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งตะวันตกต้องลดปริมาณการผลิตลง
นอกจากนี้สงครามรัสเซียยูเครนทำให้ประเทศตะวันตกหลายประเทศคว่ำบาตรรัสเซีย รัสเซียจึงต้องซื้อรถยนต์จากจีนมากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์จีนอย่าง Great Wall, Chery และ Geely จึงฉกฉวยโอกาสจากสถานการณ์นี้ขายรถยนต์ให้กับรัสเซียได้มากขึ้นนั่นเอง
จุดเริ่มต้น อุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2493 เมื่อรัฐบาลต้องการพัฒนาเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมไปเป็นแบบอุตสาหกรรม จึงเป็นโอกาสทำให้ญี่ปุ่นเลือกเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากในช่วงนั้นญี่ปุ่นกำลังมองหาฐานการผลิตแห่งใหม่ที่มีค่าแรงต่ำ
ญี่ปุ่นจึงเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกและครองตลาดรถยนต์ในไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งการเป็นผู้บุกเบิกตลาดยานยนต์ของญี่ปุ่นทำให้มีพันธมิตรเป็นบริษัทยานยนต์ในไทยมากมาย เช่น สยามกลการ หรือโตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์)
จากการเข้ามาลงทุนของญี่ปุ่นในปี 2505 และดำเนินการมาอย่างยาวนาน ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตลาดสำคัญสำหรับรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีฐานการผลิต ประกอบ และทำชิ้นส่วนยานยนต์
จนในปี พ.ศ. 2560 ไทยก็ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ได้มากเป็นอันดับที่ 12 ของโลก เพราะความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น
ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทที่ผลิตและประกอบรถยนต์ญี่ปุ่นของไทยอย่างสยามกลการ เริ่มมองหาลู่ทางอื่นในธุรกิจยานยนต์ โดยเปลี่ยนขั้วไปเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์จีนหลายรายเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ แทนที่จะเจรจาพูดคุยกับพันธมิตรเดิมอย่างญี่ปุ่น
ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไป จากเดิมที่บริษัทญี่ปุ่นครองตลาดและเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในไทย แต่ปัจจุบันบริษัทจีนได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากผู้คนในปัจจุบันต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
เมื่อปีที่ผ่านมารถยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV กลายมาเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจาก 2 สาเหตุหลัก คือ
ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น: สงครามรัสเซีย - ยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันในไทยดีดตัวสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นมหาอำนาจด้านพลังงาน (ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน) เมื่อเกิดสงครามหลาย ๆ ประเทศจึงคว่ำบาตรรัสเซีย รวมถึงการส่งออกน้ำมันของรัสเซียก็ต้องหยุดชะงัก
แต่น้ำมันยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้คนทั่วโลกต้องใช้งาน เมื่อความต้องการซื้อสูง แต่ทรัพยากรที่มีอยู่น้อยลง ก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นเป็นเท่าตัว และปัจจุบันก็ไม่มีทีท่าที่จะลดลงเลย
รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนรถ EV: นอกจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลไทยกำลังผลักดัน รัฐบาลไทยมองว่า EV คืออนาคตที่จะทำให้อุตสาหกรรมในไทยเติบโตขึ้นได้อีก ซึ่งเป็นมุมมองเดียวกันกับช่วงที่เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย
ประเทศไทยตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ภายในปี พ.ศ.2573 ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในภูมิภาค จึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อดึงดูดการลงทุนจากบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีน
จากการที่โรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยมีรากฐานที่ดี มีความสามารถในการจัดหาชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการผลิตได้ภายในประเทศ รัฐบาลไทยจึงมั่นใจและยิ่งส่งเสริมโดยการออกนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ลดอัตราหรือยกเว้นอากรขาเข้า การลดอัตราภาษีสรรพสามิต มอบเงินอุดหนุนให้กับผู้ซื้อรถ EV ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่จับต้องได้
สาเหตุเหล่านี้ทำให้ EV ได้รับความสนใจในประเทศไทยอย่างมาก ดึงดูดทั้งผู้บริโภคชาวไทย และผู้ผลิตชาวจีนให้เข้ามาลงทุน ซึ่งในปี พ.ศ. 2565 ที่จีนเริ่มรุกหนักในอุตสาหกรรม EV ทางญี่ปุ่นกับยืนกรานและมั่นใจในรถยนต์สันดาป
ทั้ง Toyota, Nissan และ Honda ของญี่ปุ่นไม่มีทีท่าที่จะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าออกมาเลย แม้เทรนด์โลกจะเปลี่ยน จุดนี้จึงเป็นจุดที่สร้างโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้กับประเทศจีนได้ก้าวมามีบทบาทในฐานะผู้บุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งบริษัทรถยนต์ของไทยและรัฐบาลในเรื่องของความก้าวหน้าและความเชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
อ้างอิง: worldcrunch, asia.nikkei, reuters, bbc, cnbc, kr-asia
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด