ผ่าโมเดลธุรกิจ Co-working space ในไทย จะ ‘ล่ม’ หรือจะได้ ‘ไปต่อ’ ในปี 2019 | Techsauce

ผ่าโมเดลธุรกิจ Co-working space ในไทย จะ ‘ล่ม’ หรือจะได้ ‘ไปต่อ’ ในปี 2019

แม้ว่าตลาด Co-working space ในเมืองไทยจะเติบโตและมีจำนวนผู้เล่นเพิ่มขึ้น ทั้งแบรนด์ในไทยเองและแบรนด์ระดับโลกต่างก็เร่งขยายพื้นที่รวมไปถึงเพิ่มจำนวนสาขาอย่างต่อเนื่อง ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ จึงทำให้ตลาด Co-working space ในไทยครึกครื้นและคาดว่าจะเกิดการแข่งขันกันสูงขึ้นไปอีกในอนาคต

การเติบโตของตลาด Co-working space ในช่วงปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่จะดึงทั้งนักธุรกิจและนักลงทุนเข้ามาได้อีกตลอดจนเอื้อต่อเทรนด์การทำงานที่กำลังจะเปลี่ยนไปของคนยุคนี้ด้วย

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทีมงาน Techsauce เคยรายงานถึงความเคลื่อนไหวของตลาด Co-working spaceในไทย เราได้หยิบยก Co-working space 4 แบรนด์ทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ระดับโลกที่เข้ามาตีตลาดไทย ไล่ไปตั้งแต่ Glowfish, JustCo, Spaces รวมถึง WeWork ที่เป็นเจ้าล่าสุดด้วย ในบทความนี้ เราจึงขอหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อชวนผู้อ่านมาร่วมกันตั้งคำถามว่า เมื่อเกิดการแข่งขันของตลาด Co-working space ในไทย ผู้เล่นในตลาดนี้เตรียมพร้อมในการรับมืออย่างไรและใครคือผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันนี้?

โดยครั้งนี้จะพาไปพูดคุยกับ ‘คุณชาล เจริญพันธ์’ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง HUBBA ซึ่งเป็น Co-working space เจ้าแรกในเมืองไทย พร้อมกับจะพาไปล้วงลึกถึงบทบาท Co-working space และเบื้องหลังการสร้างคอมมูนิตี้ของคนสายเทคในเมืองไทย ซึ่งอาจจะทำให้คุณมองข้ามผ่านบทบาทของการเป็น ‘พื้นที่นั่งทำงาน’ ไปเลยก็ได้..

แม้ว่ายุคนี้จะเป็นยุคเฟื่องฟูของธุรกิจ Co-working space ในไทย ทว่าแต่ละแบรนด์ต่างก็มีจุดมุ่งหมายและรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างกัน โดยแบ่งตามบทบาทและรูปแบบการให้บริการของ 4 ประเภท ดังนี้

1. Co-working space ประเภท Service office

หากนับว่า Co-working space คือพื้นที่สำหรับนั่งทำงาน Service office ก็ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของ Co-working space ได้เหมือนกัน แต่อาจจะอยู่ในรูปแบบของ Real estate ซึ่งมีบทบาทในการให้บริการสำนักงาน หรือพื้นที่ทำงานแก่กลุ่มคน องค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องการพื้นที่ทำงานที่เป็นส่วนตัว อย่างเช่น Regus ซึ่งก็เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการพื้นที่สำนักงาน แต่อาจจะต่างจาก Service office แบบดั้งเดิมในส่วนของการออกแบบ เพื่อให้เหมาะกับพฤติกรรมการใช้งานของคนยุค Millennials Generations มากขึ้น

2. Co-working space ประเภท Cafe’

ร้านกาแฟ ก็สามารถจัดไว้ในหมวดหมู่ผู้ให้บริการ Co-working ได้เช่นกัน เพราะด้วยฟังก์ชันการใช้งานก็สามารถตอบโจทย์การนั่งทำงานได้เช่นกัน เพียงแต่ในร้านกาแฟอาจจะมีความเป็นส่วนตัวน้อย มีการจำกัดชั่วโมงการใช้งาน ตัวอย่างเช่น Starbucks ที่มีรูปแบบการให้บริการใกล้เคียงกับ Co-working space แต่ไม่ได้มีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเช่น Co-working space

3. Co-working space ประเภท Educational Focus

เป็นการให้บริการพื้นที่เน้นการเรียนการสอนเป็นส่วนใหญ่ ในเมืองไทยเองมีกลุ่มผู้ให้บริการประเภทนี้เพียงไม่กี่เจ้า อย่างเช่น LearnHub และ We Learn ซึ่งกลุ่มธุรกิจนี้จะเน้นการให้บริการ Co-working space ควบคู่ไปกับการสร้างแวดล้อมในการเรียนรู้ หรือมุ่งพัฒนาระบบการศึกษาควบคู่กันไปด้วย

4. Co-working space ประเภท Community-led Co-working space

การให้บริการ Co-working space นี้ ยังถือเป็นกลุ่มผู้ให้บริการที่มีน้อยมากในประเทศไทย นอกเหนือจากการให้บริการพื้นที่ทำงานแล้วก็ยังโฟกัสไปที่การสร้างคอมมูนิตี้ และการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในคอมมูนิตี้ โดยช่วยให้ผู้ใช้บริการได้ร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ไปพร้อมๆ กันและเติบโตไปด้วยกัน สุดท้ายแล้ว วัฒนธรรมใน Co-working space ประเภทนี้ จะเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งปฏิกิริยาให้กลุ่มผู้ใช้งานสามารถสร้างธุริกิจใหม่ๆ ได้รวดเร็วขึ้น

5. Co-working space ประเภท Private work space

การให้บริการของธุรกิจ Co-working space รูปแบบนี้ จะเน้นที่การให้บริการพื้นสำนักงานที่มีความเป็นส่วนตัว ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นภายใต้องค์กรหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าของ และเปิดให้บริการกับกลุ่มลูกค้าหรือว่าพันธมิตรทางธุรกิจเท่านั้น อย่างเช่น Dtac ที่มี Hangar เป็นพื้นที่ให้บริการเฉพาะผู้เข้าร่วมโครงการ Dtac Accelerate เท่านั้น

HUBBA และระบบนิเวศใน Co-working space

สำหรับ HUBBA นั้น จัดอยู่ในหมวดหมู่การให้บริการรูปแบบ Community-led Co-working space เพราะนอกจากพื้นที่นั่งทำงานแล้ว ที่นี่ยังเป็นพื้นที่ที่ผสมผสานกันระหว่าง Community, Educational รวมไปถึง Service office ด้วย ซึ่งผู้ใช้งาน Co-working space กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มองหาโอกาสใหม่ๆ มีทั้งผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพรวมไปถึง Digital Nomad ด้วยความที่มีไลฟ์สไตล์และความสนใจที่ใกล้เคียงกัน ที่นี่จึงเกิดวัฒนธรรมการทำงานที่เกื้อหนุนกัน

ในอดีต Co-working space เกิดขึ้นมาเพื่อลดค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ แต่ปัจจุบัน ‘โอกาส’ ต่างๆ ของธุรกิจที่กำลังเริ่มต้นต่างก็เกิดขึ้นใน Co-working space

ในการให้บริการของ HUBBA นอกจากพื้นที่นั่งทำงานที่มุ่งเน้นการสร้างบรรยากาศที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรรค์ กระตุ้นการร่วมมือกัน กระตุ้นการเรียนรู้ร่วมกันแล้ว คุณชาลยังได้ให้ความเห็นด้านข้อได้เปรียบของการเริ่มต้นธุรกิจที่ Co-working space เอาไว้ว่า

"การที่ผู้ประกอบการมาอยู่ใน co-working space จะช่วยสร้างโอกาสให้กับคนเริ่มทำธุรกิจ ตั้งแต่การเริ่มสร้างเครือข่ายผู้ใช้งานไปตลอดจนการขยายทีมและการหานายทุน

Co-working space จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่สตาร์ทอัพจะได้แนะนำ Product ของตัวเองก่อนเริ่มทำการตลาด โดยปกติก่อนที่จะนำผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาด ต้องอาศัยเวลานานกว่าจะเริ่มมีคนรู้จัก กว่าจะเริ่มสร้างเครือข่ายผู้ใช้งานและกว่าจะเริ่มมีตลาดก็อาจจะสูญเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

การมาอยู่ใน Co-working space นอกจากจะได้รู้จักคนใหม่ๆ ที่เป็นฐานลูกค้าแล้ว ที่นี่ยังถือเป็นอีกหนึ่งที่ที่สามารถสร้างเครือข่ายผู้ใช้งาน ที่สามารถพูดได้ว่าการสร้างเครือข่ายใน Co-working space ถือเป็นการตลาดทางอ้อม สำคัญไปกว่านั้น การมารวมอยู่กับคนหลากหลายที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่จะได้ทั้งคำแนะนำ ได้ทั้ง feedback ที่อาจจะมาช่วยในการพัฒนา product ให้ดียิ่งขึ้นก่อนที่จะนำออกสู่ตลาด รวมไปถึงอาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พบกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจด้วยก็ได้

สตาร์ทอัพบางรายก็ได้รับการลงทุนก่อนที่ Product จะถูกนำออกสู่ตลาดเพราะว่ามี VC ที่อยู่ในเครือข่าย รวมถึงพาร์ทเนอร์ที่มองเห็นว่าสินค้าและบริการนั้นๆ มี Potential การทำงานของทีมก็ยังส่งผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและจะมีโอกาสได้รับเงินลงทุนก่อน หรืออย่างน้อยก็อาจจะเริ่มสร้างคอนเนคชันไว้ เมื่อพร้อมก็จะมีโอกาสในการได้รับเงินลงได้เร็วขึ้น”

นี่อาจจะเป็นปัจจัยหลักที่สตาร์ทอัพยอมควักเงินเพื่อแลกกับที่นั่งทำงานใน Co-working space แต่สิ่งที่พวกเขาจะได้กลับไปอาจไม่ใช่เพียงที่นั่งทำงาน มากกว่านั้นมันคือการสร้างโอกาสและการสร้างทางลัดให้กับธุรกิจของพวกเขาก้าวไปสู่ความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น

HUBBA กับบทบาท Co-working space และการสร้าง Startup Community

ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ‘คน’ และ ‘Community’ คือหัวใจสำคัญของ Co-working space ที่ HUBBA จึงมีทีม ‘Community Builder’ ผู้ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้คนและขับเคลื่อน Community นี้ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อดึงคนต่างๆ ที่มุ่งมั่นในการปั้นธุรกิจของตนเองให้ได้มามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน

สำหรับสตาร์ทอัพเอง ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจที่ถือเป็นช่วงที่มีความไม่แน่นอนอยู่มาก เป็นช่วงเวลาที่มีทั้งความเครียดและความกดดันสูง การทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดีและเอื้อต่อการเกื้อหนุนกันจึงจำเป็นอย่างมาก

HUBBA ในบทบาท ​’Community-led Co-working spaces’ จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ตรงกลางระหว่าง ‘สตาร์ทอัพ’ และ ‘ผู้ให้บริการที่นั่งทำงาน’ ที่มุ่งช่วยเหลือสมาชิกให้ได้พบกับโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ที่จะช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ได้สร้างเครือข่าย สุดท้ายก็่เป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จและลดโอกาสที่ธุรกิจจะตายได้มากขึ้นด้วย

อนาคตของ HUBBA และการเติบโตในตลาด Co-working space

ปี 2018 กับการเพิ่มขึ้นเป็น 7 สาขา รวมพื้นที่ทั้งหมดกว่า 5,000 ตารางเมตร แม้ว่าการขยายสาขาของ HUBBA ในปี 2018 ที่ผ่านมา จะมีจำนวนสาขาและพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว แต่ HUBBA ก็ยังคงยืนยันว่าจะรักษามาตรฐานและคาแรคเตอร์ความเป็น HUBBA เอาไว้ โดยได้วางรากฐานในการที่จะเติบโตที่มีจะมีระบบมากขึ้น มี workflow ในการใช้บริการที่ความสะดวกต่อผู้ใช้งานและมีมาตรฐานที่สูงขึ้นด้วย

คุณชาล กล่าวว่า “ตอนนี้ HUBBA ได้สเกลธุรกิจที่พร้อมสำหรับการขยายสาขาในปี 2019 นี้แล้ว รวมไปถึงการออกแบบ workflow ที่จะช่วยสร้างความสะดวกในการใช้บริการแก่ผู้ใช้งานด้วย ทั้งนี้เรายังมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพและพัฒนามาตรฐานการให้บริการ Co-working space ไปควบคู่กับการสร้าง Community ที่แข็งแกร่งให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

ที่ผ่านมา HUBBA ได้ร่วมงานกับพันธมิตรมาโดยตลอด โดยได้จับมามือกับพันธมิตรที่เป็นหน่วยงาน องค์กรในเมืองไทยรวมไปถึงพันธมิตรระดับโลกอย่าง Google และ Techstars ซึ่งได้เข้ามาช่วยในการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการ ช่วยผู้ส่งเสริมประกอบการในการเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในธุรกิจใหม่ ช่วยพวกเขาให้ลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ รวมไปถึงช่วยลดต้นทุนของธุรกิจที่กำลังเริ่มต้นด้วย นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายนักลงทุนรวมไปถึง Mentor ระดับโลกด้วยที่จะมาช่วยให้คอมมูนิตี้ของผู้ประกอบการใน HUBBA แข่งแกร่งขึ้น สุดท้ายแล้วก็จะส่งผลให้เกิด Ecosystem ใน Community ที่จะดึงดูดทั้งนักลงทุนและพันธมิตรเข้ามาในคอมมูนิตี้นี้ ซึ่งมันก็คือ shortcut ให้สตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการไปสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น”

นอกจากนี้ ปลายปีที่ผ่าน HUBBA ยังได้ทดลองจัดโปรแกรม Startup Kids มุ่งสร้างทักษะความเป็นผู้ประกอบการใหักับเด็กๆ อายุ 10-15 ปี ซึ่งก็ได้พิสูจน์มาแล้วในงาน “Winter Market Fest #6” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ว่าผู้ประกอบการรุ่นเยาว์สามารถปั้นไอเดียให้เป็นทั้งผลิตภัณฑ์และบริการได้ และสามารถสร้างรายได้จริง

หากมองว่า Co-working space เป็นอีกหนึ่งกลไกลและเป็นผู้ผลักดันการสร้าง Startup Ecosystem ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจ Co-working space ในเมืองไทย อาจจะกล่าวได้ว่า HUBBA กำลังปรับตัวและยกระดับการให้บริการที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างกลุ่มผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพและ Digital Nomad ได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าหลังจากนี้ เราคงจะได้เห็นโปรเจคสนุกๆ จาก HUBBA ที่จับมือกับคนรุ่นใหม่ไฟแรงอีกหลายงานอย่างแน่นอน

เกี่ยวกับผู้เขียน

ARTHITTAYA BOONYARAT : Full-time Community Builder, part-time Podcasting

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...

Responsive image

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กร...