เทียบ CARRO vs. Carsome ศึกยูนิคอร์นแพลตฟอร์มรถยนต์มือสองแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ | Techsauce

เทียบ CARRO vs. Carsome ศึกยูนิคอร์นแพลตฟอร์มรถยนต์มือสองแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในช่วงเวลานี้ เราจะเห็นได้ว่าประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเผชิญการแพร่ระบาด COVID-19 อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนนั้นได้รับผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า ในทางกลับกันแม้ว่าจะมีความตึงเครียดของเศรษฐกิจ แต่ตลาดรถยนต์มือสองกลับได้รับอานิสงส์ไปเต็ม ๆ การซื้อขายยังคงคึกคักอย่างเห็นได้ชัด โดยตลาดประเทศอินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียเติบโตเร็วที่สุด  

สาเหตุมาจากที่ลูกค้าในภูมิภาคนี้ยังมองว่าการเป็นเจ้าของรถยนต์หรือสินทรัพย์ขนาดใหญ่นั้นเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของชีวิต อีกทั้งราคาและความคุ้มค่าก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการซื้อรถยนต์ จึงทำให้การลงทุนในรถยนต์มือสองกลับเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลมากกว่า ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เกือบ 100% ของลูกค้ารถยนต์มือสองมักทำการซื้อขายผ่านทางออนไลน์ 

สำหรับผู้เล่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอย่าง CARRO และ Carsome ที่ได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยส่วนแบ่งตลาดรถยนต์มือสองอย่างสูสี บทความนี้เราจะพาไปเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง 2 ยูนิคอร์นนี้กัน 

CARRO Carsome แพลตฟอร์มรถยนต์มือสองที่ทะยานสู่ยูนิคอร์นในเวลาไล่เลี่ยกัน

CARRO เป็นแพลตฟอร์มตลาดยานยนต์มือสองสัญชาติสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 โดย Aaron Tan ซึ่งให้บริการเต็มรูปแบบตลอดเส้นทางการเป็นเจ้าของรถของลูกค้า รวมไปถึงบริการหลังการขายที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างตรงจุด อาทิ ประกันสินเชื่อรถยนต์ที่ออกโดยบริษัท และแพลตฟอร์มเสริมไว้แจ้งกรณีรถเสียฉุกเฉินได้แบบ on-demand ขณะนี้ CARRO ให้บริการทั้งหมด 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ และเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2021 ที่ผ่านมา CARRO ได้เงินระดมทุนในรอบ Serie C เพิ่มอีก 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นสู่ระดับยูนิคอร์นเป็นที่เรียบร้อย  

ในส่วนของ Carsome นั้นก็เป็นแพลตฟอร์มรถยนต์มือสองสัญชาติมาเลเซียที่ก่อตั้งในปี 2015 โดย Eric Cheng เช่นเดียวกัน และดำเนินการทั้งใน อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ โดย Carsome พุ่งเป้าที่จะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์มือสองทรานส์ฟอร์มในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนี้ยังให้บริการอื่น ๆ เพื่อเติมที่ใกล้เคียงกับ CARRO เพื่อเติมเต็มประสบการณ์การซื้อขายของลูกค้า เช่น การตรวจสอบความน่าเชื่อถือและคุณภาพของรถยนต์มือสอง ขั้นตอนการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ และจนไปถึงการจัดหาเงินทุนสำหรับการซื้อรถยนต์ของลูกค้า ล่าสุด Carsome ก็ได้ผงาดขึ้นสู่ระดับยูนิคอร์นตาม CARRO ในวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ทว่ามูลค่าที่ได้นั้นกลับเกิดจากการทำดีลแลกหุ้น (share-swap) ในการเข้าไปถือหุ้นของ iCar Asia แพลตฟอร์มซื้อ-ขายรถที่เข้าจดทะเบียนในตลาดออสเตรเลีย

หลังจากที่เราได้ส่องภาพรวมของธุรกิจกันแล้ว ก็มาสังเกตรายงานยอดกำไรล่าสุดกันบ้าง ซึ่งก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานของ CARRO และ Carsome ที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยรายได้ของ CARRO ที่ระบุในรายงานงบการเงินประจำปี 2020 พบว่าพุ่งขึ้น 2.5 เท่า หรือ 70% จากเดิมสู่ 300 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 226 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ Carsome นั้นมีรายได้อยู่ที่ราว 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตั้งเป้าหมายของปี 2021 อยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

จนมาถึงตอนนี้ อาจจะสงสัยว่าในเมื่อแพลตฟอร์มคล้ายกัน และมีผลการดำเนินงานที่ไปในทิศทางเดียวกัน แล้วอะไรจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้จะชิงพื้นที่ในตลาดที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดได้ คำตอบจึงไปอยู่ที่ “กลยุทธ์และจุดยืนธุรกิจ” ที่สร้างความได้เปรียบและแตกต่างให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี

เทียบความต่างด้านกลยุทธ์ของ CARRO  และ Carsome

ไพ่ใบสำคัญของ CARRO: อยู่เหนือคู่แข่งด้วย AutoTech และ EV

แน่นอนว่า COVID-19 ได้เร่งให้องค์กรเกิดการ Disruption ได้อย่างรวดเร็ว และหนึ่งในนั้นก็คือการนำเครื่องมือเทคโนโลยีเข้ามาผสานกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และ CARRO ก็ได้เห็นประโยชน์ของนวัตกรรมดิจิทัลและได้นำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ในปัจจุบันให้การซื้อขายเป็นไปอย่างไร้รอยต่อให้ได้มากที่สุด

เริ่มต้นในปี 2019 CARRO ได้เปิดธุรกิจให้เช่ารถ (Car Subscription) เป็นเจ้าแรกในสิงคโปร์ เนื่องจาก CARRO มองเห็น pain-point ของผู้ใช้ในประเทศสิงคโปร์ว่ารถยนต์มือหนึ่งในประเทศมีราคาแพง และต้องมีใบอนุญาตเพื่อนำรถมาวิ่งบนถนน รวมไปถึงต้องมีที่จอดรถถึงจะซื้อได้ ด้วยเหตุนี้ บริการเช่ารถรายเดือนจึงเกิดขึ้นเพื่อให้คนสิงคโปร์มีรถขับได้ ไม่ต้องจ่ายค่าประกันยิบย่อย และเลือกรถได้ตามความต้องการ ค่าใช้จ่ายแต่ละแผนก็จะยืดหยุ่นตามความต้องการ บริการทั้งหมดสามารถทำได้บนแพลตฟอร์มออนไลน์

ต่อมา CARRO ได้นำเทคโนโลยี A.I. (Artificial Intelligence) มาปรับใช้กับบริการการเงินแบบครบวงจร เพราะบริษัทเชื่อว่าหากลูกค้าสามารถเข้าถึงการเงินได้ง่าย ก็จะตัดสินใจในการซื้อรถยนต์มือสองในแพลตฟอร์มได้รวดเร็วมากขึ้น จึงได้เปิดตัวบริษัทในเครือที่ชื่อว่า Genie Financial Services ผู้ให้บริการโซลูชันทางการเงิน เหมาะสำหรับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่กำลังขยายธุรกิจ และลูกค้าที่ต้องการความยืดหยุ่นทางการเงิน โดย A.I. จะช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายและขับขี่ของลูกค้า ออกมาเป็นตัวเลือกสินเชื่อและประกันภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้ตรงจุด ให้ประสบการณ์การทำธุรกรรมรถยนต์เป็นไปอย่างรวดเร็วและราบรื่น และธุรกิจก็ยังต่อยอด A.I. ในการจับคู่รถมือสองให้ตรงตามความชื่นชอบของลูกค้าอีกด้วย 

นอกจากนี้ CARRO ยังมีแพลนที่จะซื้อขายยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งบริษัทได้เล็งเห็นว่า EV จะมีความสำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เชื่อว่าการมาของ EV จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องของบริษัทและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น

Carsome ต่อเติม ecosystem ผ่าน Partnership และ Acquisition

มาดูทางด้าน Carsome กันบ้าง ทางบริษัทก็ได้ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาแพลตฟอร์มเช่นเดียวกัน โดยเมื่อเดือนส.ค. ปี 2020 Carsome ได้ออกบริการใหม่ที่มีชื่อว่า “The New Way of Buying Cars” ในเว็บไซต์ของ Carsome ซึ่งลูกค้าสามารถมองเห็นภายในรถยนต์ที่ได้รับการรองรับจากทางแพลตฟอร์มแบบเสมือนจริงได้ถึง 360 องศา ทำให้ได้เห็นถึงจุดตำหนิของรถยนต์ได้อย่างชัดเจน และสามารถจองเวลาเพื่อทดสอบขับได้ทุกที่ทุกเวลาบนเว็บไซต์

แต่ถึงกระนั้นเอง จุดแข็งด้านกลยุทธ์ของ Carsome ที่ดำเนินมาโดยตลอดก็คือ การขยายธุรกิจผ่านทั้งแนวตั้งและแนวนอน ผ่านการจับคู่กับพันธมิตรทางธุรกิจและเข้าซื้อกิจการเพื่อเสริมทัพบริษัท พร้อมกันกับเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่จากแพลตฟอร์ม E-Commerce 

ในฝั่งของการพัฒนาศักยภาพของบริษัท ตั้งแต่ปี 2019 Carsome ได้ประกาศพันธมิตรด้านธุรกิจกับ Funding Societies ของมาเลเซีย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเงินทุนดิจิทัล ซึ่งจะช่วย Carsome ในการจัดหาเงินทุนระยะสั้น และเงินสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อธุรกิจได้ง่ายดายขึ้นกว่าเดิม ต่อมา Carsome ก็ลุยในขาของ Banking ร่วมเป็นพันธมิตรกับธนาคาร CIMB  และ Malayan Banking ของมาเลเซีย ซึ่ง CIMB ให้บริการเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองที่มีสาขาทั่วอาเซียน ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยลดระยะเวลาการยื่นกู้รถของลูกค้า อีกทั้งลดปริมาณเอกสารที่ไม่จำเป็นอีกด้วย และล่าสุด Carsome ก็ได้เข้าซื้อกิจการ iCar Asia แพลตฟอร์มซื้อขายรถยนต์ของออสเตรเลียที่จะช่วยให้ Carsome เชื่อมต่อกับฐานลูกค้ากว่า 600 ล้านราย 

Carsome ก็ได้ลงทุนเข้าถึงลูกค้าหลายกลุ่มให้ได้มากที่สุดผ่านการเป็นพันธมิตรร่วมกับแพลตฟอร์ม E-Commerce ชื่อดังอย่าง Shopee และ Lazada ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มลูกค้าช่วงวัยรุ่นและมีพฤติกรรมใช้เครื่องมือดิจิทัลได้มากขึ้น ข้อดีของแพลตฟอร์ม E-Commerce กลุ่มนี้คือการใช้บัตรกำนัลแทนเงินสด (cash voucher) เพื่อให้ลูกค้าเข้าซื้อรถยนต์จาก Carsome ในราคาที่เอื้อมถึงได้ 

Derek Tan Chief Brand Officer ของ Carsome ก็ได้กล่าวถึงกลยุทธ์ธุรกิจครั้งนี้ว่ามีผลดีต่อบริษัททั้งในเชิงตัวแบรนด์และการเติบโตโดยรวม ซึ่งบทบาทของพันธมิตรช่วย Carsome ในการศึกษาเส้นทางของผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง (Customer Journey) และขยายการดำเนินการบริษัทได้ครอบคลุมในรูปแบบ B2B2C ได้ทั้งธุรกิจและลูกค้าโดยตรง 

Landscape ของตลาดแพลตฟอร์มรถยนต์มือสองหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

จากข้อมูลล่าสุดของ Mordor Intelligence คาดการณ์ว่าตลาดรถเช่าในอาเซียนจะมีอัตราการเติบโตแบบทบต้นโดยเฉลี่ยต่อปี (Compound annual growth rate: CAGR) ที่ 6.7% ระหว่างปี 2020 ถึง 2025 และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย เป็นสนามแข่งขันอุตสาหกรรมรถยนต์มือสองที่ดึงดูดความสนใจจากผู้ผลิตและจัดจำหน่ายมากที่สุด โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ที่ดีที่สุด และรถยนต์มือสองจะมีมูลค่าและราคาสูงกว่าในประเทศตะวันตก ซึ่งทำให้การแข่งขันระหว่าง CARRO และ Carsome นั้นดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และยังไม่สามารถการันตีได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะทั้งตลาดในอนาคต

 

อย่างไรก็ตามต้องจับตากันต่อไปว่า กลยุทธ์ที่เกิดขึ้นจาก CARRO และ Carsome จะเอาชนะประเทศไทยและอินโดนีเซียได้หรือไม่ และหากวิกฤติ COVID-19 จบลง ตลาดรถยนต์มือสองจะโตหรือชะลอตัวลง รวมถึงนับวันยังมีผู้เล่นรายใหม่ที่กระโดดเข้ามาในตลาดรถยนต์มือสองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน 

 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...