Connected Car: เทคโนโลยีดิจิทัลกับยานยนต์ | Techsauce

Connected Car: เทคโนโลยีดิจิทัลกับยานยนต์

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวด Tech Saucier of The Year 2018 โดย คุณ สุภพล จรูญวณิชกุล ภาพจาก Verdict

Connected Car เป็นการประยุกต์ใช้งานอย่างหนึ่งของ Internet of Things (IoT) โดยเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับยานยนต์และการคมนาคมขนส่ง ทำให้รถยนต์สามารถสื่อสารกับสิ่งต่างๆ หรือเป็นเหมือน “สมาร์ทโฟนติดล้อ (Smartphone on wheels)” ตามคำกล่าวของ Akio Toyoda ประธานบริษัท Toyota Motor Corporation

Connected Car จะทำให้เกิดบริการแอพพลิเคชันและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ช่วยให้การคมนาคมขนส่งมีความปลอดภัยมากขึ้น มีประสิทธิภาพคล่องตัวมากขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้เดินทาง ดังนี้

1) บริการด้านข่าวสารและความบันเทิง (Infotainment) โดยผู้โดยสารรถยนต์สามารถดูหนังฟังเพลงจากในรถที่ sync ข้อมูลกับโทรศัพท์มือถือ ทำให้ประสบการณ์ในการใช้งานระหว่างอุปกรณ์เป็นไปอย่างลื่นไหล ตัวอย่างเช่น Apple Carplay

2) บริการประกันภัยที่คิดเงินตามการขับจริง (Usage-based Insurance) โดยจากข้อมูลลักษณะการขับขี่จะทำให้บริษัทประกันภัยสามารถประเมินความเสี่ยงของผู้ขับขี่ได้ดีขึ้น และนำมาคิดค่าเบี้ยประกันตามพฤติกรรมในการขับรถได้ เช่น ผู้ขับขี่เป็นระยะทางสั้นๆ และใช้ความเร็วต่ำ ก็จะจ่ายค่าเบี้ยประกันต่ำกว่าผู้ขับขี่ระยะทางไกลๆ และใช้ความเร็วสูง

3) บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน ในกรณีที่ผู้ขับขี่ประสบอุบัติเหตุ หน่วยงานให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ตัวอย่างเช่น ในยุโรปได้มีบริการที่เรียกว่า eCall กำหนดให้รถยนต์ใหม่ทุกคันต้องติดตั้งอุปกรณ์ที่จะโทรเรียกหมายเลขฉุกเฉิน 112 โดยอัตโนมัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุการชนรุนแรง และส่งข้อมูลการทำงานของถุงลมนิรภัย และพิกัดของรถยนต์ให้หน่วยงานให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินทราบ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ถึง 40-50%

4) บริการตรวจเช็ครถยนต์จากระยะไกล (Remote Diagnostic and Maintenance) โดยเซนเซอร์ที่อยู่บนรถยนต์จะตรวจวัดสภาพรถและส่งข้อมูลไปยังศูนย์บริการโดยอัตโนมัติ ทำให้ศูนย์บริการสามารถวิเคราะห์สภาพรถและพยากรณ์การเสียของรถได้ล่วงหน้าแล้วแจ้งให้ผู้ขับขี่นำรถมาซ่อมได้ก่อนที่จะเกิดการเสียจริง

5) การสื่อสารของรถยนต์กับสิ่งรอบตัว (Vehicle-to-Everything Communications: V2X) โดยมีทั้งการสื่อสารระหว่างรถยนต์ (Vehicle-to-vehicle: V2V) เช่น รถยนต์คันหน้าแจ้งเตือนรถยนต์ที่ตามมาเมื่อมีการเบรกเพื่อความปลอดภัย การสื่อสารระหว่างรถและโครงสร้างพื้นฐาน (Vehicle-to-infrastructure: V2I) เช่น สัญญาณไฟจราจรอาจแจ้งให้รถหลีกเลี่ยงเส้นทางรถติด ช่วยให้การคมนาคมคล่องตัวขึ้น ซึ่งการสื่อสารของรถยนต์ในลักษณะนี้จะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในการเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมยานยนต์ ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งสมาคม 5G Automotive Association ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมกับอุตสาหกรรมยานยนต์

6) การประยุกต์ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยสามารถนำข้อมูลจากเซนเซอร์ต่างๆ ที่ติดตั้งในรถยนต์มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงระบบการคมนาคมขนส่งและการพัฒนาเมือง ตามแนวคิดของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ได้ เช่น หากเซนเซอร์ตรวจพบการเบรกของรถยนต์บนถนนเส้นหนึ่งอย่างผิดปกติ อาจเป็นไปได้ว่าผู้ใช้ทางเบรกเนื่องจากถนนดังกล่าวเกิดการทรุดตัว ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาใช้ในการแจ้งผู้เกี่ยวข้องเพื่อซ่อมแซมถนนได้

7) การขับขี่โดยอัตโนมัติ (Automated Driving) โดยนำการสื่อสารมาใช้ร่วมกับเซนเซอร์ต่างๆ ซึ่งใช้ในการตรวจจับสิ่งที่อยู่รอบตัว

และนำข้อมูลมาประมวลผลโดย Artificial Intelligence (AI) เกิดเป็นรถยนต์ไร้คนขับหรือรถยนต์ขับอัตโนมัติ (Automated Vehicles) ซึ่งจะทำให้การเดินทางมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน 90% ของอุบัติเหตุทางถนนเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ (human error) และช่วยให้เกิดรูปแบบธุรกิจ Mobility as a service ซึ่งทำให้เราสามารถใช้บริการรถยนต์ที่ใช้งานร่วมกันกับผู้อื่นเมื่อเราไม่ได้ใช้งานได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy)

ภาพจาก AVANCI

การให้บริการ Connected Car จะทำให้ผู้เล่นใน Ecosystem ที่หลากหลาย เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ให้บริการ Content ผู้ให้บริการระบบโทรคมนาคม ผู้ให้บริการประกันภัยรถยนต์ และหน่วยงานภาครัฐ จะต้องมีการร่วมมือกัน (Collaboration) เพื่อให้เกิดการพัฒนาบริการแอพพลิเคชันใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม การพัฒนา Connected Car ให้ใช้งานได้จริงก็มีความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการร่วมมือกันของอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกัน การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎจราจรเพื่อรองรับการใช้งานของรถยนต์ไร้คนขับ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลบุคคล เป็นต้น ซึ่งจำเป็นที่ทุกภาคส่วนใน Ecosystem จะต้องร่วมมือกันหาทางออกในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ร่วมกันต่อไป

 

รายการอ้างอิง

 

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดมุมมอง เมื่อการตลาดรวมเข้ากับเทคโนโลยี กับ Jeff Titterton CMO จาก Stripe

เปิดมุมมอง เมื่อการตลาดรวมเข้ากับเทคโนโลยี กับ Jeff Titterton CMO จาก Stripe...

Responsive image

AI ดมกลิ่นจาก osmo นวัตกรรมจมูกดิจิทัลเปลี่ยนโลก

หากเรามี AI ที่สามารถดมกลิ่นและแยกแยะกลิ่นต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ โลกเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร? นี่คือโจทย์ที่ Alex Wiltschko และทีม osmo กำลังพยายามพัฒนา...

Responsive image

รู้จัก AIS EEC ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล ที่พร้อมช่วยธุรกิจไทยทำ Digital Transformation และเติบโตอย่างยั่งยืน

AIS Business ขออาสาเป็นพันธมิตรช่วยธุรกิจไทยนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรอย่างราบรื่น และเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจหรือ AIS EEC เป็นศูนย์กลางเรียนรู้และ...