กรณีศึกษา: เทคโนโลยีช่วยจีนฝ่าวิกฤตและทำให้ธุรกิจ SMEs รอดช่วง COVID-19 ได้อย่างไร | Techsauce

กรณีศึกษา: เทคโนโลยีช่วยจีนฝ่าวิกฤตและทำให้ธุรกิจ SMEs รอดช่วง COVID-19 ได้อย่างไร

ขณะที่ตอนนี้ไวรัส COVID-19 กำลังแพร่ระบาดทั่วโลก ประเทศต่างๆ เริ่มหันมาสนใจเกี่ยวกับความสำเร็จของจีนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรับมือการแพร่ระบาด และช่วยให้เศรษฐกิจของจีนโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ไม่หยุดชะงักได้อย่างไร โดยจะเป็นเนื้อหาต่อจากภาคที่แล้วที่เราได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีไปแล้วบางส่วน ภาคนี้เราจะได้ศึกษาเทคโนโลยีที่ล้ำลึกมากขึ้นที่ชาวจีนนำมาใช้ต่อสู้กับ COVID-19 และได้ช่วยให้เศรษฐกิจของจีนดำเนินต่อได้ 

 เทคโนโลยีบล็อกเชน (BLOCKCHAN)

- อาลีเพย์ (Alipay) ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มข้อมูลออนไลน์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดในมณฑลเจ้อเจียง เพื่อให้การจัดส่งเครื่องมือดังกล่าวและการนำไปใช้มีความโปร่งใสมากขึ้น แพลตฟอร์มนี้ใช้เทคโนโลยี Ant Blockchain และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสุขภาพและคณะกรรมการเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศของมณฑลเจ้อเจียง

- ในมณฑลกานซู แอนท์ ไฟแนนเชียล (Ant Financial) เปิดตัวระบบประมูลออนไลน์ที่ขับเคลื่อนด้วยบล็อกเชน ช่วยให้ธุรกิจ SMEs สามารถเข้าร่วมการประมูลผ่านการเชื่อมต่อระยะไกลช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เทคโนโลยีบล็อกเชนของแอนท์ ไฟแนนเชียล ช่วยทำให้แน่ใจได้ว่าข้อมูลและกระบวนการเปิดประมูลมีความโปร่งใส ปราศจากการแทรกแซงใดๆ และมีความน่าเชื่อถือได้อย่างแท้จริง

- Ant Duo-Chain เป็นแพลตฟอร์มด้านการเงินสำหรับซัพพลายเชนที่ขับเคลื่อนด้วยบล็อกเชน และพัฒนาโดยแอนท์ ไฟแนนเชียล ช่วยให้ธุรกิจ SMEs จำนวนมากสามารถยื่นขอเงินกู้จากธนาคารโดยใช้บัญชีลูกหนี้จากองค์กรขนาดใหญ่ แพลตฟอร์มดังกล่าวช่วยให้ธุรกิจ SMEs แก้ไขปัญหาข้อจำกัดทางการเงินที่เกิดขึ้นในช่วงของการแพร่ระบาด ตัวอย่างเช่น Guangzhou Wubiao ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าและส่งออกสินค้า ได้รับสินเชื่อ 2 ล้านหยวนโดยใช้บัญชีลูกหนี้จากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ 1919.com 

มีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ในมณฑลหูเป่ยได้รับบริจาคหน้ากากอนามัย เครื่องมือทางการแพทย์ และเงิน ซึ่งจำเป็นอย่างมากต่อการดำเนินงาน โดยผ่านทางแพลตฟอร์ม Shanzong ที่ช่วยตรวจสอบติดตามเงินและสิ่งของบริจาคผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน  แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นผลงานการพัฒนาของบริษัทสตาร์ทอัพ Hyperchain และ China Xiong'an Group

เทคโนโลยี AI

- แอพพลิเคชั่นตรวจวัดอุณหภูมิอัตโนมัติถูกติดตั้งไว้ตามรถไฟใต้ดิน สถานีรถไฟ สนามบิน และศูนย์บริการสังคม เพื่อระบุและติดตามบุคคลที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ และช่วยในการดำเนินการที่จำเป็น ระบบอัตโนมัตินี้มีประโยชน์อย่างมากในการคัดกรองบุคคลที่อาจติดเชื้อ (เช่น ระบบของ Megvii สามารถตรวจวัดได้ 300 คนต่อนาที และระบบของ SenseTime สามารถระบุตัวบุคคลที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย)

- ศูนย์สาธารณสุขเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Public Health Clinical Center - SPHCC) ระดมกำลังจากหลายภาคส่วนเพื่อใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการต่อสู้กับไวรัส โดยร่วมมือกับ Yitu Healthcare ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้าน AI ในเซี่ยงไฮ้ เปิดตัวระบบประเมินผลอัจฉริยะสำหรับการทำซีทีสแกนทรวงอกเพื่อตรวจหาการติดเชื้อ COVID-19 (Intelligent Evaluation System of Chest CT for COVID-19) เมื่อวันที่ 28 มกราคม

- เพื่อลดการแพร่เชื้อไวรัสที่ผ่านการสัมผัสโดยตรงในที่สาธารณะที่มีผู้คนสัญจรไปมาอย่างหนาแน่น เช่น ชุมชนที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล และสถานีรถไฟ Sugr Technology ได้พัฒนาสวิตช์ไฟฟ้าที่สั่งงานด้วยเสียง โดยใช้ชื่อว่า “sesame switch” สวิตช์ดังกล่าวสามารถตรวจจับเสียงพูดและรับรู้คำสั่งเสียงจากระยะไกล

คิวอาร์โค้ด (QR CODE)

- ผู้บริหารเมืองใหญ่ของจีนกว่า 200 เมืองเปิดตัวบริการชั่วคราวสำหรับโค้ดด้านสุขภาพ (Health Code) ผ่านมินิโปรแกรมของอาลีเพย์ (Alipay) นอกเหนือจากแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น WeChat และเว็บพอร์ทัลที่ดำเนินการโดยหน่วยงานควบคุมโรคระบาด หลังจากที่ผู้ใช้ผ่านการตรวจสอบ ระบบบริการโค้ดด้านสุขภาพจะขอให้ผู้ใช้กรอกแบบฟอร์มออนไลน์และรายงานข้อมูลเบื้องต้นด้วยตนเอง เช่น เมืองที่ผู้ใช้อาศัยอยู่ในปัจจุบัน ผู้ใช้มีอาการที่เกี่ยวเนื่องกับการติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่ ผู้ใช้เคยเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดในช่วง 14 วันที่ผ่านมาหรือไม่ จากนั้นบริการดังกล่าวจะให้คิวอาร์โค้ดที่เป็นสีแดง เหลือง หรือเขียวอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อระบุระดับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคคลดังกล่าว ในการผ่านจุดตรวจที่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตามสนามบินและสถานีรถไฟ ประชาชนจะต้องแสดงคิวอาร์โค้ดของตนเอง

หุ่นยนต์และโดรน

- Keenon Robotics Co บริษัทสตาร์ทอัพในเซี่ยงไฮ้ที่เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ พบว่าผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ด้านบริการเชิงพาณิชย์ของบริษัทฯ ถูกใช้งานในโรงพยาบาลหลายแห่งในจีนเพื่อจัดการกับผู้ป่วย COVID-19 ที่ได้รับการยืนยัน รวมถึงผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อ  หุ่นยนต์ด้านบริการเหล่านี้ทำหน้าที่จัดส่งอาหาร ยา และสิ่งของไปยังแผนกที่ถูกแยกออกไป หลังจากได้รับคำสั่งจากผู้ควบคุมเครื่องที่อยู่ห่างไกล ซึ่งนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการป้องกันโรคระบาด เพราะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อจากการสัมผัส และลดความจำเป็นในการใช้บุคลากร

- ยานพาหนะติดตั้งเครื่องถ่ายภาพซีทีแบบเคลื่อนที่จาก Ping An Health Inspection Center ช่วยให้ประชาชนในเมืองอู่ฮั่นสามารถรับการตรวจวินิจฉัยโรค COVID-19 นอกโรงพยาบาล ยานพาหนะดังกล่าวติดตั้งเครื่องซีทีสแกนสำหรับใช้ทั่วร่างกายและใช้การเชื่อมต่อ 5G โดยนับเป็นระบบเคลื่อนที่ระบบแรกที่ใช้เครื่องซีทีสแกนทั่วทั้งร่างกาย ทั้งนี้ CT นับเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากที่สุดสำหรับการตรวจวินิจฉัย COVID-19

- หลายๆ บริษัทของจีนใช้โดรน เพื่อทำการตรวจสอบการแพร่ระบาดโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวบุคคล ตัวอย่างเช่น Pudu Technology จากเสิ่นเจิ้นได้ติดตั้งอุปกรณ์โดรนไว้ในโรงพยาบาลกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ขณะเดียวกัน MicroMultiCopter ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทจากเสิ่นเจิ้น ใช้โดรนในการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์และถ่ายภาพความร้อน

- Neolix ธุรกิจขนส่งแบบไร้คนขับในกรุงปักกิ่ง ดึงดูดลูกค้าหลายราย รวมถึง Alibaba Group Holding Ltd., Meituan Dianping และ JD.Com Inc. ซึ่งจองออเดอร์สำหรับยานพาหนะกว่า 200 คันในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา โดยรถบรรทุกขนาดเล็กของ Neolix ช่วยให้ลูกค้าลดการสัมผัสร่างกาย และแก้ปัญหาการขาดแคลนพนักงานเนื่องจากการกักกันพื้นที่และข้อจำกัดการเดินทาง

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์

ศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของจีนให้ความร่วมมือในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค การตรวจคัดยา การตรวจจับและวิเคราะห์ทางจีโนมิกส์ โดยให้การสนับสนุนในส่วนของซอฟต์แวร์และระบบประมวลผล  ตัวอย่างเช่น Beijing Super Cloud Computing Center จัดหาทรัพยากรด้านซูเปอร์คอมพิวติ้ง เพื่อช่วยเหลือบุคลากรด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในการจัดลำดับยีน การพัฒนาวัคซีน การตรวจคัดยา และการคาดการณ์เกี่ยวกับการกลายพันธุ์ 

Tencent เปิดให้ใช้งานระบบซูเปอร์คอมพิวติ้งของบริษัทฯ รวมถึงคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำการคำนวณได้รวดเร็วกว่าพีซีทั่วไปหลายเท่า เพื่อช่วยให้นักวิจัยคิดค้นวิธีการรักษาโรค โดยร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์ชีวภาพแห่งกรุงปักกิ่งและมหาวิทยาลัย Tsinghua University

กรณีศึกษาจาก สิงคโปร์

การตรวจจับและการป้องกัน: iThermo เป็นอุปกรณ์ใหม่สำหรับการตรวจวัดและคัดกรองอุณหภูมิ โดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อระบุตัวบุคคลที่มีไข้  อุปกรณ์นี้ถูกใช้งานที่สิงคโปร์ เพื่อลดความจำเป็นในการตรวจวัดโดยเจ้าหน้าที่  อุปกรณ์คัดกรองแบบเรียลไทม์นี้ใช้เพียงแค่สมาร์ทโฟนที่ติดตั้งเข้ากับกล้องตรวจจับความร้อนและกล้องเลเซอร์ 3 มิติ ทำหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิที่หน้าผากของคนที่เดินผ่านอุปกรณ์ โดยสามารถตรวจวัดได้แม้กระทั่งคนที่สวมแว่นตา หน้ากากอนามัย หรือหมวก ช่วยแก้ไขปัญหาคิวยาวในบางสถานที่ที่ต้องใช้เวลานานในการตรวจวัดอุณหภูมิโดยเจ้าหน้าที่ นับเป็นเครื่องมือที่ช่วยประหยัดเวลาและกำลังคนได้อย่างมาก

การสนับสนุนทีมแพทย์และพยาบาล: Grab เตรียมเปิดตัวบริการ GrabCare เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเดินทางไป-กลับจากโรงพยาบาลได้อย่างราบรื่น และมีแผนที่จะขยายบริการดังกล่าวไปสู่โรงพยาบาลอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

กรณีศึกษาจาก ฮ่องกง

หุ่นยนต์ตรวจจับไข้ตัวร้อน: เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 “Roborn Technology” บริษัทเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในฮ่องกง ใช้เวลาราวสองสัปดาห์ในการประดิษฐ์หุ่นยนต์สำหรับตรวจจับอุณหภูมิร่างกายของมนุษย์ภายในระยะห่าง 5 เมตร หุ่นยนต์ดังกล่าวจะส่งสัญญาณเตือนเมื่อตรวจพบบุคคลที่มีอาการตัวร้อนในบริเวณใกล้เคียง 

บทความโดย: อาลีเพย์ (Alipay)

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สรุปเทคโนโลยีในปี 2025 เทรนด์ไหนกำลังจะมา ? ฟังความเห็นจาก 3 มุมมองสำคัญ : นักพัฒนา ผู้ประกอบการ และนักอนาคตศาสตร์

ปี 2025 กำลังจะมาถึงพร้อมกับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี บทความนี้สรุปและอธิบายเทรนด์สำคัญจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่านผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษของ Techsauce เพื่อให้เห็นภาพรวมแ...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...