คุยกับ depa อนาคตของการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะและการสนับสนุนผู้ประกอบการ Startup | Techsauce

คุยกับ depa อนาคตของการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะและการสนับสนุนผู้ประกอบการ Startup

Smart City (เมืองอัจฉริยะ) หรือเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน ( สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) 

โดยสำหรับประเทศไทยนั้น หน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนโยบายการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (depa) ซึ่งได้จัดตั้งสำนักงานเมืองอัจฉริยะ เป็นหน่วยงานใต้กำกับดูแลที่มีภารกิจในการจัดทำแผนแม่บท แผนปฏิบัติการและการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ในงาน Techsauce Global Summit 2022 เมื่อวันที่ 26-27 สิงหาคมที่ผ่านมา Techsauce ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เกี่ยวกับวิสัยทัศน์สู่ก้าวต่อไปของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ภารกิจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในประเทศไทย

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ภารกิจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลคือการเป็นสะพานเพื่อเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือและการพัฒนา โดยได้แบ่งประเภทเมืองอัจฉริยะเป็น 2 ประเภท 

  1. เมืองอัจฉริยะ หมายถึง เมืองที่ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์เป็นเมืองอัจฉริยะ จากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะและได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 
  2. เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ หมายถึง เมืองที่มีความต้องการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ และได้จัดส่งข้อเสนอแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะมายังสำนักงานเมืองอัจฉริยะแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะเพื่อประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะ 

ซึ่งสำหรับเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะนั้น ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่าภารกิจของสำนักงานฯ คือการสร้างความเข้าใจ และการบ่มเพาะวิธีคิดของผู้นำเมืองและท้องถิ่น ให้มีเป้าหมายระยะยาวที่สอดคล้องกัน และจะต้องผ่านมาตรฐานการเป็นเมืองอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดพื้นที่และเป้าหมายที่ชัดเจน, มีแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมือง, มีระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมือง (City Data Platform) ที่ปลอดภัย, มีบริการเมืองอัจฉริยะตามลักษณะ 7 ด้าน และมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน

โดยที่ผ่านมาสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะผ่านหลากหลายวิธีการ เพื่อจะสร้างวิธีคิดให้กับผู้นำและประชาชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการจัดโครงการ The Smart City Ambassadors เฟ้นหาผู้นำรุ่นใหม่ ที่ต้องการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง มาทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ในภารกิจการสร้างเมืองน่าอยู่ ซึ่ง ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า โครงการนี้จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาจากล่างขึ้นบน ทำให้ภาครัฐมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากแต่ละพื้นที่ และผู้คนในท้องถิ่นได้สร้างเมืองแบบที่ต้องการ ซึ่งบทบาทของสำนักงานฯ นั้น คือการนำเอาปัญหาและแนวทางการพัฒนาของแต่ละเมืองนำเสนอให้กับสำนักงบประมาณ และหาแนวทางพัฒนาร่วมกับแต่ละพื้นที่ต่อไป

สำหรับความท้าทายของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยนั้น ผศ.ดร.ณัฐพล ชี้ว่าการมีส่วนร่วมระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐนั้นถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่จะต้องทำให้สำเร็จ โดยภาครัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการพัฒนามากขึ้น และต้องทำให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่มองเห็นเป้าหมายและผลลัพธ์ของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เป็นรูปธรรมให้ได้ และพัฒนาเมืองตามความต้องการจริงของประชาชน เพื่อการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

ในด้านของการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพ  ผศ.ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้จัดทำบัญชีบริการดิจิทัล (Government Procurement) ซึ่งเป็นรายชื่อธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งจะให้บริการอยู่บนช่องทางออนไลน์ สำหรับให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปเลือกใช้บริการ ทำให้ผู้รับบริการมั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการดิจิทัลที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และราคาสมเหตุสมผล ซึ่งในอีกทางหนึ่งเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยที่มีศักยภาพให้สามารถเข้าสู่ตลาดภาครัฐได้สะดวกขึ้น ทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่นด้วย 

นอกจากนั้น ผศ.ดร.ณัฐพลยังกล่าวเชิญชวนให้ผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัพมองหาโอกาสจากตลาดในระดับชาติ ซึ่งทาง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลพร้อมจะเป็นประตูที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไปสู่เป้าหมายได้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...

Responsive image

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กร...