เปรียบเทียบ ยานไปอวกาศ ของ Virgin Galactic vs. Blue Origin ต่างกันอย่างไร | Techsauce

เปรียบเทียบ ยานไปอวกาศ ของ Virgin Galactic vs. Blue Origin ต่างกันอย่างไร

เป็นที่ตื่นตากันไปทั้งโลกเมื่อ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Virgin Galactic ของ Richard Branson และบริษัท Blue Origin ของ Jeff Bezos ได้ทำการทดสอบการบินเพื่อขึ้นไปเยี่ยมชมอวกาศในระยะเวลาที่ห่างกันไม่กี่วัน โดยฝั่งของ Virgin Galactic ได้ส่งยาน VSS Unity ขึ้นไปเหนือชั้นบรรยากาศพร้อมด้วยนักบิน 2 คน และผู้โดยสารอีก 4 คน ส่วนทาง Blue Origin ก็ได้ส่งจรวด New Shepard ขึ้นไปพร้อมผู้โดยสาร 6 คน และยานทั้ง 2 ลำก็ประสบความสำเร็จในการขึ้นไปเยี่ยมชมอวกาศ และกลับมาสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยเช่นกัน

Techsauce จะพาไปเปรียบเทียบยานของทั้ง 2 บริษัทว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละประเด็น พร้อมพาไปดูราคาที่ต้องจ่าย หากอยากบินขึ้นไปรับประสบการณ์บนอวกาศกับ 2 บริษัทนี้

ภารกิจของยานทั้ง 2 ลำ

Virgin Galactic: 

Virgin Galactic กับปฏิบัติการในภารกิจ Unity 22 เป็นภารกิจสำคัญของ Virgin Galactic ที่สร้างขึ้นมาด้วยความต้องการที่จะเปิดมิติการท่องเที่ยวบนอวกาศ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม และในภารกิจการบินครั้งนี้ Virgin Galactic ได้ทดสอบการนำคนขึ้นไปบนอวกาศ โดยมี Richard Branson, CEO ของบริษัทขึ้นไปด้วย

Blue Origin: 

ทางฝั่งของ Blue Origin ก็ได้ทำการทดสอบจรวด New Shepard โดยมีผู้โดยสารเดินทางขึ้นไปด้วย เมื่อ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยความต้องการเดียวกันที่จะเปิดธุรกิจการท่องเที่ยวแนวใหม่บนอวกาศ จึงได้ทำการทดสอบบินจรวดดังกล่าว และผู้โดยสารคนสำคัญที่ร่วมทดสอบการบิน คือ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Blue Origin โดยชื่อของ New Shepard ตั้งตามชื่อของ Alan Shepard นักบินอวกาศชาวอเมริกันคนแรกที่ขึ้นไปบนอวกาศในโปรเจกต์ Mercury นั่นเอง

รูปแบบของยานทั้ง 2 ลำ

Virgin Galactic: 

สำหรับยานที่ Virgin Galactic ใช้ในการทดสอบบินครั้งนี้ จะมีรูปแบบเป็นเครื่องบินสำหรับบินขึ้นไปเหนือชั้นบรรยากาศ โดยได้มีการขึ้นบินด้วยยาน 2 ลำ คือ SpaceShipTwo หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า VSS Unity ซึ่งเป็นยานขับเคลื่อนที่บรรทุกผู้ร่วมเดินทางสำหรับเที่ยวชมอวกาศลำแรกของโลก และมียาน WhiteKnightTwo ที่ชื่อว่า VMS Eve เป็นยานบรรทุก SpaceShipTwo ก่อนจะส่งขึ้นไปบนอวกาศโดยทำการบินแบบ Suborbital flight ซึ่งยานของ Virgin Galactic ผลิตโดยบริษัท The Spaceship Company

Blue Origin:

สำหรับ New Shepard จะมีรูปแบบเป็นจรวดที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งนั่นหมายความว่าในการเดินทางกับ New Shepard จะไม่จำเป็นต้องมีนักบินไปด้วยเลย โดยการบินของ New Shepard จะเป็นการบินแบบ Suborbital เช่นเดียวกัน โดยจะบินขึ้นไปเหนือชั้นบรรยากาศ และลอยอยู่บนนั้นกว่า 10 นาที ก่อนจะบินกลับลงมาสู่พื้นดิน

การทดสอบยานก่อนไปอวกาศ

Virgin Galactic:

สำหรับ Virgin Galactic ได้เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2004 หลังจากเริ่มทดสอบภารกิจ VSS Enterprise ในปี 2014 ยาน VSS ก็ได้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการทดสอบ ส่งผลให้นักบิน 1 คนเสียชีวิต และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัส และเมื่อปี 2019 ก็ได้มีการทดสอบอีกครั้ง และมาประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ รอบทดสอบในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา และในครั้งล่าสุดที่มีการนำผู้โดยสารขึ้นไปด้วยนั่นเอง ทำให้เห็นว่า ทาง Virgin Galactic ได้ทำการทดสอบไปทั้งสิ้น 3 ครั้งในการบินขึ้นไปที่ความสูงกว่า 80 กิโลเมตร

Blue Origin:

หากพูดถึงความสำเร็จในการทดสอบการบินต้องยอมรับว่า New Shepard ของ Blue Origin บริษัทที่ก่อตั้งเมื่อปี 2000 ประสบความสำเร็จในการทดสอบการบินมากถึง 15 ครั้ง และภายในยานของ New Shepard ยังมีระบบ Escape System อีกด้วย เพื่อช่วยลูกเรือในการอพยพออกจากยานหากเกิดข้อผิดพลาด แต่ในการทดสอบก่อนหน้านี้ กลับยังไม่มีการนำลูกเรือขึ้นไปบนจรวดเลยสักครั้ง

จำนวนผู้โดยสาร และระยะเวลาในการบิน

Virgin Galactic:

ที่ผ่านมาถือเป็นความสำเร็จอย่างมากของ Virgin Galactic ที่ได้ทำการปล่อยยาน VSS Unity ออกไป และส่ง SpaceShipTwo ขึ้นไปบนอวกาศได้สำเร็จ โดยในยาน SpaceShipTwo มีนักบิน 2 คน และผู้โดยสารอีก 4 คน (ซึ่งจริง ๆ แล้วยานลำนี้สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ทั้งสิ้น 6 คนและนักบิน 2 คน) ที่จะได้พบกับประสบการณ์ไร้แรงโน้มถ่วงเป็นระยะเวลากว่า 4 นาที ก่อนกลับลงมายังพื้นโลกอย่างปลอดภัย โดยระยะเวลาที่ใช้บินขึ้นจากพื้นดินใช้ไปทั้งสิ้นประมาณ 2 ชั่วโมง เนื่องจากต้องใช้เวลาในการ Take-off ค่อนข้างนาน

Blue Origin:

ในจรวดของ New Shepard จะมีส่วนด้านบนสุดที่เป็นแคปซูล ซึ่งส่วนนี้จะมีไว้สำหรับรองรับผู้โดยสารจำนวน 6 ที่นั่ง โดยแต่ละที่นั่งจะมีหน้าต่างบานใหญ่สำหรับชมบรรยากาศภายนอกเมื่อขึ้นไปเหนือชั้นบรรยากาศแล้ว ซึ่งผู้โดยสารจะได้ชมบรรยากาศของโลกเหนือชั้นบรรยากาศเป็นระยะเวลาประมาณ 4 นาทีเท่ากับ Virgin Galactic และกลับลงมายังพื้นโลก แต่เมื่อรวมทั้งสิ้นแล้ว จรวด New Shepard ใช้ระยะเวลาเดินทางไป-กลับเพียงแค่ 10 นาทีเท่านั้น

ความสูงที่ยานทั้ง 2 ลำไปถึง

Virgin Galactic:

การทดสอบบินแบบ Suborbital test flight ของ SpaceShipTwo สามารถเดินทางขึ้นไปที่ความสูง 282,000 ฟุต หรือ 86 กิโลเมตร ซึ่งยังไม่เลยเส้น Kármán line จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ายาน VSS Unity บินขึ้นไปเหนือชั้นบรรยากาศ โดยยาน VMS Eve ที่ยานบรรทุกจะบินขึ้นไปที่ความสูงประมาณ 15 กิโลเมตร ก่อนจะปล่อยตัวยาน VSS Unity ให้ทะยานขึ้นไปเหนือชั้นบรรยากาศ

Blue Origin:

สำหรับตัวจรวด New Shepard ก็ถูกปล่อยตัวออกไปที่ความสูง 351,210 ฟุต หรือประมาณ 107 กิโลเมตร ซึ่งเป็นความสูงที่เลยเส้น Kármán line เส้นที่บ่งบอกว่าได้เลยออกไปจากชั้นบรรยากาศของโลกแล้ว ก่อนจะปล่อยแคปซูลออกไปเหนือชั้นบรรยากาศ

ผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศ

Virgin Galactic:

สำหรับยานของ Virgin Galactic มีการใช้ระบบเครื่องยนต์แบบ Hybrid rocket engine ซึ่งมีการใช้ Hydroxyl-terminated polybutadiene (HTPB) และ Nitrous oxide ซึ่งจากการศึกษาของ Martin Ross จาก บริษัท การบินอวกาศ (Aerospace Corporation) เครื่องยนต์ของ Virgin Galactic มีผลกระทบต่อชั้นโอโซนมากกว่าของ Blue Origin ถึง 100 เท่า

Blue Origin:

สำหรับจรวดของ Blue Origin จะมีการปล่อยไอเสียออกมาเป็นน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชั้นโอโซนเพียงเล็กน้อย จากงานศึกษาเดียวกันของ Martin Ross พบว่าเครื่องยนต์ที่ Blue Origin ใช้นั้น เป็นเครื่องยนต์แบบไนโตรเจนเหลว (Liquid Nitrogen engine) หรือ เครื่องยนต์แบบออกซิเจนเหลว (Liquid Oxygen engine) ส่งผลกระทบต่อชั้นโอโซนน้อยกว่าเครื่องยนต์แบบของ Virgin Galactic ถึง 100 เท่า และส่งผลกระทบกับสภาวะอากาศน้อยกว่าของ Virgin Galactic ถึง 750 เท่า

ราคาที่ต้องจ่าย 

Virgin Galactic:

สำหรับ Virgin Galactic มีราคาตั๋วสำหรับขึ้นบินอยู่ที่ประมาณ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8,200,000 บาท 

Blue Origin:

Blue Origin จะมีราคาประมาณ 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 920,000,000 บาท (ราคาตั๋วของ Blue Origin ยังไม่มีการยืนยันออกมาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากมีบางแหล่งข่าวบอกว่าราคาตั๋วอยู่ที่ประมาณ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 16,400,000 บาท)

นอกจาก 2 บริษัทนี้แล้ว ก็มีอีก 1 บริษัทที่น่าจับตามอง คือ SpaceX ของ Elon Musk ที่ล่าสุดออกมากล่าวว่า SpaceX จะเปิดรับผู้โดยสารขึ้นไปบนอวกาศ และจะทำการบินในปี 2022 โดยผู้โดยสารจะได้พบกับประสบการณ์ที่แปลกใหม่กว่า ตรงที่จะได้แวะเยี่ยมชม สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) หรือ ISS อีกด้วย ซึ่งราคาที่ต้องจ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,800,000,000 ล้านบาทเลยทีเดียว


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ใครคือ SIAM AI CLOUD ? บริษัทเทคไทยที่ NVIDIA เลือก ด้วยอายุจดทะเบียนเพียง 10 เดือนกับ 19 วัน

บทความนี้จะพาไปสำรวจเบื้องหลังความสำเร็จของ SIAM AI CLOUD ทำไมไทยที่ก่อตั้งมาไม่ถึงปีถึงสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการเทคโนโลยีจนดึงตัวแม่ทัพใหญ่ของ NVIDIA มาไทยได้ !...

Responsive image

10 ไฮไลท์นวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพไต้หวัน ก้าวล้ำนำอนาคตในงาน Taiwan Expo 2024

10 นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ไฮไลท์จาก Taiwan Healthcare Pavilion ที่จะมาปฏิวัติวงการแพทย์ในทุกมิติ จากงาน Taiwan Expo 2024...

Responsive image

ส่องเส้นทางเทคฯ KBTG จากยุคปรับตัว สู่ผู้นำ Agentic AI กับยุทธศาสตร์ Human-First x AI-First พลิกโฉมธุรกิจ

เจาะลึกกลยุทธ์ KBTG กับการนำไทยเข้าสู่ยุค Agentic AI 2025 ผ่าน Human-AI Integration เพื่ออนาคตที่ล้ำลึกและยั่งยืน...