ปี 2016 ปีที่เรียกได้ว่าเป็น Digital Disruption ระลอกแรก เราได้เห็นคลื่นลูกใหม่ขนทัพนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดย Disruption ในระยะแรกจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทีละขั้น หรือว่า Disruption Dominoes แต่ทว่าโควิด-19 เข้ามาเร่งการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดกลายเป็น Continuous Disruption ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใดล้วนเผชิญการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีพร้อม ๆ กัน และจะต่อเนื่องจนถึงปี 2040
แม้ว่า Disruption สร้างผลกระทบและทำลายโครงสร้างดั้งเดิมของธุรกิจ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นเวลาทองที่นักลงทุนควรเสาะหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจที่เป็น New S-Curve ที่สร้างผลตอบแทนเติบโตและงอกเงยได้ในอนาคต
ธนาคารกสิกรไทย ได้จัดงาน “THE WISDOM The Symbol Of Your Vision: The Future of Digital Disruption and Investment” เพื่อเปิดโผเมกะเทรนด์การ Disruption ของธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2030 พร้อมเจาะโอกาสการลงทุนภายหลังจากยุคโควิด-19 โดยมีวิทยากรนำโดยคุณ กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กลุ่มกสิกร บิซิเนส - เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) และ Speakers จากวงการการเงิน ได้แก่ คุณชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรโบเวลธ์ และนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง และ Group CEO บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และคุณกานต์นิธิ ทองธนากุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน Merkle Capital และผู้ก่อตั้งเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict Thailand
การซื้อของออนไลน์คือ New Normal
การซื้อของออนไลน์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เราสามารถซื้อของกิน ของใช้ในแพลตฟอร์ม E-Commerce และได้สิ่งของในเวลารวดเร็ว แน่นอนว่าต่อให้หมดยุคโควิด-19 ไปแล้ว พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยก็ยังคงอยู่ในรูปแบบออนไลน์ สังเกตได้จากตัวเลขการใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นอาหารก็ดี หรือสินค้าประเภทอื่นก็ดี เติบโตขึ้น 74% และ 60% ตามลำดับ และพอมามองภาพใหญ่ การเติบโตของแพลตฟอร์ม E-Commerce ในอาเซียนล้วนเป็นที่น่าพอใจ โดยในประเทศไทยเติบโตก้าวกระโดดถึง 58% สิงคโปร์ขยายตัวขึ้น 47% และอินโดนีเซียเติบโตตามมาติด ๆ 15%
Homebody Economy อยู่แต่ในบ้านก็ใช้จ่ายได้
ช่วงก่อนหน้านี้เราจะคุ้นชินกับเศรษฐกิจขี้เกียจ (Lazy Economy) ความขี้เกียจของเราสามารถงอกเงยเป็นนวัตกรรมสินค้าและบริการได้ อาทิ Grab Mart บริการฝากซื้อของใช้ ที่เอาใจคนขี้เกียจไป ซูปเปอร์มาร์เก็ต แต่พอโควิด-19 เกิดขึ้น และมาตรการระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาด คนต้องทำงาน กิน อยู่ และใช้ชีวิตตลอด 1 วันที่บ้าน ทำให้เศรษฐกิจ Homebody เข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมสื่อสารด้วยวิดีโอและทำงานร่วมกัน (collaboration) และบริษัทต่างผุดแนวคิดส่งเสริมให้ทุกคนทำกิจกรรมที่บ้าน นำมาสู่การเติบโตของเทคโนโลยีการเรียนรู้ออนไลน์ คลิปออกกำลังกาย และ การทำ Workshop ออนไลน์ จนคนส่วนใหญ่มองว่าการทำทุกอย่างในบ้าน ไม่ใช่เทรนด์ระยะสั้นอีกต่อไป แต่เป็นการพลิกโฉมพฤติกรรมมนุษย์อย่างสิ้นเชิง
ความก้าวหน้าของ AI กำลังเข้ามาเปลี่ยนบทบาทการทำงาน
โควิด-19 ได้ทำให้เกิดเทรนด์ Work From Home ขึ้นก็ได้พัฒนา A.I. ให้สามารถเข้าใจงานที่ซับซ้อนและภาษามนุษย์ได้ดี เพื่อให้งานของบริษัทออกมาราบรื่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้หลายอุตสาหกรรมจะใช้งาน A.I. มากขึ้น โดยการปรับปรุง A.I. จะพัฒนาขึ้นเป็น 3 ระดับดังต่อไปนี้
1. A.I. จะมีบทบาทในกระบวนการทำงานทุกรูปแบบ (Process Automation) รวมไปถึงการตัดสินใจในเรื่องที่ซับซ้อนได้อัตโนมัติ
2. A.I. จะเข้าใจภาษามนุษย์มากขึ้น (Interaction Communication) ไม่ว่าจะเป็นภาษาท่าทาง อาทิ ใบหน้า การขยับตัว และคำพูดผ่านเสียง A.I. จะสามารถวิเคราะห์การสื่อสารมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งผ่านกระบวนการ 2 รูปแบบได้แก่ Natural Language Processing (NLP) และ Natural Language Generation (NLG)
3. A.I. สรุปเหตุผลและการตัดสินใจผ่าน Data ได้ (Reasoning) เพื่อนำไปสรุปหาวิธีการแก้ไขปัญหาพร้อมเหตุผล รวมไปถึงคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
The Future of F.A.B (Food, Agriculture, Bio Tech)
แม้ว่าการบริโภคเนื้อสัตว์จะให้สารอาหารที่มีประโยชน์ และมีรสชาติที่ถูกปากใครหลายคน แต่แท้จริงแล้วกว่าจะเป็นเนื้อบนจานนั้นผ่านกระบวนการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นน้ำ และอากาศ ทำให้ในช่วงเวลานี้ เราได้เห็นอาหารทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้สารอาหาร เนื้อสัมผัสที่อร่อยเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ นั่นก็คือเนื้อที่ทำมาจากพืช (Plant-based) โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาด Plant-based จะเติบโตสูงถึง 143,000 ล้านเหรียญในปี 2027
ไม่เพียงแต่อาหารที่ทำจากพืชเท่านั้น ยังมีขุมทรัพย์อาหารทางเลือกใหม่คือ แมลง ที่มีแหล่งโปรตีน สารอาหารเทียบเท่ากับเนื้อ ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากและถูกนำมาแปรรูปให้รับประทานง่าย คงรสชาติอร่อย
ในส่วนของเครื่องดื่มก็ไม่น้อยหน้า เราสามารถสกัดเครื่องดื่มต้นตำรับที่โปรดปรานได้เพียงพริบตาเดียวด้วยวิธี Synthetic Drinks โดยเป็นการนำเครื่องดื่มดั้งเดิมมาสกัดเอาโมเลกุลด้วยส่วนประกอบธรรมชาติ ซึ่งจะให้กลิ่น รสชาติที่ไม่ต่างจากเครื่องดื่มที่เก็บรักษานับร้อยปี
นอกจากนี้คนจะตระหนักถึงที่มาของอาหาร และขยะที่เกิดจากอาหารมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ผ่านกลยุทธ์ที่มีชื่อว่า “Farm to Fork” ซึ่งเป็นการตรวจสอบกระบวนการผลิตอาหารตั้งแต่ แหล่งเพาะปลูก หรือ เลี้ยงสัตว์ กระบวนการปรับแต่ง บรรจุ จนถึงขนส่ง จำหน่าย และบริโภคครบวงจร
The Future of Mobility
ในอนาคต ดาวเด่นของอุตสาหกรรมขนส่งหนีไม่พ้นยานยนต์ไฟฟ้า และกรณีที่ธุรกิจแพลตฟอร์มขนส่งต่าง ๆ ได้หันมาพัฒนาบริการ Mobility as a Service (MaaS) ให้ใช้งานได้จริง นั่นก็คือการยกระดับบริการธุรกิจให้มีมากกว่าการเดินทาง
แน่นอนว่ายานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะกลายเป็นพาหนะหลักของประชากรโลกแทนที่รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาป โดยได้คาดการณ์มูลค่าของตลาดจะอยู่ที่ 2.5 พันล้านเหรียญในปี 2027 อีกทั้งคุณสมบัติของยานยนต์จะเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องมีคนขับ อาจเปลี่ยนไปเป็นพาหนะไร้คนขับ (Autonomous Driving) โดยได้แรงปัจจัยสนับสนุนจาก 5G และเมืองอัจฉริยะ ทั้งนี้ รถยนต์ไร้คนขับจะผลักดันพฤติกรรมคนให้ใช้ชีวิต ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในรถยนต์มากขึ้น อาทิ รับประทานอาหาร รับชมความบันเทิง ช็อปปิ้ง ประชุม ออกกำลังกาย และอื่น ๆ อีกมากมาย
ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มเรียกรถโดยสารจะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจอยู่ในลักษณะ Mobility as a Service มากขึ้น นั่นก็คือจะอำนวยความสะดวกระบบขนส่งผู้ใช้งานให้สามารถออกจากบ้านไม่กี่ก้าวก็มีรถมารับได้ทันที ไปถึงปลายทางได้ตรงเวลา และมอบบริการที่มากกว่าการเดินทางอีกด้วย ซึ่งตอนนี้เริ่มมีผู้รุกเข้าตลาดแข่งขันบ้างแล้ว จากกรณีที่ Toyota ได้จับมือกับ Softbank ตั้ง Joint Venture ที่ชื่อว่า Monet พัฒนาบริการเป็นรถยนต์ไร้คนขับที่ไม่เพียงแต่รับส่งผู้ใช้งานแล้ว ยังมีบริการเสิร์ฟอาหารภายในรถยนต์ ขนส่งของ รักษาพยาบาล และเป็นสำนักงาน
The Future of Retail
แม้ว่าเราจะได้เห็นแพลตฟอร์ม E-Commerce เติบโตก้าวกระโดด มีมูลค่ามหาศาล สวนทางกับห้างสรรพสินค้าก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกห้างสรรพสินค้าจะระส่ำระสาย เพราะธุรกิจค้าปลีกบางส่วนก็ทำโมเดลแบบ Omni-channel และยังคงดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการในร้านค้าได้อย่างต่อเนื่อง
สาเหตุที่ร้านค้าเหล่านี้ยังคงอยู่รอดได้ท่ามกลาง Disruption เป็นเพราะว่านิยามห้างสรรพสินค้าของร้านค้าดังกล่าวเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่เป็นร้านที่ไว้ทดลองสินค้าและบริการเท่านั้น แต่จะต้องมอบประสบการณ์ กิจกรรมต่าง ๆ และสร้าง Community ให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งกับธุรกิจ เช่น Lululemon แบรนด์จำหน่ายเครื่องแต่งกายสำหรับการออกกำลังกาย ก็ได้เปิดร้านค้าที่ขายเสื้อผ้าไว้ทดลอง และได้เปิดคอร์สเรียนโยคะไปในเวลาเดียวกัน
ต่อให้ยุคดิจิทัลจะเต็มไปด้วยแพลตฟอร์ม E-Commerce ธุรกิจต่าง ๆ พยายามเข้าใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด เพื่อให้ลูกค้าได้รับรู้ถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการ และเข้าใช้บริการกับธุรกิจได้อย่างสม่ำเสมอ กล่าวได้ว่าลูกค้าต้องคิดถึงธุรกิจก่อนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เสมือนพ่อค้าคนกลาง
The Future of Finance
ยุคโควิด-19 ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทั้งยักษ์ใหญ่ฝั่งธนาคาร และนักลงทุนรายย่อย
จากที่แต่ก่อนในปี 2015 ธนาคารต่างโดน Startup เข้ามา Disruption ผ่านเทคโนโลยีที่ทำให้คนเข้าถึงการเงินได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารเริ่มปรับตัวได้ และมีบริการเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) ที่ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งรายเก่า และรายใหม่ เช่น Digital Payment ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมภายในธนาคารปลอดภัย และรวดเร็วยิ่งขึ้น และในอนาคตอาจได้รุกเข้าระเบียบโลกการเงินแบบใหม่ หรือ Decentralized Finance (DeFi) ที่คนจะทำธุรกรรมการเงินได้อย่างปลอดภัยโดยไม่พึ่งพาคนกลาง แต่จะเชื่อใจกันผ่านคอมพิวเตอร์ที่ทำงานบนระบบบล็อกเชน
ในส่วนของการลงทุน โควิดเป็นยุคทองของการลงทุนในรูปแบบออนไลน์ ทั้งตราสารดั้งเดิมอย่างหุ้น ซึ่งคนจะให้ความสนใจกับหุ้นเติบโต (growth stock) มากกว่าหุ้นคุณค่า (value stocks) เพราะให้ผลกำไรที่งอกเงยกว่า นอกจากนี้สินทรัพย์ใหม่ที่อยู่ในกระแสนิยมย่อมหนีไม่พ้นสินทรัพย์ดิจิทัล เช่นเหรียญบิทคอยน์ อีเธอเรียม และเหรียญทางเลือกอื่น ๆ เพราะให้ผลตอบแทนเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราอาจเห็นการโคจรกันระหว่างสินทรัพย์ดั้งเดิมร่วมกับสินทรัพย์ใหม่จากกรณีที่นักลงทุนอาจกระจายการลงทุน (Diversification) ที่ทั้งลงทุนในหุ้น และแบ่งสัดส่วนมาลงทุนใน Cryptocurrency ด้วย
The Future of Education
เทคโนโลยีได้เข้ามายกระดับการศึกษาได้อย่างมหาศาล เราได้เห็น EdTech Startup แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ผุดขึ้นมากมายในช่วงที่ผ่านมา ตัวอย่างที่เห็นได้จาก Startup ของไทยที่ได้รับการระดมทุนจนเติบโตได้แก่ Globish, Conicle, Skillane หรือ Open Durian อีกทั้งผู้คนเจอการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน วิชาในห้องเรียนไม่ตอบโจทย์การประกอบอาชีพในศตวรรษที่ 21 อีกต่อไป การ Reskill และ Upskill เพิ่มพูนทักษะใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อเป็นใบเบิกทางให้กับคนวัยทำงานไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ และยกระดับฐานเงินเดือน จะเห็นได้จาก HolonIQ ได้ประเมินว่าตลาดการเรียนรู้ออนไลน์จะเติบโตถึง 117,000 ล้านเหรียญในปี 2025
The Future of Healthcare
การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลให้คนเจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมากในระยะเวลาที่ผ่านมา จึงไม่แปลกใจเลยว่าผู้คนเริ่มตระหนักถึงสุขภาพตนเองมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมไปถึงภาคสาธารณสุขเริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษาสุขภาพเพื่อเตรียมรับมือกับโรคภัยอันตรายในอนาคต
เทคโนโลยีที่โดดเด่นและเป็นที่พูดถึงในช่วงเวลานี้คือ Synthetic Biology ซึ่งเป็นการผลิตชุดข้อมูลยีน DNA (Synthetic DNA) เพื่อเปลี่ยนลำดับข้อมูลของ DNA ในการต่อกรกับไวรัส เรียกได้ว่าเราสามารถใช้เทคโนโลยีในการต่อสู้โรคร้ายได้ในระดับที่เล็กที่สุดนั่นก็คือชีวโมเลกุล
นอกจากนี้ หนทางที่จะไปพบแพทย์ก็สะดวกขึ้นอย่างมาก มีบริการใหม่ ๆ ที่เข้ามาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลเหมือนแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลการผ่าตัดจากระยะไกล (Remote Surgery) การปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และบริการตรวจสอบอาการผู้ป่วยแบบเรียลไทม์
The Future of Southeast Asian Startups
จากการคาดการณ์ของ Asia Partners พบว่าสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเนื้อหอมในหมู่นักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยคาดการณ์ว่าลักษณะการเติบโตจะรวดเร็วใกล้เคียงกับจีน และมีสตาร์ทอัพที่ขึ้นแท่นยูนิคอร์นสูงถึง 20-30% หรือมากกว่า 20 รายภายในปี 2029
พร้อมกันนี้ เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของอาเซียนที่จะมีมูลค่าสูงถึง 124,000 ล้านดอลลาร์ในอีก 4 ปีข้างหน้า ก็จะยิ่งส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลภายในภูมิภาคให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีส่วนสำคัญให้มีสตาร์ทอัพหน้าใหม่เข้าสู่สนามมากขึ้น
บทความนี้เป็น Advertorial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด