เจาะลึกการปรับตัวครั้งใหญ่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สู่โลกดิจิทัล ขับเคลื่อนด้วย Big Data ต่อยอดด้วย AI | Techsauce

เจาะลึกการปรับตัวครั้งใหญ่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สู่โลกดิจิทัล ขับเคลื่อนด้วย Big Data ต่อยอดด้วย AI

หนึ่งในวงการที่เราทราบกันดีว่ากำลังจะถูกคลื่นของ Digital Disruption จู่โจมอย่างรุนแรงคือวงการการศึกษา เมื่อเทคโนโลยีปฏิวัติโลกข้อมูลข่าวสารทำให้การเข้าถึงความรู้ต่างๆ ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัสได้ทุกที่ทุกเวลา หลายคนพูดถึงวิกฤตของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีบทบาทหลักในการให้ความรู้กับคนในสังคมมาช้านาน ในโลกอนาคต สถาบันการศึกษายังจำเป็นอยู่หรือไม่? และจะปรับตัวรับมือจนมีบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?

ผศ.ดร.ภุชงค์ อุทโยภาศ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พูดคุยประเด็นดังกล่าวกับ ผศ.ดร.ภุชงค์ อุทโยภาศ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะมาให้ทัศนะในส่วนของการสอนเตรียมคนรุ่นใหม่สู่อนาคตที่ไม่แน่นอน รวมถึงเล่าประสบการณ์และแนวคิดเชิงกลยุทธ์จากการเป็นกำลังหลักนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฝ่ายุค Digital Transformation เปลี่ยนบทบาททั้งในแกนของสถาบันที่ต้องวางบทบาทใหม่ต่อนักศึกษาในยุคที่ความรู้ไม่ได้สำคัญเท่ากับทักษะในการหาความรู้ และแน่นอนว่าสิ่งที่ต้องไปควบคู่กันคือระบบจัดการสมัยใหม่ภายในมหาวิทยาลัยที่ต้องเปลี่ยนตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัล ซึ่งจุดนี้จะเห็นได้ชัดว่าทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ค่อนข้างขับเคลื่อนเป็นปัจจัยสำคัญ ตั้งแต่การสร้าง Data Warehouse ขนาดใหญ่ไปจนถึงโครงการ AI ที่จะรองรับงานวิจัยเชิงลึกซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยยังขาดเทคโนโลยีที่ดีพอ

ตลอดบทสนทนาเต็มไปด้วยความเข้มข้นจากการบอกเล่าของผู้ที่คลุกคลีและรู้ลึกอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชี้ให้เราเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการปรับการเรียนการสอน กับการวางรากฐานปรับระบบการจัดการมหาวิทยาลัยไปพร้อมๆ กัน ซึ่งต้องอาศัยทั้งการออกแบบกระบวนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ถอดเป็นกลยุทธ์ที่ถูกคิดมาอย่างละเอียดซึ่งจะเป็นกรณีศึกษาที่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับทั้งคนที่ต้องการปรับ Mindset ของการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ ตลอดจนคนที่กำลังสนใจเรื่องหัวใจสำคัญของการทำ Digital Transformation ในองค์กร

กระแส Disruption ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อภาคการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง?

ตอนนี้เป็นยุคของ Disruption จริงๆ ยกตัวอย่างนอกวงการการศึกษาง่ายๆ ทุกวันนี้แค่กระบวนการที่เราสั่งข้าวมากินก็เปลี่ยนไป ธุรกิจอาหารต้องเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจโดยสิ้นเชิง พอลูกค้าสั่งทางออนไลน์มากกว่าออฟไลน์ โครงสร้างของร้านอาหารก็ต้องเปลี่ยนและไม่ได้จำเป็นต้องยึดติดกับโลเคชั่นแบบเดิมอีกแล้ว ข้าวมันไก่ประตูน้ำอาจจะมีอยู่สี่มุมเมือง และเน้นในเรื่องของการ Pick-up เพื่อลดเวลาในการส่ง ดังนั้นโดยฐานรากของธุรกิจนั้นต่างโดน Digital Disruption ก่อกวนทั้งหมด

Disruption จะทำลายบางอย่าง แต่ก็จะสร้างบางอย่างขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก สาขาของธนาคารอาจจะเปลี่ยนโฉมเป็นบูทีคสวยๆ และเน้นให้คนเข้าไปปรึกษาเรื่องการลงทุน เพราะเอาเข้าจริงคนอยากจะเข้าไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องนั่งคุยกัน ส่วนกิจกรรมอย่างอื่นที่ต้องทำกับธนาคาร ก็ทำผ่านแอปฯ มือถือที่เปรียบเสมือนทั้งธนาคารอยู่ในมือเรา เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า Digital Disruption เข้ามาเปลี่ยนธรรมชาติของธุรกิจให้มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยี AI ที่จะเข้ามาทำให้งานที่ซ้ำซ้อนหายไป ดังนั้นคนต้องพัฒนาสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นมืออาชีพมากขึ้นถึงจะยังคงอยู่ได้ในเกือบทุกๆ ธุรกิจ การแข่งขันจะไปอยู่ที่ตรงนั้น

พอสังคมเปลี่ยนไปแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยคืออะไร นั่นคือเราต้องสร้างคนโดยการมองไปข้างหน้าสัก 10 หรือ 20 ปี เราต้องมองว่าอีก 20 ปี ข้างหน้า นักศึกษาที่เรียนจบในวันนี้จะเป็นแบบไหน อย่างผมมาทำงานที่นี่ตอนตั้งภาค ซึ่งก็ผ่านมา 31 ปีแล้ว อนาคตมาถึงตัวเราเร็วมาก 30 ปีแค่พริบตาเดียว มองย้อนกลับไปตอนนั้นโลกไม่เหมือนตอนนี้เลย ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีมือถือ ไม่มีเว็บไซต์ ทุกอย่างต่างจากตอนนี้โดยสิ้นเชิง โลกอนาคตก็จะเป็นอีกแบบที่เรายังจินตนาการไม่ออก นักศึกษาของเราจะจบไปทำงานที่ยังไม่เกิดในตอนนี้เลย

เราต้องมองว่าอีก 20 ปี ข้างหน้า นักศึกษาที่เรียนจบในวันนี้จะเป็นแบบไหน..นักศึกษาของเราจะจบไปทำงานที่ยังไม่เกิดในตอนนี้เลย

ดังนั้นสิ่งที่มหาวิทยาลัยจะตอบโจทย์มีอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือทำอย่างไรเราถึงจะสร้างคนรุ่นใหม่เข้าสู่สังคมที่ถูกผลกระทบของ Technology Disruption อย่างรุนแรงมาก อย่างที่สองคือตัวโมเดลการศึกษาที่ถูก Disrupt เช่นกัน เราจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ และสุดท้ายคือเราจะเอาเทคโนโลยีนั้นมา Disrupt ตัวเองอย่างไรให้เราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้

ซึ่งจริงๆ แล้วการปรับตัวไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาสำหรับภาคการศึกษาก็ต้องมีโจทย์ให้ต้องปรับตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว?

ครับ แต่ครั้งนี้จะต่างออกไป ที่ผ่านมามีเรื่องของเปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะ แต่ครั้งนี้แรงมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีอย่าง AI, Big Data หรือ Blockchain ที่มาแรงมาก โดยเฉพาะ AI ที่จะมาแทนในงานหลายๆ ส่วนเลย

แต่สิ่งที่ต้องย้ำเลยคือเรื่องของการที่คนชอบกลัวว่า AI จะมาแทนคน หลายครั้งผู้บริหารมักพูดกันว่าเอาไอทีมาเพิ่มประสิทธิภาพโดยการลดคน ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านเทคโนโลยี เราเชื่อเรื่องการรักษาคนในองค์กร เพราะถ้าเราส่งสัญญาณไปว่าเราจะเอาเทคโนโลยีมาเพื่อลดคน แรงต่อต้านมันจะแรง ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ เทคโนโลยีควรทำให้คนทำงานได้มากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราจะไม่ทิ้งใคร ด้วยจำนวนคนเท่าเดิมเราจะสามารถทำได้ดีขึ้น ให้บริการกับทุกคนได้มากขึ้น ก่อเกิดประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น เอาเข้าจริงคนทั่วโลกกำลังลดน้อยลงตามอัตราการเกิดที่ลดลง การจะมาลดคนอีกมันคงไม่ใช่

โจทย์ของภาคการศึกษานอกจากในส่วนของการต้องเตรียมคนรุ่นใหม่ในระบบสู่อนาคต ก็จะมีเรื่องของคนในรุ่นปัจจุบันซึ่งอยู่นอกระบบ ก็ต้องมีเรื่องของการ Reskill - Upskill คน บางทีทักษะที่เขามีติดตัวอยู่แล้วเราแค่ช่วยเปลี่ยนแปลงเขานิดเดียวก็ทำให้เขามีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสุขมากขึ้นในโลกใหม่

แล้วบทบาทของมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร?

มหาวิทยาลัยยังจะเป็นที่ให้และสร้างความรู้ เพียงแต่ว่ารูปแบบอาจจะเปลี่ยนไป เพราะถ้าไม่มีมหาวิทยาลัยก็ไม่มีศูนย์รวมของผู้เชี่ยวชาญที่จะร่วมกันสร้างและถ่ายทอดความรู้ เพียงแต่วิธีการถ่ายทอดนั้นมันต้องเปลี่ยน ผมชอบคำกล่าวของ เซอร์ เคน โรบินสัน ที่พูดเรื่องการศึกษาของเราในปัจจุบันที่ถูกออกแบบมาแบบ Mass Production เพื่อลดค่าใช้จ่ายและสร้างคนออกไป แต่ตอนนี้การศึกษาทั้งโลกกำลังจะเปลี่ยนไปในรูปแบบ Mass Personalization ต้องยอมรับว่าเด็กแต่ละคนมีความต้องการและทักษะที่แตกต่างกัน และทุกคนจะเรียนรู้ไปด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน การศึกษาที่จะให้ทุกคนเข้าเบ้าหลอมเดียวกันกำลังจะหายไป การศึกษาอนาคตต้องตอบโจทย์การส่งเสริมและสร้างสรรค์มากขึ้น บทบาทของอาจารย์จะเปลี่ยนเป็นโค้ช เราต้องจัดเตรียมให้นักศึกษาสามารถค้นคว้าหาสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองได้ ลงมือทำได้ สร้างแรงบันดาลใจ และช่วยให้เขามองเห็นตัวเขา สิ่งที่เขาอยากจะเป็นและทิศทางเดินในอนาคตได้

จุดที่ยังติดอยู่ตอนนี้ของการศึกษาไทยคือในแง่ของหลักสูตรระบบยังไม่มีความยืดหยุ่นที่มากพอ แต่เราก็กำลังพยายามทำกับวิชาเลือกที่มีความยืดหยุ่นสูงกว่า

เจาะลึกไปที่เรื่องของการเรียนการสอน เมื่อความรู้เข้าถึงได้ง่ายมาก การเรียนการสอนควรเปลี่ยนไปอย่างไร?

ยุคอนาคตมันเป็นยุคของการ Learn และ Relearn คือวันนี้เราเรียนอะไรไป ทำงานไปสักพักหนึ่งเราก็ต้องกลับมาเรียนรู้ใหม่แล้ว และจะเป็นการเรียนรู้ที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ เพราะโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดเดาไม่ได้เยอะมาก

วิธีของการสอนคือ ‘สอนโดยไม่สอน’ นั่นคือสอนให้คิด ไม่ใช่ความรู้ สอนให้หาความรู้ อาจารย์เหมือนเป็นโค้ชที่ช่วยดูว่าความรู้ที่เขาหามานั้นถูกหรือไม่ ตัวอย่างจากหลักคิดนี้คือ ในภาควิชามีการจัดการเรียนการสอนวิชาเรื่อง Cloud Computing ให้กับนักเรียนปีสาม วิชานี้ไม่ได้สอนแค่เรื่องทฤษฎี แต่ให้เด็กได้คุยกับวิศวกรด้านคลาวด์ตัวจริงจากบริษัท เราก็ตั้งโจทย์กันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กที่มาเรียนสามารถพัฒนาโปรแกรมที่ใช้งานจริงเล็กๆ ได้บนระบบคลาวด์ ดังนั้นนอกจากสอนเรื่องพื้นฐานเราก็ให้เด็กเรียนเรื่อง Business Model และให้สมมติตัวเองเป็นทีม Startup คิดผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และพัฒนาแอปฯ บนคลาวด์ จากนั้นก็ไป Pitch กับทีมวิศวกรตัวจริง ซึ่งจบคอร์สทุกคนสนุกและมีความสุขมากและได้เรียนรู้กันมากมายจากพี่ๆ นักเรียนพบว่าเขาสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใช้งานได้จริงในเวลาอันสั้นมาก

ถ้าแค่ความรู้ทางทฤษฎีเหมือนแต่ก่อนนั้นเด็กสามารถค้นเองได้แล้ว ถ้าเขาได้ลงมือทำ มีความมั่นใจ การหาความรู้ในโลกออนไลน์สามารถทำได้อย่างมหาศาล ดังนั้นโจทย์ที่เราคิดกันคือทำอย่างไรเพื่อจะเป็นการสอนโดยไม่สอน ทำอย่างไรให้เขามีแพสชั่นในการที่จะออกสำรวจความรู้ต่างๆ โดยที่เราก็จัดเตรียมเรื่องของเทคโนโลยี เครื่องมือ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศที่ดีมากเป็นเครื่องมือเสริมในการเรียนรู้

โจทย์ที่เราคิดกันคือทำอย่างไรเพื่อจะเป็นการสอนโดยไม่สอน ทำอย่างไรให้เขามีแพสชั่นในการที่จะออกสำรวจความรู้ต่างๆ โดยที่เราก็จัดเตรียมเรื่องของเทคโนโลยี เครื่องมือ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศที่ดีมากเป็นเครื่องมือเสริมในการเรียนรู้

เรามองว่าการเรียนรู้สมัยใหม่เป็นเรื่องของกระบวนการพัฒนาตนเอง สิ่งสำคัญคือ หนึ่ง การปูพื้นความรู้ที่สำคัญให้กับเด็ก เพราะหากพื้นความรู้ไม่มากพอก็จะต่อยอดได้ยาก สอง คือการฝึกหัดวิธีคิดที่เป็นระบบและมีทักษะในการแก้ปัญหา สาม คือฝึกเขาให้เป็นคนที่สามารถสร้างแรงผลักดันให้กับตัวเองได้และไม่ย่อท้อต่อความท้าทายทั้งปวง ซึ่งภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เราสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนให้มีชีวิต และมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้ให้นักเรียนของเราตลอดเวลา

อีกส่วนหนึ่งนอกจากในด้านของการสอนนักศึกษา มหาวิทยาลัยเองก็มีระบบการจัดการภายใน ซึ่งตรงส่วนนี้จะมีการปรับตัวให้เข้ากับ Digital Transformation เหมือนองค์กรอื่นๆ หรือไม่ อย่างไรบ้าง?

เวลาเราพูดถึงองค์กรดิจิทัล จะมีอยู่ 3 เรื่อง คือ ไร้เงินสด (Cashless), ไร้กระดาษ (Paperless) และ ไร้ความฝืด (Frictionless) นี่คือสิ่งที่เรากำลังขับเคลื่อนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างมาก อย่างเรื่องไร้เงินสดก็ทำให้การเชื่อมโยงเรื่องระบบของเงินภายให้เป็นกระบวนการที่ไร้เงินสดให้มากขึ้น ร้านอาหารในโรงอาหารก็จ่ายเป็น QR Code ซึ่งระบบก็ช่วยทั้งในเรื่องความเร็วและความโปร่งใส เรื่องนี้ได้ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์มาแล้วหลายปีและก้าวหน้าไปอย่างมาก

เรื่องที่สองคือไร้กระดาษ เราพยายามผลักดันให้มหาวิทยาลัยเข้าสู่ความเป็นองค์กรไร้กระดาษ โดยใช้ระบบจัดการเอกสารซึ่งจะเริ่มใช้งานได้ในเร็วๆ นี้ โครงการนี้เรามองไปไกลกว่าแค่การลดกระดาษ เนื่องจากการที่เราทำกระบวนการต่างๆ ผ่านกระดาษมักติดปัญหาของเรื่อง ‘ช้า’ ‘หาย’ ‘ยุ่งยาก’  แต่พอเป็นองค์กรไร้กระดาษ ทุกขั้นตอนจะมีการติดตามได้ทางอิเลคทรอนิคส์ ทำให้เกิดความคล่องตัวแบบไร้ความฝืดขึ้น นอกจากนั้นเรายังวางแผนร่วมมือกับบริษัทมาช่วยวิเคราะห์ได้ว่าความเร็วในกระบวนการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร กระบวนการไหนที่มีประสิทธิภาพ กระบวนการไหนติดขัด โดยเก็บข้อมูลของการไหลเวียนเอกสารมาอยู่ในรูป Big Data ที่สามารถ วิเคราะห์ได้และ Visualized ได้ เมื่อเอาข้อมูลตรงนี้มาวิเคราะห์ก็จะสามารถจัดการกระบวนการทำงานได้ดีขึ้น ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพและความเร็วในการทำงานของมหาวิทยาลัยได้ และสามารถปรับปรุงกระบวนการโดยใช้ข้อมูลขับเคลื่อน เป็น Data Driven Business Process Re-engineering ได้

ซึ่งนี่ก็จะนำมาสู่ปัจจัยที่สาม คือเรื่องของระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพและไร้ความฝืด เพราะเราสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และลดขั้นตอนต่างๆ ได้ รู้ว่ากระบวนการมีการติดขัดตรงไหน ช้าเพราะอะไร ซึ่งก็จะทำให้เราไปได้อย่างก้าวกระโดด นี่คือการเปิดให้เราใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ

หลายปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้วางโครงสร้างเรื่อง Data Warehouse ไปจนถึงการพัฒนาระบบ AI สองเรื่องนี้มีความสำคัญกับกลยุทธ์ของทางมหาลัยอย่างไรบ้าง?

ระบบบูรณาการข้อมูล หรือ Data Warehouse สำคัญมากๆ เราพยายามสร้างตรงนี้มาตลอดสามสี่ปี ในแบบที่เราเรียกว่า การสร้าง Single Super Data อันเป็นนโยบายที่สำคัญของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเราโชคดีที่ได้พาร์ทเนอร์ที่ดี คือบริษัท G-Able เข้ามามีส่วนช่วยอย่างมาก เริ่มต้นจากเราเห็นว่าระบบของเราทั้งหมดค่อนข้างมีความแยกกระจายไม่เชื่อมโยงกัน สี่ปีที่ผ่านมาเราก็พยายามปรับปรุงตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน สร้างระบบเครือข่ายภายในภายนอก และศูนย์ข้อมูลหรือ Data Center โดยปรับมาใช้ Private Cloud ทั้งหมด ทำให้ระบบสารสนเทศเรามีพลังและความยืดหยุ่นมาก ตอนนี้ระบบเครือข่ายหลักของเราที่ศูนย์ข้อมูลทำงานที่ 100 Gbps ซึ่งจัดว่าเร็วที่สุดในประเทศ การที่เราจะปรับให้ทุกอย่างเป็นดิจิทัลหรือ ทำ Digitalization โครงสร้างพื้นฐานต้องแข็งแกร่งและรองรับความต้องการใหม่ๆ ได้ เช่น การเรียนการสอนแบบ Massive Open Online Learning หรือการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลแบบ Video Conference ในมหาวิทยาลัยที่เรามีแผนจะขับเคลื่อนเพื่อลดการเดินทางและเวลา

สิ่งที่ต่อยอดมาจากการวางโครงสร้างพื้นฐานที่เราภูมิใจมากนั่นคือเรื่องการที่เราสร้าง AI Server เพราะเราต้องการที่จะจัดเตรียมเครื่องมือให้สำหรับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ทำเรื่องการวิจัย AI เพราะเราต้องการแก้ปัญหาของวงการศึกษา AI ในบ้านเราที่ยังไม่มีใครสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพมากพอ นักวิจัยของเราเลยได้แต่เล่นประเด็นเล็กๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาจริงจัง เรามีข้อมูลจำนวนมหาศาล แต่ไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ที่ดีพอที่ทำงานไหว ทำให้เราทำงานกับปัญหาที่ท้าทายจริงๆ ไม่ได้ ระบบ AI ของเราใช้ NVIDIA V100 8 ตัวมาเร่งความเร็วทำให้ทำงานในได้ระดับซุปเปอร์คอมพิวเตอร์

ตอนนี้ก็เริ่มมีการใช้ AI ไปในทางที่น่าสนใจ อย่างเช่นคณะด้านการเกษตรก็ใช้ AI ช่วยในการคำนวณผลผลิตของพืชผลโดยใช้โดรนถ่ายภาพทำงานร่วมกับระบบวิเคราะห์รูปภาพแบบ AI มีการวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อประยุกต์ทางความมั่นคง  คือเราอยากจะช่วยให้คนได้ใช้ World Class Platform แล้วดูว่าเราพอจะทำได้ไหม ซึ่งจริงๆ ก็มีอีกหลายโจทย์วิจัยที่สิ่งที่เรามีอยู่เอื้อให้ทำได้

เราต้องการแก้ปัญหาของวงการศึกษา AI ในบ้านเราที่ยังไม่มีใครสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพมากพอ นักวิจัยของเราเลยได้แต่เล่นประเด็นเล็กๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาจริงจัง เรามีข้อมูลจำนวนมหาศาล แต่ไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ที่ดีพอที่ทำงานไหว ทำให้เราทำงานกับปัญหาที่ท้าทายจริงๆ ไม่ได้

ซึ่งข้อมูลเป็นพื้นฐานสำคัญที่ต้องวางโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแรงก่อน?

ก่อนจะมีมีบริการอื่นๆ สร้างขึ้นมา จุดแรกที่ต้องสร้างก่อนคือแพลตฟอร์มข้อมูล หรือ Data Platform ที่มีประสิทธิภาพ ตอนนี้เรากำลังทำให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นไปอย่างถูกต้องก่อน เพื่อที่จะมีคุณภาพที่นำมาวิเคราะห์ได้ ทิศทางเราต้องชัดว่าจะไปทางนี้ เมื่อมีแพลตฟอร์มข้อมูลที่ดีแล้ว ต้องทำเรื่องการบูรณาการข้อมูลให้ไหลมารวมกันในแพลตฟอร์มข้อมูล  จากนั้นเล่นเรื่องคุณภาพข้อมูล ตอนนี้เรากำลังผลักดันเรื่องการบริหารจัดการกระบวนการข้อมูลหรือ Data Governance เพื่อให้มั่นใจว่าเรามีข้อมูลที่มีคุณภาพ มั่นคงปลอดภัย และมีการจัดการด้านสิทธิส่วนบุคคลอย่างถูกต้อง

เรามองว่าการที่มหาวิทยาลัยอาจจะต่อยอดบริการทางดิจิทัลให้มีลูกเล่นหวือหวา ต้องทำระบบเบื้องหลังให้มีความแข็งแรงก่อน ระบบที่ดีจะต่อยอดในการสร้าง Ecosystem และบริการอื่นๆ ได้มหาศาล เราอาจจะมีแอปฯ ที่ช่วยในการจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษา ช่วยเตือนเขาว่าต้องไปเรียนอะไร เรียนที่ไหน เมื่อไหร่  เป็นต้น

ในปีหน้าจะเริ่มทำบริการด้าน AI ออกมา เรียกว่าระบบพิรุณปัญญา ต่อยอดมาจากแพลตฟอร์มข้อมูลที่เรากำลังทำให้แข็งแรง ระบบพิรุณปัญญานี้จะช่วยให้ ผู้บริหาร อาจารย์ นิสิต สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างชาญฉลาด เทคโนโลยีการประมวลผล ภาษาธรรมชาติ จะถูกนำมาใช้ทำให้เราสามารถนั่งคุยกับระบบอัจฉริยะที่มี AI อยู่เบื้องหลังได้ ผ่านแอปฯ บนมือถือ พอมีระบบนี้เราก็จะสอนระบบ AI ด้านหลังให้ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ด้วย Big Data ที่เรามี นับเป็นโครงการที่ท้าทายมากโครงการหนึ่งในปีหน้านี้

ระบบที่ดีจะต่อยอดในการสร้าง Ecosystem และบริการอื่นๆ ได้มหาศาล

ในแง่ของการทำงานของมหาวิทยาลัย สิ่งที่ควรมาก่อน Big Data คือ Data Analytic

เราคิดว่า Big Data ยังมีความท้าทายมาก เพราะต้องใช้เทคโนโลยีซับซ้อน และเราต้องถามตัวเองก่อนว่าในการทำงานเรามี Big Data จริงๆ หรือไม่ หรือต้องการทำอะไร เราเลยมองการขับเคลื่อนให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลหรือ Data Analytics ก่อน แล้วถ้ามันต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก การทำงานแบบ Big Data ก็จะเกิดตามมาเอง พัฒนาจากมี Small Data มี Data Analytics ไปสู่ Big Data เหมือนเวลาเราซื้อฮาร์ดดิสก์ เราซื้อลูกเล็กก่อน พอเรามี Data เยอะเราก็ไปซื้อลูกใหญ่ ดังนั้นการการวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญกว่า สิ่งเหล่านี้เกิดจากการสร้างวัฒนธรรมของการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Culture) ซึ่งโดยพื้นฐานใช้ Google Sheet ก็วิเคราะห์ข้อมูลได้แล้ว ซึ่งเราพยายามสร้างวัฒนธรรมของการวิเคราะห์ข้อมูลนี้ในมหาวิทยาลัย เริ่มจากตอบโจทย์ว่าทำอย่างไรให้มีการเข้าถึงข้อมูลได้ในวงกว้าง ให้ผู้บริหารได้เห็นภาพของข้อมูล เข้าใจการวิเคราะห์ข้อมูล เอาไปใช้ในการตัดสินใจ

จะเห็นว่าเรื่องพวกนี้ต้องเป็นไปอย่างมีขั้นตอน ถ้าเราพยายามสร้างวัฒนธรรมของการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล แต่ไม่มีแพลตฟอร์มข้อมูลมันก็ไม่เกิดขึ้นเพราะไม่มีใครเข้าถึงข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วองค์กรได้  ดังนั้นเราถึงพยายามสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลให้เกิดก่อน จากนั้นเราก็พยายามสร้างวัฒนธรรมที่ให้เกิดการอยากใช้อยากดึงข้อมูล และการลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลให้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เรามองว่าหลายองค์กรพยายามไปถึงเป้าหมายโดยที่ไม่มีรากฐาน ซึ่งจะไปยากมาก ที่นี่เราเชื่อในการสร้างรากฐานไปเรื่อยๆ โดยใช้ Agile เราสร้าง Use Case ง่ายๆ สร้างรากฐาน แล้วก็สร้าง Use Case ที่เก่งขึ้นเรื่อยๆ สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มันเกิดกระบวนการของการหมุนวนและขยายตัวเติบโตอย่างยั่งยืนของระบบสารสนเทศ

เราต้องถามตัวเองก่อนว่าในการทำงานเรามี Big Data จริงๆ ไหม หรือต้องการทำอะไร เราเลยมองการขับเคลื่อนให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลหรือ Data Analytics ก่อน แล้วถ้ามันต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก การทำงานแบบ Big Data ก็จะเกิดตามมาเอง

วัฒนธรรมของ Open Data Ecosystem

เราพบว่าในตอนนี้เวลาที่นักวิจัยเก็บข้อมูล ก็เก็บในฮาร์ดดิสก์ของตัวเอง ทำให้ข้อมูลถูกขังอยู่ ไม่สามารถเอาไปต่อยอดได้  เราอยากจะสร้างวัฒนธรรมในการเอาข้อมูลต่างๆ เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลอากาศ ข้อมูลทางการเกษตร ที่เก็บไว้มาสร้างคุณค่า แบ่งปันและต่อยอดให้นักวิจัยที่มีความสนใจใกล้เคียงกันสามารถเอาข้อมูลไปวิเคราะห์และต่อยอดได้ ทำให้เกิดความร่วมมือและเติบโต เพราะในเชิงของการวิจัย สมมติว่านักวิจัยเขียนงานวิจัยชิ้นหนึ่งออกมา พอมีคนเอางานวิจัยไปอ้างอิงทำให้เกิดผลกระทบพอควร ถ้านักวิจัยเอาข้อมูลดีๆ ออกมาเปิดเผยแบ่งปัน การอ้างอิงจากทั่วโลกจะเพิ่มไปเอง จะเกิดประโยชน์กับมหาวิทยาลัยและประเทศไทยมาก ดังนั้นที่มหาวิทยาลัย เรากำลังขับเคลื่อนการสร้าง Open Data Platform และวัฒนธรรมของการเปิดเผยแบ่งปันข้อมูลเปิดอย่างถูกต้อง เพื่อให้ทุกคนพัฒนาไปด้วยกันโดยมีแหล่งข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์และนำไปใช้ได้

การมีแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดจะมาเสริมการเติบโตของเทคโนโลยี AI ในมหาวิทยาลัย เพราะนักวิจัยที่ผลิตข้อมูล ก็สามารถร่วมมือกับนักวิจัยด้าน AI เอาข้อมูลมาวิเคราะห์ได้อย่างลึกซึ้ง ในขณะที่นักวิจัยด้าน AI ก็จะมีข้อมูลมาขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้ก้าวไกลได้มาก เกิดวงจรพัฒนาการที่ยั่งยืนต่อไป

ในการวางรากฐานโครงสร้างต่างๆ ทั้งในด้านเทคโนโลยี และรูปแบบการเรียน มีการทำงานร่วมกันกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ อย่างไรบ้าง?

เราทำงานร่วมกับบริษัทตั้งแต่ Microsoft, Amazon , NVIDIA หรือบริษัทที่เข้ามาช่วยเรื่องเครื่องมือและระบบต่างๆ อย่างทาง G-Able ที่มาพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลให้เรา ทำให้เกิดพัฒนาการอย่างใหญ่หลวงในด้านนี้ ต้องขอบคุณเทคโนโลยีและประสบการณ์ที่บริษัทพาร์ทเนอร์นำมาให้เรา เรามองว่าพาร์ทเนอร์ทุกคนที่ทำงานกับเราเป็นเพื่อนที่จะเข้ามาสร้างความสำเร็จไปด้วยกัน เรามองว่าพาร์ทเนอร์เป็นโมเดลที่สำคัญของการทำงาน เพราะพอเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเวลาเกิดปัญหา คือความท้าทายต่างๆ จะช่วยกันแก้ได้ง่ายกว่า เพราะเรื่องของไอทีเป็นเรื่องของทักษะมนุษย์ค่อนข้างมาก สำหรับโปรเจคไอทีถ้าไม่เอา Human Factor เข้ามาช่วยมันจะขับเคลื่อนค่อนข้างยาก เพราะเรื่องจิตใจคนเป็นเรื่องซับซ้อนมาก

สุดท้ายอยากให้อาจารย์เล่าเรื่องแนวทางในอนาคตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และฝากข้อคิดบางอย่าง

ในอนาคตเราคงมุ่งสร้างบริการต่างๆ ด้านสารสนเทศที่ตอบโจทย์ให้นิสิตและบุคคลากรมากขึ้น เช่น เอาเทคโนโลยีการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาใช้มากขึ้น เน้นการสื่อสารแบบออนไลน์ เล่น AR/VR และ Social Media ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เกิดการทำงานที่สะดวกสบายโดยมีแอปฯ ที่ดีให้นิสิต อาจารย์และบุคคลากรมากขึ้น ทำงานได้ เรียนได้ แบบทุกที่ทุกเวลาตามอัธยาศัย 

ส่วนกระบวนการภายในคงเน้นการขับเคลื่อน Data Driven Organization การสร้าง Open Data Culture การทำทุกสิ่งเป็นดิจิทัลให้องค์การทำงานเร็วและยืดหยุ่นขึ้น เอาเทคโนโลยี AI มาใช้มากขึ้น เอา Blockchain มาเสริมเมื่อถึงเวลา

การทำไอทีต้องเน้น User Centric เอาความต้องการของผู้ใช้เป็นหลัก อย่าเอาเทคโนโลยีมาเล่นหรือเป็นตัวตั้ง แต่ก็ต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน และต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ไม่ว่าจะเป็นระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายที่รองรับ ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้ลงทุนอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องมาเสมอ  การลงทุนเรื่องคน เปลี่ยนแปลงคน สร้างศักยภาพคน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการฝ่า Digital Transformation ตรงนี้เรามีโครงการฝึกอบรมหลากหลายมารองรับอย่างดี  

สุดท้ายต้องฝากไว้ว่า ในยุคนี้ Digital Disruption จะแรงมาก ไม่เปลี่ยนไม่รอด เปลี่ยนตัวเราก่อนดีกว่าภัยมาแล้วถูกบังคับให้เปลี่ยนครับ


บทความนี้เป็น Advertorial







ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...