ทรัมป์ - AI - เศรษฐกิจไทย 2025 สมรภูมิร้อนต้องรู้ สู้ความผันผวน | Techsauce

ทรัมป์ - AI - เศรษฐกิจไทย 2025 สมรภูมิร้อนต้องรู้ สู้ความผันผวน

คอนเทนต์ที่คนไทย องค์กรไทยต้องรู้เพื่อตั้งรับความผันผวนในยุค Trump 2.0 จากงาน Director’s Briefing 1/2025 ภายใต้หัวข้อ Future Economy 2025: Powered by Technology ในช่วง Panel Discussion: Trump, AI and Thai Economy in 2025 and Beyond ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2025

Trump, AI and Thai Economy in 2025 and Beyond

สำหรับการเสวนาครั้งนี้ จัดขึ้นในประเด็น Trump, AI and Thai Economy in 2025 and Beyond  หรือ ทรัมป์, AI และเศรษฐกิจไทย นับตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้

  • ดร.สันติธาร เสถียรไทย
    กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • คุณปริชญ์ รังสิมานนท์
    Co-founder บริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด
  • คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ
    CEO & Co-founder บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

8 ประเด็นที่ ดร.สันติธาร เสถียรไทย และคุณปริชญ์ รังสิมานนท์ ย้ำให้ตระหนักและหาโอกาสให้เจอ

Trump, AI

  • 1. ชวนมองประเทศไทยว่า Resilience แบบใด

Resilience หมายถึง ความสามารถในการฟื้นตัว, ล้มแล้วลุกเร็ว, ความยืดหยุ่น ซึ่งในบริบทของประเทศไทย คุณสันติธารกล่าวเปรียบเทียบว่า ‘เราไม่ตายแต่เราเลี้ยงไม่ค่อยโต’ กล่าวคือ ประเทศไทยเจอมรสุมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตโควิด แม้กลับสู่สภาพปกติได้แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยมี GDP อยู่ที่ราว 3% ทั้งนี้ เพราะปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ โครงสร้างประชากรของไทยหดตัว ทำให้กำลังคนไม่พอ ดังนั้น เมื่อกำลังคนไม่พอก็ต้องเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้มาก เพื่อให้อัตราการเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้นมากกว่า 3% 

  • 2. มีหรือไม่มีโดนัลด์ ทรัมป์ ‘Technology Disruption’ ก็เกิดขึ้นเป็นปกติ

การกลับมาเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ในสมัยที่ 2 ทรัมป์มีอำนาจมากกว่าเดิม และทำให้เกมการเมืองระดับโลกแตกต่างจากครั้งก่อนอย่างเห็นได้ชัด หลายคนอาจมองทรัมป์จากครั้งก่อนว่าเป็น ผู้มีอำนาจตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย (Policy Maker) แต่ในความเป็นจริง ทรัมป์เป็น นักเจรจาต่อรอง (Deal Maker) ซึ่งในปีแรก เชื่อว่าทรัมป์จะใช้กำปั้นเหล็กทุบโต๊ะ ทุบหัวเข้าบ้าน สร้างผลกระทบที่รุนแรงที่สุดเพื่อที่จะเปิดโต๊ะเจรจากับประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ ธรรมชาติของ Deal Maker มักเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อย่างการขึ้นอัตราภาษี (Tariff) ประเทศเม็กซิโก แคนาดา และจีน ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จะทำให้เกิดความผันผวนและส่งผลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างมาก

และขณะที่ Big Tech แข่งกันพัฒนา AI ส่งผลให้ AI ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีราคาถูกลงเรื่อยๆ การนำ AI มาปรับใช้ (Adoption) ก็จะเร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะการแข่งขันระหว่างจีนกับอเมริกาจะนำไปสู่การลดกฎระเบียบ รวมถึงลด Data Privacy เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขัน เทียบได้ว่า เป็นการหลับตาข้างหนึ่งเพื่อเร่งพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ธรรมาภิบาล (Governance) และความเข้มข้นในการควบคุมการใช้ AI ของประเทศใหญ่ๆ อาจเบาบางลง

Trump, AI

  • 3. ผลทางอ้อมจากการขึ้นกำแพงภาษีของทรัมป์ คือสิ่งที่ไทยมองข้ามไม่ได้ 

ผลจากความไม่แน่นอนอันเป็นผลทางอ้อมจากการขึ้นกำแพงภาษีของทรัมป์ ดร.สันติธารบอกว่า มีสิ่งที่ต้องใส่ใจ 3 ด้าน คือ 

หนึ่ง ความไม่แน่นอน เช่น กำแพงภาษีที่ไม่แน่นอน  โรงงานทั่วโลกต้องหยุดดู ธุรกิจชะลอการลงทุน ลดการซื้อเครื่องจักร ลดการสร้างโรงงาน เกิดอิมแพ็กทางการค้าต่อโลกทันที 

สอง จีนมีสินค้าล้นตลาดจำนวนมาก หากจีนส่งออกสินค้าไปยังอเมริกาไม่ได้ จีนก็จะส่งออกไปยังประเทศที่เป็นมิตรด้วย อย่างประเทศไทยและชาติอาเซียน 

สาม เวลาจีนถูกตั้งกำแพงภาษี เกือบทุกครั้งจะตามมาด้วยการลดค่าเงิน หรือปล่อยให้เงินนั้นมีมูลค่าถูกลงเรื่อย ๆ สินค้าจีนก็จะยิ่งมีราคาถูกลง กระทบประเทศไทยมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ส่งออกไทย 

  • 4. Relocation : ไทยไม่อาจดึงดูดการลงทุนได้ดีที่สุด แต่เราอาจดึงดูด Tech Talent ได้ดี

สงครามการค้าและภูมิรัฐศาสตร์เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของประเทศไทย โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกาที่ทำให้โลกเปลี่ยนไป จากที่เทรดกับประเทศใดก็ได้ เปลี่ยนมาเป็นการเทรดกับประเทศพันธมิตรหรือประเทศที่ไว้ใจได้ จากที่เงินทุนไหลไปที่จีน แต่จีนต้องแยกการผลิตสินค้าเพื่อใช้ภายในประเทศในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ส่วนการผลิตสินค้าสู่ตลาดโลก จีนเลือกตั้งโรงงาน (Relocation) ในเม็กซิโก อินเดีย และประเทศอาเซียน ส่งผลให้เงินลงทุนมาถึงไทยด้วย ไทยจึงได้เป็นศูนย์ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์, แผงโซลาร์เซลล์, ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์, Data Center 

แต่เงินลงทุนที่มายังไทย ไม่ใช่ว่าไทยมีปัจจัยที่มีส่วนในการดึงดูด (Pull Factors) ให้เข้ามาเท่านั้น แต่ยังมีสงครามการค้าเป็นปัจจัยที่มีส่วนในการผลักดัน (Push Factors) ให้โรงงานต่างๆ ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน และแม้เงินลงทุนที่มาไทยไม่เท่าที่ไปสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่ ดร.สันติธารชี้ให้เห็นจุดแข็งว่า ไทยดึงดูด Talent ได้ดี และ Expat ทั่วโลกก็ชอบมาทำงานที่ไทย รวมถึงนิยมให้ลูกมาเรียนที่ไทย ใช้สาธารณสุขของไทย และคนกลุ่มนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น เรื่องการย้ายถิ่นฐานของ 'ทุน' มาไทย มา...แต่สู้เพื่อนบ้านไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการย้ายถิ่นฐานของ 'คน' อันนี้พอมีสิทธิ์สู้ 

และไม่ใช่เงินลงทุนทำธุรกิจแต่ 'ทุนเทา' ก็เข้ามาด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราจึงต้องบล็อกกีดกัน หรือออกกฎที่เข้มงวดอย่างที่สิงคโปร์ทำ 

  • 5. โอกาสในยุค Care Economy เพราะประชากรสูงวัย ไม่ใช่แค่ไทย แต่เป็นทั้งโลก 

Care Economy คือ การดูแล ซึ่งไม่ใช่แค่การดูแลผู้สูงวัย แต่เป็นการให้ความสําคัญในเรื่องสุขภาพตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว เพราะรู้ว่าสุขภาพเป็นเรื่องสําคัญ ถ้าป่วยก็แย่เพราะต้องทํางานอีกนาน โดย ดร.สันติธารกล่าวถึง 'เจเนอเรชัน เดอะแบก' คือ คนที่ต้องแบกตัวเองในอนาคต ห้ามป่วย ห้ามตาย ห้ามเจ็บ เพราะต้องแบกคุณพ่อคุณแม่ และแบกลูกด้วย

เพราะฉะนั้น การดูแลสุขภาพ (Wellness) ทั้งทางกายและใจจะสําคัญมากขึ้น กับการที่ไทยมีชื่อเสียงด้านการแพทย์และสุขภาพดีมากในต่างประเทศ จะส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Health & Wellness, การท่องเที่ยว, อาหารและยา รวมถึง Super Food จึงเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมหาศาล 

แต่ปัญหาของไทยคือ ความต้องการ (Demand) ด้านสุขภาพและการแพทย์มากเกินความสามารถในการรองรับ (Supply Shortage) หมอไม่พอ พยาบาลไม่พอ ผู้ช่วยพยาบาลไม่พอ แต่อย่างไรก็ตาม AI จะมีส่วนสำคัญในการช่วยด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยช่วยให้หมอและพยาบาลทำงานได้มากขึ้น และช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้เพิ่มขึ้น 

ดร.สันติธารเปรียบเทียบเศรษฐกิจประเทศไทยกับ 'นักกีฬาว่ายน้ำสูงวัย' ที่กำลังวังชาเสื่อมถอยลง แต่หากไทยกำหนดโพสิชันของตัวเองดีๆ นักกีฬาสูงวัยที่อ่านคลื่นได้ อาจไม่ต้องว่ายน้ำแต่ใช้บอร์ดโต้คลื่นที่ถาโถมเข้ามาได้ ซึ่งเร็วกว่าการว่ายน้ำเสียอีก 

Trump, AI

  • 6. รับรู้ปัญหา ‘ชิป’ เพื่อเข้าใจ ‘สงครามการค้า’ และ 'สงครามเทคโนโลยี'

มาที่คุณปริชญ์ รังสิมานนท์ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ลูลู่ เทคโนโลยี ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี AI แก้ Pain Point ให้อุตสาหกรรมต่างๆ เปิดประเด็นที่การสร้างรากฐานการพัฒนาประเทศสหรัฐอเมริกาจาก ‘เทคโนโลยี’ และปัจจัยที่ทำให้ชนะสงครามโลกก็เพราะ ‘เทคโนโลยี’ อเมริกาจึงกลายเป็นผู้จัดระเบียบโลก และทำให้ประเทศต่างๆ เชื่อมั่นในอเมริกาและค่าเงินดอลลาร์ และทำให้ทั่วโลกเชื่อใน 4 ด้าน  ได้แก่ 1) เชื่อว่าอเมริกามีความมั่นคงทางทหาร 2) เชื่อในความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ 3) เชื่อในอุดมการณ์และประชาธิปไตย และ 4) เชื่อในระบบเศรษฐกิจ

จีนซื้อชิปจากอเมริกามานาน และเพิ่งตระหนักในปี 2015 ว่า Supply ที่จ่ายออกไปให้ชิปมากกว่าน้ำมัน จึงต้องการผลิตเอง เพื่อพึ่งพาตัวเอง (Self-reliance) และประกาศนโยบาย ‘Made in China 2025’ ออกมา

อเมริกาจึงขัดขวางการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของจีน โดยเริ่มขยับตัวในปี 2018 และห้ามส่งออกชิปไปยังจีนในปี 2022 เพราะกลัวว่าศักยภาพด้านเทคโนโลยีของจีนจะสั่นคลอนความเป็นชาติมหาอำนาจของอเมริกา

อย่างไรก็ตาม จีนต้องการสร้างความก้าวหน้าจึงคิดหาหนทางพัฒนาเทคโนโลยีบนความขาดแคลน และทำ Scaling Hypothesis หรือ การเพิ่มขนาดข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ AI ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาก็ต้องการทำให้โมเดล AI มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ไม่มีชิปมากอย่างอเมริกาจึงต้องหาทางเทรนโมเดลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกลง จึงใช้วิธี MoE : Mixture of Experts ไม่ต้องใส่ข้อมูลทุกอย่าง แต่ให้คนเก่งแต่ละด้านเทรนโมเดลแยกกัน แล้วนำมารวมกัน เกิดเป็นโมเดล DeepSeek ที่ฉลาดมาก ประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดได้มากทั้งต้นทุนและพลังงานที่ต้องใช้ 

และเนื่องจากเป็นโมเดลที่มาช้ากว่าหลายแบรนด์ แต่ก็ต้องการให้คนเข้าถึงซอฟต์แวร์จีนได้ในวงกว้าง จึงทำให้ DeepSeek เป็น Open Source คือ ใครก็เข้าไปใช้งานได้ และต่อมาก็กลายเป็นประเด็นที่สั่นคลอนธุรกิจ สะเทือนถึงตลาดหุ้นระดับโลก!

  • 7. AI สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ไปจนถึงการสร้างข้อมูลบิดเบือน 

คุณปริชญ์กล่าวถึงการแข่งขันพัฒนาโมเดล AI ว่าจะยิ่งทำให้ AI มีราคาถูกลงมหาศาล แลัยังส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น Big Tech ที่ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่, องค์กร (Corporate) ที่ต้องเผชิญข้อจำกัดด้านการส่งออกและต้องหันมาใช้ AI ในห่วงโซ่อุปทาน, นักลงทุนที่ต้องแบกรับความเสี่ยงมากขึ้น, แรงงาน (Workforce) ที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะองค์กรจะนำระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น 

นอกจากนี้ ยิ่ง AI มีราคาถูกลง ภัยไซเบอร์ก็จะยิ่งมากขึ้น โดยความเสี่ยง 2 ด้านสำคัญที่ผู้นำองค์กรต้องรู้ คือ AI driven misinformation campaign (การสร้างข้อมูลบิดเบือนที่ขับเคลื่อนด้วย AI) และ AI driven job displacement (การที่ AI เข้ามาแทนที่งาน) ดังนั้น Cyber Security (ความปลอดภัยทางไซเบอร์) จะมีความสำคัญต่อองค์กรมากขึ้น

  • 8. ผู้นำที่หาทางใช้ AI ในธุรกิจตัวเองได้ จะเห็นว่ามีแสงอยู่ทุกที่

คุณปริชญ์บอกว่า การทำธุรกิจในยุค AI ผู้นำหรือผู้บริหารไม่ควรโฟกัสที่ 'อุตสาหกรรม' แต่อยากให้โฟกัสที่ 'ธุรกิจของตัวเอง' โดยยกตัวอย่าง บริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด ธุรกิจ AI ที่คุณปริชญ์ร่วมก่อตั้ง และนำเทคโนโลยีเข้านำมาช่วยธุรกิจขายปุ๋ยของที่บ้าน โดยใช้ AI ช่วยงานในด้านที่สามารถทำได้อัตโนมัติ เช่น ใช้ดูราคาขึ้นลงของปุ๋ยทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว และการเห็นข้อมูลเร็วกว่าพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเพียงชั่วโมงเดียว ก็สามารถสั่งซื้อปุ๋ยก่อนคนอื่นในราคาที่ถูกกว่าได้

ดังนั้น โอกาสจึงไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมใดหรือ Sector ไหน แต่มันอยู่ที่บริษัทเรา เพียงแต่เราเห็นว่าตรงไหนเป็นแสงในบริษัท ตรงไหนที่ทดแทนการทำงานซ้ำๆ ได้ (Repeative Task) ตรงไหนที่ใช้ AI เพิ่มความไวอีกนิดเดียวก็สามารถสร้าง ความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) ได้มหาศาล

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Jurassic World ตำนานแฟรนไชส์ภาพยนตร์ยอดนิยม สู่ประสบการณ์จริงสุดอิมเมอร์ซีฟในกรุงเทพฯ

บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับโลกของ Jurassic World โลกภาพยนตร์ก็เปลี่ยนไปตลอดกาล ก่อนสัมผัสประสบการณ์จริงอันน่าเหลือเชื่อในไตรมาสที่สองของปี 2025...

Responsive image

KBTG เผย ‘Horizontal Core Banking’ บิ๊กโปรเจกต์ขยายระบบหลังบ้าน KBank รองรับการเติบโตได้ถึงปี 2031

เจาะอินไซด์การขยายระบบหลักของธนาคารกสิกรไทย เพื่อรองรับการเติบโตของลูกค้ายาวถึงปี 2031 ใน ‘Core Banking Horizontal Scale Project’ โดยทีม KBTG และทีม KBank รวมแล้วพันคน มาร่วมแรงร่ว...

Responsive image

DeepSeek และ Qwen: เมื่อ AI ราคาถูกเปลี่ยนโฉมโลก

DeepSeek และ Qwen จาก Alibaba กำลังเปลี่ยนแปลงวงการ AI ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ และระบบนิเวศ AI ทั่วโลก สุภาวดี ตันติยานนท์ วิเคราะห์ผลกระทบและแนวทางที่ประเทศไทยค...