ก้าวต่อไปของ Disney กับการเป็นผู้นำด้าน Entertainment Technology ระดับโลกที่มี Accelerator ของตัวเอง | Techsauce

ก้าวต่อไปของ Disney กับการเป็นผู้นำด้าน Entertainment Technology ระดับโลกที่มี Accelerator ของตัวเอง

ปี 1929 Disney บุกเบิกการ์ตูนขาวดำที่มีทั้งภาพและเสียงพร้อมกัน ปี 1995 Toy Story เป็นหนัง Animation เรื่องแรกของ Pixar ที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ปี 2013 เปิดตัว MagicBand สายรัดข้อมือ RFID ที่ใช้แทนบัตรเข้า Park และใช้ชำระเงินซื้อของได้ใน Disney World

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Disney เป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญในวงการ Entertainment มาตลอดในช่วงกว่า 90 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 1923 ที่ก่อตั้งบริษัท และมีผลงานอยู่ในใจของเด็ก (รวมถึงผู้ใหญ่อีกมากมาย) มาหลายยุคหลายสมัย จนถึงยุคที่บริษัทต่างๆ พากันปรับตัวเองและพยายาม Go digital นั้น Disney เองก็มีความเคลื่อนไหวและมีบทบาทในโลกเทคโนโลยีไม่น้อยเลยทีเดียว รวมถึงมี Accelerator ของตัวเองมาตั้งแต่ปี 2014 แล้วด้วย พวกเขามีแนวคิดในการทำงานและกลยุทธ์อย่างไรจึงกลายเป็นเป็นบริษัท Entertainment ที่มี Lifespan ยาวนานขนาดนี้?

ภาพจาก Lucasfilm.com

ล่าสุดทีมงาน Techsauce ได้มีโอกาสไปสัมผัสประสบการณ์บรรยากาศการทำงานแบบ Disney ที่ The Walt Disney Company (Southeast Asia) Pte. Ltd. ประเทศสิงคโปร์ ในงาน Krungsri Consumer Innovation Press Trip ที่จัดโดยบริษัท Krungsri Consumer ซึ่งแค่ตึกของ Disney ที่เราเดินทางไปถึงก็ทำให้ใจเต้นตึกๆ แล้ว เพราะตึกนี้มีชื่อว่า Sandcrawler ซึ่งเมื่อมองจากภายนอกจะเห็นได้ว่าโครงสร้างของตึกนี้ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจมาจากยานพาหนะขนาดใหญ่บนดาว Tatooine ในเรื่อง Star Wars โดยเดิมทีตึกนี้เป็นของ George Lucas ผู้สร้าง Star Wars นั่นเอง

ภายในสำนักงานประกอบไปด้วยโซน Disney และโซน Pixar โดยเราได้รับเกียรติจากคุณ Seshasaye Kanthamraju ตำแหน่ง Executive director ด้าน Corporate Communications and Citizenship แห่ง Disney Southeast Asia และคุณ Soupy สุภอร รัตนมงคลมาศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เดอะ วอลท์ดิสนีย์ (ประเทศไทย) รวมถึงทีมงานมาพาชมสถานที่ทำงานด้วยตัวเอง บรรยากาศภายในตึกเต็มไปด้วยกลิ่นอาย Star Wars ตั้งแต่ลิฟต์ ไปจนถึงโถงทางเดินที่ดูเหมือนยานอวกาศสุดๆ  

ภาพโถงทางเดินและรูปปั้นโลหะอาจารย์โยดาของแท้ต้องที่  Yoda’s Garden ตึกนี้เท่านั้น

Disney ถือเป็นหนึ่งในบริษัทด้าน Entertainment ระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดและ active มากที่สุดแห่งหนึ่งใน Southeast Asia โดยมีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นมาก มีออฟฟิศตั้งอยู่ในภูมิภาคนี้ถึง 6 แห่ง ได้แก่ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมถึงสิงคโปร์ที่เรามาเยี่ยมชมนี่เอง แต่ละแห่งจะเน้นการมีทีมงานที่เป็นคนของประเทศนั้นๆ เพื่อให้มั่นใจว่า Content จะได้รับการ Localize ให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศมากที่สุด โดยการทำงานจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

  1. Media Networks หรือช่องทางสื่อต่างๆ ของดิสนีย์ซึ่งเราก็ได้เข้าไปชมและพูดคุยกับทีมงานในห้องตัดต่อภาพและงาน Graphic ต่างๆ บนจอของ Disney Channel ที่จะออกฉายไปทั่ว Southeast Asia นอกจากนี้ยังมี Disney Interactive Studios, Disney Online,  Disney Mobile และ ESPN ที่ถือลิขสิทธิ์กีฬาหรือการแข่งขันทั้งระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับนานาชาติจำนวนมากกว่า 10,000 การแข่งขัน ซึ่งถือเป็นอีกดีลใหญ่มากดีลหนึ่งของดิสนีย์ในช่วงที่ผ่านมา
  2. Studio Entertainment คือฝ่ายที่สร้างและเข้าซื้อภาพยนตร์ Live-action, Animation, Video content, เพลง และการแสดงบนเวทีต่างๆ จนเป็นที่ถูกใจคนทั่วโลก ปัจจุบันผลิตหนังภายใต้ The Walt Disney Studios รวมถึง Walt Disney Pictures, Pixar, Marvel, Touchstone และ Lucasfilm
  3. Disney Consumer Products เป็นฝ่ายที่ทำ Merchandise นั่นเอง จะดูแลทั้งโปรดักต์ใน Disney Store และการขายลิขสิทธิ์ให้กับผู้ผลิตสินค้าประเภทต่างๆ ตั้งแต่ของเล่นไปจนถึงของแต่งบ้าน หรือแม้กระทั่งขนมและอาหาร (ที่ทำเอาแฟน Disney เสียทรัพย์อยู่บ่อยๆ) นอกจากนี้ยังดูแลเกมและ Interactive media ด้วย

บริษัท Entertainment ยุคดิจิทัลที่รู้จุดแข็งของตัวเอง

Communicate และ Collaborate คือสิ่งที่เราจะได้สัมผัสจากออฟฟิศแห่งนี้

คุณ Sesha เน้นย้ำถึงหัวใจในการทำงานที่นี่ให้พวกเราฟัง เพราะการสร้าง Content ของ Disney ไม่ใช่แค่สร้าง Contents ออกมาแล้วจบ แต่คือการสร้างเฟรนไชส์ต่อยอดออกมาเพื่อทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์หรือเรื่องราวที่พวกเขาได้ดูมา ตรงจุดนี้ เทคโนโลยีที่ Disney มีอยู่ในมือจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยขยายฐานแฟนคลับได้ ตัวอย่างเช่น Gaming หรือการทำเกมซึ่งทำให้สิ่งที่จะสื่อสารออกไปยังแฟนๆ นั้นเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมาก เพราะแทนที่จะมานั่งบอกพวกเขาว่า “Story เป็นแบบนี้นะ ไปดูหนังเรื่องนี้ซะสิ” ก็เปลี่ยนเป็น “Story มันเป็นแบบนี้นะ แล้วคุณก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมันได้ด้วย!”

ในด้านความร่วมมือ ที่นี่ยังให้ความสำคัญกับการเข้าไปเป็น Partner กับหน่วยงานอื่น เพื่อให้แฟนๆ ของพวกเขาเข้าถึงประสบการณ์ในด้าน Entertainment อย่างเต็มที่ที่สุด ตัวอย่างล่าสุดคือการจับมือกับการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board – STB) เปิดตัวกิจกรรมสำหรับแฟนภาพยนตร์และการ์ตูนของ Disney ในภูมิภาคนี้ จัดใหญ่ทั้ง Star Wars ตามด้วย Marvel และ Disney Animation/Disney Pixar ต่อเนื่องกันไป 3 ปีรวด โดยในปีนี้ก็ได้โอกาสฉลองครบรอบ 40 ปี Star Wars ในชื่องาน “Star Wars Day: May The 4th be With You” ที่สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในสิงคโปร์อย่าง Garden By the Bay อัดแน่นด้วยคาแร็คเตอร์จากในเรื่องและเอฟเฟคต์แสงสีเสียงแบบจัดเต็ม แน่นอนว่าได้ใจสาวก Star Wars กันไปเต็มๆ เพราะแค่งานวันแรกก็มีผู้เข้าชมถึงกว่า 8,000 คนแล้ว และถือเป็นกลยุทธ์ที่ Win-Win ทั้งสองฝ่ายเพราะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวสิงคโปร์ได้อีกทางหนึ่ง [เข้าไปดูภาพบรรยากาศและความยิ่งใหญ่ของงาน Star Wars Day ได้ที่ http://bit.ly/Star_Wars_Day_SG]

วัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจน - Disney ไม่มีลูกค้า มีแต่แฟนๆ

ที่นี่เราไม่เรียกตัวเองว่าพนักงาน แต่เรียกว่า Cast member เราไม่เรียกทุกคนว่าลูกค้า แต่เรียกว่า Fan

คุณ Soupy เล่าถึงคอนเสปต์การทำงานที่ Disney เพิ่มเติมที่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไม Content ของพวกเขาถึงเข้ามาอยู่ในใจของผู้ชมได้ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายทศววรษ แนวคิดดังกล่าวทำให้ทีมงานตื่นตัวกับการสร้าง Content และ Product ที่จะช่วยสร้างและรักษาฐานแฟนคลับของ Disney ได้อย่างต่อเนื่อง ทีมงานต่างรู้สึกอินและรักในสิ่งที่พวกเขาทำ ยังไม่รวมถึงโต๊ะทำงานของทุกคนเต็มไปด้วยโปรดักต์ของ Disney ตั้งแต่ตุ๊กตา โมเดล และของใช้มากมาย หนึ่งในทีมงานสาวสวยบอกกับเราว่า Character ที่ชอบที่สุดคือ Rapunzel เพราะนี่เป็นยุคที่เด็กผู้หญิงเริ่มตระหนักได้ว่าเราต้องลุกขึ้นมาควบคุมชีวิตตัวเอง ทำให้เธออินกับแคมเปญ “Dream Big, Princess” ของ Disney ที่สนับสนุนให้เด็กผู้หญิงใช้ความสามารถของตัวเองทำความฝันให้เป็นจริงโดยมีการร่วมมือกับ Influencer ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย

มองการณ์ไกล คือหัวใจของการ Go Digital

คุณ Sesha แชร์มุมมองเชิงธุรกิจให้เราฟังว่า การทำธุรกิจแบบเดิมๆ นั้นมักจะวางแผนธุรกิจแบบมุ่งไปสู่จุดหมายด้วยวิธีเดียวที่เชื่อมั่นแล้วว่าดี ในขณะที่การทำธุรกิจในยุคดิจิทัลให้ความสำคัญกับการทดลองและพลิกแพลง ซึ่ง Disney ตระหนักข้อนี้ดี จะเห็นได้ว่าแต่ละช่องทางที่พวกเขามี หรือแต่ละดีลที่เกิดขึ้นล้วนเป็นหนึ่งในตัวเลือกมากมายให้พวกเขาลองจนกว่าจะไปถึงจุดหมายได้

ไม่มีใครสนใจหรอกว่าคุณจะเก่งแค่ไหนในอดีต พวกเขาสนใจว่าคุณจะให้อะไรเขาต่อจากนี้มากกว่า

Disney ไม่ใช่แค่บริษัทที่หันมาปรับตัวหรือรับเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ แต่ให้ความสำคัญกับการมองภาพอนาคตข้างหน้า หลักการวางแผนธุรกิจจึงเกิดจากการคาดการณ์ทิศทางความต้องการของแฟนๆ รวมถึงเทรนด์ต่างๆ แล้วค่อยย้อนกลับมาสร้างสรรค์ให้มันเกิดขึ้นจริงโดยใช้สื่อ อุปกรณ์ และนวัตกรรมที่มีในมือ (และมีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย)

สิ่งนี้ส่งต่อไปถึงการจัดการบุคลากรของพวกเขา สมมติว่าถ้ามีไอเดียโปรเจกต์ขึ้นมาหนึ่งอย่าง พวกเขาจะต้องระดมความคิดกันและการคาดการณ์ความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นไว้ 3 แบบ แบบดีที่สุด แบบกลางๆ และแบบเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้น ที่นี่จึงเต็มไปด้วยทีมงานที่มีแนวคิดและความสามารถสอดคล้องการเป็นสื่อยุคดิจิทัล และมีวิธีการทำงานที่พร้อมจะรับมือกับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากการที่ Disney พยายามพยากรณ์ไปข้างหน้าตลอดเวลา ทำให้ Disney พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าทันที หากเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาจนพร้อมใช้งาน

Disney ยังมีเทคโนโลยีให้เราตื่นเต้นได้อีกมาก

ภาพจาก Insidethemagic.net

แฟน Disney theme park หลายๆ คนน่าจะรู้จักหรือเคยใช้เจ้า MagicBand สายรัดข้อมือนี้ไม่ได้แค่ออกแบบให้ดีไซน์สวยงามเอาใจบรรดาแฟนๆ เท่านั้น แต่นี่คือหนึ่งในเทคโนโลยีชิ้นโบแดงของ Disney ที่ต้องการเชื่อมโยงประสบการณ์ระหว่างสถานที่ที่มีอยู่จริงกับเทคโนโลยี Virtual ผ่านอุปกรณ์ที่ใช้ RFID (Radio frequency identification) เพียงแค่แตะสายรัดข้อมือเข้ากับกับเครื่องอ่านที่ติดตั้งอยู่ทั่ว Park ซี่ง ใช้คลื่นวิทยุ ก็สามารถใช้เป็นบัตรเข้า Park, จอง Fastpass, รับสิทธิพิเศษในการจองคิวเครื่องเล่นและวางแผนเที่ยวล่วงหน้าถึง 60 วัน และยังเป็นทั้งกุญแจห้องสำหรับเข้าพักใน Disney Resort และที่สำคัญคือเป็นกระเป๋าสตางค์ได้ด้วย เพราะระบบจะผูกไว้กับบัตรเครดิตของผู้ใช้ทำให้สามารถซื้อของต่างๆ ใน Park โดยไม่ต้องพกเงินสดเลย (ต้องใช้ Pin code 4 หลักก่อนจะชำระเงินใดๆ ก็ตาม โดยสามารถเลือกผูกหรือไม่ผูกบัตรก็ได้และสามารถ Deactivate ได้เหมือนเวลาทำบัตรเครดิตหาย จึงไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย) ซึ่งในระยะยาว คอนเซปต์นี้อาจจะเป็นแหล่ง Data ชั้นดีที่ทำให้ Disney รู้จักของแฟนของพวกเขามากขึ้นและพัฒนาไปได้ไกลยิ่งขึ้น

นวัตกรรมที่น่าจับตามองเมื่อมี Accelerator ของตัวเอง

และอีกก้าวหนึ่งที่เห็นความตื่นตัวด้านเทคโนโลยีของ Disney ก็คือการก่อตั้ง Disney Accelerator ของตัวเองเมื่อปี 2014 ซึ่งบริษัทด้านสื่อและความบันเทิงที่ Disney เลือกเข้ามาร่วมโครงการก็จะได้รับทั้งคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและทรัพยากรมหาศาลของ Disney ที่จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาประสบการณ์ความบันเทิงผ่านนวัตกรรรมใหม่ๆ แน่นอนว่า Disney ก็ได้ประโยชน์มหาศาลเช่นกัน โดยล่าสุดได้จับมือกับ Startup ที่ทำด้าน VR ในโครงการปี 2017 ที่ชื่อว่า The Void โดยเปิดเครื่องเล่น VR “Star Wars: Secrets of the Empire” ใน Disney Resort ที่แคลิฟอร์เนียและฟลอริดา ที่ถือเป็นเครื่องเล่นแรกที่ให้ประสบการณ์ Interactive เสมือนคุณเข้าไปอยู่ในโลก Star Wars จริงๆ ด้วยเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพรายนี้ที่เคยที่โด่งดังมาจากการทำ VR เรื่อง Ghost Busters ใน Madame Tussauds ที่ Times Square มาแล้ว เชื่อว่านี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างเท่านั้น และจะมีผลงานตามมาอีกมากจากกลยุทธ์ที่เข้ามาร่วมมือกับสตาร์ทอัพในโครงการ เชื่อว่าพวกเขาก็พร้อมจะปล่อยอะไรเจ๋งๆ ออกมาผ่านบริํษัทที่มีฐานแฟนจำนวนมหาศาลขนาดนี้

ธุรกิจนี้เป็นอะไรที่ไม่มีความแน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอด เราจึงต้องตั้งเป้าหมายให้มั่น แล้วโฟกัสไปที่อนาคต - Walt Disney

ภาพจาก The Walt Disney Company

ต้องยอมรับว่าแนวคิดของผู้บุกเบิกอย่าง Walt Disney ซึ่งเป็น Futurist คนสำคัญคนหนึ่งของโลกนั้น ยังคงฝังรากอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรของเขาอย่างเหนียวแน่น และนี่คงจะตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่าทำไมวันนี้เราจึงสามารถเรียก Disney ในยุคนี้ว่า Tech company ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

ขอขอบคุณบริษัท Krungsri Consumer ที่ให้โอกาสเราไปเยี่ยมชมงานดีๆ ในครั้งนี้ 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก เหลียง เหวินเฟิง CEO และผู้ก่อตั้ง Deepseek จากอดีตเฮดจ์ฟันด์ สู่ผู้ท้าทายยักษ์ใหญ่ AI โลก

รู้จัก เหลียง เหวินเฟิง ผู้อยู่เบื้องหลังของ DeepSeek จากอดีตผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ สู่ CEO และผู้ก่อตั้ง Deepseek ที่พกความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งส...

Responsive image

เปิดลิสต์ 3 ประเภท AI Startup ที่นักลงทุน VC สนใจมากที่สุดในปี 2025

ค้นพบ 3 ประเภท AI Startup ที่นักลงทุน VC ให้ความสนใจในปี 2025 ตั้งแต่โซลูชัน AI เฉพาะด้าน โครงสร้างพื้นฐาน AI ไปจนถึงระบบที่น่าเชื่อถือและยืดหยุ่น พร้อมโอกาสใหม่ในการสร้างธุรกิจที่...

Responsive image

วิเคราะห์บทบาท AI ด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านมุมมองผู้เชี่ยวชาญจาก AI House ที่ดาวอส

ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่จัดขึ้นที่ Davos นั้นหัวข้อสำคัญที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือบทบาทของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมพูดคุยถึง...