ย้อนรอย E-Commerce ในประเทศไทย 2017 เผยแหล่งช้อปปิ้งออนไลน์แห่งปี | Techsauce

ย้อนรอย E-Commerce ในประเทศไทย 2017 เผยแหล่งช้อปปิ้งออนไลน์แห่งปี

ในปีนี้ตลาด E-Commerce ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตอย่างรวดเร็ว Economy Southeast Asia Spotlight 2017 รีพอร์ตเป็นการศึกษาล่าสุด โดยบริษัท Google และ Temasek เผยว่าตลาด E-Commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตจนมีขนาดกว่า 88.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 ซึ่งปัจจุบันตลาดมีขนาดอยู่ที่ 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นใช้เวลาในการช้อปปิ้งออนไลน์มากกว่าคนในประเทศสหรัฐอเมริกาเกือบ 2 เท่า โดยใช้เวลาเฉลี่ย 140 นาทีต่อเดือน ขณะที่คนอเมริกันใช้เวลาเพียง 80 นาทีต่อเดือนเท่านั้น

ในประเทศไทยมีหลายๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยทางบริษัท iPrice ซึ่งเป็นบริษัท E-Commerce ใน 7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้จัดทำการศึกษาตลาด E-Commerce เฉพาะในประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ดังนี้ ศึกษาความสนใจของคนไทยต่อร้านค้า E-Commerce ชื่อดัง, จัดอันดับแอพพลิเคชั่นในปี 2017, ร้านค้าออนไลน์ที่มีความโดดเด่นทางด้านโซเชียลมีเดีย และไฮไลท์เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2017 ที่จะส่งผลต่อเกม E-Commerce ในปีหน้า โดยพบผลการศึกษาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

งานออนไลน์เซล 12.12 คนไทยให้ความสนใจพุ่งแซงหน้างานออนไลน์เซล 11.11

เพิ่งจบไปหมาด ๆ กับงานออนไลน์เซลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปีนี้อย่าง 11.11 และ 12.12 คงไม่มีใครคาดคิดว่างานออนไลน์เซล 12.12 จะได้รับความสนใจจากคนไทยมากกว่า 11.11 เสียอีก เนื่องจากงาน 11.11 ได้รับการโปรโมทอย่างล้นหลามผ่านทางโซเชียลมีเดียและสำนักข่าวต่าง ๆ ที่สำคัญงาน 11.11 ยังนำทัพมาโดยเว็บออนไลน์ชื่อดังอย่างของจีนอีกด้วย

จากการศึกษา Google Trends พบว่างานเซลสินค้า 12.12 ของ Lazada ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนั้นพุ่งนำ 11.11 อย่างไม่น่าเชื่อ โดยดัชนี search interest index ที่เป็นตัวชี้ความสนใจของคนไทยต่อ Lazada วันที่ 12 ธันวาคมนั้นสูงถึง 100 คะแนนซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบปี ส่วนดัชนี search interest index ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนั้นอยู่ที่ 93 คะแนน

งานออนไลน์เซลกระตุ้นความสนใจของคนไทยต่อการช้อปออนไลน์

ในปี 2017 ที่ผ่านมายังมีเทศกาลออนไลน์เซลที่ร้านค้าชื่อดังนำมาใช้ในการกระตุ้นยอดขายกันอีกมากมาย เช่น งาน 5th Lazada Birthday Sale ซึ่งจัดขึ้นทุกปีและปีนี้ก็เป็นปีที่ 5 แล้ว โดยปีนี้จัดขึ้นตรงกับวันที่ 21-23 มีนาคม ทำให้มีการค้นหาชื่อร้าน Lazada ในช่วงเทศกาลดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ

เทศกาล Carnival Summer Sale เป็นงานที่ทางห้าง Central จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขายระหว่างวันที่ 1-12 เมษายนที่ห้าง Central World นั้น ไม่เพียงแต่ได้รับความสนใจจากผู้คนที่เดินเท้าเข้าไปช้อปกระจายกันในห้าง แต่ยังพบว่าคนในโลกออนไลน์ให้ความสนใจต่อร้านค้า Central Online ในช่วงนี้เช่นกัน โดยดัชนี search interest index ของร้านค้า Central Online ในช่วงต้นเดือนเมษายนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 23 คะแนน ขณะที่ค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาปกติอยู่ที่ 18 คะแนนเท่านั้น

อีกหนึ่งร้านค้าออนไลน์ชื่อดังอย่าง Shopee ก็ได้มีการจัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายเช่นกันในวันที่ 9 เดือนกันยายนภายใต้แคมเปญ 9.9 Mobile Shopping Day ซึ่งนำดาราดังอย่างณเดชน์ คูกิมิยะและอุรัสยา สเปอร์บันด์มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Shopee เพื่อเรียกความสนใจจากเทศกาลออนไลน์ดังกล่าว คนไทยหันมาให้ความสนใจร้านค้า Shopee มากขึ้น เห็นได้จาก search interest index ในเดือนสิงหาคมจนถึงปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา

5 สุดยอดแอพฯ แหล่งช้อปปิ้งออนไลน์ประจำปี 2017

ในปี 2017, 90% ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจากทางสมาร์ทโฟน กล่าวคือสมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญแทนที่คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนช่วยให้คนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ดังนั้นร้านค้าออนไลน์ในโลก E-Commerce ที่เล็งเห็นถึงเทรนด์ที่เปลี่ยนไปนี้ ได้หันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นซื้อขายสินค้าออนไลน์เพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าในอนาคต

จากการศึกษาพบว่าในปี 2017 ที่ผ่านมา แอพฯ สำหรับการช้อปออนไลน์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงแย่งชิงตำแหน่งกันอย่างเข้มข้น โดยผลการศึกษาแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ App Store และ Google Play

Shopee ขึ้นนำ Lazada ใน App Store

การแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่าง  Lazada และ Shopee โดย Shopee เป็นร้านค้าที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบแอพฯ ให้ง่ายต่อการใช้งานของผู้บริโภคสามารถขึ้นมาเป็นที่หนึ่งบน App Store ตั้งแต่ไตรมาสที่สอง ของปีนี้ ทิ้ง Lazada ให้เป็นรองอันดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามผู้นำตลาดอย่าง Lazada ยังคงครองแชมป์ใน Google Play อย่างแข็งแกร่ง และเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าในปี 2018 นี้ Shopee จะงัดกลยุทธ์ไหนออกมาโค่นแชมป์ลง

Chilindo ขึ้นชิงตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง

ร้านขายสินค้าออนไลน์ Chilindo ที่ขายสินค้าในรูปแบบการประมูล ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นที่จับตามองในสื่อต่าง ๆ มากนัก แต่จากผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นแล้วว่า Chilindo เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอีกรายหนึ่ง โดยมีการไต่ตำแหน่งขึ้นอย่างสม่ำเสมอทั้งใน App Store และ Google Play โดยในปัจจุบัน Chilindo ครองตำแหน่งอยู่อันดับ 3 ในทั้งสองแพลตฟอร์ม

Aliexpress คู่แข่งรายใหม่ที่ค่อนข้างน่ากลัว

คนไทยอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อแอพฯ หรือเว็บไซต์ Aliexpress กันมากนัก แต่ถ้าหากพูดถึง Alibaba ที่เป็นบริษัทแม่ของ Aliexpress เชื่อว่าหลาย ๆ คนต้องรู้จักแน่นอน โดยเจ้าแอพฯ Aliexpress เป็นเสมือนม้ามืดที่เข้าตำแหน่งที่ 5 ทั้งที่แอพฯ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เนื่องจาก Aliexpress มีเวอร์ชั่นภาษาไทยจึงทำให้ง่ายต่อการช้อปสินค้าของคนไทยที่นิยมซื้อสินค้าจากประเทศจีน  จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในปีหน้านี้ว่า Aliexpress จะสามารถขึ้นครองใจคนไทยได้ถึงตำแหน่งไหน

คู่แข่งที่น่าสนใจ

ร้าน Pomelo ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าประเภทแฟชั่นนั้นได้ติดอันดับ 4 ในไตรมาสที่สามของ App Store เนื่องจาก Pomelo เพิ่งเข้ามาพัฒนาแอพฯอย่างจริงจังจึงทำให้ Pomelo สามารถติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องพ่ายให้กับเจ้าเก๋าอย่าง Konvy และ Aliexpress ในไตรมาสสุดท้ายของปี

อีกหนึ่งรายที่น่าจับตามองก็คือ 11 Street ที่มีการอัดเงินทุนโปรโมทแบรนด์อย่างหนักในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนแอพฯติดอันดับที่ 3 ทั้งใน App Store และ Google Play แต่ในช่วงครึ่งปีหลังนั้น 11 Street ก็ต้องหล่นจากท็อป 5 ใน App Store และลงเป็นอันดับที่ 4 บน Google Play

5 ร้านค้า E-Commerce ที่มียอดโซเชียลมีเดีย (Facebook) สูงสุดประจำปี 2017

จากการศึกษาร่วมกับบริษัท Socialbakers ซึ่งเป็นผู้นำในด้านโซเชียลมีเดียพบว่า ในปี 2017 มีรายชื่อร้านค้าออนไลน์ที่ติดอันดับยอดผู้ติดตามบน Facebook สูงสุดดังต่อไปนี้

อันดับที่หนึ่ง คงหนีไม่พ้นยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada ที่มีการใช้กลยุทธ์แบบ regional strategy คือการรวมเพจของทุกประเทศเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ดี Lazada Thailand ก็ยังเป็นที่หนึ่งนำแฟนเพจร้านช้อปปิ้งออนไลน์อื่น ๆ ในประเทศไทย สาเหตุมาจาก Lazada นั้นใช้ Facebook เป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยกระตุ้นยอดขาย ไม่ว่าจะเป็นการไลฟ์สดขายสินค้า, การโปรโมทเทศกาลออนไลน์ต่าง ๆ, การนำเสนอส่วนลดและสินค้าลดราคาแบบ Flash Sale นี่จึงเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดคนให้มากดไลค์ให้เพจ Lazada เพื่อติดตามดีลดี ๆ นั่นเอง

ส่วนแฟนเพจของ Chilindo นั้นมีการโปรโมทที่แอ็กทีฟกว่าเพจอื่น ๆ กล่าวคือมีการโพสต์รูปภาพและวิดีโอที่น่าสนใจ เช่น การนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ ที่กำลังเป็นกระแสหรือการใช้เกมสร้าง engagement กับลูกเพจ อีกทั้ง Chilindo ยังเข้าใจถึงความตลกและขี้เล่นของคนไทย ในปีที่ผ่านมาจึงมีโพสต์ขำ ๆ มาให้ลูกเพจได้ร่วมแสดงความเห็นอยู่เสมอ

อีกหนึ่งแฟนเพจที่น่าจับตามองที่สุดก็คือ We Mall ซึ่งมีการสร้างจุดเด่นเป็นร้านขายสินค้าออนไลน์แบรนด์เนมแห่งแรกในประเทศไทย กล่าวคือ We Mall จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักช้อปออนไลน์ที่ชื่นชอบแบรนด์เนม และความสะดวกสบายในโลกยุคดิจิทัลด้วยรูปแบบการโปรโมทสินค้าแบรนด์เนมอย่างต่อเนื่องบน Facebook จึงทำให้คนไทยเชื่อว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพจาก We Mall

ไฮไลท์เหตุการณ์ประจำปี 2017

E-Commerce ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตขึ้นทุกปี และในปี 2017 ยังมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจที่เป็นไฮไลท์เด่น ๆ มากมาย ที่ทำให้ปีนี้ เป็นอีกปีหนึ่งที่ขับเคลื่อน E-Commerce ของประเทศไทยไปข้างหน้า

การขยายตัวของ Central

เป็นข่าวครึกโครมจนสะเทือนวงการธุรกิจ E-Commerce ของเอเชียกับการจับมือระหว่าง Central และ JD.com เพื่อผันตัวเองเข้าสู่ Cyber Trade พร้อมควักเงินทุนลงไปอีก 17,500 ล้านบาท เพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจ B2C และธุรกิจ B2B ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์เพราะ JD.com ก็ตั้งเป้าขยายอนาเขตให้ครอบคลุมทุกประเทศในอาเซียนเช่นกัน แต่คงต้องผ่านคู่แข่งอย่าง Lazada ที่มีเงินสนับสนุนจาก Alibaba ก่อน นอกจากการผนึกกำลังกับ JD.com แล้ว ปี 2017 ยังถือเป็นปีที่ Central ขยายธุรกิจอีกผ่านหลายข่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อ Zalora แล้วเปลี่ยนเป็น Looksi ในไทย แถมยังเป็นแหล่งเงินทุนกับธุรกิจ E-Commerce ชื่อดังมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Pomelo ร้านค้าแฟชั่นที่หลายคนรู้จัก

ETDA สนับสนุนคนไทยโตด้วย E-Commerce

ETDA หรือ สพธอ จัดงาน ‘Online! Shall We Go... วิ่งให้ทันโอกาส เพราะตลาด E-Commerce ไม่รอใคร’ ขึ้นเมื่อวันที่ 24-26 พฤศจิกายน ภายในงานมีการให้ความรู้ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ทางการตลาดมากมาย อาทิ การจัดบูทรวมบริการ E-Commerce เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสร้างคอนเนคชั่น และนำไอเดียไปต่อยอดธุรกิจของตนเอง, สัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ E-Commerce ทั้งไทย-เทศ พร้อมเทรนด์การตลาดรูปแบบใหม่ และ Work Shop เทคนิคการขายที่แฝงกลเม็ดเคล็ดลับดี ๆ ที่สามารถใช้งานได้จริง กิจกรรมทั้งหมดนี้ทาง ETDA เพื่อเสริมให้ธุรกิจ E-Commerce ของไทยแข็งแกร่ง และเจริญเติบโตกว่าเดิม

11 Street เจาะตลาดในไทยอย่างเป็นทางการ

หลังจากประสบความสำเร็จในเกาหลีใต้, มาเลเซีย, ตุรกี และอินโดนีเซีย ล่าสุด 11 Street ได้เลือกประเทศไทยเป็นสาขาที่ 5 อย่างเต็มตัว พร้อมแผนเปิด 11 Street Campus เพื่อช่วยเหลือควบคู่ไปกับการสนับสนุนผู้ค้าด้วยบริการด้านการเรียนรู้และการอบรมผ่านบริการต่าง ๆ เช่น สตูดิโอถ่ายภาพสินค้าที่มีเทคโนโลยีครบครัน

การที่ 11 Street เลือกประเทศไทยเป็นกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ 11 Street ต้องแข่งขันกับ E-Commerce ทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติที่มีเงินสนับสนุนมาก เห็นได้ชัดจากการที่ผู้บริหารเริ่มวางกลยุทธ์ทางการตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมวางแผนโปรโมทอย่างต่อเนื่อง แต่จากประสบการณ์ที่สร้างสมมานานในต่างแดน คาดว่าคงไม่ยากเกินกำลังของ 11 Street ถึงแม้จะมีข่าว SK Planet บริษัทแม่ของ 11 Street ถอนธุรกิจจากอินโดนีเซียโดยการ Joint Venture กว่า 50% กับบริษัท Elevenia และอาจตามมาเลิกกิจการ 11 Street ในไทย แต่มันก็เป็นข่าวลือ เพราะทาง SK Planet ออกมาแถลงแล้วว่าไม่เป็นความจริง พร้อมยืนยันว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ธุรกิจ E-Commerce กำลังเติบโต จึงไม่มีแพลนถอนทุนออกแน่นอน และยังมุ่งร่วมสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับร้านค้าในประเทศไทยต่อไป และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา 11 Street เพิ่งได้มีการจับมือกับ True Shopping ร้านขายของใช้ภายในบ้านชื่อดังในการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม

คุมเข้มภาษี e-Business แต่ไม่เพิ่มภาษี E-Commerce

แม้ผู้ประกอบการ E-Commerce จะไม่ต้องเสียภาษีเทียบเท่ากับการค้าทั่วไป แต่กลับมีช่องโหว่จนทำให้เกิดความอยุติธรรม ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อความเท่าเทียมรัฐบาลจึงมีการถกเถียง และออกนโยบายให้มีการเรียกเก็บภาษี e-Business เพื่อกันปัญหานักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำการค้าผูกขาดในไทย ซึ่งข้อถกเถียงนี้ยังไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ คาดว่าไม่เกินกลางปี 2018 คงได้เห็นข้อกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่นั้นคงต้องรอขณะกรรมการสรุปให้ทราบอีกครั้ง

และปี 2017 ก็เป็นอีกปีหนึ่งที่มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมายในตลาด E-Commerce ของไทย โดยมีอัตราการเติบโตขึ้นจากปีที่แล้วถึง 9.86%  ยิ่งถ้าเจ้าไหนทำการตลาดแบบ Micro-Moments ที่สนองตอบความต้องการของลูกค้าที่อยากซื้อสินค้าทันที ยิ่งจับกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ได้อยู่หมัด แต่ใจความสำคัญของการช้อปออนไลน์ไม่ได้อยู่ที่สินค้าเพียงอย่างเดียว ระบบ Delivery และ e-payment ก็สำคัญ ดังนั้นในปี 2018 ที่จะถึงจึงเป็นอีกปีที่น่าจับตามองว่าตลาด E-Commerce ในประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใด และมีผู้แข่งขันหรือบริการใดที่จะเข้ามาเสริมให้ตลาด E-Commerce ของไทยแข็งแกร่งขึ้นจนเติบโตเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ภายในปี 2025 นี้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...