สงคราม E-commerce ใน SEA ปะทะเดือด ใครชิงบัลลังก์ประจำภูมิภาคอยู่ในขณะนี้ | Techsauce

สงคราม E-commerce ใน SEA ปะทะเดือด ใครชิงบัลลังก์ประจำภูมิภาคอยู่ในขณะนี้

ในยุคที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตครอบคลุมไปทั่วโลก นานาธุรกิจแปลกใหม่ก็ต่างผุดขึ้นมาเผยโฉมให้เห็นกันมากมาย ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่เป็นเครื่องยืนยันว่าเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคการค้าขายไร้พรมแดนอย่างแท้จริงแล้วก็คือ ‘ธุรกิจ E-commerce’ ที่ดูจะเจริญเติบโตแตกกิ่งก้านสาขาอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำลังมีการแข่งขันแย่งชิงบัลลังก์ราชาแห่งร้านค้ากันอย่างดุเดือด แน่นอนว่านอกเหนือจากร้านค้าชื่อคุ้นหูอย่าง ‘Lazada (ลาซาด้า)’ และ ‘Shopee (ช้อปปี้)’ แล้ว ในแต่ละไตรมาสก็จะมีร้านค้าน้องใหม่ทั้งในและนอกประเทศที่ต่างก็คอยตบเท้าเข้ามาร่วมชิงบัลลังก์กันให้เห็นกันอยู่เสมอ ดังนั้น iPrice แหล่งช้อปปิ้งเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ประจำภูมิภาคนี้จึงอดไม่ได้ที่จะคอยเป็นผู้รายงานผลของสงคราม E-commerce ใน SEA ให้เห็นกันแบบจะ ๆ ในทุก ๆ ไตรมาส ซึ่งดูเหมือนว่าดีกรีความเข้มข้นจะมากขึ้นเรื่อย ๆ มาดูกันดีกว่าว่า ไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 นี้ เจ้าไหนรุกเจ้าไหนรับกันแน่!

อัพเดตศึกช้างชนช้างระหว่าง Lazada VS Shopee

แม้ Lazada จะเป็นร้านค้า E-commerce ยักษ์ใหญ่ที่เปิดตัวมานานจนชื่อเสียงติดปากนักช้อปกันถ้วนหน้า แต่ Shopee ก็เป็นร้านค้าที่ช่วยพิสูจน์สำนวนไทยที่ว่า ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น’ ได้เป็นอย่างดี เพราะปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Shopee ถือเป็นร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่มีผู้เข้าชมสินค้ามากที่สุด แซงหน้า Lazada ไปเมื่อไตรมาสที่ 1 ปี 2019 นี้เอง หากมองย้อนลงไปหนึ่งปีก่อนหน้านี้จะเห็นความพยายามที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ของ Shopee ที่พยายามก้าวขึ้นมากระทบไหล่กับ Lazada ความบากบั่นนี้เริ่มเห็นผลลัพธ์ชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2018 ที่ Lazada มีจำนวนผู้เข้าชมสินค้าเกือบ 200 ล้านคน ในขณะที่ Shopee ทิ้งห่างอยู่ประมาณ 20 ล้านคน แต่ก็ตามมาก้าวแซงหน้าได้เล็กน้อยในไตรมาสที่ 1 ปี 2019 และนำหน้าอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่ 2 ปี 2019 รวมไปถึงจำนวนการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่ Shopee ขึ้นเป็นอันดับที่ 1 ถึง 5:6 ประเทศในภูมิภาค (Lazada ครองอันดับที่ 1 ในประเทศไทยเท่านั้น) ปรากฎการณ์แซงหน้าของ Shopee นี้ หาก Lazada ยังไม่มีแผนเด็ดมาทวงบัลลังก์คืน คาดว่าอาจเสียแชมป์ไปอย่างกู่ไม่กลับก็เป็นได้ งานนี้คงต้องวัดกันที่ครึ่งปีหลังของปี 2019 นี้ ว่า Lazada จะกลับมาทำให้เกมพลิกได้หรือไม่

JD Central ชิงส่วนแบ่งการตลาดในไทยได้อย่างสง่างาม

ไม่ง่ายเลยที่ร้านค้า E-commerce หน้าใหม่จะก้าวขึ้นมาติดอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคได้ในเวลาอันสั้น แต่ไม่ใช่กับ JD Central ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 (ไตรมาสที่ 2) แต่กลับเป็นร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่มีผู้เข้าชมสินค้าติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศไทย ถ้านับกันดี ๆ แล้วร้านค้านี้เพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบหนึ่งปีไปเองด้วยซ้ำ! ยังไม่รวมการครองอันดับที่ 4 (ประเทศไทย) ของแอปพลิเคชั่นที่มีผู้ใช้งานรายเดือนสูงสุดอีกด้วย (Monthly Active User) ดูเหมือนความสำเร็จจะอยู่ภายใต้การคุมบังเหียนของ JD.com ที่เลือกจับมือกับเจ้าของห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่อย่าง Central ในไทย ยังไม่นับ JD.ID (ติดอันดับที่ 5 ในประเทศอินโดนีเซีย) และการมอบเงินระดมทุนให้กับ Tiki (ติดอันดับที่ 3 ในประเทศเวียดนาม)

11 Street ปิดตัวลงถึงสองประเทศ

ดูเหมือนว่าพักหลัง ๆ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ร้านค้าสัญชาติเกาหลีนาม 11 Street ดูจะไม่ค่อยมีบทบาทในสงครามอีคอมเมิร์ซสักเท่าไหร่ แล้วก็มาถึงจุดแตกหักที่ต้องถอยทัพกลับไปบ้านเกิด ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นถึงสองประเทศในเวลาไล่เลี่ยกัน เริ่มจากประเทศไทยที่ 11 Street ประกาศอำลาวงการด้วยการขายหุ้นให้เจ้าของกิจการเอเจนซี่ดูแลคอนเสิร์ตและศิลปินเกาหลีที่เข้ามาแสดงในไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น 411 estore รวมไปถึงการขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อครอบคลุมความต้องการของติ่งเกาหลีในไทยมากขึ้น และอีกหนึ่งตลาด E-commerce ที่ร้านค้านี้ต้องโบกมือลาเช่นกันคือ ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น PrestoMall แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มาพร้อม eWallet ช่องทางชำระเงินที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้อยู่หมัด เหตุการณ์การถอนตัวของ 11 Street นับเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า สงคราม E-commerce ที่เข้มข้นเรื่อย ๆ นี้ ไม่ใช่ว่าปลาใหญ่กินปลาเล็กเท่านั้น แต่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนร่วมของสงคราม และถอนตัวออกไปได้ทั้งนั้น ไม่ว่าเจ้าใหญ่หรือเจ้าเล็ก ของอย่างนี้ขึ้นอยู่กับการวางแผนทางการตลาดล้วน ๆ

E-commerce สาย ‘Electronic’ มาแรง ดัน ‘Chilindo’ ตกอันดับในไทย

หากไม่นับ Lazada และ Shopee ที่มักจะแย่งกันเป็นอันดับ 1-2 แล้ว ในประเทศไทยดูเหมือนร้านค้าอีคอมเมิร์ซสายอิเล็กทรอนิกส์จะมาแรงในปัจจุบัน (ไตรมาสที่ 2 ปี 2019) เพราะร้านค้าที่ติดอันดับ 3 ใน 5 คือ Notebook Space, JIB และ Advice ซึ่งตามหลังเพียง Lazada และ Shopee เท่านั้น อีกหนึ่งไฮไลท์ที่น่าสนใจคือ ‘Chilindo’ ร้านค้า E-commerce แบบประมูลสินค้าที่มักจะครองอันดับ 3 มาตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2018 กลับถูกดันตกไปเป็นอันดับที่ 6 ตามหลังสามร้านค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้างต้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2019 นี้

ในครึ่งปีแรก 2018 VS 2019 ตลาด E-commerce ประเทศไหนออกตัวได้ ‘ดุ’ กว่ากัน

หากพูดถึงตลาด E-commerce ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหล่าประเทศที่เป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนเห็นจะได้แก่ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ และไทย ในโลกธุรกิจการเปิดตัวแรงตั้งแต่ 1-2 ไตรมาสแรกดูจะเพิ่มแต้มต่อได้ดี ทีนี้หากลองนำจำนวนผู้เข้าชมสินค้า (Traffic) ของร้านค้าอีคอมเมิร์ซ 10 อันดับแรกในแต่ละประเทศมาวิเคราะห์กันจะเห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจนว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไหนเปิดตัวได้ ‘ดุ’ ที่สุด ดังนี้

  • อินโดนีเซีย: ตลาด E-commerce ที่หากวัดกันที่จำนวนประชากรดูจะชนะขาดลอยไปเลย มากไปกว่านั้นยังเป็นประเทศที่มีกลยุทธิ์ทางการตลาดเหนือชั้นเป็นอันดับที่ 1 เห็นได้จากการเปรียบเทียบระหว่างครึ่งปีแรก 2018 VS 2019 ที่มีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์เพิ่มขึ้นถึง 14%
  • เวียดนาม: อีกหนึ่งตลาด E-commerce ที่เปิดตัวได้ ‘ดุ’ เป็นอันดับที่ 2 จากการมีผู้เข้าชมเว็บไซต์เพิ่มขึ้น 11% ซึ่งนอกจากตลาดอินโดนีเซียแล้ว เวียดนามดูจะเป็นประเทศที่มีกลยุทธิ์การดำเนินธุรกิจที่ดี ต่างจากอีก 4 ประเทศที่เหลือ ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์น้อยลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2018
  • ไทย: แม้จะเป็นตลาด E-commerce ที่จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์น้อยลงจากครึ่งปีแรก 2018 แต่ก็ลดลงเพียง 5% เท่านั้น เมื่อเทียบกับอีกสามประเทศที่เหลือซึ่งลดลงเป็นถึงตัวเลขสองหลัก นับว่าไทยเป็นตลาด E-commerce ขนาดกลางที่ต้องคอยรอลุ้นว่าในอนาคตจะโตขึ้นหรือเล็กลงกันแน่
  • มาเลเซีย: ประเทศที่ถูกเรียกว่า ‘English country’ ทำให้มีจำนวนนักลงทุนเข้าไปเปิดธุรกิจสตาร์ทอัพ และ E-commerce น้อยใหญ่กันเนื่องแน่น แต่กลยุทธิ์ทางการตลาดกลับมีประสิทธิภาพลดลงกว่าครึ่งปีแรกปี 2018 ทำให้จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ลดลงถึง 33% มากที่สุดในบรรดา 6 ประเทศ
  • ฟิลิปปินส์: อีกหนึ่ง ‘English Country’ แต่มีจำนวนนักลงทุนเข้าไปประกอบธุรกิจไม่มากเท่ามาเลเซีย ในด้านตลาด E-commerce ก็มีจุดโดดเด่นไม่เยอะ ร้านค้าดัง ๆ ส่วนใหญ่จะมาจากภายนอก ซึ่งมีเพียง Argomall เท่านั้นที่มีสัญชาติฟิลิปปินส์ติดอยู่ในอันดับที่ 5 ของจำนวนร้านค้า E-commerce ทั้งหมด (ในฟิลิปปินส์) มีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ลดลง 29% จากครึ่งปีแรก 2018
  • สิงคโปร์: ประเทศเกาะเล็ก ๆ ที่มีจำนวนประชากรไม่มาก แต่กำลังซื้อสินค้า E-commerce เรียกได้ว่าดูแคลนไม่ได้ มีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ลดลง 20% เมื่อเปรียบเทียบจากครึ่งปีแรก 2018

แต่ก็ใช่ว่าทั้ง 5 ไฮไลท์ที่เราหยิบยกมารายงานจะเป็นบทสรุปของการแข่งขัน เพราะดูเหมือนว่าในไตรมาสที่ 3 2019 ที่กำลังมาถึงในอีกไม่ช้านี้ ร้านค้า E-commerce ทั้งหลายก็ต่างเตรียมงัดไม้เด็ดเป็นโปรโมชั่นฮอต ๆ และส่วนลดหนัก ๆ มาปูทางเพื่อก้าวเข้าสู่ไตรมาสที่ 4 2019 อันจะตามมาด้วยเทศกาล 11.11 Sale, 12.12 Sale และ Black Friday สามอีเว้นท์ E-commerce ยักษ์ใหญ่ส่งท้ายปี งานนี้สำนวนไทยที่ว่า ‘สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร’ ที่แปลให้เหมาะสมกับเกมการแข่งขันนี้ดีที่สุดก็คือ หากร้านค้าไหนยังไม่ชักธงขาวโบกมือยอมแพ้ เราก็ยังไม่รู้กันแน่ชัดหรอกว่าใครกันแน่ที่เป็นราชาร้านค้า E-commerce ตัวจริง เสียงจริง กันแน่!

เขียน และวิเคราะห์โดย ขนิษฐา สาสะกุล

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึก Semiconductor ทำไมทุกประเทศต้องแย่งชิง?

ในบทความนี้ Techsauce จะพาไปสำรวจ Semiconductor เทคโนโลยีที่อยู่ทุกที่ ตั้งแต่สมาร์ทโฟนถึง AI ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญหรือผลกระทบต่อโลกอย่างไร ไปทำความรู้จักกัน!...

Responsive image

อินเดียทะยานสู่ $25 ล้านล้าน กับเส้นทางเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนด้วย Digital Supercycle

การเดินทางของอินเดียในฐานะเศรษฐกิจเกิดใหม่ กำลังมุ่งหน้าไปยังเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม จากเป้าหมายเศรษฐกิจมูลค่า 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สู่วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบรรลุ 25 ล้านล้า...

Responsive image

ควอมตัมคอมพิวติ้งกับการปฏิวัติการเงิน โอกาสทอง หรือหายนะ ? ส่องแนวคิดจาก HSBC, Visa และผู้เชี่ยวชาญ

เทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Computing) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะในตอนนี้ควอนคัมกำลังมีบทบาทสำคัญในทุกวงการแม้กระทั่งวงการเงินที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ผ่านงาน Singapore Fintech F...