ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามสำหรับอีเวนต์ EARTH JUMP 2023: New Frontier of Growth งานสัมมนาสุดยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้น ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2023 โดยงานนี้ได้รับเกียรติจาก วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้นำและผู้บริหารแถวหน้าจากภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมเผยสถานการณ์ปัจจุบันในด้านต่างๆ วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ แนวทางในภาคปฏิบัติ ตลอดจน ข้อมูล (Data) สำคัญที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานเข้าใจโลกที่เปลี่ยนไปมากขึ้น
เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ต้องเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วกำหนดแผน ลงมือทำ เปลี่ยนพฤติกรรมคนในองค์กรและผู้บริโภค รวมถึงเพิ่มโอกาสการลงทุนสำหรับผู้ที่ต้องการลดผลกระทบจาก Climate Change ร่วมกับการมองหาโอกาสใหม่เพื่อทำธุรกิจในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง
- 1 -
Key Messages หลักจากงาน EARTH JUMP 2023: New Frontier of Growth
ทีมเทคซอสนำ Key Messages หลักจากห้อง New Frontier ที่นำเสนอภาพใหญ่ของการดำเนินการขององค์กรต่างๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม ทิศทางการดำเนินการด้านความยั่งยืนและ ESG ซึ่งนอกจากเปิดเวทีให้ภาคธุรกิจทั้งไทยและเทศ ยังมีผู้ดำเนินงานด้านนโยบาย และผู้มีบทบาทสำคัญในตลาดเงินตลาดทุน มาร่วมเผยภาพรวม แนวคิดและแนวปฏิบัติต่างๆ โดย Messages บางส่วนที่ทีมเทคซอสนำมาฝากผู้อ่าน มีดังนี้
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จากปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ : The Blue Planet Needs Us Now
- ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยไปสู่ Net Zero Emissions โดยมีการปรับเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมด้วย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก และประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจาก Climate Change เป็นลำดับที่ 9 จาก 200 ประเทศทั่วโลก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงทบทวนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ได้แก่ พลังงาน การคมนาคม การจัดการขยะและน้ำเสีย และการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย NDC (ปี 2030) ที่ประเทศไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 30-40 ภายในปี 2030 และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจาก 388 ล้านตัน เหลือ 120 ล้านตัน ภายในปี 2065
- การปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ก้าวสู่สถานะ Low-Carbon หรือการทำธุรกิจที่คำนึงถึง ESG จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น อย่าคิดว่าการสร้าง ‘ความยั่งยืน’ เป็นภาระ การทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainability) เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะจะทำให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยอย่าคิดว่าความยั่งยืนเป็นภาระและทำให้เสียเงินเพิ่มขึ้น แต่ให้ปรับความคิดว่า เป็นเม็ดเงินที่จะทำให้เกิด ‘การเพิ่มมูลค่า’ ซึ่งจะทำให้เราได้เงินมากขึ้น
- ในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายใต้โครงการ T-VER มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้วประมาณ 2 ล้านตัน เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศด้วยความสมัครใจ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) จึงพัฒนา T-VER โครงการลดก๊าซเรือนกระจกขึ้น โดยปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น เรียกว่า คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่ตัวบุคคลหรือองค์กรก็สามารถนำไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้ โดยปัจจุบันมีบริษัทที่เข้ารับการประเมินเรื่องการลดการปล่อนคาร์บอนมากกว่า 144 โครงการ และจากข้อมูลล่าสุด มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยแล้วราว 2 ล้านตัน คิดเป็นเงินกว่า 154 ล้านบาท
- เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ผ่านการขาย Carbon Credit ไร่ละ 500-600 บาทต่อปี ดังนั้น ยิ่งขยายตลาดคาร์บอนเครดิตเพิ่ม เกษตรกร ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดคาร์บอนก็สามารถมีรายได้เพิ่ม ปัจจุบันตลาด Carbon Credit ในประเทศไทยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas : GHG) ที่ได้รับการรับรองประมาณ 14 ล้านตัน ทำให้เห็นว่า คาร์บอนเครดิตสามารถสร้างรายได้จากการเชื่อมโยงกันในด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงระดับนานาชาติ จึงวางแผนที่จะขยายผลไปยัง 27 จังหวัด
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
จากปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ : Sustainability is the License to Grow
- Sustainability ถือเป็น License to Grow หรือใบอนุญาตสำคัญที่ทำให้ธุรกิจมีสิทธิเติบโตในระยะยาวอย่างแท้จริง หากใครยังมองว่าความยั่งยืนเป็นภาระที่ต้องจ่ายและรอได้ ต้องรีบมองใหม่ เพราะแท้จริงแล้ว ความยั่งยืนเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้มากมาย
- 4P - Planet, Peace, People, Prosperity คือปัญหา 4 กลุ่มที่ท้าทายและฉุดรั้งการพัฒนาประเทศในอนาคต Planet โลกของเราร้อนขึ้น เกิดภัยพิบัติและความเสียหายไปทั่วโลก, Peace ความขัดแย้งของโลก 2 ขั้วชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าความขัดแย้งในทะเลจีนใต้และเมียนมาร์จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ, People สังคมไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ผู้สูงอายุส่วนมากจะพึ่งตัวเองไม่ได้ เงินไม่พอใช้ มีปัญหาสุขภาพจิต ทั้งยังมีอัตราการเกิดลดลง ครอบครัวแหว่งกลาง คนรุ่นใหม่จะต้องแบกภาระหนักและงานของพวกเขาอาจถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี และ Prosperity ช่องว่างด้านรายได้เพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำขยายตัวกว้างขึ้น ประชากรไทย 33 ล้านคน จัดอยู่ในกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง เดือดร้อนทั้งด้านรายได้ ที่อยู่อาศัย
- 3 ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ภาคเอกชนต้องหันมาทำเรื่อง ESG มากขึ้น คือ 1. ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด 2. กฎเกณฑ์กติกา และมาตรฐานใหม่ ๆ เป็นตัวผลักดัน 3. ประเทศต่างๆ มีความต้องการ (demand) ในเรื่อง ESG เพิ่มขึ้น
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย
จากปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ : Thinking ESG, Unlocking Sustainability Business Mindset
- สำหรับภาคธุรกิจ ‘ความยั่งยืน’ มองได้ 2 มุม คือ เป็นได้ทั้ง Treats และ Opportunities ในมุม Treats หมายถึง การที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวตามแนวทาง ESG, Climate Action, Sustainability ได้ทันตามเวลาและวิธีที่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปจากมาตรการ CBAM ซึ่งจะกระทบ SMEs และผู้ผลิตอีกมากมาย ส่วนในมุม Opportunities หากธุรกิจวางแผนและดำเนินการลดคาร์บอน ทำให้สอดคล้องกับแนวทาง ESG ก็จะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่เร่งปรับตัวได้ ดังที่รายงานของ McKinsey ระบุไว้ว่า มี 11 กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน เช่น ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจเกษตร ธุรกิจน้ำมันและก๊าซ หรือสรุปง่ายๆ ว่า ‘ถ้าทำได้เป็นโอกาส ถ้าทำไม่ได้เสียโอกาส’
- 95% ของผู้บริโภคพยายามปรับพฤติกรรมมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถุงผ้า การแยกขยะ การซื้อสินค้าที่ระบุว่าเป็น Green Product ลดการใช้ไฟฟ้า และในปีที่ผ่านมา มี VC ลงทุนใน Climate Tech เพิ่มขึ้น 89% รวมแล้ว 11.2 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า ในอีก 15 - 20 ปีข้างหน้า โลกของเราจะมี Decacorn หรือ ธุรกิจที่มีมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ขึ้นไป เกิดขึ้น 200 - 300 ราย แต่อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ทุกราย ภาคธุรกิจจึงควรมี ESG Mindset เพื่อให้เท่าทันการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน
- ปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิด ‘ธุรกิจที่ยั่งยืน’ ทำได้ด้วยการปรับ Mindset 8 ด้าน
- Lead With Game-Changing Ambition ปรับเปลี่ยน Mindset โดยต้องคิดใหม่ ท้าทายตัวเองเพื่อทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น
- Secure a Cost Advantage เรื่องต้นทุน ต้องทำให้ถูก ต้องได้เปรียบ เพราะเรื่องความยั่งยืนจะมีคนพร้อมจ่ายมากกว่า ดังนั้น การทำธุรกิจต้องอยู่ในระดับที่แข่งขันได้
- Sign Up Captive Demand Before Scaling ร่วมพัฒนาและทำงานไปกับองค์กรที่มีเป้าหมายเดียวกัน ทั้งลูกค้า คู่ค้า และคอมมูนิตี และถามลูกค้าว่า อยากได้สินค้าแบบไหน ให้พัฒนาแบบนั้น เพื่อให้เกิด Secure Demand กล่าวคือ ผลิตแล้วมีคนซื้อ
- Build Capacity With Parallel Scaling ถ้าทำสำเร็จต้องพร้อมที่จะสเกลได้
- Proactively Create Business Ecosystem ต้องทำงานร่วมเป็นระบบนิเวศ ทุกฝ่ายทั้งในห่วงโซ่คุณค่าและคอมมูนิตี
- Lead On Sustainable Operations ผู้นำต้องกำหนดนโยบายชัดเจนเพื่อวางแผนหรือแนวทางปฏิบัติให้ทีมงานก้าวไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน
- Dedicate Recruiting Resource Early ดึงคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนมาเข้าร่วมทำงานให้เร็ว เพราะอีกหน่อยจะขาดแคลนแรงงานด้านนี้มากขึ้น
- Low-Cost Financing เรื่องการเงิน ไม่ควรมองแค่ดอกเบี้ยถูก แต่ต้องวางแผนการเงินให้ดี มีเงินทุนหรือสินเชื่อที่เหมาะกับ Stage ของธุรกิจ
- จากข้อมูลส่วนใหญ่พบว่า Climate Finance ไม่สมดุล โดยมักจะกระจุกตัวอยู่ที่อเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และจีน ในฐานะที่กสิกรไทยเป็น Bank of Sustainability จึงมี KBank ESG Strategy 2023 ที่สนับสนุนภาคธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ยกตัวอย่างการสนับสนุนทางตรง - มี Green Finance สินเชื่อจำนวน 1-2 แสนล้านบาท สำหรับการกู้ยืมเพื่อธุรกิจสีเขียว, Beacon Impact Fund จัดสรรวงเงินเพื่อลงทุนด้านสตาร์ทอัพ ความยั่งยืน และ ESG จำนวน 1.2 พันล้านบาท ส่วนการสนับสนุนทางอ้อม กสิกรไทยจะเน้นสร้าง Motivate ให้เกิดธุรกิจและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ทั้งการให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจ รวมถึงบริการที่นอกเหนือจากการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้เร็วขึ้น เช่น โครงการ SolarPlus, โครงการ Watt’s Up , การจัดงาน Earth Jump 2023 ในครั้งนี้ เพื่อให้พวกเราสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดไปด้วยกันและทำให้โลกสวยงามขึ้น
ส่วนห้อง Planet & Innovation เป็นห้องที่ฉายภาพนวัตกรรมแห่งอนาคต เพื่อชี้ให้เห็นโอกาสทางธุรกิจอันเกิดจากการดำเนินงานที่คำนึงถึงความยั่งยืน ทั้งนวัตกรรมด้านพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึง Case Study แนวทางที่เลือกเดินเพื่อสร้างความยั่งยืนของบริษัทระดับโลก นำโดย
- Gustavo Fuchs | Regional Director, Solutions and Technology -Google Asia Pacific Pte. Ltd.
- David Li | CEO, Huawei Technologies (Thailand) Co., Ltd.
- Michael Chong | General Manager, Great Wall Motor (Thailand)
- นพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการลงทุน นวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ. บี กริม เพาเวอร์
- Max Song | CEO and Founder, Carbonbase
ในส่วนของ JUMP Startup Clinic พื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ทางธุรกิจซึ่งเปรียบได้กับคลินิกพิเศษที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘Designing New Growth Model towards Sustainability’ และกิจกรรมให้คำปรึกษา ‘STARTUP BUSINESS CLINIC’ ที่มีธุรกิจสตาร์ทอัพเข้ารับคำปรึกษาในงานกว่า 100 ราย โดยได้องค์กรชั้นนำอย่าง McKinsey & Company, Baker & McKenzie และ Beacon Venture Capital มาร่วมแนะกลยุทธ์ ชี้แนวทางลดอุปสรรคให้แก่ผู้ประกอบการ/สตาร์ทอัพที่มาขอคำปรึกษาได้อย่างตรงจุด
- 2 -
สรุปการลดการปล่อยคาร์บอนจากงานสัมมนา
และด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของธนาคารกสิกรไทยที่ต้องการจัดงานสัมมนาอย่างยั่งยืน จึงดำเนินงานร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในการจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ อาทิ
- การเลือกสถานที่จัดงาน - อยู่ในจุดที่ผู้เข้าร่วมงานสามารถเลือกวิธีเดินทางได้อย่างหลากหลาย มีระบบขนส่งสาธารณะหลายประเภทให้เลือก ซึ่งช่วยลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล ส่งผลต่อการลดการปล่อยคาร์บอน
- การลงทะเบียน - เปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดการใช้กระดาษและระบุตัวตนของผู้เข้าร่วมงานด้วยริสต์แบนด์ที่พิมพ์ลงกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- การบริการอาหารและเครื่องดื่ม - ไม่มีการใช้อุปกรณ์และภาชนะพลาสติก โดยอาหารว่างทั้งหมดให้ใช้จาน ช้อน และส้อมที่ล้างแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วนน้ำดื่มให้บริการในลักษณะตู้กด มีแก้วน้ำให้ใช้ หรือนำภาชนะส่วนตัวมากดน้ำดื่มได้
- การจัดการขยะ ได้จัดเตรียมถังแยกประเภทขยะ 3 ถัง ตามจุดต่างๆ ได้แก่ ถังขยะเศษอาหาร, ถังขยะรีไซเคิล (ขวดพลาสติก แก้วน้ำพลาสติก กระป๋องอลูมิเนียม ริสต์แบนด์) และถังขยะทั่วไป (ถุงพลาสติก กระดาษทิชชู่) โดยขยะที่เกิดขึ้นภายในงานจะผ่านการคัดแยกและชั่งน้ำหนักเพื่อส่งคำนวณปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ต่อไป
กอปรกับความตระหนักรู้ในเรื่องความยั่งยืนของผู้เข้าร่วมงานสัมมนา ทำให้ EARTH JUMP 2023: New Frontier of Growth เป็นอีเวนต์ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral Event
- 3 -
ความจำเป็นที่ทั้งคนและองค์กรต้องตระหนักรู้เรื่อง Climate Change และต้องลงมือทำทันที
กฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวปิดท้ายงานสัมมนา EARTH JUMP 2023: New Frontier of Growth ทั้งในฐานะของประชากรโลกและในฐานะองค์กร โดยฝากให้ผู้เข้าร่วมงาน ผู้ประกอบการทุกระดับ นำไปขบคิดต่อว่า เราทำอะไรกับ Climate Change ได้บ้าง?
“ความเชื่อเป็นเรื่องสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของวิธี ถ้าเราทุกคนลุกขึ้นมาแปลงความเชื่อออกมาเป็น Action ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่สำคัญสุด แต่ถ้าการสัญญาว่าจะทำใน 5 ปี 10 ปี มันยาวเกินไป เราทำได้ไหม ‘การเปลี่ยนนิสัย’ ผมต้องใช้คำว่า ‘นิสัย’ เพราะในฐานะผู้บริโภคที่มีทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถ ซื้อบ้าน ซื้อนู่นซื้อนี่ ถ้าเรา ‘นำสมการในเรื่องของ Climate Change เข้ามาตัดสินใจ ผมคิดว่านิสัยในการตัดสินใจของเราจะเปลี่ยนแปลงไป’ บริษัทก็เช่นกัน ถ้าเราเอานิสัยในการตัดสินใจลงทุนโดยนำสมการของ Climate Change เข้ามาใส่ในการตัดสินใจ ว่าระหว่างทางเลือกนี้ รอ-ไม่รอ มีการเพิ่มทุนหน่อย หรือมีการตั้งฝ่ายวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในเรื่องของการทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง ผมคิดว่า ‘นิสัย’ ไม่ว่าจะในฐานะคนหนึ่งคน บริษัทหนึ่งบริษัท มันสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่สามารถแก้นิสัยได้ สิ่งนี้ก็จะวนกลับมาหาเรา”
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ตอกย้ำเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มธุรกิจ จากที่คุณขัตติยากล่าวไว้ในตอนต้นว่า เดินไม่พอแล้ว วิ่งไม่พอแล้ว ขอให้ช่วยกันกระโดด…กระโดดด้วยการจับมือกัน เพราะไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่มีบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่ง สามารถเดินไปได้เพียงลำพัง และไม่สามารถจะเดินไปโดยไม่จับมือกันได้ นอกจากนี้ งาน EARTH JUMP 2023 ที่ธนาคารกสิกรไทยจัดขึ้น เพื่อเป็น Catalyst หรือตัวกระตุ้นให้คนหมู่มากที่มาร่วมงาน ช่วยมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนจากความเชื่อที่ ‘เชื่อแล้ว’ ในเรื่อง Climate Change มาเป็น ‘สิ่งที่ทำได้ด้วยมือของเราเอง’
“ถ้าดูจากอุณหภูมิความร้อนของกรุงเทพฯ ในวันนี้ นั่นเป็นเพราะว่า เรายังทำน้อยไป”