Retail trade 2019 ตลาด Grocery ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในภาวะตลาดแข่งเดือด | Techsauce

Retail trade 2019 ตลาด Grocery ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในภาวะตลาดแข่งเดือด

ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกสินค้า Grocery (ร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภค) ในปี 2019 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆจากในปี 2018 ที่สภาวะตลาดชะลอตัวต่อเนื่องจากภาวะการจ้างงานและรายได้ที่ยังอ่อนแอ ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง แต่ในปี 2019 ตลาดจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น

โดยคาดว่า จะขยายตัวราว 3-4% ตามการฟื้นตัวของการจ้างงานและรายได้ที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นรวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีนที่ยังเติบโต ทั้งนี้การฟื้นตัวของกำลังซื้อยังกระจุกตัวเฉพาะบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงเป็นหลัก

ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้น้อยยังไม่ฟื้นตัวเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งยังมีปัจจัยลบจากหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก grocery ในระยะต่อไปคงต้องจับตามองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการบริโภคเป็นอันดับต้น ๆ

แม้ว่าตลาดค้าปลีก grocery จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นขยายร้านขนาดเล็กอย่างร้านสะดวกซื้อซึ่งยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก รวมถึงมองหาโอกาสในการขยายสาขาในต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV แนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวทั้งปรับรูปแบบสาขา รวมถึงเพิ่มความหลากหลายและสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการ

ขณะเดียวกันการแข่งขันจากช่องทางออนไลน์ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวไปสู่ Omni channel โดยขยายตลาดออฟไลน์ควบคู่กับออนไลน์ด้วย รวมถึงนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการร้านค้าและทำการตลาด ตลอดจนการใช้ Big data ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ

แนวโน้มธุรกิจค้าปลีก grocery ปี 2019

ธุรกิจค้าปลีกสินค้า grocery ในปี 2019 คาดว่า จะเติบโตราว 3-4% แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากสภาวะตลาดที่ซบเซาต่อเนื่องในปี 2018 จากการจ้างงานและรายได้ที่ยังอ่อนแอ ทั้งนี้ในปี 2019 ตลาดมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นแต่เป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เนื่องจากภาวการณ์จ้างงานและค่าจ้างแรงงานยังฟื้นตัวในอัตราที่ต่ำ รวมถึงรายได้ภาคเกษตรที่ยังอ่อนแอจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้กำลังซื้อยังฟื้นตัวจำกัดแต่เฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ทั้งนี้หากดูภาพรวมการเติบโตของดัชนีค้าปลีกสินค้าไม่คงทนซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดภาวะตลาดค้าปลีกสินค้าหมวด grocery จะพบว่า ในไตรมาส 4 ปี 2018 ยอดขายเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น โดยกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 1.7% (YOY) จากในช่วง 9 เดือนแรกที่ติดลบ 0.9% (YOY)

ขณะที่ดัชนีค้าปลีกหมวดห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตขยายตัว 5.9% ในปี 2018 ทั้งนี้หากดูการเติบโตของมูลค่าตลาดค้าปลีก grocery ในปี 2018 ที่แบ่งตามประเภทร้านค้าจากข้อมูลของสมาคมค้าปลีกจะพบว่า ร้านgrocery ประเภทซูเปอร์มาร์เก็ตมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่ารูปแบบอื่น ๆ โดยเติบโต 6.5% เทียบกับร้านค้าประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่เติบโต 3% และ 3.4% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวจำกัดแต่เฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของซูเปอร์มาร์เก็ต

สำหรับแนวโน้มปี 2019 EIC คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาด grocery มีแนวโน้มค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น โดยอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ราว 3-4% โดยปัจจัยสนับสนุนจะมาจากการจ้างงานและรายได้ที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจีนที่มีการใช้จ่ายชอปปิงสูงยังเติบโตได้ต่อเนื่อง อย่างไรกีดี ยังต้องจับตามองความเชื่อมั่นของผู้บริโภคซึ่งจะขึ้นกับปัจจัยด้านเสถียรภาพการเมืองเป็นหลัก รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเน้นกระตุ้นการบริโภค รวมถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งจะทำให้กำลังซื้อปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัวและหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและจะส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ

ดัชนีค้าปลีกและการบริโภคภาคเอกชน การเติบโตของธุรกิจค้าปลีก grocery

แม้ว่าแนวโน้มการบริโภคยังฟื้นตัวอย่างช้า  แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังมีแผนขยายสาขาร้าน grocery อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรูปแบบขนาดเล็กอย่างร้านสะดวกซื้อ ซึ่งยังมีโอกาสเพิ่มจำนวนได้อีกมาก สะท้อนจากความหนาแน่น (penetration rate) ของร้านสะดวกซื้อต่อประชากรที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักโดยในปัจจุบันอยู่ที่ราว 200 สาขาต่อประชากร 1 ล้านคน เทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่ตลาดค่อนข้างอิ่มตัวแล้วมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 700-800 สาขาต่อประชากร 1 ล้านคน สะท้อนถึงโอกาสในการขยายสาขาของร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่ยังสามารถขยายได้อีกมากตามการขยายตัวของเมือง (urbanization rate)

ขณะที่โอกาสในการขยายสาขาร้านขนาดใหญ่อย่างไฮเปอร์มาร์เก็ตมีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสาขาร้านขนาดใหญ่ค่อนข้างครอบคลุมในทุกจังหวัดแล้วประกอบกับยังมีข้อจำกัดหลายด้านทั้งในแง่ของพื้นที่ขนาดใหญ่ที่หายากขึ้น รวมถึงข้อจำกัดด้านกฎระเบียบผังเมือง ส่งผลให้การขยายสาขาขนาดเล็กมีความคล่องตัวมากกว่า ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปโดยต้องการความสะดวกรวดเร็ว รวมถึงครอบครัวที่มีขนาดเล็กลงทำให้นิยมซื้อสินค้าจำนวนน้อยแต่ไปบ่อยขึ้น ส่งผลให้รูปแบบของร้านสะดวกซื้อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ได้ดีกว่า

จำนวนร้าน grocery และ urbanization rate ของประเทศในเอเชีย

การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีก grocery มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและจะเกิดการแข่งขันข้าม segment มากขึ้น โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ grocery มีการแข่งขันกันทั้งในการขยายสาขา รวมถึงการแข่งขันด้านราคาและเพิ่มความหลากหลายและสร้างความแตกต่างในสินค้า ส่งผลให้ยอดขายต่อสาขามีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ปรับตัวลดลงราว 3ต่อปีในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ ยอดขายต่อสาขาของร้านขนาดเล็กลดลงไม่มากนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมุ่งขยายสาขาประเภทร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหลัก

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังมีการปรับตัวโดยพัฒนาสาขารูปแบบต่าง ๆ อย่างเช่นการเพิ่มพื้นที่ของร้านสะดวกซื้อให้ใหญ่ขึ้นเพื่อสามารถเพิ่มรายการสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น รวมถึงการเปิดสาขาที่เป็น stand alone โดยรูปแบบการขยายสาขาจะขึ้นกับแต่ละทำเล ส่งผลให้ร้านgrocery รูปแบบต่าง ๆ ไม่เพียงแต่แข่งขันกันเองในรูปแบบเดียวกัน แต่จะเกิดการแข่งขันกับรูปแบบอื่น ๆ มากขึ้นอย่างเช่นร้านสะดวกซื้อจะแข่งกับซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตด้วย

ยอดขายต่อสาขาของร้าน grocery ประเภทต่าง ๆ ขนาดพื้นที่ต่อสาขาของร้าน grocery

Mega trend ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดค้าปลีก grocery

แม้ว่าการเติบโตของช่องทางออนไลน์จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกที่มีหน้าร้านโดยรวม แต่สำหรับร้านgrocery จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าร้านประเภทอื่นๆ ทั้งนี้จากการวิเคราะห์เทรนด์ของโลกเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อสินค้า grocery จะพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังนิยมซื้อสินค้า grocery โดยเฉพาะอาหารสดจากร้านค้ามากกว่าช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้จากข้อมูลผลสำรวจของ eMarketer ในปี 2018 พบว่า การซื้อสินค้า grocery ของประเทศในเอเชียและยุโรป 10 ประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ยังมีสัดส่วนไม่มากนักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 3.5% ของยอดขายออนไลน์โดยรวม

นอกจากนี้ จากผลสำรวจของ Morgan Stanley เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้า grocery ผ่านช่องทางออนไลน์ใน 10 ประเทศทั่วโลกพบว่า สาเหตุสำคัญที่ผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้า grocery ผ่านช่องทางออนไลน์คือผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการไปเลือกซื้ออาหารสดด้วยตนเองและบางส่วนชื่นชอบการเดินเลือกซื้อสินค้า grocery จากร้านค้า สำหรับประเทศไทย อีไอซีมองว่า ร้าน grocery ยังไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากช่องทางออนไลน์มากนัก

จากผลสำรวจของอีไอซีเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคพบว่า แม้คนไทยจะซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น แต่ยังไม่บ่อย โดย 83% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีการซื้อสินค้าออนไลน์น้อยกว่า 2 ครั้งต่อเดือน อย่างไรก็ดี การเติบโตของอีคอมเมิร์ซในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่รวมถึงร้าน grocery รายใหญ่ของไทยตื่นตัวและปรับตัวไปสู่ omni channel โดยให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ควบคู่กับช่องทางออฟไลน์

ทั้งนี้แม้ว่ายอดขายออนไลน์ของผู้ประกอบการ grocery รายใหญ่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ ยอดขายออนไลน์ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับยอดขายรวม โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่เพียงราว 2-3% ของยอดขายรวม แต่แนวโน้มคาดว่าน่าจะเติบโตสูงขึ้นในอนาคตและจะเป็นช่องทางยอดขายซึ่งกันและกันเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการหาข้อมูลและซื้อสินค้าจากหลากหลายช่องทาง เช่น รูปแบบการซื้อสินค้าอย่าง click and collect รวมถึงการโปรโมทสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ

ยอดขายสินค้า grocery ของประเทศต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ในปี 2018 สาเหตุที่ผู้บริโภค*ไม่ซื้อสินค้า grocery ผ่านช่องทางออนไลน์

จับตามองการพัฒนาโมเดลร้านค้า grocery รูปแบบอื่น ๆ โดยดิสเคาน์สโตร์ขนาดเล็กเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นการชะลอตัวของตลาด grocery ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่นสหรัฐฯ และยุโรปที่ตลาดค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว แต่ยังมีรูปแบบของร้าน grocery บางประเภทที่ยังเติบโตได้ค่อนข้างดีท่ามกลางภาวะตลาดที่ซบเซา ทั้งนี้จากกรณีศึกษาของประเทศอังกฤษพบว่า หากเปรียบเทียบยอดขายของร้าน grocery รายใหญ่ ๆ จะพบว่าผู้เล่นรายใหญ่ที่มีรูปแบบร้านค้าอย่างไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างเช่น Tesco Asda และ Sainsbury มียอดขายลดลง ขณะที่ ร้านดิสเคาน์สโตร์

ขนาดเล็กอย่าง Aldi และ Lidl กลับมียอดขายเติบโตและมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น โดยกลยุทธ์สำคัญคือ การขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปถึงราว 30-40% โดยรูปแบบร้านค้ามีขนาดไม่ใหญ่มากอยู่ที่ประมาณ 1,500 ตารางเมตรใกล้เคียงกับขนาดของซูเปอร์มาร์เก็ตและจำกัดจำนวนสินค้าในร้านอยูที่ราว 3,000 SKUs เทียบกับร้านทั่วไปที่มีสินค้ามากถึง 10,000-50,000 SKUs โดยจะเน้นขายสินค้าตราห้าง (Private brand) ซึ่งจะมีอัตรากำไรสูงกว่าสินค้าแบรนด์ทั่วไป ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้สามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากการขายสินค้า private brand ที่ทำให้ขายสินค้าโดยไม่ต้องผ่านตัวแทนจำหน่ายแล้ว ยังไม่มีต้นทุนในด้านการทำการตลาดมากเท่ากับร้าน grocery ทั่วไป นอกจากนี้ รูปแบบการจัดร้านยังเป็นแบบเรียบง่าย อย่างเช่นการวางสินค้าที่อยู่ในลัง ทำให้ลดการจ้างพนักงานลงได้อีกด้วย

ส่วนแบ่งตลาดของร้าน grocery รูปแบบต่าง ๆ ของอังกฤษ ความแตกต่างของโมเดลค้าปลีกแบบดิสเคาน์สโตร์ของ Aldi กับไฮเปอร์มาร์เก็ตอื่นๆ

แม้ว่าดิสเคาน์สโตร์ขนาดเล็กในไทยอาจยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่เป็นอีกโมเดลที่น่าสนใจและน่าจะตอบโจทย์ โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัด ในปัจจุบันภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงส่งผลให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายใหญ่ ๆ ยังคงมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างมาก ผู้ประกอบการ grocery รายใหญ่มีอำนาจต่อรองสูง อีกทั้งยังได้มีความร่วมมือกับผู้ผลิตในการพัฒนาสินค้า private brand มาจำหน่ายในร้านค้ามากขึ้น ทำให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่าสินค้า company brand ตามปกติถึงราว 20% ซึ่งนับว่าเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับดิสเคาน์สโตร์อยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุและครอบครัวที่มีขนาดเล็กลงส่งผลให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่ซื้อสินค้าจำนวนมากหันมาซื้อสินค้าจำนวนน้อยลงแต่ซื้อบ่อยขึ้น ส่งผลให้รูปแบบร้านค้าอาจต้องปรับขนาดให้เล็กลง โดยเลือกรายการสินค้าบางรายการที่ขายดีและเน้นขายในราคาประหยัดซึ่งน่าจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ อีกทั้งยังขยายได้เร็วและสามารถเจาะตลาดโดยเฉพาะต่างจังหวัดได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันการแข่งขันจากโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ที่รุนแรงมากขึ้นส่งผลกระทบต่อร้าน grocery ท้องถิ่นค่อนข้างมาก ผู้ประกอบการท้องถิ่นจึงมีการปรับตัวซึ่งโมเดลในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการท้องถิ่นหลายรายที่ยังแข่งขันได้ดีในตลาดค้าปลีก grocery ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับรูปแบบดิสเคาน์สโตร์ โดยจะเน้นขายสินค้าราคาประหยัดโดยมีการจับมือกับซัพพลายเออร์ในการพัฒนาสินค้า private brand รวมถึงการนำสินค้าแบรนด์เล็ก ๆ ที่มีราคาถูกกว่าแบรนด์ขนาดใหญ่ที่คนทั่วไปรู้จักซึ่งจะเป็นจุดขายสำคัญที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อน้อยได้เป็นอย่างดี

กลยุทธ์การแข่งขันของผู้ประกอบการจะเปลี่ยนไปอย่างไร?

ผู้ประกอบการยังเน้นกลยุทธ์การขยายสาขาหลากหลายรูปแบบ (multi-format) และปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขารวมถึงการเพิ่มบริการที่หลากหลายให้ตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละทำเล แม้ว่าสาขาร้าน groceryขนาดเล็กยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีการขยายสาขาหลากหลายรูปแบบรวมถึงมีการพัฒนารูปแบบสาขาให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละทำเลมากขึ้น นอกจากนี้ การเพิ่มบริการที่หลากหลายภายในร้านนอกเหนือจากการขายสินค้าจะช่วยดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการมากขึ้นและยังช่วยให้สามารถแข่งขันกับร้านค้าออนไลน์ได้มากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น บริการชำระเงิน บริการจุดรับสินค้าที่ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ การให้บริการทางการเงิน (banking agent) รวมถึงโซนนั่งรับประทานอาหาร มุมกาแฟ เครื่องดื่มและเบเกอรี่ ทั้งนี้ grocerant ซึ่งเป็นการนำเอาร้านอาหารเข้ามาไว้ภายใน grocery store มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยบางแห่งจะมีจุดขายอยู่ที่การที่ลูกค้าสามารถเลือกสรรวัตถุดิบเองจากตู้แช่และนำมาให้ทางร้านปรุงให้ทำให้มั่นใจในคุณภาพและความสดใหม่ของอาหาร นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น แม้แต่ร้านขนาดเล็กอย่างร้านสะดวกซื้อยังหันมาให้บริการพื้นที่นั่งทานอาหารสำหรับสาขาในบางทำเล ซึ่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น

การแข่งขันจะเน้นไปที่การนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ และ ตอบโจทย์การให้บริการกับลูกค้า ตลอดจนการบริหารจัดการร้านค้าและทำการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล ตัวอย่างเช่นการนำเอาเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) มาใช้ในการประมาณการยอดสั่งซื้อสินค้า รวมถึงใช้ในการติดตามความเคลื่อนไหวและพฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้าเพื่อนำมากำหนดราคาและโปรโมชัน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังอาจนำเอาโมบายคูปองมาใช้ร่วมด้วย โดยจะวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลการซื้อสินค้าของลูกค้าแต่ละรายเพื่อจัดส่งคูปองหรือโปรโมชันให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้าเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้นำเอาเทคโนโลยีการชำระเงิน self-check out มาใช้และคาดว่าจะพัฒนาไปสู่รูปแบบใหม่ ๆ ดังเช่นเทรนด์ในต่างประเทศ อาทิ Kroger และ Walmart ที่ใช้ระบบ scan and goโดยลูกค้าสามารถใช้แอปพลิเคชันในมือถือมาสแกนราคาและชำระเงินได้เลยขณะที่ Amazon Go พัฒนาไปถึงขั้นที่ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าและสามารถเดินผ่านจุดชำระเงินได้โดยไม่ต้องหยิบสินค้าออกจากรถเข็น ซึ่งเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากจะช่วยในการบริหารจัดการร้านค้าแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคที่จะได้รับความสะดวกและสนุกกับการชอปปิงมากขึ้นอีกด้วย

โดยสรุปภาพรวมธุรกิจค้าปลีก grocery มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นแม้ว่าแรงกระตุ้นการบริโภคในประเทศยังไม่แข็งแกร่งมากนัก แต่โอกาสในการขยายสาขาร้าน grocery ของไทยยังมีอีกมาก โดยเฉพาะรูปแบบขนาดเล็กที่สอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน แนวโน้มการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวหลายด้านทั้งการพัฒนารูปแบบร้านค้า การเพิ่มความหลากหลายนำเอาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาช่องทางออนไลน์ควบคู่ไปด้วยซึ่งน่าจะช่วยเสริมให้ธุรกิจค้าปลีก grocery ยังเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...