ขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยด้วย 5G | Techsauce

ขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยด้วย 5G

“ถ้าเราพัฒนา 5G ให้มีความเข้มแข็งทั่วประเทศ 5G จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วในอนาคต และนำประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ”

เทคโนโลยี 5G หรือ คลื่นสัญญาณไร้สายเจเนอเรชั่น ที่ 5 เป็นเทคโนโลยีที่กล่าวได้ว่าจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เทคโนโลยี 5G จะไม่ใช่เพียงคลื่นสัญญาณรุ่นใหม่ที่เร็วกว่าเดิม แต่จะเป็น Key Changer ที่จะมาพลิกโฉมโลกธุรกิจและอุตสาหกรรม พาประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

วันนี้ Techsauce จะพาท่านไปพบกับบทสรุปจากประเด็นสำคัญ ในงาน  Techsauce X Ericsson “Redefine Businesses with 5G Forum” ที่รวบรวมเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายอุตสาหกรรม มาร่วมพูดคุยกันในประเด็นที่หลากหลาย เกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ทั้งในมุมมองทิศทางการพัฒนาในประเทศไทย และการพลิกโฉมโลกธุรกิจ ได้แก่

  • คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, Ministry of Digital Economy and Society

  • พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์, Vice-Chairman, Office of The National Broadcasting and Telecommunications Commission (NBTC)

  • คุณพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์, Head of 5G Working Group บริษัท True Corporation PCL  

  • คุณประเทศ ตันกุรานันท์, Chief Technology Officer บริษัท Total Access Communication PCL (dtac) 

  • พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, Member of the House of Representatives Vice-Chairman of Communications, Telecommunications, and the Digital Economy and Society Committee  

  •  คุณนาดีน อัลเลน, Head of Strategy, Enterprise & New Business Ericsson Southeast Asia, Oceania and India

Drive 5G National Capabilities 5G กับการขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย 

คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, Ministry of Digital Economy and Society ได้มาร่วมเผยมุมมองสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยี 5G และบทบาทของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อรองรับการพัฒนา

โดยคุณชัยวุฒิกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศแรกๆ ของโลก ที่มีการจัดสรรงบประมาณและวางโครงข่าย 5G ซึ่งถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศ  ซึ่งคุณชัยวุฒิเน้นย้ำว่าเราจำเป็นต้องยกระดับขึ้นอีก เพื่อมุ่งสู่การเป็น The best 5G และในฐานะที่ตนเป็นผู้กำหนดนโยบายด้านดิจิทัลของประเทศ ตนมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับโครงข่าย 5G ให้เป็นที่ยอมรับและเกิดความเชื่อมั่น เพื่อประโยชน์ของประชาชน 

“ถ้าเราพัฒนา 5G ให้มีความเข้มแข็งทั่วประเทศ 5G จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วในอนาคต และนำประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ” 

5G Regulation Trend for Redefining Industry 4.0

ร่วมเจาะลึกบทบาทสำคัญของสำนักงาน กสทช. กับการขับเคลื่อนการใช้งาน 5G ในประเทศไทย และการใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัล กับพันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์, Vice-Chairman, Office of The National Broadcasting and Telecommunications Commission (NBTC)

สำหรับประเทศไทย พันเอก ดร. นที กล่าวว่า 5G จะมีความสำคัญในการสร้าง Digital Transformation ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาในยุค 4.0 เป็นเรื่องที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญ เพื่อจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยใช้ 5G เป็นหลักในการพัฒนา 

ด้วยนโยบายที่ต้องการขับเคลื่อน Thailand 4.0 และต้องการให้เทคโนโลยี 5G เป็นพื้นฐานในการพัฒนา สำนักงานกสทช. เองก็ได้ขับเคลื่อนนโยบายการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ โดยสำนักงานกสทช. ได้ประมูลคลื่นความถี่ที่มีความจำเป็นสำหรับการประกอบกิจการ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งถือเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่รายแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นกลุ่มประเทศแรกของโลก ทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การขับเคลื่อนและการขยายโครงข่าย 5G ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ 

ปัจจุบันโครงข่าย 5G ได้ขยายครอบคลุมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ  EEC ส่วนใหญ่รวมถึงจังหวัดหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ และคาดว่าภายในปี 2564 จะมีผู้ใช้งาน 5G ในประเทศไทยสูงถึง 5 ล้านราย

นอกจากนั้นพันเอก ดร.นที ได้กล่าวถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อผลักดันให้เกิด Digital Transformation ในอุตสาหกรรมเดิม และการส่งเสริม Creative Economy ในอุตสาหกรรมใหม่ ให้อยู่บนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 

ด้วยหลักการทั้งสองนี้ ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยี 5G จะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการให้บริการประชาชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการนำไปใช้ในวงกว้าง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ SMEs และการสนับสนุนการบริการของภาครัฐ 

ในช่วงสุดท้าย พันเอกดร.นที เผยถึงบทบาทสำคัญของสำนักงานกสทช. ที่นอกจากจะเป็นผู้ดูแลนโยบายในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เอกชนเอาไปใช้งานบริการประชาชนแล้ว สำนักงานกสทช. จะทำหน้าที่ในการกำกับดูแล ส่งเสริม Infrastructure Sharing เพื่อลดต้นทุนการประกอบกิจการ และจะมุ่งส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมเพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย  

“การนำ 5G ไปใช้งานอาจจะไม่ได้การันตีว่าเราจะสำเร็จในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี  เพราะฉะนั้นกสทช.จึงผลักดันความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนการใช้งานเทคโนโลยีในวงกว้าง รัฐบาลเองก็ได้ให้ความสำคัญ และจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ซึ่งจะเป็นผู้ขับเคลื่อนการใช้งาน 5G ทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง” 

พันเอกดร.นที กล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงบทบาทของภาครัฐในการขับเคลื่อนบริการสาธารณะให้ใช้ประโยชน์จากโครงข่าย 5G และการสนับสนุนภาคเอกชนทั้งทางการเงิน มาตรการทางภาษี เพื่อให้มีการนำเทคโนโลยีไปใช้ในวงกว้าง 

Drive 5G Consumer’s Experience 5G กับการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค

ใน session นี้ เราอยู่กับคุณพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์, Head of 5G Working Group บริษัท True Corporation PCL ที่ได้พาเราไปรู้จักกับบทบาทสำคัญของเทคโนโลยี 5G และการเปิดประสบการณ์รูปแบบใหม่ ให้กับผู้บริโภค ทั้งความบันเทิงในรูปแบบใหม่ และการบริการอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IoT 

สำหรับการใช้ 5G เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค คุณพิรุณได้ยกตัวอย่างถึง 5G + AICDE ซึ่งหมายความถึง Enablers  หลัก 5 ตัวที่อยู่ข้างหลัง 5G ได้แก่ AI, IoT, Cloud, Data, Edge 

“สมมติเรามีหุ่นยนต์สักตัวหนึ่ง แล้วเราอยากให้มันฉลาดพอที่จะคุยกับเราหรือว่าเดินไปไหนมาไหนได้ หุ่นยนต์ตัวนี้ต้องมีความฉลาดมาก ก็ต้องใช้ AI และแน่นอนโดยตัวมันเองเป็น IoT อยู่แล้ว แต่หุ่นยนต์ตัวนี้จะฉลาดได้แค่ไหน ถ้าเราต้องการความฉลาดของ AI มาก เราต้องใช้คอมพิวเตอร์ตัวใหญ่มาก อาจจะใหญ่ขนาดห้องหรือตึกๆ หนึ่ง แต่เราไม่สามารถเอาคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่เท่าตึกไปใส่ในหุ่นยนต์ได้  ดังนั้น AI จึงจำเป็นต้องอยู่บน Cloud และจำเป็นต้องมี Edge Computing ที่จะนำ Cloud มาอยู่ใกล้กับหุ่นยนต์” 

ในฝั่งผู้บริโภคเองตัวแปรหลักในการขับเคลื่อนที่สำคัญมากและจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงการบริการ 5G ได้ คือ Handset หรือโทรศัพท์มือถือ คุณพิรุณกล่าวว่าผู้บริโภคต้องการจะเปลี่ยนไปใช้ Handset ที่รองรับ 5G  ได้ เมื่อ 5G เข้ามา  ซึ่งปัจจุบันเรามี Handset ที่รับรอง 5G ในราคาที่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาท  โดยคุณพิรุณคิดว่าในปีหน้า Handset มากกว่าครึ่งหนึ่งในตลาดจะสามารถรองรับ 5G ได้ และราคาจะถูกลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะหากไม่ติดปัญหาการขาดแคลน Chipset 

และนอกจาก Handset ที่จะเป็นตัวแปรหลักในการขับเคลื่อนแล้ว การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ กับผู้บริโภคอีกรูปแบบหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ Immersive Experience หรือประสบการณ์ในโลกเสมือนจริง ไม่ว่าจะเป็น 

  • Augmented Reality (AR)

  • Virtual Reality (VR)

  • Mixed Reality (MR) 

  • การรับชมคอนเทนต์แบบ 360 องศา 

  • 3D Models 

เทคโนโลยีทั้งหมดนี้ต้องการ Computing power สูง  Bandwidth ที่ใหญ่ รวมถึง Latency ที่ต่ำ ซึ่งทั้งหมดเป็นคุณสมบัติหลักที่ 5G มี 

นอกจากนั้นคุณพิรุณได้กล่าวถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เล่นเกม ซึ่ง 5G จะเข้ามาให้ประสบการณ์การเล่นเกมที่แตกต่างออกไปจากคลื่นสัญญาณแบบเดิม เพราะการเล่นเกมบน 5G จะเป็นลักษณะ Cloud Gaming โดยจะเข้ามาตอบโจทย์ปัญหาที่ผู้บริโภคไม่สามารถดาวน์โหลดเกมที่ต้องการหน่วยความจำหรือประสิทธิภาพการประมวลผลของอุปกรณ์ในระดับสูงไว้ในโทรศัพท์มือถือได้ ในจุดนี้เองจึงต้องการการเชื่อมต่อที่มีความเร็วในระดับสูง ความหน่วงต่ำ ซึ่งเป็นอีกการบริการที่ทำให้เราเห็นชัดถึงความจำเป็นของเทคโนโลยี 5G

Drive 5G Enterprise’s Transformation 5G กับการพลิกโฉมอุตสาหกรรมและธุรกิจ

ฟังกรณีศึกษาการใช้ 5G ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่จะพลิกโฉมรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิมไปโดยสิ้นเชิง กับคุณประเทศ ตันกุรานันท์, Chief Technology Officer บริษัท Total Access Communication PCL (dtac) 

คุณประเทศได้เล่าถึงวิวัฒนาการและการใช้งานของเครือข่ายสัญญาณแต่ละยุค และกล่าวว่าการเข้ามาของ 5G นั้นจะทำให้การรูปแบบใช้งานไปไกลกว่าการติดต่อสื่อสารเฉพาะบุคคล โดยเน้นย้ำว่าสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ความเร็วกว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดที่ทำให้ 5G นั้นแตกต่าง แต่คุณสมบัติของ 5G ที่จะเป็น Game changer นั้นคือการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ที่ประสิทธิภาพสูง และการรับส่งข้อมูลที่มีความเสถียรด้วยความหน่วงที่ต่ำ ซึ่งทั้งสองคุณสมบัตินี้ทำให้ประโยชน์ของ 5G จะเห็นได้ชัดในเชิงของอุตสาหกรรมหรือโลกธุรกิจมากกว่า

หากถามว่าทำไมเราถึงต้องการเทคโนโลยี 5G คุณประเทศได้แสดงตัวอย่างกราฟการเพิ่มขึ้นของจำนวนการเชื่อมต่อ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าในอนาคตจำนวนการเชื่อมต่อเพิ่มสูงขึ้นมากเกินกว่าที่ระบบเครือข่ายจะรับไหว โดยเฉพาะการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ และเช่นเดียวกัน ลำพังแค่ความเร็วที่มากขึ้นจะไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาในอนาคตได้  

โดยคุณประเทศได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในอุตสาหกรรมและธุรกิจที่น่าสนใจ เช่น 

  1. กล้องวงจรปิดที่มีระบบ Video Analytic ในอาคาร  โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง dtac และ AWS เพื่อรักษาความปลอดภัย และสร้างมาตรการป้องกันช่วงโควิด-19 เช่น ตรวจจับการใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง หรือการตรวจจับใบหน้าเพื่อติดตามตำแหน่ง  เป็นต้น

  1. การทดลองใช้เทคโนโลยี 5G ในการควบคุมและสั่งงานหุ่นยนต์ทางไกล เพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง dtac, Ericsson และ ABB 

  1. การใช้รีโมตคอนโทรลทางไกลเพื่อควบคุมเครื่องจักรตัดไม้ โดยบริษัท Telenor ประเทศสวีเดน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุกับแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพและลดขีดจำกัดในการทำงาน 

  2. การใช้ 5G ควบคุมอุปกรณ์และเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม 

จากกรณีศึกษาทั้งหมดนั้น เป็นการเชื่อมต่อแบบ Private network เพราะต้องอาศัยความปลอดภัยของระบบ นอกจากนั้นในภาคอุตสาหกรรมต้องการเครือข่ายสัญญาณที่มีความหน่วงที่ต่ำ และมีความปลอดภัยสูง 

หลังจากนั้นคุณประเทศได้กล่าวถึง 3 ภาคส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ 5G สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจของประเทศไทยได้ 

  1. Infrastructure  ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายสัญญาณ อุปกรณ์ และผู้ดูแลกำกับ ซึ่งปัจจุบันถือว่ามีระดับการพัฒนาที่ดี

  2. Solutions/Services ซึ่งจำเป็นต้องคิดหาโซลูชั่นใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม 

  3. Businesses/Industries ธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมค้าปลีก, อุตสาหกรรมเทคโนโลยี, การศึกษา  เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะต้องพัฒนาตัวเองให้สามารถนำโซลูชั่นของ 5G ไปใช้ได้กับภาคส่วนของตัวเอง  

ในส่วนสุดท้ายคุณประเทศกล่าวว่าโลกของเราเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในอนาคต Digitalization จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรตระหนักถึง ซึ่งการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G จะช่วยให้ข้อจำกัดต่างๆ ของโครงข่ายสัญญาณและการเชื่อมต่อหายไป พร้อมกับช่วยให้เทคโนโลยีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น AR, VR หรือ Blockchain สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้ ซี่งตนอยากให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจเรียนรู้ที่จะพัฒนาโซลูชั่นต่างๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงเทคโนโลยี 5G  โดยเน้นย้ำว่าการพัฒนาทั้งหมดนี้นั้นต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ การรับมาปรับใช้ และต้องไม่ลืมคำนึงถึงความปลอดภัยของระบบ และสุดท้ายคือต้องมองว่าการพัฒนานี้นั้นเป็น eco-system ที่เราสามารถใช้ความเชี่ยวชาญของเราและของผู้อื่นมาร่วมกันพัฒนาโซลูชั่นให้เกิดประโยชน์กับภาคธุรกิจและสังคมอย่างแท้จริง 

Drive 5G Ecosystem’s Sustainability ขับเคลื่อน 5G ในไทยอย่างยั่งยืน  

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, Member of the House of Representatives Vice-Chairman of Communications, Telecommunications, and the Digital Economy and Society Committee  ได้มาร่วมเผยมุมมองสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อน 5G ในไทยให้เกิดความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

โดยสำหรับการขับเคลื่อน 5G ในไทยอย่างยั่งยืนนั้น พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มองว่า จำเป็นต้องพิจารณาจากหลายมิติ แน่นอนว่าเราต้องการโครงสร้างพื้นฐานของระบบที่สมบูรณ์แบบ แต่พันดร.เศรษฐพงค์ มองว่า ปัจจัยแรกที่เราต้องให้ความสำคัญที่สุดคือกฎหมาย และมาตรการกำกับดูแลโดยภาครัฐ ที่จะต้องเอื้ออำนวยต่อการใช้งาน นอกจากนั้นระบบนิเวศกับระบบธุรกิจและการใช้งาน 5G ทั้งหมดจำเป็นต้องเชื่อมโยงกัน จึงจะสามารถใช้ 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 

ประการต่อมาที่สำคัญสำหรับประเทศไทย คือการยืนอยู่บนความสมดุลระหว่างเทคโนโลยีของโลกตะวันตกและตะวันออก ซึ่งปัจจุบันเรามองเห็นความขัดแย้งในรูปแบบของ ‘Tech War’ ระหว่างมหาอำนาจของโลก ที่ต่อสู้ช่วงชิงเพื่อจะเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพันเอก ดร.เศรษฐพงค์เน้นย้ำว่าประเทศไทยต้องยืนเป็นกลางในศึกครั้งนี้ 

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของ 5G พันเอก ดร.เศรษฐพงค์  มองว่าทุกภาคส่วนจะต้องรับบทบาทและหน้าที่ที่เปลี่ยนไป เช่น ผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมจะไม่ใช่เพียงแค่ผู้ให้บริการระบบสื่อสารเท่านั้น แต่จะเปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้ให้คำปรึกษา โดยเฉพาะให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน 

ผู้ผลิตอุปกรณ์ก็จะต้องรับบทบาทในการช่วยผู้ให้บริการสามารถมีอุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องทำงานร่วมกัน นอกจากนั้น สำนักงานกสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องพยายามกำหนดกฎเกณฑ์หรือออกนโยบายที่เอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาได้  

ระบบนิเวศของการใช้งาน 5G ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากเรามีเทคโนโลยีที่มีความพร้อม แต่ Data Center หรือระบบคลาวด์ไม่สมบูรณ์ก็ไม่สามารถขับเคลื่อน 5G ได้ เนื่องจาก 5G จำเป็นต้องอาศัยระบบคลาวด์ประสิทธิภาพสูง ที่สามารถคำนวณและวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว ซี่งพันเอก ดร.เศรษฐพงค์มองว่า ประเทศไทยนั้นโชคดีที่อยู่ในภูมิภาคที่เหมาะสมในการสร้าง Data Center 

นอกจากนั้นพันเอก ดร.เศรษฐพงค์ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งภาครัฐเองมีหน้าที่ในการสร้างความเชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่สามารถสร้างโมเดลธุรกิจ และใช้งานระบบ 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีการสนับสนุน 

“ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไปอย่างรวดเร็วหรือมีประสิทธิภาพอย่างไร หากภาครัฐหรือผู้กำกับดูแลไม่สามารถปลดล็อกให้ภาคเอกชนเกิดการรวมตัว หรือการลงทุนอย่างสะดวก ก็จะไม่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อน 5G อย่างยั่งยืน” 

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ ทิ้งท้าย พร้อมกล่าวถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบของสมาคม เพื่อช่วยกันคิดและวางแผนถึงการพัฒนาประเทศพร้อมไปกับการใช้งาน 5G อย่างยั่งยืน

Drive 5G Future for Thailand

ใน session พิเศษนี้  คุณนาดีน อัลเลน, Head of Strategy, Enterprise & New Business Ericsson Southeast Asia, Oceania and India ได้มาแบ่งปันกรณีศึกษาการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในภาคธุรกิจ  และความสำคัญของการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปสู่ดิจิทัล รวมถึงอนาคตของอุตสาหกรรมไทยภายใต้ 5G 

โดยจากการสัมภาษณ์กลุ่มผู้บริหารในหลากหลายธุรกิจและอุตสาหกรรม คุณนาดีนพบว่า ทุกคนต่างมองการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ สำหรับธุรกิจ นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้  IDG ได้ทำการวิจัยกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจด้าน IT จากบริษัทต่างๆ ถึงมุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับกับศักยภาพในการพัฒนาของเทคโนโลยี 5G ที่จะเอามาผนวกรวมกับเทคโนโลยีอื่นในการดำเนินงาน พบว่ากว่า 82 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่า 5G จะเป็นหัวหอกที่สำคัญของการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไปสู่ยุค 4.0 นอกจากนี้ มี 72 เปอร์เซ็นต์ที่มองว่า 5G จะทำให้การทำงานของเทคโนโลยีบางอย่างสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น AI หรือ AR

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G ถูกมองว่าจะมีส่วนช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจได้ทุกประเภท องค์กรทั้งหลายจะได้รับประโยชน์จากความคล่องตัวที่เพิ่มขึ้น มีความยืดหยุ่น ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัย นอกจากนี้ จากรายงานของ Ericsson มีการระบุว่าการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรม เฉพาะแค่ในกลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร (CSPs) จะส่งผลให้ตัวเลขศักยภาพทางการตลาดขยับเพิ่มไปแตะ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐได้ภายในปี 2030

เมื่อย้อนกลับมามองในบริบทของประเทศไทย คุณนาดีนกล่าวว่าในไทย มีอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองทั้งหมด 3 อุตสาหกรรมด้วยกัน ได้แก่ การผลิต พลังงานและสาธารณูปโภค และยานยนต์

สำหรับ อุตสาหกรรมการผลิต ประเทศไทยจัดเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคมาเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากมีแรงงานที่มีทักษะและผลิตภาพแรงงานสูง พร้อมกับมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษาในด้านเฉพาะทางอย่างวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ประมาณ 100,000 คนทุกปี แต่ข้อเสียของการมีแรงงานที่มีทักษะคือค่าแรงที่ค่อนข้างสูง ซึ่งอาจแพงกว่าประเทศอื่นๆ ที่แข่งขันกันในด้านนี้

อย่างไรก็ตาม คุณนาดีนกล่าวว่าขณะนี้ภาคการผลิตในไทยมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปจากเดิมเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าและบริการที่เปลี่ยนไป โดยมีแนวโน้มเน้นตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีอายุมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการแข่งขันกับคู่แข่งระดับภูมิภาครายอื่นๆ อีกด้วย

สำหรับ ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค ในเรื่องพลังงาน ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะมองหาแหล่งเชื้อเพลิงเพิ่มเติมให้มีความหลากหลาย โดยเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น ถ่านหิน พลังงานน้ำ ลม พลังงานนิวเคลียร์ และอื่นๆ ประเทศไทยมองเห็นโอกาสในการประหยัดพลังงานด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาประกอบเข้ากับโมเดลธุรกิจใหม่ และเครื่องมือวิเคราะห์ต่างๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายของชาติในการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2037

ในด้านนี้ คุณนาดีนกล่าวว่ามีปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการวิวัฒนาการด้านการใช้พลังงานในประเทศทั้งหมด 3 อย่าง ได้แก่ นโยบายจากรัฐ การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล และการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม โดยคุณนาดีนกล่าวว่า ปัจจัยทั้งสามจะขับเคลื่อนโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนให้เกิดขึ้น ทั้งด้านการเงินและการต่อยอดโครงการเกี่ยวกับพลังงาน สนับสนุนให้โครงการเหล่านี้ได้รับเงินลงทุนจากแหล่งทุนที่มีศักยภาพมากมาย

สุดท้ายคือ ภาคยานยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญกับเศรษฐกิจของไทย มาโดยตลอด เพราะนอกจากจะเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของโลก รถยนต์ยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นประเทศชั้นนำในด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วย ซึ่งนโยบาย Thailand 4.0 เป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยแผนของรัฐบาลในขณะนี้ คือการให้การยอมรับนวัตกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เตรียมความพร้อมที่จะต่อยอดทรัพยากรหรือศาสตร์ที่เรามีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ด้วยการสนับสนุนการลงทุน

หลังจากนั้นคุณนาดีนได้กล่าวถึงกรณีศึกษาการใช้งานเทคโนโลยี 5G จากบริษัทระดับโลก ที่มองว่าน่าจะหยิบมาใช้กับประเทศไทยได้ โดยเริ่มจากโรงงานอัจฉริยะของ Ericsson ที่ตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับการยอมรับจาก World Economic Forum ในฐานะองค์กรระดับโลกที่เป็นผู้นำในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยทาง WEF ได้จัดให้โรงงานแห่งนี้เป็นหนึ่งใน Global Lighthouse หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างประโยชน์ในเชิงธุรกิจได้จริง 

ในที่นี้ Ericsson ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่มีการใช้งานร่วมกับ 5G มาติดตั้งและใช้จริงภายในโรงงาน ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นราว 2.2 เท่าเมื่อเทียบกับการทำงานโดยใช้แรงงานคน และในโรงงานไม่มีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ อีกทั้งคุณภาพของผลผลิตก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

นอกจากนั้นคุณนาดีนได้ยกตัวอย่างบริษัทจากต่างประเทศที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกสองแห่ง โดยที่แรกคือบริษัทที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมท่าเรืออย่าง BT จากประเทศอังกฤษ ทาง BT ได้ร่วมมือกันกับทางท่าเรือเบลฟาสต์ เพื่อติดตั้งเครือข่าย 5G ที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน ส่งผลให้การดำเนินงานระหว่างบริษัทกับทางท่าเรือเป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่การเดินทาง การขนส่ง โลจิสติกส์ และซัพพลายเชน

ตัวอย่างถัดมาเป็นตัวอย่างจากภาคยานยนต์ บริษัทระดับโลกอย่าง Mercedes-Benz ได้สร้างเครือข่าย 5G เพื่อช่วยเหลือสายการผลิตแบบอัตโนมัติโดยอาศัยการเชื่อมโยงกันของข้อมูล หรือการติดตามผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างสายการผลิต ในโรงงานผลิตรถยนต์ที่มีชื่อว่า Factory 56 ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากระบบการสื่อสารที่ดี ทำให้ระบบการควบคุมและเครื่องจักรทำงานด้วยกันได้เป็นอย่างดี  มีประสิทธิภาพและความแม่นยำในกระบวนการผลิต ด้วยเหตุนี้ ทาง Mercedes-Benz จึงมีความคาดหวังให้โรงงานแห่งนี้กลายเป็นพิมพ์เขียวสำหรับบริษัทผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ทั่วโลกต่อไปในอนาคตด้วย

ในส่วนสุดท้ายของการบรรยาย คุณนาดีนได้ปิดท้ายด้วยเป้าหมายของ Ericsson ว่ามีความต้องการจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ให้ไปสู่ยุค 4.0 กระตุ้นการร่วมมือกันระหว่างองค์ประกอบที่จำเป็นทั้งสาม ได้แก่ องค์กร พันธมิตร และโซลูชั่นที่มี 5G เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ทางบริษัทมีความมั่นใจว่า ด้วยความสามารถของพวกเขาและเทคโนโลยี 5G ที่ถูกพัฒนาและปรับปรุงอยู่เรื่อยๆ จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลให้เกิดขึ้นกับองค์กรต่างๆ ได้ และด้วยมุมมองของเหล่าผู้บริหารและผู้ตัดสินด้านไอทีของแต่ละบริษัทเอง ที่มีท่าทีกระตือรือร้นที่จะทำการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง และไม่ต้องการที่จะรอเหล่า Service Provider เพื่อสร้างให้มีเครือข่าย  5G หรือระบบเซลลูลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาระบบการทำงานภายในองค์กร ด้วยเหตุนี้ทาง Ericsson จึงมองเห็นความสำคัญของตนเองที่จะก้าวเข้ามาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เพื่อช่วยเหลือในเรื่องการสร้างการทรานส์ฟอร์มทางดิจิทัลให้เกิดขึ้นกับธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก





ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...