หากคุณกำลังมีอาการปวดบ่า คอ ไหล่ หรือปวดหัวโดยไม่มีสาเหตุ คุณอาจเป็นอีกคนที่ตกอยู่ในภาวะ Office Syndrome ซึ่งอาการปวดเหล่านี้เป็นเพียงอาการเบื้องต้น หากไม่บำบัดหรือรักษาตั้งแต่ต้นอาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพในภายหลังได้
พรพิมล สถิรรัตน์ ในวัย 20 ต้นๆ ณ ขณะนั้นก็เป็นอีกคนที่มีอาการปวดเมื่อยจนต้องปรึกษาแพทย์ ทำกายภาพบำบัด และรักษาตามอาการ เหตุการณ์นี้ทำให้เธอรู้จักคำว่า Office Syndrome และเริ่มหาข้อมูลแบบลงลึก จนกระทั่งช่วงโควิด
จนกระทั่งช่วงโควิดเธอได้ร่วมมือกับ บุญญา กิจพิทักษ์ ผู้รับหน้าที่ Software Developer พัฒนาแอปฯ ERTIGO เพื่อแก้ปัญหา Office Syndrome แก้ปัญหาการปวดเมื่อยของคนทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถยืดเหยียดและทำท่ากายบริหารได้
ความน่าสนใจของแอปฯ ERTIGO ไม่ใช่แค่การคลายปวดเมื่อยให้คนทำงาน แต่เป็นการสร้าง Impact ต่อผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ชีวิตประจำวันได้ในทุกมิติ
“หลายคนมองว่าอาการออฟฟิศซินโดรมเป็นแค่อาการปวดคอบ่าไหล่ หรือเป็นคำพูดใช้ในการทำตลาด แต่จริงๆ แล้วอาการปวดเมื่อยเป็นได้ทั่วร่างกาย เช่น ปวดหัวแบบไม่มีสาเหตุ ไม่มีอาการตัวร้อนหรือเป็นไข้ อาจเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณคอลามมาถึงปวดหัว หรือถ้ารู้สึกปวดหลัง เกิดจากการนั่งผิดท่า นั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้ หรือนั่งไขว่ห้าง ดังนั้น ออฟฟิศซินโดรมจึงไม่ใช่แค่ปวดคอบ่าไหล่ แต่คือทุกมิติของร่างกาย” พรพิมล กล่าว
พรพิมล : ช่วงแรกยังเราไม่เชี่ยวชาญถึงขนาดที่จะบอกได้ว่าทำท่านี้ช่วยแก้เรื่องอะไร ต้องปรึกษาเพื่อนที่เป็นแพทย์แผนไทยประยุกต์และนักกายภาพบำบัดว่าสิ่งที่ทำอยู่ช่วยแก้อาการ Office Syndrome ได้จริงไหม ก็นำความรู้ที่ได้จากแพทย์และการไปเรียนโยคะ เข้าใจการทำงานของกล้ามเนื้อและเทคนิคการสื่อสารเพื่อมาปรับใช้
บุญญา : โปรเจกต์นี้เริ่มต้นช่วงก่อนโควิดเข้ามาไม่นาน แต่พอโควิดระบาดผู้คนก็เริ่มหันมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ผมก็มีไปเรียนโยคะเพื่อฝึกการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และนำเอาความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในแอปฯ บ้าง พอทำได้ประมาณนึงก็อยากหาความรู้เพิ่มด้วยการเรียนหลักสูตร Science of Stretching เพื่อเป็น Stretching Coach ได้รับการรับรองจาก ACE (American Council on Exercise) และ YACEP (Yoga Alliance Continuing Education Provider) ของ USA เพื่อให้ผู้ใช้สามารถยืดกล้ามเนื้อได้ถูกต้องในทุกจังหวะชีวิต ตอนนี้เรามีทั้งศาสตร์ของแพทย์แผนไทยประยุกต์ กายภาพบำบัด และศาสตร์ความรู้จากการยืดกล้ามเนื้อตามหลักการวิทยาศาสตร์
ปัจจุบัน ERTIGO มีผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงที่ผสมผสานความรู้และหลักการออกมาเป็นฟีเจอร์ที่อยู่ในแอปพลิเคชัน อาทิ ฟีเจอร์เช็คความยืดหยุ่นของร่างกาย เซตท่ากายบริหารแก้อาการต่าง ๆ การแนะนำเซตที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล เป็นต้น ทั้งนี้ในเรื่องของการแชทพิมพ์สอบถามกับผู้เชี่ยวชาญมีกระบวนการคัดกรองผู้ใช้ตามมาตรฐานที่สอบถามที่คลินิกเพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่ดีที่สุด รวมถึงมีพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคอยให้คำแนะนำอย่างละเอียดในการออกแบบและสร้างสื่อแอนิเมชัน เช่น ผู้ที่มีปัญหาเท้าแบนหรือรองช้ำ แอปฯ มีเซตท่ากายบริหารแนะนำส่วนนี้โดยตรง
พรพิมล : ปัจจุบันเรามีลูกค้า 3 กลุ่มหลักๆ คือ B2B ซึ่งเป็นลูกค้าหลักในประเทศไทย ให้บริการเทรนนิ่งโดยนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปคัดกรองกล้ามเนื้อพนักงานแบบรายบุคคล เมื่อสรุปทราบสถานการณ์ความปวดขององค์กรแล้ว นำ Insight นี้มาจัดอบรมให้ความรู้ภายในองค์กร ให้พนักงานเข้าใจสาเหตุของอาการปวดในแต่ละบริเวณของร่างกาย และรู้จักโรคและภาวะเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น หมั่นสำรวจ ปรับพฤติกรรมการทำงานและการใช้ชีวิต รวมถึงใช้การยืดกล้ามเนื้อแก้อาการปวดเมื่อยตามแผนกายบริหารเฉพาะบุคคลผ่านบน ERTIGO Application ซึ่งแผนเฉพาะบุคคลนี้ผู้เชี่ยวชาญจัดขึ้นตามอาการและข้อจำกัดร่างกายของพนักงานแต่ละบุคคลจากผลการคัดกรองกล้ามเนื้อ
ต่อมาคือกลุ่ม B2B2C เป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่ทำร่วมกับคลินิกและฟิตเนส ในลักษณะของการแนะนำแอปฯ ให้ผู้บริโภค เช่น คลินิกที่มีรองเท้าเพื่อสุขภาพ ต้องการดูแลคนไข้มากกว่าการมีรองเท้าที่เหมาะสม ทาง ERTIGO และคุณหมอจึงจัดทำเซตท่ากายบริหารที่เหมาะสมผ่าน NFC Card ให้คนไข้ทำกายบริหารต่อที่บ้านได้อย่างถูกต้อง
บุญญา : กลุ่มสุดท้ายคือ B2C สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปที่ดาวน์โหลดแอปฯ มีทั้งแบบฟรีและสมัครรายเดือน ปัจจุบันมีผู้ใช้งานรวมกว่า 12,000 User จาก 174 ประเทศทั่วโลก แต่ที่มีจำนวนมากที่สุดคือผู้ใช้งานในประเทศไทย รองลงมาคือ สหรัฐฯ และอินเดีย โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ERTIGO มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 คน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นแบบออแกนิค และมี Engagement Time หรือระยะเวลาที่คนใช้แอปฯ เฉลี่ย 50 นาทีต่อวัน
บุญญา : จากการเข้าไปเทรนนิ่ง ในองค์กรต่างๆ พบว่า 50% มักมีภาวะคอยื่น ปัญหาเรื่องการปวดคอบ่าไหล่ อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง บรรเทาได้ด้วยการบริหารกล้ามเนื้อให้กับมาดีขึ้นได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลหลังบ้านจากการเก็บ Data ของผู้ใช้งานกลุ่ม B2C มีลักษณะคล้ายกัน เซตท่ากายบริหาร ส่วนใหญ่ที่ผู้ใช้งานเล่นมากที่สุดคือ การบริหารคอ บ่า ไหล่ และหลังส่วนล่างค่อนข้างเยอะ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า ผู้ใช้แอปฯ ERTIGO ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 25-34 ปี ตามด้วย 35-44 ปี และ 18-24 ปีตามลำดับ ซึ่งก็สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการนั่งนานและใช้โซเชียลมีเดียนานขึ้น อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจเป็นเรื่องระยะเวลาการใช้งานแอปฯ โดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 50 นาที ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างเยอะ นั่นอาจหมายความว่าทุกวันนี้ผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น
บุญญา : ปกติถ้ามีอาการปวดเมื่อยและต้องการคลายกล้ามเนื้อ การดูคลิปในโซเชียลฯ แล้วทำตาม โดยมากจะเป็นการบริหารร่างกายแค่ครั้งเดียวแล้วจบ แต่ถ้าทำผ่านแอปฯ ERTIGO จะเป็นเซตท่าที่ผู้เชี่ยวชาญออกแบบมาเพื่อแก้ไขอาการโดยมุ่งเน้นไปที่ท่ายืดกล้ามเนื้อเพื่อการบำบัดแสดงเน้นจุดที่จะรู้สึกได้ยืดเหยียดที่ถูกต้อง มีฟีเจอร์การติดตามผล สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป มีเซตท่าตามบริเวณหลัก ๆ ของร่างกายให้ใช้งานฟรีมากกว่า 100 เซตท่าตามท่าหรือระยะเวลาที่แตกต่างกัน
ลูกค้าที่สมัครสมาชิกสามารถเรียนรู้เทคนิคการยืดกล้ามเนื้อได้ทั่วบริเวณทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็ก ที่เหมาะกับผู้ใช้แต่ละคน แชทปรึกษาการยืดกล้ามเนื้อกับผู้เชี่ยวชาญพร้อมรับแผนเฉพาะบุคคล ผ่านการยืดกล้ามเนื้อไปพร้อมกับแอนิเมชันเคลื่อนไหวแสดงท่าทางที่ถูกต้อง ระยะเวลาที่ต้องทำแต่ละท่า และคำอธิบายที่เข้าใจง่าย จากเทคโนโลยี text to voice description ทำให้ผู้พิการทางสายตา และผู้สูงอายุเข้าถึงการทำกายภาพบำบัดได้อย่างถูกต้อง
พรพิมล : สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างคือ การมีเซตท่ากายบริหารหลายหมวดที่ครอบคลุมทุกมิติของอาการออฟฟิศซินโดรม และปวดเมื่อยทั่วร่างไม่ว่าจะเป็นเซตท่าการยืดกล้ามเนื้อบำบัด เพื่อคลายจากอาการปวดเมื่อย การเสริมความแข็งแรง และการสร้างความสมดุลหรือควาบาลานซ์ นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล โดยระบบจะรู้ว่าตอนนี้ผู้ใช้กำลังใช้ท่าอะไร วิเคราะห์ว่ากำลังมีปัญหากล้ามเนื้อเรื่องใด รวมถึงการเชื่อมต่อกับข้อมูลกิจกรรมหรือข้อมูลการออกกำลังกายที่เราบันทึกลงใน Google Fit หรือ Apple Health เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ใช้แต่ละคน เช่น ผู้ใช้วิ่งมาราธอนตอนเช้า แอปฯ จะแนะนำคลิปคลายกล้ามเนื้อบริเวณขาและฝ่าเท้า นี่จึงทำให้ผลลัพธ์การใช้งานไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้นั่นเอง
บุญญา : ในสหรัฐฯ มีเทรนด์ที่เรียกว่า Lifestyle therapy หรือการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับการรักษาโรค เราต้องการให้คนในสังคมตระหนักถึงการใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและเป็นการรักษาภายในตัว เทรนด์นี้จะเป็นเทรนด์ที่เติบโตในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่อยากมีสุขภาพแข็งแรง ได้ไปเที่ยวและใช้ชีวิตกับลูกหลานตามปกติ และสำหรับแอปฯ ERTIGO ก็เป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์นี้ เราจึงมองเห็นโอกาสการเติบโตที่มากขึ้น
พรพิมล : หากมองในภาพกว้างของส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจ Digital Health ทั่วโลกมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ธุรกิจนี้จะมีมูลค่ามากถึง 946 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 21.9% จากปี 2024 ถึง 2030 เรามองว่า ERTIGO เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ Digital Health ที่ประกอบไปด้วย mHealth Applications, Wearable Devices, Artificial Intelligence (AI) และ Big Data ที่มีการเก็บข้อมูลจาก Smart Watch หากตลาด wareable โต เราก็จะโตไปด้วย
ขณะเดียวกันอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจ Digital Health ในไทยมีอัตราการเติบโตที่ดี มาจากเทรนด์เรื่อง ESG ที่หลายองค์กรให้ความสำคัญ และโฟกัสเรื่องสุขภาพพนักงาน หากองค์กรต้องการสร้างความยั่งยืนในการดูแลพนักงาน การดูแลสุขภาพพนักงานก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ดังนั้นเรายังเห็นโอกาสการเติบโตที่ค่อนข้างสูง
บุญญา : ในเชิงเทคนิคเราจะใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีทันสมัยมาพัฒนาแอปฯ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากที่สุด มีความ Personalize มากขึ้น เราต้องการให้ทุกช่วงเวลาของการใช้ชีวิตไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ผู้ใช้สามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้โดยมี ERTIGO เป็นตัวช่วย
พรพิมล : ในอีก 3 ปีข้างหน้าเราต้องการเป็นผู้ให้บริการ Telerehab ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปีที่แล้วเราได้เข้าแข่งขันในระดับโลกจึงเห็นว่ามีสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจคล้ายกับของเรา โดยใช้ AI ในการตรวจจับกล้ามเนื้อ และแนะนำคลิปวิดีโอที่เหมาะสมกับคนๆ นั้น ในแถบยุโรป ได้เติบโตในระดับ Series C
ในส่วนเป้าหมาย ERTIGO ต้องการให้ทุกคนสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ ป้องกันโรคร้ายที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันและพฤติกรรมการทำงานในยุคปัจจุบัน ERTIGO เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ดีจะส่งเสริมให้เราสามารถมีความเป็นอยู่หรือคุณภาพชีวิตที่ดีได้ (Move well, Live well) ERTIGO ดูแลผู้คนในระดับของไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด