วิวัฒนาการของ ecommerce ในเอเชีย: เตรียมรับคลื่นลูกใหม่ของระบบดิจิตัล | Techsauce

วิวัฒนาการของ ecommerce ในเอเชีย: เตรียมรับคลื่นลูกใหม่ของระบบดิจิตัล

ทำไมจึงต้องเตรียมรับมือกับแรงกดดันในตลาดดิจิตัลในเอเชียในปัจจุบัน และทำไมความร่วมมือข้ามพรมแดนจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ระบบดิจิตัลในภูมิภาคนี้ได้ พบกับบทวิเคราะห์โดยรามา ชริดฮาร์ รองประธานบริหาร ฝ่าย Digital and Emerging Partnerships and New Payment Flows มาสเตอร์การ์ด

อนาคตของระบบดิจิตัลในเอเชียมาถึงแล้ว ในประเทศจีน ผู้คนนับล้านใช้สมาร์ทโฟนเพื่อเข้าใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นประจำทุกวัน หรือชำระค่าอาหารเช้าด้วย We Chat และใช้แอปเพื่อสั่งอาหารกลางวันในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา พวกเขาทำงานในออฟฟิศที่ใช้ประโยชน์จากบล็อกเชน ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และคลาวด์ซึ่งทำงานประสานกันอย่างราบรื่น พวกเขายังจองร้านอาหารสำหรับมื้อค่ำทางอินเตอร์เน็ตและจับจ่ายซื้อสินค้าในช่วงกลางดึกขณะอยู่บนรถไฟ

ทั้งหมดนี้เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ในปี 2560 ภูมิภาคเอเชียมีการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือใหม่เพิ่มขึ้นถึง 319 ล้านครั้ง ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับยุโรปที่มีการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือใหม่แค่ 5 ล้านครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน การที่สมาร์ทโฟนเข้าถึงเครือข่าย 4G ความเร็วสูงในภูมิภาคนี้ทำให้ผู้บริโภคในเอเชียเข้าสู่โลกออนไลน์ได้ถึงแม้พวกเขาไม่มีหรือไม่สามารถมีบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตภายในบ้านก็ตาม

จากการที่สมาร์ทโฟนได้เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตของผู้คน วัฒนธรรม และสังคมไปอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงยังคงดำเนินไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะเป็นความท้าทายของผู้มีหน้าที่ด้านการกำหนดนโยบายและภาคธุรกิจซึ่งต้องช่วยกันทำให้เกิดระบบดิจิตัลโดยรวมอย่างต่อเนื่อง

ทำความเข้าใจกับระบบนิเวศดิจิตัลของเอเชียที่กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ผู้บริโภคในเอเชียเปิดรับการนำเทคโนโลยีมาใช้มากกว่านักช้อปปิ้งในตลาดอื่นๆ บริษัทวิจัย KantarTNS ระบุว่าจากการสำรวจ (ปี 2560) พบว่าร้อยละ 77 ของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกที่สามารถใช้อินเตอร์เน็ตในช่วงที่ทำการสำรวจจับจ่ายซื้อสินค้าครั้งล่าสุดผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เทียบกับร้อยละ 61 ของผู้บริโภคทั่วโลกและร้อยละ 24 ในยุโรป เอเชียยังเป็นผู้นำการชำระเงินออนไลน์จากการสำรวจของบริษัท KPMG โดยมีการทำธุรกรรมออนไลน์โดยเฉลี่ย 22.1 ครั้งต่อคนต่อปี ขณะที่คนทั่วไปในภูมิภาคอเมริกาเหนืออยู่ที่ 19 ครั้งต่อปี

เงินทุนหมุนเวียนจากนักลงทุนในภูมิภาคชี้ว่า การค้าขายออนไลน์ในเอเชียเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น Tech in Asia รายงานว่า การร่วมลงทุนในกลุ่ม Startup ด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงแห่งเดียวเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวในปี 2560 มีมูลค่าเกือบ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุนเหล่านี้ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 60 ในปี 2560 เพียงปีเดียว และคาดว่าจะขยายตัวจากประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560 เป็น 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2568

ในขณะที่ระบบดิจิตัลขยายตัวในเอเชีย เส้นแบ่งระหว่างโลกแห่งการจับจ่ายซื้อขายแบบเดิมกับโลกออนไลน์กลมกลืนเข้าหากันอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันสตรีในประเทศอินเดียได้เห็นโฆษณาหูฟังในหนังสือพิมพ์ ก่อนสั่งซื้อทางออนไลน์ และโพสต์รูปตัวเองขณะใช้หูฟังดังกล่าวบนโซเชียลมีเดียในคืนเดียวกัน การจะแยกแยะผลจากกิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์ของสตรีคนดังกล่าวในแต่ละวันกลายเป็นเรื่องยาก และจะยิ่งยากยิ่งขึ้นในอนาคต

ตารางที่ 1: ตัวเลขการทำธุรกรรมออนไลน์ต่อประชากรต่อปี

การเติบโตที่รวดเร็วมาพร้อมกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น

การเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบดิจิตัลในเอเชียทำให้ธุรกิจต่างๆ และผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญ       ความท้าทายในการหาวิธีที่ดีที่สุดระหว่างประโยชน์จากการพัฒนาระบบดิจิตัลกับการเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเสี่ยงบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้น

ในช่วงเริ่มต้น บริษัทต่างๆ ต้องพยายามแสวงหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อให้ผ่านสิ่งรบกวนในตลาดดิจิตัลไปให้ได้ หากไม่ทำเช่นนั้น ความเสียหายจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคจะเกิดความสับสนยิ่งขึ้นกับทางเลือกต่างๆ ในโลกออนไลน์ ความสับสนอาจทำให้ผู้บริโภคลังเลที่จะไว้ใจธุรกิจใหม่ๆ บนอินเตอร์เน็ตในช่วงเวลาที่ธุรกิจเหล่านั้นกำลังเติบโต

หน่วยงานกำกับดูแลและผู้กำหนดนโยบายในเอเชียยังมุ่งเน้นไปที่การปกป้องข้อมูลของผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลเพื่อทำให้ผู้บริโภคและธุรกิจมั่นใจในประสบการณ์ใช้งานออนไลน์ โดยเฉพาะเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นหรือช่องทางต่างๆ ที่มีอยู่เดิมนั้นมีการพัฒนาไปในทิศทางที่แตกต่างกัน

ตาราง 2 การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในแต่ละภูมิภาค

WEARESOCIAL,2018

ผู้นำรัฐบาลของแต่ละประเทศส่งเสริมการเติบโตขององค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในภาคเศรษฐกิจของประเทศตนเอง และสนับสนุนบริษัทขนาดใหญ่ในปัจจุบันที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงตลาดได้ อาทิ แพลทฟอร์มดิจิตัล Go-Jek, Line หรือ WeChat ที่ผสมผสานการบริการที่แตกต่างกันให้เป็นหนึ่งเดียว – ช่วยให้บริษัทต่างๆ และธุรกิจแบบหุ้นส่วนสามารถเข้าถึงและให้บริการผู้บริโภคได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของบริษัทเหล่านั้นทำให้เกิดความเสี่ยง เนื่องจากแพลทฟอร์มขนาดใหญ่ดังกล่าวจะมีผลต่ออินเตอร์เน็ตอย่างมาก

การพัฒนาระบบดิจิตัลอย่างไม่เท่าเทียมกันยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลอีกเรื่องหนึ่ง เพราะจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเนื่องจากไม่มีทักษะด้านดิจิตัลหรือไม่สามารถเข้าถึงได้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประชากรกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างสม่ำเสมอ การลดช่องว่างระหว่างประชากรยุคดิจิตัลกับประชากรที่ไร้ความรู้เกี่ยวกับดิจิตัลจะกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นในบางประเทศเมื่อภูมิภาคนี้พัฒนายิ่งขึ้น

การเรียนรู้จากภูมิภาคอื่นๆ

ในขณะที่ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายในภูมิภาคนี้กำลังหาหนทางรับมือกับประเด็นต่างๆ โดยไม่ให้ส่งผลต่อการเติบโต คนกลุ่มนี้ให้ความสนใจกับการปกป้องทรัพย์สินหลักที่สำคัญกว่าการพัฒนาระบบดิจิตัล นั่นคือข้อมูลของผู้บริโภค เอเชียไม่ใช่ภูมิภาคเดียวที่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ รัฐบาลทั่วโลกกำลังสร้างกฎระเบียบที่กำหนดว่าข้อมูลของผู้บริโภคควรเป็นของใคร และวิธีการใดที่จะปกป้องข้อมูลผู้บริโภคได้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเชียยังอยู่ในจุดที่ยังสามารถสังเกตและเรียนรู้จากการพัฒนากฎระเบียบในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก อาทิ กฎระเบียบว่าด้วยการปกป้องข้อมูลทั่วไป (General Data Protection Regulation) ซึ่งทำให้เกิดมาตรฐานการปกป้องข้อมูลที่สอดคล้องกันทั่วยุโรป และทำให้ผู้บริโภคในยุโรปสามารถควบคุมข้อมูลของตนเองรวมทั้งบังคับให้องค์กรต่างๆ ต้องรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคเริ่มตั้งแต่ในกระบวนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์

ในทางกลับกัน โดยรวมแล้ว เรื่องของการปกป้องข้อมูลในทวีปเอเชียมีความแตกต่างกันมากกว่าความเหมือนกัน การตัดสินว่าอะไรคือข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลที่มีความอ่อนไหวยังเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน รวมถึงการดูแลรักษาข้อมูลเหล่านั้นยังเกิดขึ้นได้ยาก บางประเทศเน้นให้เกิดการถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัย แต่บางประเทศก็มุ่งป้องกันไม่ให้ข้อมูลถูกถ่ายโอนออกนอกประเทศด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งกลยุทธหลังนี้เป็นอุปสรรคต่อการเชื่อมต่อระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ รวมทั้งกลายเป็นข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถใช้ข้อมูลที่มีความสำคัญเพื่อป้องกันการฉ้อโกง และท้ายที่สุดกลับทำให้เกิดความเสี่ยงสูงขึ้นมากกว่าลดความเสี่ยง

ผู้ที่มีหน้าที่วางนโยบายในภูมิภาคนี้ยังมีโอกาสลดความแตกต่างด้านกฎระเบียบลงได้ โดยเริ่มจากปฏิบัติกับข้อมูลในแบบเดียวกับการปฏิบัติกับทรัพย์สินที่มีค่า โดยการกำหนดวิธีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ทำให้เกิดความไว้วางใจด้วยวิธีที่โปร่งใส เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเลือกและควบคุมข้อมูลของตนเองได้ มีความปลอดภัย มีการนำข้อมูลไปใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบและชอบธรรม

ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องมีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความสำคัญของการปกป้องข้อมูลของตนเอง และศึกษาวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ สิ่งนี้จะช่วยยกระดับการเข้าถึงระบบดิจิตัล ความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิตัล และพัฒนาทักษะในเทคโนโลยีรุ่นถัดไปเพื่อให้มั่นใจว่าประชากรในเอเชียจะใช้และได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง

ท้ายที่สุด กลยุทธ์ในการวางกฎระเบียบและการปฏิบัติงานที่มุ่งสนับสนุนการทำอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดนและการส่งผ่านข้อมูลทำให้เกิดตลาดดิจิตัลเต็มรูปแบบทั่วเอเชีย และด้วยเหตุนี้ ประเทศต่างๆ ในเอเชียยังได้รับประโยชน์จากการร่วมมือกันพัฒนากรอบของกฎระเบียบร่วมกัน

ประเด็นสำคัญในบทความนี้

* หน่วยงานกำกับดูแลสามารถปกป้องข้อมูลของประชากรในประเทศควบคู่ไปกับการช่วยให้มีการแบ่งปันข้อมูลข้ามพรมแดนเพื่อส่งเสริมให้อี-คอมเมิร์ซในภูมิภาคเติบโต

* ผู้บริโภคต้องมีความรู้มากขึ้นว่าจะสามารถปกป้องข้อมูลของตนเองเหมือนกับที่พวกเขาปกป้องทรัพย์สินทางการเงินและของมีค่าส่วนตัวอื่นๆ ได้อย่างไร

* ผู้มีบทบาทด้านการกำหนดนโยบายและผู้กำกับดูแลสามารถทำให้เกิดการมีบทบาทสำคัญในเรื่องต่างๆ อาทิ สร้างความมีส่วนร่วมในระบบดิจิตัลให้มากขึ้น เพิ่มความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิตัล รวมถึงการพัฒนาทักษะในเทคโนโลยีรุ่นต่อไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...