ถ้าติดตามแนวโน้มการลงทุนของ VC, CVC หลายกองทุนก็พร้อมจะลงทุนในสตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจ Impact Tech, Climate Tech หรือที่สอดคล้องกับ ESG โดยในบทความนี้จะพาไปรู้จัก Siam Capital กองทุนเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ซึ่งก่อตั้งในปี 2564 โดยนักลงทุนชาวไทย คุณสิตา จันทรมังคละศรี
สำหรับเป้าหมายของกองทุน Siam Capital LLC คือ มุ่งลงทุนเพื่อแสวงหาผลกำไรในธุรกิจที่สร้างนวัตกรรมเพื่อผู้คนและโลกที่ดีขึ้น โดยเน้นการลงทุนในธุรกิจที่เริ่มจัดตั้งได้ไม่นานและธุรกิจที่เริ่มอยู่ตัวแล้ว (Early Stage Venture & Late Stage Venture) ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับลงทุนให้สตาร์ทอัพ เว็บไซต์ Crunchbase ให้ข้อมูลว่า Siam Capital ลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพไปแล้ว 6 ราย ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจที่ให้ความสำคัญในเรื่องความหลากหลายจำนวน 2 ราย
ในงาน Exclusive Dinner with Siam Capital คุณสิตาออกตัวก่อนว่า เธอไม่ได้เป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่เป็นคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการเป็นนักลงทุนก็สร้างโอกาสแห่งความมั่งคั่งได้ โดยเฉพาะการลงทุนในบริษัทที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน, ESG หรือสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อร่วมลดความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech) ซึ่งถ้าพิจารณาในช่วงปี 2015 - 2021 จะพบข้อมูลที่บ่งชี้ได้ว่า Climate Tech เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตและได้เป็นยูนิคอร์นหลายราย นอกจากนี้ มูลค่าตลาดของธุรกิจในกลุ่มนี้ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ
“สำหรับ Siam Capital เราเน้นลงทุนในธุรกิจ (Private Sector) ที่ใส่ใจทั้ง 3 เรื่อง คือ ความยั่งยืน ผู้บริโภค และ เทคโนโลยี หรือในความหมาย นวัตกรรมที่ทำให้โลกและชีวิตผู้คนดีขึ้น โดยเรามีทีมงานที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจซึ่งมีมูลค่าเป็นพันล้านดอลลาร์ เราใช้เงินลงทุนไปแล้วเกือบ 40 ล้านดอลลาร์ มากพอ ๆ กับเงินลงทุนจากบริษัทที่เป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลก” คุณสิตากล่าว
จากนั้น คุณสิตาบอกว่า แม้กองทุนอื่นที่ก่อตั้งมานานและมีประสบการณ์การลงทุนในด้านนี้จะลงทุนเป็นตัวเงินจำนวนมากถึงราว 78% ของเงินทุนที่มีการระดมทุนได้ แต่การที่ Siam Capital ยังถือเป็นผู้จัดการกองทุนหน้าใหม่ในตลาดและเลือกลงทุนในธุรกิจที่แตกต่างจากกองทุนอื่น โดยมุ่งลงทุนเฉพาะผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนและสภาพภูมิอากาศจาก ‘วิถีการบริโภคแบบใหม่’ จึงมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ดังนี้
ด้านการบริโภคแบบยั่งยืน - ผู้คนจะใส่ใจเรื่องอาหารยั่งยืนมากขึ้น พร้อมกันนี้ก็จะใส่ใจเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน (Conscious Consumption) มากตามไปด้วย
ด้านการบริโภคพลังงานจากแหล่งที่ยั่งยืน - ภาพของโครงสร้างพื้นฐานประเทศกำลังเปลี่ยนไปจากการบริโภคพลังงานที่เปลี่ยนไป เช่น การที่ไทยขึ้นเป็นผู้นำในตลาด EV ของภูมิภาคอาเซียน
ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน - จะมีการปรับใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอีกมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเงิน ประกัน ค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ ซึ่งโครงสร้างนี้เองที่จะทำให้เกิดระบบใหม่ที่ยั่งยืน
คุณสิตากล่าวถึงศักยภาพของประเทศไทย ว่ามีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สำคัญของเอเชีย จากการเปิดรับเชื่อมต่อข้ามพรมแดน การร่วมมือกัน และการวางกลยุทธ์ที่มีรากฐานมาจาก Synergy และจากประเด็นนี้ ผู้ก่อตั้ง Siam Capital จึงเผยยุทธศาสตร์ด้านพันธมิตรและการลงทุนเอาไว้ 3 ด้าน ดังนี้
เป็นผู้ร่วมลงทุนในธุรกิจไทย นำองค์ความรู้และประสบการณ์การลงทุนในเวทีนานาชาติมาช่วยต่อยอดธุรกิจของสตาร์ทอัพไทย เพื่อให้สตาร์ทอัพไทยสามารถเติบโตและขยายตลาดได้อย่างยั่งยืน
เป็นพาร์ทเนอร์ในการทำ Synergy โดยนำโซลูชันจากบริษัทที่ Siam Capital ลงทุนเอาไว้ มาปรับใช้ในประเทศไทย ทำให้เกิดนวัตกรรมขั้นสูงที่ทำตลาดข้ามพรมแดนระหว่างไทยกับ SEA ได้ ตลอดจนการวางกลยุทธ์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้แก่ลูกค้าในไทย
เป็นสะพานเชื่อมด้านนวัตกรรมให้แก่ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดระบบการเชื่อมต่อทางการค้าและผลักดันให้ตลาดไทยเติบโตขึ้น สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มียูนิคอร์นเกิดใหม่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่ Thailand 4.0
ผู้ก่อตั้ง Siam Capital อธิบายเพิ่มว่า ผู้บริโภคเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญของแทบทุกสิ่งอย่างบนโลกใบนี้ พร้อมยกตัวอย่างบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Tesla ที่ผลิต EV เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค จนบริษัทมีมูลค่าทางธุรกิจสูงเป็นประวัติศาสตร์ของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า Amazon ธุรกิจค้าปลีกที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากการทำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งลูกค้าที่จับจ่ายใช้สอยก็คือผู้บริโภคนั่นเอง
"เราเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงจะถูกขับเคลื่อนโดย ‘ผู้บริโภค’ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แล้วมันมีความหมายอย่างไรต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่รอบตัวของเรา? เราคิดว่าวิธีเดียวที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนคือ เราควรลงทุนในบริษัทที่ช่วยแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศหรือด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมกันรณรงค์ให้มีการใช้โซลูชันส์ที่ส่งเสริมความยั่งยืนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"
อย่างไรก็ตาม เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน คุณสิตาย้ำว่า โลกยังต้องการความร่วมมืออย่างมากจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนผู้อยู่ในระบบนิเวศทั้งไทยและเทศ และในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกหรือเกิดจากความจำเป็น ผู้บริโภคก็ต้องการเปลี่ยนวิธีที่จะมีส่วนร่วมในด้านความยั่งยืน ในทุกด้านของชีวิต และสิ่งนี้จะเกิดขี้นกับผู้บริโภคในทวีปต่าง ๆ จนเกิดเป็น ‘โครงสร้างพื้นฐานการบริโภคยุคใหม่’ ที่ต้องติดตามดูว่า ผู้บริโภคซื้ออะไร อย่างไร ใช้เวลาไปกับอะไร ส่วนภาคธุรกิจเองก็ต้องเปลี่ยนวิธีการผลิต เพราะผู้บริโภคสนใจด้วยว่า สินค้านั้นทำมาจากอะไร ประกอบการตัดสินใจซื้อ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด