เมื่ออากาศและมลพิษทางอากาศกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง เมื่อมลพิษอย่างฝุ่น PM 2.5 เข้ามาส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนเมือง และหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษนี้คือ ภาคการขนส่งและจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหามลพิษร้ายชนิดนี้ ร่วมวงสนทนากับ Techsauce และ BOSCH ใน Exclusive Roundtable Talk: How to Make Clean Public Transport Possible? บทสนทนาสุดพิเศษว่าด้วยเรื่อง “การนำพาอากาศสะอาดสู่ภาคการขนส่งไทย” พร้อมพูดคุยไปกับ
คุณวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการโครงการ EGAT Proventure การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
คุณพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ
คุณจักรกฤช ตั้งใจตรง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก
คุณชยุตม์ จัตุนวรัตน์ Investment Manager & Venture Lead-Incubation, PTT Public Company Limited
คุณนฤมล นวลปลอด Head of Strategy, Marketing and Sales, BOSCH Mobility Solutions SEA
คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO และ Co-founder บริษัท เทคซอส มีเดีย เป็นผู้ดำเนินรายการ
คุณพันศักดิ์ กล่าวว่า มลพิษทางอากาศ เกิดมาจากหลาย ๆ แหล่งกำเนิด ดังนี้
ดังนั้น สัดส่วนจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ และเวลา เพราะแต่ละแหล่งกำเนิดนั้นจะเกิดในช่วงเวลาที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น มลพิษแบบข้ามพรมแดนมักจะเกิดขึ้นในช่วงมิถุนายนที่เป็นช่วงหน้าแล้ง และมักจะมาจากประเทศเพื่อนบ้านแถบทางใต้ ทั้งนี้ก็จะขึ้นอยู่กับทิศทางของลมเช่นกัน เช่นเดียวกันในประเทศไทยที่มักจะมีการเผาวัตถุที่เหลือทิ้งทางการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง เพราะฉะนั้นมลพิษส่วนใหญ่ที่เป็นสัดส่วนหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเราจะมาจากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทที่อยู่กับที่ และแหล่งกำเนิดประเภทเคลื่อนที่ได้อย่างการจราจร
สำหรับภาคอุตสาหกรรม อย่างที่ทราบกันดีว่าจะไม่มีกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในตัวเมืองมากนัก เพราะฉะนั้น มลพิษที่คนเมืองต้องเจอตลอดเวลามักจะมาจากการจราจรเป็นส่วนใหญ่
สำหรับเจ้าของระบบ AQI Data ทาง คุณพันศักดิ์ กล่าวว่า ระบบติดตามสภาพอากาศนี้มีทางสถานีตรวจสอบสภาพอากาศในการเก็บข้อมูล และแจกจ่ายไปสู่ประชาชน ทั้งของทางกรมควบคุมมลพิษเองก็มีสถานีกว่า 70 แห่ง ในกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายในการตรวจสอบ อย่างในกรุงเทพฯ ก็มีมากกว่า 50 สถานี โดยมีหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบสภาพอากาศ ซึ่งข้อมุลทุกอย่างจากแต่ละสถานีจะถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูล เพื่อนำเอามาใช้รายงานให้กับ ผู้ศึกษาวิจัย หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ใช้ในการประเมินคุณภาพโครงการของการใช้รถ EV รวมทั้งใช้รายสภาพอากาศรายวันให้กับประชาชนทุกคนที่คอยติดตามคุณภาพอากาศด้วย
โดยข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศนี้จะถูกรายงานไปในหลายแพลตฟอร์ม ทั้งแอปพลิเคชัน เฟซบุ๊คแฟนเพจ ของกรมควบคุมมลพิษ และของหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ ในแบบรายชั่วโมง หรือ Near Real-time ฉะนั้นก็สามารถพูดได้ว่าข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลของประชาชนด้วยเช่นกัน เพราะมีการผลิตขึ้นมาจากภาษีของประชาชน เพื่อรายงานให้ประชาชน จึงถือเป็นการแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน
ในส่วนของ คุณจักรกฤช กล่าวถึง กระทรวงคมนาคม ว่ามีแผนใหญ่ด้านการพัฒนาการขนส่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี (61-80)” เพื่อสร้างให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากพอในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งต้องมีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการนำนวัตกรรม หรือรถรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในจุดนี้ นอกจากนี้การขนส่งที่มีประสิทธิภาพประชาชนจะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค และเท่าเทียม ดังนั้น กรมการขนส่งทางบก และกระทรวงคมนาคม พิจารณาว่าจะต้องนำเอานวัตกรรม และการบริหารจัดการแบบใหม่เข้ามาช่วย
สำหรับบทบาทในการจัดการมลพิษทางอากาศในภาคการขนส่งทางถนนของกรมการขนส่งทางบกนั้นจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงก่อนที่รถจะจดทะเบียน ทางกรมควบคุมมลพิษ และ สมอ. จะมีการกำหนดมาตรฐาน และตรวจสอบระดับมลพิษในเครื่องยนต์แต่ละประเภท รวมทั้งมีการตรวจสภาพรถด้วยเช่นกัน
ช่วงหลังจากมีการจดทะเบียน ทางกรมการขนส่งทางบกจะมีการคอยตรวจวัดค่าควันดำจากยานพาหนะ โดยเฉพาะรถที่ใช้ในการบรรทุกสินค้า ซึ่งทำได้ทั้งที่กรมการขนส่งทางบก และ ณ สถานตรวจสภาพรถต่าง ๆ ริมถนน และจะมีการดำเนินคดีสำหรับรถที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐานกำหนด
คุณจักรกฤช กล่าวว่า ณ ตอนนี้หน่วยงานของทางภาครัฐมีนโยบายอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนรถที่มีอยู่เดิม จะมีหน่วยงานมากำกับดูแลแบบที่กล่าวไปข้างต้น และในอนาคตจะมีส่วนของรถพลังงานไฟฟ้าขึ้นมา ทางกรมการขนส่งทางบกก็เป็นอีกหนึ่งคณะกรรมการยานยนต์แห่งชาติ
โดยทางกรมการขนส่งทางบกก็ได้มีการออกมาตรการขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าออกมา โดยได้มีการปรับปรุงเรื่องของการคิดอัตราภาษีประจำปี ซึ่งจะมีการลดอัตราภาษีให้ตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ cc ของเครื่องยนต์ ดังนั้น ถ้ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อย หรือมี cc ต่ำ อัตราภาษีก็จะต่ำ โดยภาษีตรงนี้จะนำไปใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมถนนส่วนที่มีความเสียหายจากการเดินรถ หรือจะกล่าวโดยง่าย คือ ถ้ารถมีการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือถนน ก็จะมีการเก็บภาษีแพงขึ้นไปตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถข้ามขั้นจากการเปลี่ยนเครื่องยนต์สันดาป หรือ Internal Combustion Engine: ICE ไปเป็น EV เลย เพราะยังทำได้ยาก เนื่องจากมีกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน และผลิตรถยนต์ที่ยังต้องอาศัยกันและกัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงไปเลยมันไม่สามารถทำได้แบบทันทีทันใด จึงอาจจะต้องมีการโอนอ่อนต่อกัน อย่างเช่น การเปลี่ยนผ่านจากเครื่อง ICE ไปเป็น Hybrid Electric Vehicle (HEV) และไปเป็น Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) จนสุดท้ายจะเป็น Battery Electric Vehicle (BEV) เป็นผลให้รถเครื่อง ICE มีการเก็บภาษีสูงที่สุด รองมาเป็น HEV, PHEV และ BEV จะเก็บน้อยลงมาตามลำดับของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
อีกทั้งยังมีการวางแผนเบื้องต้นว่า ในช่วง 3-5 ปีแรกของการซื้อรถ EV จะมีการลดภาษีให้กับรถประเภทนี้ (จะต้องมีการจดทะเบียนในช่วงก่อนปี 2573) ซึ่ง ณ ตอนนี้มีการเร่งแก้ไข พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2564-2565 ทั้งนี้ต้องการสนับสนุน และกระตุ้นให้มีการใช้ยานยนต์ในประชาชนทั่วไป และในภาคของการขนส่งสาธารณะด้วยเช่นกัน
ในส่วนนี้ทาง คุณวฤต ได้ชี้แจงว่า ทาง กฟผ. ในสังกัดของกระทรวงพลังงาน รวมทั้งบอร์ด EV แห่งชาติก็ได้มีการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการขนส่งที่เน้นในส่วนของพลังงานไฟฟ้า โดยได้มีการทำ งานวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเน้นหลักความรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการทำงานวิจัยร่วมกับ สวทช. ในการดัดแปลงรถเก่า และเปิดอบรมให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ อีกทั้งมีการจัดทำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เป็นผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงานเบอร์ 5 โดยได้มีการนำเอารถจักรยานยนต์ดังกล่าวนี้ไปลองให้ใช้งาน รวมทั้งมีการเพิ่มจุด Swap Battery ในพื้นที่ใกล้เคียง และมีการเพิ่มสถานีชาร์จในชื่อว่า “EleX by EGAT” โดยแบ่งผู้ใช้งานออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่ม Network คือ เมื่อผู้ใช้งานเดินทางไกล ในทุก ๆ 200 กิโลเมตรจะมีจุดชาร์จให้บริการ โดยจะวางในสถานที่ เช่น ปั๊มน้ำมัน หรือพื้นที่ของพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ
กลุ่ม Community คือ การจัดทำ และพัฒนาจุดสถานีชาร์จจากหลาย ๆ ฝ่าย
กลุ่ม Freight Operator คือ กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องการจะเปลี่ยนไปใช้งานรถ EV และทาง EGAT ก็จะไปช่วยให้บริการสถานีชาร์จ
นอกจากนี้ทาง EGAT ยังเป็นผู้จัดจำหน่าย และติดตั้งหัวชาร์จของบริษัท Wallbox ซึ่งจะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจะชาร์จรถที่บ้าน ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการพัฒนาหัวชาร์จอยู่ ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้จะมีการนำเอาหัวชาร์จตัวนี้ออกมาใช้อย่างแน่นอน
สำหรับการใช้งานสถานีบริการจุดชาร์จต่าง ๆ ทาง EGAT ก็มีการพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับค้นหา และใช้บริการสถานีชาร์จ โดยประชาชนสามารถค้นหาได้ทั้งสถานีของ EGAT เอง หรือสถานีผู้ให้บริการอื่น ๆ อย่าง ปตท. หรือ EA ก็ได้เช่นกัน และเมื่อมีการใช้ EV เพิ่มมากขึ้น และมีสถานีบริการเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ก็ต้องมีการปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ในส่วนนี้ทาง คุณชยุตม์ กล่าวถึง เป้าหมายของทาง ปตท ว่า ต้องการที่จะสนับสนุนภาคการขนส่งทางบกให้หันมาใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาด โดยได้ศึกษาเรื่องการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV มาโดยตลอด และควรจะมีการสนับสนุนให้คนใช้ยานยนต์ EV กันมากขึ้น และด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างในตอนนี้ที่ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป และหันมาสนใจใช้งาน EV ดังนั้น ทาง ปตท จึงได้จัดให้มีสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไปประมาณ 30 สถานี และมีแผนขยายจุดบริการภายในปี 2565 โดยจะพัฒนาให้มีจุดชาร์จไฟบริการกว่า 300 จุดในถานีบริการที่เป็นทางผ่านบนถนน และจะขยายไปนอกสถานีอีกกว่า 200 จุดเช่นกัน นอกจากนี้จะมีการเพิ่มสถานีสำหรับเปลี่ยนแบตเตอรี่ของจักรยานยนต์ไฟฟ้า (Battery Swap Network for E-motorcycle) ไปด้วยอีก 20 ตู้ทั่วกรุงเทพมหานครภายในปีนี้ ทั้งนี้จะมีการขยายออกไปอีกในอนาคต
สำหรับ คุณนฤมล กล่าวว่า BOSCH เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มาเป็นเวลากว่า 130 ปี และสิ่งหนึ่งที่ทาง BOSCH ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และมีการพัฒนาอยู่ตลอด คือ ระบบส่งกำลังของยานยนต์หรือ Powertrain System เนื่องจาก BOSCH มีสาขาอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกจึงทำให้บริษัทฯ เข้าใจในระบบการขนส่งและยานยนต์ โดยมี วิสัยทัศน์เรื่องการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน (Sustainable Mobility) ที่เป็นหนึ่งความท้าทายของหลายภาคส่วนทั่วโลก ทาง BOSCH จะมุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนยานยนต์ที่ปลอดภัย รวมทั้งช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น
จากงานวิจัยทางการตลาดของ BOSCH พบว่า ประมาณ 67% ของยานยนต์รุ่นใหม่ยังจะมีการขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่จนถึงปี 2030 จุดนี้ทำให้ BOSCH มองไปถึงเรื่อง ความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (Technology Neutral) ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีจะมีความหลากหลายมากขึ้น และความเป็นกลางทางเทคโนโลยีนี้จะมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชนในอนาคต
BOSCH ยังมีการพัฒนาระบบส่งกำลังอีกหลากหลายแบบ เช่น ระบบ Modern Diesel หรือระบบดีเซลสะอาด ระบบ Hybrid ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ได้ถึง 15% รวมทั้งมีการพัฒนาระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าแบบ 100% อีกทั้งต่อยอดส่วนนี้ไปพัฒนาเป็นระบบ Fuel cell อีกด้วย โดยระบบเหล่านี้จะมีการพัฒนาให้ใช้กับยานพาหนะได้ทุก ๆ ประเภท ทั้งรถยนต์โดยสาร 4 ล้อ รถยนต์โดยสารเพื่อการพาณิชย์ รถบรรทุก รวมทั้งรถจักรยานยนต์และรถจักรยาน
ทั้งนี้ BOSCH เชื่อว่าแนวทาง Technology Neutral นี้ จะช่วยให้แต่ละประเทศก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตได้อย่างราบรื่นเพราะแต่ละภูมิภาคมี Roadmap ที่แตกต่างกัน อีกทั้งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนของ BOSCH ยังมีส่วนช่วยในการช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศ และลดฝุ่น PM 2.5 ด้วยเช่นกัน
ทางด้านของ คุณวฤต มองว่า ตอนนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่มีการวางไว้ว่าภายในปี 2050 และจีน ภายในปี 2560 จะมีการจัดการกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้อย่างสิ้นเชิง และสิ่งที่เห็นได้ตามมาคือ บริษัทที่มาจากประเทศเหล่านี้กำลังวิ่งหาพลังงานสะอาด และเป้าหมายแรกของพวกเขาคือ ภายในปี 2025 ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะมีการประกาศภายในสิ้นปีนี้
สำหรับในประเทศไทย ภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซ CO2 มากที่สุดคือ ส่วนการผลิตไฟฟ้า โดยในอนาคตเมื่อมีการปรับเปลี่ยนไป ทางภาคของการขนส่งก็จะมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และปริมาณการปล่อย CO2 ก็จะมาเพิ่มที่ฟากของการผลิตไฟฟ้าขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงต้องมีการนำเอาพลังงานทดแทนเข้ามา ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้มีการดำเนินการ 3 ส่วน คือ
เพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยจะเพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้าบริเวณอ่างเก็บน้ำ
สร้าง Ecosystem แบบ Grid Modernization คือ การทำให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่น โดยจะมีการตั้งศูนย์พยากรณ์พลังงานหมุนเวียนที่ผันผวน ปรับแหล่งผลิตไฟฟ้าให้พร้อมรับกับความผันผวนต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนา Energy Storage และในอนาคตจะมีการศึกษาเรื่องการ Reuse แบตเตอรี่เก่าของรถยนต์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า
สร้าง Ecosystem เชิงการบริหารจัดการ โดยจะสร้างกลไกให้กับบริษัทจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในบ้านเราได้ซื้อไฟจากเราไปใช้ได้
ในด้านของ คุณชยุตม์ กล่าวว่า มีหลายคน หลายบริษัทที่ต้องการจะใช้พลังงานสะอาด แต่ยังหาไม่ได้ ทาง ปตท ก็ได้มีการจัดโครงการขึ้นมา เพื่อให้สามารถหาพลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น โครงการนี้มีชื่อว่า ReAcc - Renewable Energy Acceleration Platform ซึ่งโดยปกติแล้วเราไม่สามารถทราบได้เลยว่าไฟฟ้าที่ซื้อมาจากแหล่งไหน ซึ่งเป็นได้ทั้งแหล่งที่ไม่สะอาด และสะอาด โดยเป้าหมายของเราคือ ต้องการให้ผู้ซื้อสามารถเลือกได้ด้วยตนเองว่าจะซื้อจากแหล่งไหน และแพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวกลางบอกว่าไฟฟ้ามาจากแหล่งไหน และเป็นพลังงานสะอาดหรือไม่ อีกทั้งทาง ปตท ก็หวังว่าแพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน สำหรับโครงการนี้ก็จะมีการต่อยอดไปถึงการให้คนเลือกได้ว่าต้องการชาร์จไฟ EV จากแหล่งใด เป็นพลังงานสะอาดหรือไม่ เพราะในปัจจุบันนี้ยังไม่มีความหลากหลายพอให้คนเลือกได้ แต่ในอนาคตเราหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนให้วงการใช้ EV และพลังงานสะอาดขยายกว้างขึ้น
ในฟากของผู้ผลิตอย่าง BOSCH ทาง คุณนฤมล ก็กล่าวว่า ทาง BOSCH ก็มีการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดด้วยเช่นกัน โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา BOSCH ก็ได้ทุ่มเงินลงทุนกว่า 5 พันล้านยูโรทั่วโลก เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบยานยนต์ไฟฟ้า และได้มีการทำโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับระบบส่งกำลังไฟฟ้ามาแล้วกว่า 90 โครงการ ทำให้ปัจจุบันนี้มีรถยนต์ที่ใช้ระบบส่งกำลังไฟฟ้าของ BOSCH วิ่งอยู่บนถนนกว่า 2.5 ล้านคันทั่วโลก
นอกจากระบบส่งกำลังแล้ว ระบบเบรกในรถยนต์ก็ทำให้เกิด PM 2.5 เช่นกัน จากตรงนี้ก็ได้มีการนำเอาเทคโนโลยี Regenerative Breaking System เข้ามาพัฒนาต่อยอด โดยเทคโนโลยีตัวนี้จะใช้งานในยานยนต์ที่เป็น Hybrid และ EV นอกจากจะทำให้การเบรกเป็นการช่วยชาร์จไฟแล้ว ยังช่วยลดค่าการเกิดฝุ่นได้ถึง 95%
นอกเหนือจากเทคโนโลยียานยนต์ก็ยังมีโปรเจกต์อื่น ๆ ที่มาเป็นตัวช่วยในการลดมลภาวะ ด้วยการนำ AI และ IoT เข้ามาผนวกทำให้มีการคิดค้นนวัตกรรมอย่าง กล่องตรวจสอบสภาพมลภาวะ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประมวล วิเคราะห์และใช้ระบายรถในที่ที่มีมลภาวะสูง จากการศึกษาพบว่าทั่วโลกมีตัวเลขเฉลี่ยการวนหาที่จอดรถประมาณ 30 นาที ดังนั้นโซลูชัน Community Based Parking ของ BOSCH จะช่วยทำให้การหาที่จอดรถง่ายขึ้น และลดมลพิษจากการวนหาที่จอด
คุณพันศักดิ์ กล่าวว่า ความสำเร็จในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะมลพิษนั้นเกิดมาจากหลายส่วน หลายปัจจัยตามที่อธิบายไปข้างต้น ดังนั้น จะต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมของฝั่งผู้ที่มีการเผาทำลายในที่โล่ง และให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพื่อลดมลภาวะ เพราะเทคโนโลยีจะเป็นตัวสนับสนุนที่ดีในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของทั้งผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และผู้บริโภค
คุณจักรกฤช ได้ฝากไว้ว่า ถ้าเราสามารถบำรุงรักษารถ และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาทดแทนรถเดิมได้ก็เป็นเรื่องที่ดี และสุดท้ายนี้ขอฝากให้ทุกคนหันมาดูแลรถให้ดี เพราะมันจะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา อีกทั้งจะปล่อยมลพิษออกมามากด้วยเช่นกัน ส่วนด้านเทคโนโลยีทางกรมการขนส่งทางบกก็จะดำเนินการเต็มที่เพื่อนำเอาเทคโนโลยีเข้ามา
ในส่วนของ คุณวฤต ก็ได้มีการเชิญชวนให้หันมาใช้รถ EV กันมากขึ้น ทั้งนี้การใช้ EV จะมีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงต่อกิโลเมตรที่ถูกกว่าการใช้น้ำมัน 30-40% และราคาของตัวรถก้จะมีราคาที่ใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ ICE หากใครที่สนใจเริ่มต้นใช้งาน EV สามารถเข้าไปพูดคุยปรึกษากับทาง EGAT ได้โดยตรง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับภาคเอกชน ในส่วนของ ปตท คุณชยุตม์ ได้ชี้แจงว่า การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีมาเป็นพลังงานไฟฟ้า นั้นเหมือนกับเป็นการเปลี่ยนตำแหน่งการเผาไหม้ไปสู้ภาคการผลิตไฟฟ้าแทนการเผาไหม้ที่รถยนต์ เพราะฉะนั้น 1 โซลูชัน ก็ไม่สามารถแก้ได้ทุกอย่าง 1 องค์กรก็ไม่สามารถแก้ได้ทุกปัญหา จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุก ๆ ส่วน เพื่อมาต่อยอดความคิด ค้นหาวิธีการแก้ปัญหาหลาย ๆ แบบ
และส่วนของ คุณนฤมล มองว่า ความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านไปเป็นสังคมพลังงานไฟฟ้า ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยความท้าทายจุดแรกมาจากความต้องการการใช้รถใช้ถนนที่หลากหลาย ทั้งรถโดยสารสาธารณะ การใช้รถส่วนตัว หรือการใช้ยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ และการเปลี่ยนผ่านในแต่ละภูมิภาคใช้ระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน มาจากปัจจัยทั้งการบังคับใช้กฎหมาย สภาพเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการขอความร่วมมือกับภาคการขนส่งเอกชนให้มีการเปลี่ยนผ่านทันทีเลยอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย
ดังนั้น ความร่วมมือกันแบบบูรณาการของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนเรื่องอากาศสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการตระเตรียมของทางภาครัฐ รวมถึงการประชาสัมพันธ์แผนงานต่าง ๆ ควรทำให้เกิดความชัดเจนในวงกว้าง เช่น แผนการใช้งานยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือการคาดการณ์ความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะช่วยให้ฝั่งของผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และภาคประชาชนเองได้มีการเตรียมตัว และประเมินความพร้อมในการเปลี่ยนผ่าน หรือหากการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า 100% ใช้เวลา อาจมองว่า เราจะพัฒนาคุณภาพอากาศด้วยเทคโนโลยี หรือสิ่งที่เรามีอยู่ในมือตอนนี้ได้อย่างไร เพื่อเป็นตัวช่วยระหว่างที่ประชาชนรออากาศสะอาดในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด