ในเวลานี้ Blockchain นับเป็นเทคโนโลยีที่ทุกสายตากำลังจับจ้อง เพราะสิ่งที่ Blockchain ผลักดันอยู่เบื้อหลังล้วนแล้วแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวงการต่างๆ ทั้งสิ้น ด้วยผลกระทบขนาดนี้จึงเป็นที่มาของประเด็นในงานสัมมนา Faster Future Forum 2018 ในหัวข้อ UNLOCK BLOCKCHAIN: The World DISRUPTIVE Technology ที่จัดโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ Digital Ventures เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา
สำหรับงาน Faster Future Forum จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งรอบนี้ทวีความเข้มข้นด้วย Speaker ระดับโลกนำโดย Brad Garlinghouse CEO ของ Ripple โดยทีมงาน Techsauce ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ จึงขอถ่ายทอดบทสรุปเนื้อหามาฝากทุกท่านกัน
เริ่มต้นด้วยการแนะนำถึง Blockchain อย่างลึกซึ้งและครบทุกแง่มุมจากคุณพลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการ Corporate Venture Capital ของ Digital Ventures ในหัวข้อ 'Blockchain Change the World'
Blockchain เป็นบัญชีที่ข้อมูลถูกบรรจุในกล่องเรียงต่อกันไปเรื่อยๆ จุดแข็งที่ทำให้ Blockchain ถูกพูดถึงมากคือคุณสมบัติการแบ่งปันอย่างเท่าเทียม ซึ่งแก้ปัญหาด้านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่จากการรวมศูนย์ได้ อีกทั้งยังป้องกันการแก้ไขและสามารถตรวจสอบย้อนหลังอย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน Blockchain ถูกใช้เพื่อแก้ปัญหาความน่าเชื่อถือที่ต้องอาศัยคนกลางอันเป็นการรวมศูนย์ซึ่งต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อจัดการจำนวนมาก โดยพัฒนาเป็น Smart Contract ที่อาศัยคุณสมบัติป้องกันการแก้ไขและตรวจสอบได้มายืนยันความถูกต้องแทนคนกลาง แก้ปัญหาจากการพึ่งพาบุคคล และยังสร้างเป็น Digital Identity ที่นำข้อมูลด้านอัตลักษณ์ใส่ลงใน Blockchain สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้แม่นยำ ซึ่งประยุกต์ใช้ได้ทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาครัฐ การแแพทย์ ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน
และเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ Cryptocurrency และ Initial Coin Offering หรือ ICO ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่า Blockchain คือเทคโนโลยีเบื้องหลังของ Cryptocurrency ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1,500 ชนิด และมีมูลค่ามากกว่า 3.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มมูลค่าขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลหลายประเทศเริ่มเฝ้าระวัง
หลังจากที่คุณพลภัทรแนะนำ Blockchain ให้ผู้เข้าฟังได้ทราบกันแล้ว ก็ถึงคราวของ Brad Garlinghouse ที่จะมาขยายความเข้าใจเรื่อง Blockchain ให้ลึกซึ้งขึ้นในหัวข้อ Fintech and Blockchain on the Rise โดยเริ่มจากการแนะนำว่า Ripple เป็นบริษัทให้บริการด้าน Payment โดยเฉพาะ ซึ่ง Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ Ripple เลือกใช้เป็นเครื่องมือตอบโจทย์แก่ผู้รับบริการ โดยพัฒนาเป็นทั้ง Platform สำหรับธนาคารและสร้าง Digital asset ขึ้นมาใช้เอง
Brad แชร์ว่าการอยู่ในแวดวงเฉพาะอย่างมากเกินไป อาจไม่สามารถมองเห็นแนวทางการแก้ปัญหาได้ทะลุปรุโปร่งเท่าที่ควร เช่นหากมาจากแวดวงธนาคารก็อาจจะนึกไม่ออกว่าเครื่องมืออย่าง Blockchain แก้ปัญหาอะไรให้ได้ แต่หากมาจากแวดวงนักพัฒนาก็จะพยายามเสนอว่า Blockchain ทำอะไรได้ แต่ไม่สอดคล้องกับปัญหา ดังนั้น Ripple จึงผสานความเข้าใจในปัญหาของแวดวงธนาคาร ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี และทำตามกติกาที่ควรจะเป็นของโลก Ripple จึงผลักดันให้ Blockchain เป็นเครื่องมือสำหรับวงการ Fintech ได้สำเร็จ
ต่อกันที่มุมมองของ Brad ต่อ Blockchain เขาเล่าว่าการคาดเดาอนาคตของ Blockchain เป็นเรื่องยาก เหมือนที่เขาประสบตอนเห็น Internet ครั้งเมื่อ 20 ปีก่อน เขายังยืนยันว่า Blockchain ก็เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่มีศักยภาพไม่แพ้ Internet แต่จะมีคุณค่าแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้มันแก้ปัญหาได้อย่างไร แน่นอนว่าราคาของ Token และ Cryptocurrency ก็ควรจะสะท้อนคุณค่านั้นด้วย
Blockchain เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่มีศักยภาพไม่แพ้ Internet แต่จะมีคุณค่าแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้มันแก้ปัญหาได้อย่างไร - Brad Garlinghouse CEO of Ripple
แต่กระนั้น ทุกคนก็ไม่จำเป็นต้องเข้าใจระบบของ Blockchain ทั้งหมด เหมือนที่เราไม่เข้าใจระบบเบื้องหลังของ e-Mail และ Internet แต่ก็ควรจะมองเห็นจุดแข็งของมัน และนำมันมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงให้ได้ ทั้งยังย้ำว่าทุกวงการไม่จำเป็นต้องใช้ Blockchain หากมีเครื่องมือที่เหมาะสมกว่า อย่างเช่น Data Sceince และ AI ซึ่งเหมาะกับงานข้อมูลเนื้อหาที่เฉพาะเจาะจงลงไป
หลังจากนั้น Brad ก็เล่าถึง Interledger Protocol เทคโนโลยีที่พัฒนาโดย Ripple ซึ่งทำงานเชื่อมโยง Blockchain หลายๆ สายเข้าหากัน และสร้างการแลกเปลี่ยนข้อมูลอันไร้รอยต่อ ระบบนี้สามารถพัฒนามาใช้กับการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศหรือการแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นเงินสกุลดิจิตอลได้ ทั้งยังมีค่าดำเนินการที่ถูกลงมาก เพราะในอนาคต การแลกเปลี่ยนเงินจะไม่ได้จำกัดอยู่ที่หลักสิบล้านร้อยล้านต่อครั้ง แต่อาจเล็กถึงเพนนีหรือสตางค์หรือ Micro Transaction ซึ่งเป็นรูปแบบการชำระเงินในฝันสำหรับผู้พัฒนา Internet 0f Thing และบริการ On-Demand อื่นๆ
ปิดท้ายด้วยมุมมองว่า Blockchain จะ Disrupt สิ่งใดต่อไป Brad มองว่า Blockchain ได้เริ่ม Disrupt แวดวงธนาคารก่อน เพราะธนาคารเป็นการจัดการระบบแบบรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ ดังนั้น ต่อไปที่ Blockchain จะเข้า Disrupt คือระบบ Cloud Storage ที่ปัจจุบันยังคงบริหารระบบแบบรวมศูนย์อยู่นั่นเอง
หลังจากที่ Brad พาเราเปิดมุมมองของ Blockchain ในโลกของ Fintech แล้ว ในช่วงสุดท้ายก็จะได้ขยายมุมมองของ Blockchain ยังอุตสาหกรรมและแวดวงอื่นๆ นำโดย ดร.ภูมิ ภูมิรัตน์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นตัวแทนของภาครัฐหรือ Government, คุณ Val Jihsuan Yap ผู้ก่อตั้ง PolicyPal สตาร์ทอัพด้าน InsurTech จากประเทศสิงคโปร์ เป็นตัวแทนด้าน Insurtech และ David Davies ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร AgUnity ผู้พัฒนาระบบ Blockchain เพื่อการเกษตร เป็นตัวแทนด้าน AgriTech
เริ่มที่การแชร์ว่าแต่ละท่านใช้ Blockchain ทำอะไรในปัจจุบัน ดร.ภูมิ เผยว่าขณะนี้กำลังผลักดันระบบ Digital Identity ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และคนไทยจะสามารถ Digital Identity ที่สร้างขึ้นนี้ไปใช้ทำธุรกรรมทุกรูปแบบบนโลกดิจิตอลได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในปี 2020
ส่วนคุณ Val เล่าว่า PolicyPal ใช้ Blockchain เพื่อกระจายข้อมูลศูนย์กลางของระบบประกันภัย เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงรายละเอียดกรมธรรภ์และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ตัวเองมีภายในที่เดียว
ส่วนคุณ David เล่าว่าเขาได้นำ Blockchain มาพัฒนาเป็น Smart Contract ให้เกษตรกรใช้งาน เพื่อจัดการเรื่องความน่าเชื่อถือในสัญญาต่างๆ ทั้งการซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า ไปจนถึงการเช่าอุปกรณ์ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 3 เท่า
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาบริการด้วย Blockchain ทางคุณภูมิและคุณ Val ยืนยันว่าความน่าเชื่อถือต่อผู้ลงทุนเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะการทำทุกอย่างจำเป็นต้องมีทรัพยากรมาหมุนให้ดำเนินไป แต่ก็สามารถผ่านมาด้วยการพยายามยกตัวอย่างให้เห็นภาพ จนได้รับการผลักดันจนใกล้ถึงฝันในปัจจุบัน
คุณ David แชร์มุมมองว่า Blockchain จะไม่ใช่เทคโนโลยีที่ตัวมันเองจะแพร่หลาย แต่ Platform ที่ใช้แก้ปัญหาได้ ซึ่งสร้างขึ้นจาก Blockchain จะเป็นที่แพร่หลาย และยิ่งหากถูกออกแบบให้ตรงกับความคุ้นเคยของคนมากเท่าไร Platform ดังกล่าวก็จะยิ่งกระจายออกไปไกลเท่านั้น
เมื่อถามถึงมุมมองต่ออนาคตของ Blockchain คุณ Val ชี้อย่างเป็นรูปธรรมว่าในอนาคตจะมี Platform ออกมารองรับผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่ระบบ Food Tracking ไปจนถึง Reward ส่วนคุณ David มองว่า Blockchain ไม่ใช่เสียงเรียกจากอนาคตจนกว่าเราจะรู้ว่าเรามองหาอะไร แล้วจึงนำ Blockchain มาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหานั้นๆ แต่สิ่งที่ทำให้ Blockchain ทรงพลังคือการแบ่งปันความคิดลงไปใน Blockchain เพื่อให้มันสำเร็จขึ้นมา
สุดท้าย มีคำถามว่า Blockchain จะช่วยแก้ปัญหาคอรัปชั่นได้แค่ไหน โดยคุณภูมิตอบว่าในทางเทคนิคเพียงนำรายการธุรกรรมและวิธีส่งมอบทั้งหมดแปลงเป็นรูปแบบดิจิตอลแล้วส่งขึ้นสู่ Blockchain ก็ช่วยป้องกันการปลอมแปลงธุรกรรม การแทรกแซงขั้นตอน และการดัดแปลงแก้ไขอันนำไปสู่การทุจริตได้แล้ว
Blockchain จะเข้ามา Disrupt ธุรกรรมนอกธนาคาร เพราะมันช่วยยืนยันความน่าเชื่อถือระหว่างกัน - Val Yup Founder of PolicyPal
นับตั้งแต่ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมลงทุนใน Ripple เมื่อปี 2016 เทคโนโลยี Blockchain ก็เริ่มถูกมองหาหนทางประยุกต์ใช้ให้จริงในประเทศไทย ความสำเร็จของสัมมนาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของประเทศไทยที่อยากจะเข้าใจนวัตกรรมที่จะ Disrupt โลกไปทุกวงการ และทำให้เห็นว่าเราพร้อมแล้ว สำหรับการใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อพัฒนาและเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศต่อไป
บทความนี้เป็น Advertorial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด