วิเคราะห์ InsurTech ไทยท่ามกลางกระแส FinTech และ Digital Disruption | Techsauce

วิเคราะห์ InsurTech ไทยท่ามกลางกระแส FinTech และ Digital Disruption

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวด Tech Saucier of The Year 2018 โดย Panjamapong Sermsawatsri

ทำไม InsurTech ไทยยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน?

การมาของ FinTech ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายใน 2–3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความตื่นตัวของภาคธนาคารในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกองทุน CVC เพื่อลงทุนใน startup หรือการสร้างทีม tech ภายในองค์กร เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอก แต่หากมาดูในฝั่งภาคธุรกิจประกันแล้ว เราอาจจะยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวมากนัก บทความนี้จะมาวิเคราะห์ InsurTech Landscape ของไทยเราว่าอยู่ในจุดไหน รวมถึงมีโอกาสและความท้าทายอะไรบ้างในอนาคต

ปัจจุบัน InsurTech ในไทย มีบริษัทอะไรบ้าง

ก่อนจะเจาะลึกกันที่ประเด็นต่าง ๆ เรามาดู Landscape ในปัจจุบันกันก่อนดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง และแต่ละเจ้าอยู่ใน sector ไหนใน InsurTech บ้าง

InsurTech จะมา Disrupt วงการประกันหรือไม่

วงการประกันเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในอนาคต การมาของกระแส FinTech ถือเป็นคลื่นลูกแรกที่ปูทางนำร่องไว้ให้เรียบร้อยแล้ว และคลื่นของ InsurTech ก็กำลังจะตามมาเช่นเดียวกัน แต่คำถามที่น่าสนใจอยู่ที่ว่าวงการประกันจะถูก InsurTech เข้ามา disrupt เหมือนกับที่ AirBnB disrupt ธุรกิจโรงแรม และ Uber disrupt ธุรกิจแท็กซี่หรือไม่

เมื่อเรามาดูธุรกิจประกัน ซึ่งเป็นธุรกิจเก่าแก่ควบคู่มากับประวัติศาสตร์การเดินเรือของจีน เราจะเห็นว่าปัจจุบันหลักการรับประกันมีการพัฒนาไปมาก และมีความซับซ้อนสูง เป็นอุปสรรคใหญ่ของผู้เล่นหน้าใหม่โดยเฉพาะกับผู้เล่นที่มาจากสาย tech โดยตรง อีกปัจจัยหนึ่งก็คือธุรกิจประกันเป็นธุรกิจที่มีการกำกับดูแล โดยหน่วยงานกำกับดูแลของไทยคือคปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) การที่ธุรกิจ startup หน้าใหม่จะเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจประกัน จึงต้องใช้ทั้งความรู้ทั้งในศาสตร์ของหลักการรับประกัน และกฎระเบียบเชิง regulation ต่าง ๆ เป็นอย่างดี

สำหรับในฝั่งบริษัทประกันเองก็เช่นเดียวกัน ด้วยความที่ธุรกิจประกันเป็นธุรกิจเกี่ยวกับตัวหนังสือบนกระดาษ ซึ่งใช้ทักษะการเขียนหรือตีความข้อความไม่ต่างกันนักกฎหมาย จึงไม่แปลกที่คนในบริษัทประกันจะมี culture ที่เน้นระบบระเบียบเป็นสำคัญ จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การปรับตัวเพื่อให้ทันกับโลกดิจิทัลเป็นเรื่องท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับบริษัทประกัน

ทางบริษัทประกันต่าง ๆ ก็คงจะตระหนักถึงความท้าทายในส่วนนี้เป็นอย่างดี เราจึงเห็นการ partner แบบใกล้ชิดระหว่างบริษัทประกันกับ InsurTech ในหมวดหมู่ Online Channel ตัวอย่างเช่น บริษัทกรุงไทยพานิชประกันภัย กับ Roojai และ ฟอลคอนประกันภัย กับ DirectAsia เป็นต้น เป็นการเสริมความแข็งแกร่งทางด้านดิจิทัลโดยการ partner กับบริษัทที่มีจุดแข็งทางด้าน tech มากกว่า

InsurTech ไทยต้องก้าวข้าม Online Channel

ปัจจุบันถ้ามาดู InsurTech ของไทย จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจแบบเพิ่มช่องทางการขาย จากการขายแบบออฟไลน์ เป็นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวก และปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ดิจิทัล ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะก้าวเข้ามาสู่โลกของ InsurTech นั้น การทำ online channel นั้นดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ใช้ domain expertise (ความรู้เฉพาะทาง) ด้านประกันภัยไม่มากนัก เราจึงเห็น InsurTech startup บ้านเราเป็นแบบ online channel เสียเยอะ

แต่ในภาพของธุรกิจประกัน ยังมีอีกหลายส่วนที่ tech สามารถเข้าไปช่วยได้ ทั้งการทำให้ขั้นตอนกระบวนการทำงานในปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการนำเสนอขั้นตอนวิธี หรือกระบวนการใหม่ ๆ เพื่อพลิกโฉมธุรกิจประกัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Etiqa Insurance ที่ให้บริการการเคลมประกันภัยการเดินทางกรณีเที่ยวบินล่าช้าแบบ real-time เป็นต้น โดยนอกจากในส่วนเคลมแล้ว ยังมีอีกหลายส่วนที่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนการรับประกัน (Underwriting) การประกันภัยต่อ (Reinsurance) หรือการป้องกันการฉ้อโกง (Fraud Prevention) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนใช้ domain expertise ของทั้งประกันภัยและ tech ร่วมกันในการทำให้สิ่งเหล่านี้เกิด

และเมื่อมองดู InsurTech ในต่างประเทศ เราจะเห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ค่อนข้างมาก เช่น Cover เป็นแอพที่ให้คุณสามารถประกันสิ่งของทุกอย่างเพียงแค่ถ่ายรูปส่งเข้ามา หรือ Root Car Insurance ประกันรถยนต์ที่ให้คุณขับรถก่อนซื้อ เพื่อประเมินลักษณะการขับขี่ของคุณ และนำมาใช้ในการคำนวณเบี้ยประกัน ในส่วนของประเทศไทยเรา ถึงแม้ว่า InsurTech ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะ online channel แต่ก็มีหลายบริษัทที่พยายามทำอะไรที่ต่างออกไป

FairDee และ Carpool จะอยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยเป็นบริษัทที่ทำประกันภัยรถยนต์แบบกลุ่ม โดยมีการคืนเงินให้สูงสุด 30% ในกรณีที่ไม่มีเคลม ซึ่งเงินในส่วนนี้เรียกว่า No-claim Bonus (NCB) Claim Di เป็น InsurTech สัญชาติไทยที่ระดมทุน Series A ไปกว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นบริษัทที่ทำ solution การเคลมประกันรถยนต์แบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการเคลมด้วยตนเองผ่านแอพพลิเคชั่น หรือบริการ risk surveyor ภายใต้ชื่อ Claim Di Bike ส่วน Acrosure ร่วมมือกับทิพยประกันภัย ในการให้บริการ Insurance API Gateway เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อระบบเพื่อเสนอสินค้าประกันภัยให้กับลูกค้า ในแบบที่สามารถสมัครและทดลองใช้งานเชื่อมต่อได้เลยทันที (Disclaimer: Acrosure เป็นบริษัทของผู้เขียนเอง) หรือประกันประเภทที่ต้องใช้ตัวแทนให้คำแนะนำ และมีการกรอกข้อมูลค่อนข้างเยอะอย่างประกันชีวิต ก็มี product ที่ชื่อ AgentMate ของ AppMan ที่ช่วยทำให้กระบวนการเหล่านี้สะดวกขึ้น และยังทำให้ข้อมูลถูกจัดเก็บอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลซึ่งง่ายต่อการประมวลผล

ผู้เขียนมองว่า Online Channel เป็นเพียงการเพิ่มช่องทางการขาย เพื่อให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ แต่อาจจะยังไม่ได้เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ value chain ในธุรกิจประกันภัยมากนัก โจทย์ถัดไปของทั้ง InsurTech startup และบริษัทประกันจึงเป็นว่า จะทำอย่างไร ให้สามารถใช้ tech เข้ามาช่วยลด cost และ inefficiency ของ value chain ในปัจจุบันให้ได้มากที่สุด

ภาพโดย Asuransi Kesehatan

ความท้าทายของการกำกับดูแลธุรกิจประกันในยุคดิจิทัล

ธุรกิจประกันเป็นธุรกิจที่ต้องมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะสิ่งที่บริษัทประกันขาย เป็นสัญญาในอนาคต ดังนั้นมีโอกาสที่บริษัทประกันจะขาดทุนจนต้องปิดตัวลงและลอยแพลูกค้า หรือโอกาสที่มีนายหน้าเถื่อน อ้างว่าได้ซื้อประกันให้ลูกค้าแล้ว แต่ไม่ได้ส่งค่าเบี้ยหรือส่งงานให้กับบริษัทประกัน ดังนั้นการกำกับดูแลธุรกิจประกันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

แต่ในโลกของเทคโนโลยี ที่นวัตกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นมาอยู่ตลอด บางนวัตกรรมที่ดี อาจถูกปิดกั้น หรือถูกทำให้ยากขึ้นโดยมี regulation เป็นสาเหตุสำคัญ ดังนั้นการกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในยุคดิจิทัลจึงมีความท้าทายในการหาจุดที่สมดุล ปัจจุบันคปภ.ได้มีการจัดทำ Regulatory Sandbox เพื่อให้ InsurTech ได้เข้ามาทดลองนวัตกรรมใหม่ ๆ ภายใน sandbox โดยมี FairDee เป็น InsurTech รายแรกที่เข้าร่วมโครงการ Regulatory Sandbox นี้ของคปภ. ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าต่อไปบทบาทของคปภ.ต่อวงการ InsurTech จะเป็นอย่างไร

สรุป

เมื่อมาดูในมุมขนาดตลาดประกัน มีเบี้ยประกันวินาศภัยอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท และเบี้ยประกันชีวิตอยู่ที่ 450,000 ล้านบาทต่อปี จะเห็นได้ว่ามูลค่าตลาดที่ใหญ่มาก แต่ยังมีผู้เล่นในฝั่ง InsurTech startup ที่ยังไม่เยอะมาก เนื่องด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับทั้งเหล่า startup, บริษัทประกัน และนักลงทุน ในการมองภาพอนาคต และปรับตัวให้ทัน ก่อนที่จะพลาดโอกาส หรือถูก disrupt ไปเสียก่อน

 

อ้างอิง 2015, คปภ., สถิติธุรกิจประกันชีวิตรายปี 2015, คปภ., สถิติธุรกิจประกันวินาศภัยรายปี

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...