ผ่านไปแล้วกับงาน Food Innopolis International Symposium (FIIS) 2018 ระหว่าง วันที่ 5-7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการจัดเวทีอัพเดทความรู้และเทรนด์นวัตกรรมอาหารและการเกษตรระดับสากล งานจัดโดยความร่วมมือระหว่าง สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน) โดยเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis)
ภายในงานมีประเด็นน่าสนใจมากมายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติ ทั้งนักวิชาการและนักธุรกิจในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น แนวโน้มนวัตกรรมอาหารโลก, Internet of Food, การพัฒนาคนสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร 4.0, โลจิสติกส์และซัพพลายเชนสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร, ความปลอดภัยอาหารและมาตรฐานอาหาร, การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร บนฐานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy), เทรนด์นวัตกรรมเครื่องเทศและสมุนไพร แหล่งโปรตีนใหม่ อาหารกับสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น
Techsauce มีโอกาสพูดคุยกับ คุณวรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ถึงความตั้งใจและที่มาของการจัดงาน FIIS ในครั้งนี้ รวมถึงเทรนด์ของอุตสาหกรรมอาหารที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
“นวัตกรรมอาหารและการเกษตร ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมและอาหารเยอะมาก และยังเป็นประเทศที่มีการส่งออกอาหารมากติดอันดับโลก เราจึงอยากปักธงให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมอาหารในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” คุณวรรณวีรากล่าว
ความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดจากความตั้งใจของทั้งสององค์กรที่อยากผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำด้านอาหารและการเกษตร ด้วยความเชี่ยวชาญด้านวิจัยและนวัตกรรมอาหารของ Food Innopolis ที่เชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอาหารกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานภาครัฐ และความเชี่ยวชาญของ TMA ที่อยู่ในภาคธุรกิจ การจัดงานในครั้งนี้จึงเป็นการเปิดประตูให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในแง่มุมของอุตสาหกรรมอาหาร และเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิชาการและนักธุรกิจในระดับสากล ส่งเสริมให้เกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจ (business matching) และต่อยอดความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาระหว่างองค์กรของไทยกับต่างประเทศ ตลอดจนสร้างโอกาสให้ Food Innopolis เชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในระดับภูมิภาคอาเซียน เอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกา ซึ่งเป็นการผลักดันให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันของ 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ-ภาคการศึกษา-ภาคเอกชน
คุณวรรณวีรา กล่าวว่า “การทำการเกษตรในอนาคต ต้องอาศัยเทคโนโลยีและความรู้ที่จะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ ช่วยลดค่าแรง และค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ดังนั้นหากมีคนที่ต้องออกจากโรงงานเมื่อมีระบบ Automation มาทดแทน จะต้อง Reskill ให้มีความรู้สำหรับการทำการเกษตรให้มากขึ้น รวมถึงต้องมีการช่วยในเรื่องของการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับคนที่ต้องออกจากโรงงานกลับไปทำการเกษตรในท้องถิ่นของตนเอง”
ส่วนด้านบนเวที มีการบรรยายแลกเปลี่ยนเนื้อหาต่างๆ เอาไว้อย่างน่าสนใจ รวมถึงเทรนด์ของนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innovation ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค โดยมีเทรนด์หลักๆ ดังนี้ :
การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ (Automation Technology) กระบวนการผลิตและการทำการเกษตรจะเปลี่ยนไปสู่การใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น ทั้งการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง AI, Big Data และ 3D Printing เข้ามาใช้ นอกจากนี้ยังมีระบบ sensory สำหรับใช้จับอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
การให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) สิ่งที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบยุโรป คือการสร้างโปรตีนทดแทน โดยสังเคราะห์โปรตีนขึ้นมาในศูนย์วิจัยเพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อวัวและเนื้อสัตว์อื่นๆ เนื่องจากการเลี้ยงปศุสัตว์เป็นการทำให้ศูนย์เสียพลังงานและไม่เป็นผลดีต่อความยั่งยืนของโลก บริษัทเนื้อหลายแห่งจึงได้เปลี่ยนเป็นบริษัทวิจัยโปรตีนแทน อีกทั้งยังมีการศึกษาเรื่อง Plant-based protein ที่ทำจากพืชอีกด้วย
การทำเกษตรกรรมในเมือง (Urban Farming) ภายในปี 2050 คนทั่วโลกกว่า 2 ใน 3 จะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ การรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน ปลอดภัย และคงไว้ซึ่งความมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจจึงกลายเป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมาก ปัจจุบัน มีหลายเมืองที่เริ่มทำการเกษตรบนหลังคาหรือปลูกผักในแนวตั้ง ตามการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่
การเปลี่ยนแปลงด้าน Food Service ผู้บริโภคจะมีปัจจัยในการเลือกทานอาหารเพิ่มขึ้น มากกว่าเรื่องของรสชาติ แต่จะคำนึงถึง เวลา (ความช้า-เร็ว) ในการให้บริการและความน่าเชื่อถือของร้านอาหารด้วย เช่น ใน Hema Cashless Supermarket ของอาลีบาบา มีการนำอาหารทะเลที่ลูกค้าเป็นคนเลือกเอง มาปรุงให้แบบสดๆ ทำให้สามารถเชื่อใจได้ว่าอาหารสดและสะอาดจริง นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสามารถจ่ายเงินผ่าน mobile wallet เพิ่มความสะดวกสบายในการซื้อสินค้า
การ Customize อาหารให้เหมาะสมกับร่างกายและความชอบของผู้บริโภคแต่ละคน เช่น ผู้บริโภคที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่เน้นอาหารสุขภาพ ก็จะมีอาหารที่จำเพาะและอุดมด้วยสารอาหารมากขึ้น รวมถึงการเกิดขึ้นของ Community ต่างๆ ที่มีความชอบคล้ายคลึงกัน
แนวโน้มต่างๆ ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อนวัตกรรมอาหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่นักวิทยาศาสตร์การอาหารหรือ คนทำอาหารเท่านั้น แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากคนหลากหลายสาขา ทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวทันและเป็นผู้นำในด้านนี้ได้
ปัจจุบันมีนวัตกรรมหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นจริงแล้ว และคาดว่าในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้นของทั้งผู้คนในชนบทและเมืองใหญ่ จากการร่วมสร้าง Ecosystem อันแข็งแกร่งด้วยภาคอุตสาหกรรมอาหารและภาคการเกษตร รวมถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนร่วมกัน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด