ทำไมอนาคตเศรษฐกิจโลกอาจอยู่ในมือเอเชีย ? เจาะลึกคำตอบจากงาน Forbes Global CEO Conference | Techsauce

ทำไมอนาคตเศรษฐกิจโลกอาจอยู่ในมือเอเชีย ? เจาะลึกคำตอบจากงาน Forbes Global CEO Conference

โลกกำลังก้าวสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่เพียงแต่ในด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภูมิทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่กำลังถูกเขียนใหม่ แกนของอารยธรรมโลกกำลังหมุนเปลี่ยน โดยมีเอเชียเป็นศูนย์กลางแห่งการเติบโตและนวัตกรรม 

ในการประชุม Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 22 ภายใต้ธีม “New Paradigms” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเจาะลึกถึงอนาคตของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปี 2567 การเสวนาในหัวข้อ “Reframing The Global Economy” ได้นำเสนอมุมมองเชิงลึกจากผู้นำทางความคิดระดับโลก 

ประกอบด้วย Ho Kwon Ping ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร Banyan Tree Holdings, V Shankar CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Gateway Partners, John Studzinski รองประธานและกรรมการผู้จัดการ PIMCO, และ H. Roger Wang ประธาน Golden Eagle International Group โดยมี Rich Karlgaard นักอนาคตศาสตร์และบรรณาธิการอาวุโส Forbes Media เป็นผู้ดำเนินรายการ

ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก: จุดเปลี่ยนกระบวนทัศน์ การค้า และการเพิ่มขึ้นของเอเชีย

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือผลกระทบจากการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งสำคัญ เป็นการรีเซ็ตอารยธรรมที่มีผลกระทบต่อตลาดโลก

เริ่มต้นด้วย Ho Kwon Ping ได้วิเคราะห์สถานการณ์โลกในปัจจุบัน โดยเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก Ping มองว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่ 

โดยคาดการณ์ว่าจีนอาจตกอยู่ในสถานการณ์เสียเปรียบในระยะสั้น เนื่องจากนโยบาย "America First" ของทรัมป์ที่ให้ความสำคัญกับสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว จีนมีศักยภาพในการกลับมาเป็นผู้ชนะ ด้วยความสามารถในการปรับตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ อาจดูเหมือนเป็นผู้ได้เปรียบในช่วงแรกจากนโยบายดังกล่าว แต่ในระยะยาวก็อาจต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ส่วนยุโรปถูกมองว่าจะเสียเปรียบในระยะยาว เนื่องจากความไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้น

Ping เน้นย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์นี้เป็นสิ่งที่ชัดเจน และถือเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับเอเชียในการกำหนดวิธีตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอารยธรรมของตะวันตก เขาเสนอว่า เอเชียควรมองเห็นโอกาสในความเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อ "รีเซ็ต" อารยธรรมของตนเอง ลดการพึ่งพาตะวันตก และหลุดพ้นจากกรอบคิดแบบเดิม

Ping ได้อธิบายเพิ่มเติมโดยใช้การเปรียบเทียบกับภาพยนตร์เรื่อง Back to the Future ซึ่งเป็นการย้อนยุคไปสู่ช่วงเวลาที่โลกมีอารยธรรมที่หลากหลาย ต่างจากปัจจุบันที่อารยธรรมตะวันตกมีอิทธิพลครอบงำ ซึ่ง Ping เเชื่อว่าสถานการณ์กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางดังกล่าว และเอเชียควรเตรียมพร้อมรับมือ ด้วยการพิจารณาวิธีใช้ทรัพยากรของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องพึ่งพาอเมริกามากเกินไป ซึ่งในอนาคตอาจไม่ได้มีอำนาจหรืออิทธิพลเช่นเดิม นี่จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เอเชียสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำบนเวทีโลกได้อย่างแท้จริง

H. Roger Wang ได้อธิบายถึงสถานการณ์ในจีนที่กำลังเผชิญความท้าทายในระยะสั้น โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่เส้นทางการเติบโตอีกครั้ง เมื่อถูกถามว่าสัญญาณใดที่บ่งบอกว่าจีนผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้กว่าครึ่งทางแล้ว Wang ชี้ว่าเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่และหลากหลาย ทำให้หลายภาคส่วนยังคงสามารถเติบโตได้ แม้ว่าจะเผชิญปัญหาในบางจุดก็ตาม

Wang เชื่อว่าผู้ที่สามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในจีน โดยเขาเน้นถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทตัวเองที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งเตรียมแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านและสร้างความยืดหยุ่นเพื่อความอยู่รอดในระยะยาว

ในมุมมองส่วนตัว Wang แนะนำตัวเองในอดีตว่า ควรให้ความสำคัญกับความสามารถในการปรับตัว ความยืดหยุ่น และวิสัยทัศน์ระยะยาว พร้อมทั้งใช้ทรัพยากรและเครื่องมืออย่างชาญฉลาด เพราะเขาเองมองว่าการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในปัจจุบันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายมิติ เช่น

  • การสิ้นสุดของโลกาภิวัตน์ ซึ่งสะท้อนผ่านการกลับมาของแนวคิดอนุรักษ์นิยม เช่น การขึ้นสู่อำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์
  • การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลง จากการค้าเสรีไปสู่การค้าแบบแยกส่วนมากขึ้น
  • การแบ่งขั้วทางอำนาจที่ชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดการจัดระเบียบโลกใหม่ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

เขาเน้นว่าทุกฝ่ายจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและอยู่ร่วมกันในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อความอยู่รอดและการเติบโตในอนาคต

สัญญาณอะไรบ้างที่บ่งบอกถึงทิศทางของเศรษฐกิจในปี 2025 และมีอะไรที่น่าจับตามองในตลาด ?

John Studzinski ผู้ที่คลุกคลีในแวดวงการเงินมานานกว่า 35 ปี เผยว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าประหลาดใจที่สุด ไม่เพียงแต่ผลการเลือกตั้งที่พลิกความคาดหมาย แต่ยังสะท้อนการแบ่งขั้วทางความคิดอย่างชัดเจนในสังคม ซึ่งส่งผลต่อทั้งนโยบายและสภาวะตลาด โดยแนวโน้มที่เห็นได้ชัดคือการหวนกลับสู่แนวคิดอนุรักษ์นิยม และการปรับเข้าสู่ความสมดุลสายกลางมากขึ้น

ชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ในการเลือกตั้ง ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในมุมมองของนักลงทุน ด้วยบุคลิกและนโยบายที่สร้างความผันผวนในตลาด นักวิเคราะห์มองว่าความสำเร็จครั้งนี้สะท้อนฐานเสียงที่แข็งแกร่งและกระบวนทัศน์ใหม่ที่ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งของทรัมป์จึงไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์ระยะสั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงระดับโลก

Studzinski ยังเน้นถึงความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง โดยโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนในมิติใหม่ ทั้งในด้านเงินทุน ความมั่นคง และพันธมิตรทางเศรษฐกิจหรือการทหาร แนวทางที่อังกฤษใช้สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างมีประสิทธิภาพอาจกลายเป็นต้นแบบสำหรับหลายประเทศ

เทคโนโลยียังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนแปลงกระบวนการใช้และแบ่งปันข้อมูล ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการจัดสรรทรัพยากรและการลงทุน นักวิเคราะห์ควรจับตาสามแกนสำคัญ ได้แก่ ความมั่นคง ธุรกิจ และเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นปัจจัยชี้นำการตัดสินใจด้านการลงทุนในอนาคต

อนาคตของการค้าในอีกสองปีข้างหน้า จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ?

  • Ho Kwon Ping มองว่า เอเชียกำลังรวมตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยมีจีนเป็นแกนกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์การค้ากับทั่วโลก ขณะที่อาเซียนก้าวขึ้นมาเป็นตลาดสำคัญที่เติบโตจากภายใน แม้จะไม่มีสกุลเงินร่วม แต่การค้าระหว่างประเทศสมาชิกกลับขยายตัวขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทลดลงในฐานะผู้นำเข้าหลัก
  • V Shankar เชื่อว่าการลดการพึ่งพาผู้บริโภคชาวอเมริกันจะเป็นผลดีต่ออาเซียนในระยะยาว การเติบโตของการค้าภายในภูมิภาคและตลาดใหม่ๆ ช่วยเสริมความแข็งแกร่ง โดยแม้การตั้งกำแพงภาษีจะสร้างผลกระทบบ้าง แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นการปรับตัวเชิงบวก นอกจากนี้ เขาคาดว่าการเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะทวีความเข้มข้น พร้อมชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโต
  • John Studzinski วิเคราะห์ว่า นโยบายของสหรัฐฯ ที่มุ่งเน้น "การค้าที่เป็นธรรม" อาจสร้างแรงกระเพื่อมในตลาดโลก ทรัมป์ชูแนวทางชาตินิยมและการเจรจาต่อรองเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของสหรัฐฯ ขณะที่จีนยังคงให้ความสำคัญกับการส่งออกและการผลิต โดยเน้นตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลางและประเทศกำลังพัฒนา
  • H. Roger Wang กล่าวถึงการปรับตัวของธุรกิจ ด้วยการใช้เทคโนโลยีและการเอาท์ซอร์สเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมชี้ถึงโอกาสในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เช่น การปรับเปลี่ยนอาคารเพื่อเพิ่มมูลค่า และแนะให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงในตลาดเกิดใหม่

ซึ่งชี้ว่าในอีกสองปีข้างหน้า แนวโน้มการค้าโลกอาจจะเปลี่ยนโฟกัสจากการพึ่งพาตลาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ สู่การสร้างเครือข่ายการค้าในระดับภูมิภาคและการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ นักลงทุนควรจับตาการเติบโตของอาเซียน บทบาทของจีนในตลาดโลก และโอกาสในตลาดเกิดใหม่

ข้อมูลจากงาน Forbes Global CEO Conference

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Agentic AI เทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้ AI เป็นมากกว่าแค่ผู้รับคำสั่ง

Agentic AI คือระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่เพียงแค่รับข้อมูลจากสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการตัดสินใจและทำให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ โดยระบบนี้จะใช้เทคโนโลยีอย่าง Ma...

Responsive image

ทำอย่างไรให้วงการ e-Commerce ไทย แข่งขันได้ ค้าขายข้ามแดนรอด

Key Messages จากการรับฟังคุณกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวถึงโอกาสในการค้าขายข้ามแดนผ่านอีคอมเมิร์ซ (Cross-border e-Commerce) และแนะว...

Responsive image

ไข 5 ความลับไต้หวัน ที่ทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แกร่งที่สุดในโลก

สำรวจเหตุผลที่ทำให้ไต้หวันกลายเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก พร้อมเจาะลึกกลยุทธ์ของ TSMC และบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีแห่งอนาคต...