ชวนวิเคราะห์เกม AI ยุโรป ฝรั่งเศสประกาศ ‘ลงแข่งสหรัฐฯ’ ด้วยงบ 3.7 ล้านล้านบาท พอไหม ? | Techsauce

ชวนวิเคราะห์เกม AI ยุโรป ฝรั่งเศสประกาศ ‘ลงแข่งสหรัฐฯ’ ด้วยงบ 3.7 ล้านล้านบาท พอไหม ?

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ และจีนกลายเป็นสองมหาอำนาจในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในขณะที่ ยุโรปดูเหมือนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่ตอนนี้ประธานาธิบดี Emmanuel Macron ประกาศว่า ฝรั่งเศสจะได้รับการลงทุนจากภาคเอกชนเป็นมูลค่าถึง 1.09 แสนล้านยูโร (ประมาณ 1.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยราว 3.7 ล้านล้านบาท) ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของยุโรปในการแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา

แต่คำถามคือ ลงทุน 1.09 แสนล้านยูโรในตอนนี้เพื่อพลิกเกม จะช่วยให้ยุโรปตามทันสหรัฐฯ ได้จริงหรือเปล่า จำนวนเท่านี้เพียงพอหรือยัง?

ทำไมยุโรปถึงหายไปจากการแข่งขัน AI ?

ยุโรปเคยเป็นศูนย์กลางของอารยธรรม วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมมาโดยตลอดหลายศตวรรษ แต่เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลับกลายเป็นว่าภูมิภาคที่เคยเป็นมหาอำนาจแห่งเทคโนโลยีนี้ ค่อย ๆ ถูกทิ้งห่าง โดยสหรัฐฯ และจีน

ขณะที่อเมริกาและจีนเดินหน้าด้วยการลงทุนมหาศาล ผลักดันบริษัทเทคโนโลยี และเร่งพัฒนานวัตกรรม AI อย่างเต็มกำลัง ยุโรปกลับเผชิญกับอุปสรรคหลายประการที่ทำให้พวกเขาตามไม่ทัน ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มีดังนี้

1. ขาดการลงทุนขนาดใหญ่

แม้ยุโรปจะมีนักวิจัย AI ระดับโลก แต่ที่ผ่านมา การลงทุนใน AI ของยุโรปต่ำกว่าสหรัฐฯ และจีนอย่างมาก

  • สหรัฐฯ: บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ เช่น Google, Microsoft และ Meta เทเงินหลายแสนล้านดอลลาร์
  • จีน: รัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุนเต็มที่ ผลักดันบริษัทอย่าง Baidu, Tencent และ Huawei
  • ยุโรป: ลงทุนกระจัดกระจาย ไม่มีโครงการขนาดใหญ่พอที่จะแข่งขัน หรือพูดง่ายๆ คือ ไม่มี "AI Champion" หรือบริษัทที่แข็งแกร่งพอจะสู้

2. กฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไป

ยุโรปเป็นผู้นำด้านการกำกับดูแล AI ที่ปลอดภัย เช่น EU AI Act ที่เข้มงวดมาก

  • แม้จะช่วยปกป้องข้อมูลและสิทธิพลเมือง แต่กฎเหล่านี้ก็ทำให้ สตาร์ทอัพ AI ในยุโรปโตช้า
  • บริษัทเทคฯ ในยุโรปไม่สามารถ เก็บและใช้ข้อมูล ได้เท่ากับบริษัทในจีนและสหรัฐฯ
  • ส่งผลให้ยุโรป พัฒนาช้ากว่า และดึงดูดการลงทุนได้น้อยลง

3. การสูญเสีย "สมอง" ด้าน AI

นักวิจัย AI ชั้นนำของยุโรปจำนวนมากย้ายไปทำงานให้กับบริษัทในสหรัฐฯ

  • OpenAI, DeepMind (Google), Meta และ Microsoft ดึงตัว นักวิจัยจากฝรั่งเศส, เยอรมนี และสหราชอาณาจักร
  • นักพัฒนา AI ของยุโรปจึงไปสร้างความก้าวหน้าให้กับสหรัฐฯ แทน

ส่องแผนลงทุนฝรั่งเศษมูลค่า 1.09 แสนล้านยูโรใน AI

การประชุมสุดยอด Artificial Intelligence Action Summit ซึ่งเปิดฉากวันจันทร์ที่ผ่านมา ดึงผู้นำโลกและซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่มารวมตัวกันที่ปารีส ไม่ว่าจะเป็น รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ JD Vance, ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป Ursula von der Leyen, นายกฯ เยอรมนี Olaf Scholz, นายกฯ แคนาดา Justin Trudeau และ Sundar Pichai (CEO Google), Brad Smith (ประธาน Microsoft), Sam Altman (CEO OpenAI), Demis Hassabis (CEO Google DeepMind) และ Dario Amodei (CEO Anthropic)

ที่น่าสังเกตคือ Elon Musk ไม่ได้อยู่ในรายชื่อผู้เข้าร่วม

ซึ่งหลังฝรั่งเศสประกาศแผนลงทุน 1.09 แสนล้านยูโรใน AI หวังแข่งขันกับสหรัฐฯ โดย Macron ระบุว่า การลงทุนครั้งนี้เทียบเท่ากับโครงการ Stargate ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นโปรเจกต์ AI มูลค่า 500 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 16 ล้านล้านบาท ของ OpenAI, Oracle และ SoftBank ที่เน้นสร้างโครงสร้างพื้นฐาน AI ในอเมริกา

แต่ต่างกันตรงที่ เงินทุนของฝรั่งเศสไม่ได้มาจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่ได้รับการสนับสนุนจาก กลุ่มทุนระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น กองทุนจากสหรัฐฯ, แคนาดา, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส เช่น Iliad, Orange และ Thales

  • UAE เองเพิ่งประกาศแผน ทุ่ม 3-5 หมื่นล้านยูโร เพื่อลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูล AI ขนาด 1 กิกะวัตต์ในฝรั่งเศส 
  • Iliad ก็เตรียม ลงทุน 3 พันล้านยูโร ในโครงสร้างพื้นฐาน AI 
  • สตาร์ทอัพ AI ฝรั่งเศส Mistral เตรียมอัดงบมหาศาล เพื่อสร้าง Data Center ของตัวเอง

ในยุคที่ AI ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่เป็นเครื่องมือเชิงภูมิรัฐศาสตร์ บรรยากาศการประชุม AI ที่ปารีสครั้งนี้จึงอาจเป็นเวทีที่ประเทศต่าง ๆ เปิดเผยทิศทาง AI ของตัวเอง ไม่ใช่แค่เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี แต่เพื่อรักษาอำนาจในโลกอนาคต และฝรั่งเศสก็กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อให้ยุโรปมีที่ยืนในเกมนี้

ฝรั่งเศสเท 1.09 แสนล้านยูโรใน AI พอหรือไม่ ?

การที่ฝรั่งเศสประกาศ แผนลงทุน 109 พันล้านยูโร เพื่อพัฒนา AI ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับยุโรป ซึ่งพยายามไล่ตามมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีอย่าง สหรัฐฯ และจีน แต่คำถามคือ เงินจำนวนนี้เพียงพอหรือไม่ ในสนามแข่งขันที่มีทุนไหลเวียนมหาศาลและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

1. เทียบสเกลการลงทุน AI ของฝรั่งเศส vs. สหรัฐฯ

สหรัฐฯ ลงทุน 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโครงการ Stargate ที่นำโดย OpenAI, Oracle และ SoftBank เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AI ของสหรัฐฯ ซึ่งเงินลงทุนจำนวนนี้ยังไม่นับรวมการลงทุนเพิ่มเติมจากบริษัท Big Tech อย่าง Google, Microsoft และ Meta ที่อัดงบไปกับศูนย์ข้อมูล, ชิป AI และโมเดล AI ของตัวเอง

ฝรั่งเศษลงทุน 1.09 แสนล้านยูโร (1.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)  หากนำมาเทียบกันจะพบว่า แผนลงทุนของฝรั่งเศส มีขนาดเพียง 1 ใน 5 ของงบ Stargate ของสหรัฐฯ แถมเป็นการลงทุนที่กระจายไปยังหลายภาคส่วน ไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐาน แต่รวมถึงการพัฒนาโมเดล AI และศูนย์ข้อมูล

Victor Riparbelli ซีอีโอของ Synthesia (สตาร์ทอัพ AI จากอังกฤษ) มองว่า แผนลงทุนของฝรั่งเศสเป็นก้าวสำคัญของ AI ในยุโรป แต่ยังไม่เพียงพอหากต้องการไล่ทันมหาอำนาจเทคโนโลยีอย่าง สหรัฐฯ และจีน

“เราอาจกำลังสร้างรากฐานที่ดีให้ยุโรป แต่เงินลงทุนอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ที่สำคัญคือ เราเริ่มเห็นความมุ่งมั่นทางการเมืองที่อยากจะทำจริงจัง”

2. ปัจจัยที่มากกว่า ‘เงิน’ ในการแข่งขัน AI

การลงทุนมากไม่ได้แปลว่าจะนำหน้าเสมอไป เพราะการแข่งขัน AI ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่จำนวนเงินลงทุน แต่รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างด้วย อย่างสหรัฐฯ มี Big Tech เป็นตัวเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ อาทิ OpenAI, Google DeepMind, Microsoft, Meta และ Nvidia ขับเคลื่อน AI ด้วยการลงทุนมหาศาล

ส่วนด้านจีน ทางรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนบริษัทเทคฯ ในประเทศเต็มที่ เช่น Alibaba และ Tencent แต่ฝรั่งเศสมีผู้เล่นน้อย บริษัทใหญ่ที่ลงทุน เช่น Iliad, Orange, Thales และ Mistral AI ยังไม่ใช่ระดับเดียวกับ Big Tech ของสหรัฐฯ หรือจีน

นอกจากนี้ ในโครงสร้างพื้นฐานและชิป AI แม้การลงทุนใน Data Center ถือเป็นจุดแข็งของฝรั่งเศส เพราะ UAE จะลงทุนสร้างศูนย์ AI ขนาดใหญ่ในฝรั่งเศส แต่การพัฒนา AI ต้องการพลังการประมวลผลสูง และ Nvidia กำลังเป็นเจ้าตลาด ซึ่งสหรัฐฯ ได้เปรียบตรงนี้ รวมถึงจีนก็พยายามสร้าง ชิป AI ของตัวเอง หากฝรั่งเศสและยุโรป ยังต้องพึ่งพาชิปจาก Nvidia และ AMD การแข่งขันครั้งนี้ก็อาจยากขึ้นไปอีกขั้น

ซึ่งสุดท้ายแล้วเราจะเห็นว่าเงินจำนวน 1.09 แสนล้านยูโรนั้น ‘พอ’ ในแง่ของการสร้างพื้นฐาน AI ในยุโรป แต่ ‘ยังไม่พอ’ ถ้าจะไล่ตามสหรัฐฯ และจีน

ถ้าฝรั่งเศสและยุโรปสามารถวางรากฐานที่แข็งแกร่งได้ภายใน 5-10 ปี นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ยุโรป กลายเป็นผู้เล่นสำคัญในเกม AI โลก แต่ถ้าหยุดอยู่แค่เงินก้อนนี้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่ฝรั่งเศสจะยังตามหลัง สหรัฐฯ และจีนต่อไป

อ้างอิง: cnbc, stateof.ai

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

จากแรงงานสู่นวัตกรรม ยกระดับ SMEs และสตาร์ทอัพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยุคใหม่ สู่ประเทศรายได้สูง

Mr. Cristian Quijada Torres ร่วมอภิปรายในหัวข้อ Innovation in a Changing World: Empowering SMEs And Startup วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อุปสรรคที่ทำให้การพัฒนานวัตกรรมแ...

Responsive image

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2024 วิเคราะห์ความท้าทายและโอกาส จากงาน Thailand Economic Monitor by World Bank

ในงาน Thailand Economic Monitor ดร. เกียรติพงษ์ อริยปรัชญานักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ณ ธนาคารโลก วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้อย่างละเอียด โดยชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญท...

Responsive image

เจาะ 4 แนวทางเศรษฐกิจไทยที่จะให้ SME และ Startup เป็นพระเอก ฟังพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์

เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโต! นักลงทุนแห่ลงทุนใน AI, Semiconductor และ Data Center ขณะที่รัฐบาลเร่งลดการผูกขาด เปิดโอกาส SME และ Startup สู่ตลาดโลก พร้อมดันไทยเป็น "สวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเ...