ในวงการยานยนต์โลก Geely ถือเป็นแบรนด์แข็งจากจีนที่สร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดในไตรมาสแรกของปี 2567 Geely Group กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์จีนรายแรกที่ติดอันดับ 10 ยอดขายรถยนต์สูงสุดของโลก แซงหน้าแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากเยอรมันอย่าง Mercedes-Benz Group และ BMW ซึ่งล่าสุดมีรายงานจากหลายสื่อว่า Geely กำลังจะเข้ามาเขย่าตลาดรถ EV ในประเทศไทยด้วย
แล้ว Geely คือใคร? ทำไมถึงน่าจับตามอง? เรามาทำความรู้จักแบรนด์ตัวตึงจากแดนมังกรรายนี้กันให้มากขึ้น
ภาพของบริษัท Geely ในยุคแรกเริ่ม
Geely ก่อตั้งขึ้นในปี 2529 โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนตู้เย็น ก่อนจะค่อยๆ ขยับขยายเข้าสู่ธุรกิจผลิต และจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในปี 2537 หลังจากนั้นไม่นานก็ได้รวบรวมบริษัทในเครือ Geely ไว้ภายใต้กลุ่มเดียวเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง
รถรุ่นแรกของ Geely Auto ที่ออกจากสายการผลิต
ต่อมาในปี 2540 Geely ก็ได้ก้าวเข้าสู่วงการยานยนต์อย่างเต็มตัว ภายใต้ชื่อ Geely Auto นับเป็นผู้ผลิตรถยนต์เอกชนรายแรกของจีน ก่อนที่จะปล่อยรถยนต์คันแรกออกจากสายการผลิตเมื่อปี 2541 ซึ่งหากนับมาถึงปัจจุบัน Geely อยู่ในวงการยานยนต์มาแล้วกว่า 26 ปี
ความสำเร็จของ Geely เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแบรนด์รถยนต์ราคาประหยัดสู่การเป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ระดับพรีเมียม ซึ่งใช้เวลาไม่นาน Geely Auto ได้ก้าวขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 10 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของจีนอย่างไม่ยากเย็น แถมยังเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จีนรายแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง
แม้จะเริ่มต้นจากการทำรถราคาประหยัด แต่ในปี 2550 พวกเขาได้ประกาศแนวคิดใหม่ Ningbo Declaration ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่แข่งขันในด้านราคา มาเป็นการแข่งขันในด้านเทคโนโลยี และคุณภาพ
โดยจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2553 เมื่อ Geely เข้าซื้อกิจการแบรนด์รถยุโรปชื่อดัง Volvo Car Corporation จาก Ford Motor Company ซึ่งสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก แต่ในทางกลับกัน การตัดสินใจครั้งนี้นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย หลายคนมองว่า Geely กำลังแบกรับความเสี่ยงที่สูงเกินไปในการแบกรับชื่อเสียงที่สั่งสมมาอย่างยานานของ Volvo
การเข้าซื้อกิจการ Volvo ไม่เพียงแต่ทำให้ Geely ได้เป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ระดับหรู แต่ยังได้เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมยานยนต์ชั้นนำมาต่อยอด ทำให้ Geely พัฒนารถยนต์ของตัวเองอย่างก้าวกระโดด ทั้งในด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย
แต่ Geely กลับพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขามองการณ์ไกล แทนที่จะเข้าไปควบคุม Volvo แบบเบ็ดเสร็จ Geely กลับเลือกที่จะให้ Volvo บริหารจัดการตัวเองอย่างอิสระ โดย Geely ทำหน้าที่สนับสนุนด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ผลลัพธ์ที่ได้คือ Volvo สามารถฟื้นฟูตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ยอดขายเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์รถยนต์ระดับพรีเมียมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
ทั้ง Geely และ Volvo มีการร่วมมือกันด้านรถยนต์อย่างใกล้ชิด หนึ่งในนั้นคือการก่อตั้งศูนย์วิจัยด้านเทคโนโลยี China Euro Vehicle Technology Centre (CEVT) ในบ้านเกิดของ Volvo อย่างสวีเดน เพื่อพัฒนาโครงสร้างสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ รวมทั้ง Geely และ Volvo ยังมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อแชร์เทคโนโลยีร่วมกันระหว่างแบรนด์ต่างๆ ที่อยู่ในเครือ Geely ด้วย
แม้ว่าในภายหลัง Volvo จะได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัทแม่ Geely Holding เพื่อคุมกิจการต่างๆ ที่ดำเนินการภายในจีนด้วยตนเองแบบเต็มรูปแบบ แต่ Geely ยังคงถือหุ้นในบริษัทแม่ของ Volvo ทำให้เกิดการร่วมมือกันด้านเทคโนโลยี และรถยนต์มาจวบจนถึงปัจจุบัน
แต่การเข้าซื้อ Volvo เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่มาเติมเต็มจักรวาลในเครือ Geely เท่านั้น
ในปัจจุบัน Geely มีการบริหารจัดการแบรนด์ต่างๆ มากมายทั้งที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการ รวมถึงการก่อตั้งแบรนด์ใหม่ ดังนี้
แบรนด์ที่เกิดมาเพื่อผลิตรถยนต์ มี 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ
Volvo Car Group : แบรนด์รถเก่าแก่จากสวีเดนที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Geely Holding Group เมื่อปี 2553 และได้เข้าซื้อกิจการคืนจาก Geely ในภายหลังเพื่อให้มีความคล่องตัวด้านการทำธุรกิจในจีนอย่างเต็มรูปแบบ
Lotus Group : แบรนด์รถสปอร์ต และรถแข่งสัญชาติอังกฤษที่ Geely เป็นเจ้าของส่วนใหญ่ โดยบริหารจัดการทั้งธุรกิจรถ Lotus Car และดูแลในเรื่องของเทคโนโลยี
PROTON : แบรนด์รถยนต์แห่งชาติมาเลเซียที่ก่อตั้งตามคำสั่งของรัฐบาลมาเลเซีย โดย Geely เข้าซื้อหุ้น 49.9% เพื่อดูแลกิจการ และเพื่อเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์
Qianjiang Motor : หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนตร์รายใหญ่ที่สุดในจีน เป็นเจ้าของแบรนด์ Beneli ซึ่งคนไทยเรารู้จักกันดีในฐานะรถบิ๊กไบค์ราคาเข้าถึงง่าย
London Electric Vehicle Company : แบรนด์สัญชาติอังกฤษที่เน้นผลิตรถยนต์สำหรับขนส่ง ซึ่ง Geely เข้าไปลงทุนมากกว่า 300 ล้านปอนด์ โดยหนึ่งในผลิตภัณฑ์เด่นคือ รถแท็กซี่
ZEEKR
แบรนด์เทคโนโลยี และโซลูชันด้านการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับพรีเมียม เมื่อปี 2565 มียอดขายรถยนต์รวม 71,941 คัน ครองตำแหน่งรถยนต์ไฟฟ้าล้วนที่มียอดขายสูงสุดของแบรนด์จีนในราคาเกิน 300,000 หยวน
Radar Auto (Riddara)
แบรนด์รถยนต์สำหรับสายผจญภัยที่เกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่าง Geely Auto, LYNK & CO, ZEEKR และ Lotus โดยมุ่งเน้นไปที่รถกระบะ
LYNK & CO
แบรนด์รถยนต์หรูที่เน้นการออกแบบ และวิศวกรรมจากยุโรป เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง Geely และ Volvo มียอดขายในจีนสะสมทะลุ 800,000 คัน
Smart automobile
บริษัทที่เกิดจากการก่อตั้งโดย Geely และ Mercedes Benz AG เพื่อผลิตรถไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ โดย Mercedes-Benz รับหน้าที่ออกแบบ ส่วน Geely รับผิดชอบด้านวิศวกรรม และการพัฒนา
Geely Technology Group : บริษัทที่เน้นการลงทุนด้านเทคโนโลยี ครอบคลุมทั้งเทคโนโลยีพลังงาน การสลับแบตเตอรี่ การบิน และอวกาศเชิงพาณิชย์
BSKY : บริษัทวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ และการแปรรูปวัสดุอะลูมิเนีนท
Geespace : บริษัทเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมด้านดาวเทียม
Mitime Group : บริษัทด้านการบริหารสนามแข่งรถ กิจกรรมกีฬา และกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านหยวน
Genius AFC : บริษัทให้บริการผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินสำหรับตัวแทนจำหน่าย และผุ้ซื้อรถ
Geely University : สถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งด้วยเงินบริจาคกว่า 5,000 ล้านหยวน สร้างอยู่บนพื้นที่กว่า 2,000 เอเคอร์
แม้ว่าตอนนี้บริษัทแม่ Geely จะยังไม่ได้บุกไทยอย่างเป็นทางการ แต่ในช่วงที่ผ่านมาแบรนด์ในเครือต่างเข้ามาบุกไทยแล้ว โดยหนึ่งในแบรนด์ที่เข้ามาก่อนนั่นก็คือ ZEEKR ที่นำรถรุ่นเด่นอย่าง ZEEKR X รถ SUV ไฟฟ้า และ ZEEKR 009 รถตู้ระดับพรีเมียมสำหรับผู้บริหาร
นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ Riddara ที่จะเข้ามาบุกตลาดรถกระบะไฟฟ้าในบ้านเรา เพื่อเจาะตลาดกลุ่มรถปิ๊กอัพไฟฟ้าที่ยังถือว่ามีผู้เล่นน้อยในตลาด
แต่ตลาด EV ไทยที่มีการแข่งขันสูงในเรื่องราคาวางจำหน่าย Geely จะทำให้ตัวเองเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคชาวไทยได้หรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อไป
อ้างอิง : Geely, paultan, insideevs, globaltimes
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด