นิตยสาร TIME ได้จัดลิสต์ 100 ผู้ทรงอิทธิพลทางด้าน AI โดยมีชื่อของ Marc Raibert ผู้ก่อตั้งและประธาน Boston Dynamics หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการหุ่นยนต์ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก โดยเฉพาะในหุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวแบบไดนามิก (เคลื่อนไหวคล้ายกับสิ่งมีชีวิต)
แต่ความจริงแล้วชายคนนี้ไม่เคยคิดว่าหุ่นยนต์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ฉลาด แต่ก็เลือกที่จะคลุกคลีกับมัน เป็นเพราะอะไร ?
“หุ่นยนต์ก็โง่พอ ๆ กับเครื่องปิ้งขนมปัง ความฉลาดของมันก็สูสีกับลูกบิดประตู” นี่เป็นประโยคที่ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ระดับโลกพูดถึงมุมมองของเขาที่มีต่อหุ่นยนต์ แต่ที่ Raibert ยังคงสนใจหุ่นยนต์อยู่นั่นก็เป็นเพราะ ‘ความโง่’ ของมันนี่แหละที่กระตุ้นให้เขาอยากพัฒนามันให้ฉลาดขึ้น
Marc Raibert มุ่งมั่นพัฒนาหุ่นยนต์มาตั้งแต่ปี 1980 เขาจบปริญญาตรีสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น และปริญญาเอกจาก MIT จากความเชี่ยวชาญด้านวิทยาการหุ่นยนต์ทำให้เขาได้ร่วมงานกับองค์การ NASA มาแล้ว
แต่ถึงอย่างไรการทำให้หุ่นยนต์ฉลาดขึ้นก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ Raibert อยากทำให้ได้ ในปี 1992 เขาจึงเริ่มก่อตั้งบริษัท Boston Dynamics บริษัทที่มีชื่อเสียงในการสร้างและพัฒนาหุ่นยนต์
หุ่นยนต์ตัวแรกของบริษัทก็คือ BigDog หุ่นยนต์สุนัขสี่ขาที่เคลื่อนที่ได้เหมือนน้องหมาของจริง ซึ่งหุ่นยนต์ตัวนี้มีความสามารถในการตรวจสอบความปลอดภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ในปี 2020 บริษัท Hyundai ของเกาหลีใต้ก็ได้เข้าซื้อ Boston Dynamics โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 80%
หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาหุ่นยนต์สุนัขรุ่นใหม่ ๆ ออกมา และล่าสุดก็ได้ออกหุ่นยนต์สุนัขรุ่นใหม่เพื่อการใช้งานในอุตสาหกรรมอย่างเจ้า Spot ที่ช่วยยกของได้ นำทาง หรือสำรวจพื้นที่ที่อาจจะอันตรายต่อการทำงานของมนุษย์
นอกจากนี้เมื่อปีที่แล้ว Raibert ได้ก่อตั้งสถาบัน Boston Dynamics AI Institute เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เขาบรรลุเป้าในการทำให้หุ่นยนต์ฉลาดขึ้น
มีอยู่ 3 มิติหลักที่ Raibert อยากพัฒนาให้หุ่นยนต์ของเขาฉลาดขึ้นก็คือ
หนึ่งในวิธีการที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ให้ไปถึงจุดที่ตอบโจทย์ทั้ง 3 นั้น Raibert เชื่อว่าต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘athletic AI’ อัลกอริธึมที่ใช้วิเคราะห์การเคลื่อนไหวและนำมาปรับปรุง และ ‘cognitive AI’ ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์และประมวลผลเชิงลึก ซึ่งช่วยปรับปรุงกระบวนการคิดแก้ปัญหาของหุ่นยนต์ได้
หากนำ AI ทั้งสองแบบมาพัฒนาร่วมกับหุ่นยนต์ก็อาจช่วยให้หุ่นยนต์ฉลาดและคล่องตัวได้พอ ๆ กับคนเลย แม้ว่า Raibert ยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านจริยธรรมของ AI อย่างประเด็นการแย่งงาน หรือพัฒนามาก ๆ อาจมีพลังเกินควบคุม แต่เขาก็ยังเชื่อว่าควรที่จะพัฒนามันต่อไป โดยเปรียบว่า
“AI ก็เหมือนกับเด็กน้อยที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้ เราจึงควรเริ่มสอนและชี้แนะ เพื่อให้พวกเขาโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ แทนที่จะกลัวว่าเขาจะโตไปเป็นอะไร” นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์คนนี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในยุค AI
อ้างอิง: thinkingheads, bostontechleaders, time, bostondynamics
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด