โลกอนาคตที่หุ่นยนต์ใช้ชีวิตกับมนุษย์ อาจไม่ใช่เรื่องเกินฝันอีกต่อไป วันนี้ Techsauce อยากแนะนำให้ผู้อ่านทุกท่านรู้จักกับ Spot
“สุนัขที่ทำงานแทนมนุษย์ได้”
Spot ทำได้ทุกอย่างตั้งแต่เปิด/ปิดไฟ ยกของหนัก คาดการณ์จุดเสี่ยงที่อาจเกิดอันตราย เป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ช่วยงานได้เกือบทุกประเภท และที่สำคัญสามารถทำงานต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากคน
Spot เป็นหุ่นยนต์ 4 ขาลักษณะคล้ายสุนัข ผลิตโดยบริษัท Boston Dynamics หนึ่งในบริษัทแนวหน้าด้านวิทยาการหุ่นยนต์ของโลก
ปัจจุบันบริษัท Hyundai Motor Group เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Boston Dynamics ด้วยจำนวนสูงถึง 80%
โดยในปี 2020 บริษัท Hyundai มองว่าการสร้างระบบหุ่นยนต์อาจมีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ จึงทุ่มเงินกว่า 921 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการเข้าซื้อ Boston Dynamics ครั้งนี้
บริษัทพัฒนา Spot มาจากแนวคิดที่อยากให้มันเป็น “หุ่นยนต์อุตสาหกรรมครบวงจรที่ใช้งานง่ายและผู้ใช้เข้าใจการทำงานของมันได้ตั้งแต่แกะกล่อง” เพื่อสามารถขายให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ ไม่ใช่แค่ในแวดวงวิชาการเท่านั้น
แต่ในช่วงแรกที่บริษัทสร้าง Spot ออกมามันยังใช้งานยาก เพราะผู้สร้างส่วนใหญ่เป็นวิศวกรที่มีความคิดที่ซับซ้อน จึงออกแบบมันให้ซับซ้อนตามไปด้วย
Boston Dynamics เลยต้องไปขอความช่วยเหลือจากบริษัท Rightpoint (บริษัทที่เชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้าง Customer Eexperience) มาช่วยพัฒนา Spot ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นและเหมาะสำหรับขายให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ
Rightpoint ได้ปรับรูปแบบการใช้งานหุ่นยนต์ตัวนี้ ด้วยการใช้แท็บเล็ตที่สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ในการควบคุม Spot เพราะบริษัทมองว่าการใช้งานผ่านโทรศัพท์ได้เป็นสิ่งที่ง่ายและไม่ซับซ้อนที่สุด คนส่วนมากใช้โทรศัพท์เป็น พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องฝึกใช้งานหรือเรียนรู้อะไรมากมาย
ความสามารถของ Spot อาจจะไม่ได้โดดเด่นมากนัก แต่การรวมความสามารถที่เรียบง่ายเอาไว้ คือจุดเด่นที่ทำให้มันเป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์ Pain Point ให้กับผู้ใช้อย่างมาก ความสามารถพื้นฐานของมันเน้นไปที่ ความยืดหยุ่น คล่องตัว และว่องไว นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมหุ่นยนต์ตัวนี้ถึงต้องเป็นน้องหมาสี่ขา
บริษัท Boston Dynamics พัฒนาให้หุ่นยนต์ตัวนี้สามารถเคลื่อนที่ได้แบบไดนามิก หรือเคลื่อนที่ได้คล้ายกับสิ่งมีชีวิตจริง ๆ ทำให้มันสามารถทำงานได้ในทุกพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่พื้นราบเท่านั้น และมันก็ยังสามารถชาร์จตัวเองได้ หาเส้นทางใหม่หากเจอสิ่งกีดขวาง หรือแม้แต่ยืนได้เองเมื่อมันล้ม
ยิ่งไปกว่านั้น Spot ยังถูกออกแบบมาให้สามารถเป็นผู้ช่วยในการตรวจตราสถานที่ทำงาน อย่างเช่น โรงงาน สถานที่ก่อสร้าง และห้องปฏิบัติการวิจัยว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ โดยมันจะรายงานวันที่ สภาพของสถานที่ หรือแม้แต่คาดการณ์เวลาที่อาจมีสถานการณ์อันตรายได้
นี่เป็นเพียงแค่ความสามารถพื้นฐานของหุ่นยนต์ตัวนี้เท่านั้น ซึ่ง Spot เมื่อติดตั้งอุปกรณ์เสริมให้กับมันก็จะสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้นอีก เช่น
ความสามารถพื้นฐานที่ตอบโจทย์ทำให้ Spot มีโอกาศได้ทำงานร่วมกับองค์กรสำคัญระดับโลกถึง 2 ที่ อย่าง NASA (องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ) และ MIT Media Lab ในโปรเจกพิเศษ ได้แก่
Au-Spot หุ่นยนต์สุนัขที่ NASA พัฒนามาจาก Spot หุ่นยนต์ตัวนี้มีความคล่องแคล่ว ว่องไว NASA จึงคิดว่า Spot เหมาะมากที่จะใช้สำรวจดาวดาวอังคาร
เนื่องจาก Spot มีเซนเซอร์พิเศษที่ทำให้มันสามารถหลบสิ่งกีดขวาง ประมวลผลเลือกเส้นทางที่ดีกว่า มีการทรงตัวและการเคลื่อนไหวที่ยืดหยุ่นจึงสามารถเดินบนพื้นผิวขรุขระได้ และลุกขึ้นได้เองเมื่อมันล้ม และหุ่นยนต์สุนัขมีน้ำหนักเบาและเคลื่อนที่ได้เร็วกว่ารถแลนด์โรเวอร์ที่ใช้สำรวจอยู่ในปัจจุบันมาก
โดยมีทีม CoSTAR ได้ช่วยกันพัฒนา Au-Spot ขึ้นมา โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยในการสำรวจ เช่น เทคโนโลยี LiDAR (คลื่นแสงเลเซอร์ที่ส่งไปกระทบกับพื้นผิว เพื่อประมวลผลเป็นข้อมูลภาพ 3 มิติ), เทคโนโลยี AI เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถแยกแยะว่าสิ่งไหนน่าสนใจ และสิ่งไหนไม่จำเป็น ทำให้มันไม่เก็บข้อมูลมั่วซั่ว
ในการฝึกฝนทีม CoSTAR ให้ Spot ฝึกโดยใช้ในสถานที่ต่าง ๆ บนโลกที่มีลักษณะใกล้เคียงกับดาวอังคาร เช่น ถ้ำ อุโมงค์ พื้นที่กลางแจ้งที่ดูเหมือนดาวอังคาร
นี่เรากำลังจะใช้พลังจิต สั่งหุ่นยนต์ได้แล้วจริง ๆ
โครงการ Ddog มีขึ้นเพื่อการใช้หุ่นยนต์ Spot ร่วมกับอุปกรณ์ Brain-Computer Interface (BCI) หรือเทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์
Ddog เป็นโปรเจกที่พัฒนาต่อมาจากแอปพลิเคชัน Brain Switch ซึ่งเป็นระบบ BCI ที่เน้นช่วยเหลือให้ผู้ที่มีปัญหาทางร่างกาย เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, บาดเจ็บไขสันหลัง, หรือโรคหลอดเลือดสมอง ให้สามารถสื่อสารกับคนรอบตัวได้
การสื่อสารผ่านคลื่นสมองจะต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า AttentivU เป็นแว่นตาที่สามารถวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) และคลื่นไฟฟ้าจอตา (EOG) โดยจะเชื่อมต่อ Spot เข้ากับ AttentivU เมื่อผู้ป่วยสวมใส่แว่นตาหุ่นยนต์ก็จะสามารถเข้าใจและตอบสนองต่อความคิดความต้องการของพวกเขาได้
ซึ่งมันทำให้ Spot สามารถเป็นผู้ช่วยผู้ป่วยในการทำงานต่าง ๆ เช่น ถือของ ยกเก้าอี้ เปิดประตู และงานอื่น ๆ ตามความคิดหรือความต้องการของผู้ป่วย โดยที่พวกเขาไม่ต้องพูดออกมาสักคำ
อ้างอิง: bostondynamics, analyticsindiamag, iotworldtoday, intuitive-robots, media.mit, space, transmitter
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด