ทายาทหอแว่น ปลุกปั้น 'Glazziq' ตีโจทย์ท้าทายธุรกิจครอบครัวสู่ดิจิทัล

ทายาทหอแว่น ปลุกปั้น 'Glazziq' ตีโจทย์ท้าทายธุรกิจครอบครัวสู่ดิจิทัล

คุณเข้าร้านแว่นครั้งล่าสุดเมื่อไร? เคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลาเข้าร้านแว่นแต่ละครั้งจึงไม่รู้สึกสนุก ตื่นเต้นเหมือนเวลาเข้าร้านเสื้อผ้า ถึงแม้ว่าจะมีให้เลือกซื้อออนไลน์ แต่ถ้าไม่ได้ลองก็ไม่รู้ว่าจะเหมาะกับตัวเองหรือเปล่า

คุณดา ปริณดา ประจักษ์ธรรม มองเห็นปัญหานี้ของธุรกิจแว่นตาและสามารถพลิกให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ ปลุกปั้นธุรกิจแว่นของครอบครัวต่อยอดจนกลายเป็น แบรนด์ GLAZZIQ Startup ด้านอีคอมเมิร์ชของตัวเอง ด้วยเป้าหมายในการเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการแว่นตาอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก

Techsauce ได้มีโอกาสนั่งคุยกับคุณดา ว่าท่ามกลางโลกที่ธุรกิจทุกอย่างต้องปรับตัวเป็นออนไลน์หมด คุณดาสามารถพลิกช่องโหว่ร้านแว่นตาแบบเดิมให้เป็นโอกาสได้อย่างไร ซึ่งการดึงศักยภาพของเทคโนโลยีมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมแว่นตา การให้ความสำคัญของการทำให้เป็นส่วนตัว และกลยุทธ์การสร้างประสบการณ์แบบ O2O อีกทั้งการให้ความสำคัญกับทรัพยากรคนนั้น คือ Secret Sauce ของความสำเร็จ

เส้นทางก่อนจะมาเป็น GLAZZIQ เป็นอย่างไรบ้าง

ที่บ้านทำธุรกิจแว่นตามาอยู่แล้ว มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมแว่นตาไทยมาเป็นเวลากว่า 50 ปี ดูแลทั้งโรงงาน ขายปลีก ขายส่ง เกือบทั้ง chain พอได้เข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัว จึงมองเห็นว่ามีหลายอย่างที่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ เลยต้องการสร้างโมเดลทำธุรกิจใหม่ขึ้นมา

การเริ่มก่อตั้งธุรกิจของตัวเองจาก Family Business นั้นไม่ง่าย

แม้จะช่วยธุรกิจที่บ้าน แต่ตอนนั้นก็ยังไม่เคยเรียนรู้รายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจนี้จนกระทั่งได้มาทำธุรกิจของตัวเอง เริ่มทำ GLAZZIQ ตั้งแต่ปี 2015 ในช่วง 6 เดือนแรกของการทำงานเต็มไปด้วยความยากลำบาก แน่นอนว่าในช่วงแรกมีอุปสรรคอยู่แล้ว เพราะมันเป็นการ disrupt อุตสาหกรรมเก่า และเป็นการสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่ การบริหาร Family asset จะต้องมีการตัดสินใจค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นเมื่อเราจะทำอะไรใหม่ๆ ที่จะเป็นการ disrupt อุตสาหกรรมเก่า จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ครอบครัวจะไม่กล้าเสี่ยง

เราเลยเริ่มทำเองก่อน ใช้ทุนตัวเองกับผู้ก่อตั้งทุกคน ทำการสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา ต้องยอมรับว่ามันไม่ง่าย อันดับแรกต้องรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เวลาลงมือทำจริงๆ ต้องเทสเลย เขาคิดอย่างไร เราคิดอย่างไร มันเป็นแค่ความคิด เราจะไม่มีทางรู้ได้ว่าไอเดียและวิธีการทำงานที่เราคิดนั้นได้ผลหรือไม่ ถ้าไม่ได้ลองทำจริงๆ ทำให้เขาเห็นว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ปัจจุบันนี้ที่บ้านตกใจมากว่าขายได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ช่วงแรกๆเน้นแต่การขายผ่านช่องทางออนไลน์

Pain Point ที่มองเห็นแล้วต้องการเปลี่ยนคืออะไร

ลูกค้าของ GLAZZIQ เป็นกลุ่มคนวัยรุ่นหรือวัยทำงานที่เป็นคนฉลาดซื้อ ไม่ได้ยึดติดกับการซื้อของแบรนด์เนม แต่มองหาของที่ดีในราคาที่คุ้มค่า เราต้องการพัฒนาประสบการณ์การซื้อแว่นตาของลูกค้าให้ง่ายและสนุกกว่าเดิม ทำการช่วยในการตัดสินใจ ช่วยลดตัวเลือกให้แคบลง เพราะการจะเลือกซื้อแว่นตาแต่ละครั้งมักจะใช้เวลาค่อนข้างนาน ไม่ว่าจากตัวเลือกของกรอบแว่นตาที่มีมากเกินไป หรือปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่นคุณภาพ ค่าสายตา เลนส์ที่เหมาะสม และกล่อง ทำให้เกิดแรงกดดันในการเลือกซื้อและสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีให้กับลูกค้า

เทคโนโลยีเบื้องหลังแพลตฟอร์มคืออะไร

เราใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมระหว่างพาร์ทเนอร์ในห่วงโซ่อุปทาน มี Chatbot เป็นผู้ช่วยในการเลือก มี Style guide อีกหนึ่งผู้ช่วยลูกค้าในการเลือกแว่นตาคือการทำคอนเทนต์ ช่วยลดตัวเลือกให้แคบลง สร้างประสบการณ์การเลือกซื้อแว่นตาให้ง่ายและเพลิดเพลินเหมือนการเลือกซื้อเสื้อผ้า โดยลูกค้าสามารถเลือกผ่านเว็บไซต์ มีแคตตาล็อกแว่นให้ดูได้เพลินๆ พร้อมทั้งรูปคนใส่แว่นให้ดูแบบ 360 องศาทุกๆรุ่น หรือดูภาพแบบไลฟ์สไตล์ในโซเชียลมีเดียก็ได้

สิ่งที่ทำให้แพลตฟอร์มนี้มีประสิทธิภาพจริงๆ ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่คือ Value ที่มอบให้ลูกค้า

มีหลายเจ้าที่ทำร้านแว่นออนไลน์ แต่ก็ต้องล้มหายไปเป็นจำนวนมาก

เพราะว่าที่จริงแล้ว Competitive advantage ของมันไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณมีร้านแว่นออนไลน์ แต่เป็นวิธีการบริหารซัพพลายเชนหลังบ้านของคุณว่าจะทำให้มันสามารถเสริมคุณค่านั้นให้กับลูกค้าได้อย่างไร

การให้บริการลูกค้าโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระยะยาว สร้างความประทับใจให้ลูกค้าจนต้องบอกต่อ ทางเราจะเน้นคุณภาพของสินค้าและบริการมากกว่าการลดราคา

ทำไมการสร้างประสบการณ์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (O2O) จึงเป็นสิ่งสำคัญ

เราเริ่มทำออนไลน์/ ออฟไลน์มากขึ้น ลูกค้าสามารถ browse อะไรได้ง่ายมาก อีกทั้ง mix & match ได้ตามต้องการ เมื่อไปที่ร้านก็จะได้ตัวเลือกอ้างอิงตามประวัติการค้นหา สิ่งที่เคยซื้อ ค่าสายตา เพื่อที่จะเป็นการช่วยตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โซเชียลมีเดีย ก็เป็นอีกส่วนที่ช่วยในการตัดสินใจได้อีกทาง อีกทั้งเมื่อทำการสั่งแต่ละออร์เดอร์ พาร์ทเนอร์ก็สามารถเข้าถึงดาต้าเบสทันที

เราขยาย Footprint และการเข้าถึงของลูกค้ามากขึ้นโดยที่ไม่ต้องนำสินค้าของเราไปกระจายไว้ทุกที่ ปกติซื้อของออนไลน์มักไม่มีโอกาสได้ลอง แต่หากลูกค้า GLAZZIQ อยากลองแว่น สามารถเข้าไปได้ที่โชว์รูม หรือสั่งแว่นตาไปลองที่บ้าน ลองเสร็จแล้วหากถูกใจก็สามารถซื้อออนไลน์ได้เลย หากไม่ถูกใจก็สามารถส่งแว่นตาคืนได้ง่ายๆที่ 7-11 ทุกสาขา

GLAZZIQ ไม่ใช่ว่าจะมีแค่บริการสั่งแว่นไปลองใส่ที่บ้านอย่างเดียว แต่ GLAZZIQ ยังจับมือกับร้านกาแฟ ให้ลูกค้าสามารถชวนเพื่อนๆ ไปลองแว่นกันได้แบบสบายๆจิบกาแฟไปพลางๆ โดยร้านมีโลเคชั่นใกล้กับรถไฟฟ้า คือมีที่ร้าน Printa Café บริเวณวัดแขกสีลม และที่ Casa Lapin สาขาเมเจอร์เอกมัย นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถไปลองที่ร้านหอแว่นได้ที่สาขา สยามพารากอน เซ็นทรัลลาดพร้าว และ BTS ศาลาแดง

เรื่องการวัดสายตา ลูกค้าสามารถเข้าไปวัดสายตาที่ร้าน หอแว่น และ Better Vision โดยสามารถแจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้สั่งซื้อ หรือถ้ามีค่าสายตาอยู่แล้ว ก็จะสามารถสั่งตัดได้เลย ใช้เวลาในการรอสินค้าเพียงประมาณ 5 วันเท่านั้น

วางแผนธุรกิจในอนาคตอย่างไร

ตอนนี้เน้นการเทสระบบ และขยายธุรกิจ ปีนี้จะต้องมีโชว์รูมเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5 ที่ทั้งในไทยและต่างประเทศ เพิ่มเติมจากสาขาที่มีอยู่แล้ว

ตอนนี้เริ่มทำการเทสที่สิงคโปร์ ที่ VivoCity ไปเรียบร้อย ตลาดที่สิงคโปร์เป็น High-density area ฉะนั้นร้านจะไม่เหมือนที่ไทย อีกทั้งรสนิยมจะต่างกันมาก แม้จะเป็นประเทศใกล้ๆ กัน พอเราเริ่มดำเนินธุรกิจไปสักพักก็จะเห็นได้ว่าแว่นตารุ่นที่ขายดีที่ในประเทศ แต่พอไปขายที่สิงคโปร์กลับไม่ได้เป็นที่นิยมเท่าไหร่ ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจความแตกต่างของลูกค้าแต่ประเทศให้ดี

ทีมงานแต่ละคนมาเจอกันได้อย่างไร

คุณแดน อิสระยั่งยืน (CTO) เป็นญาติกัน เรียนจบ Computer science จาก MIT มีประสบการณ์เป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์ทางเทคนิคด้านวีดีโอออนไลน์ของบริษัท Amazon และใน US Airforce ในตำแหน่ง flight test engineer มากว่า 10 ปี

ส่วนคุณพิริยะ ตันตราธิวุฒิ (CMO) ช่วยดูแลกลยุทธ์ด้านครีเอทีฟและการวางแผนการตลาด จบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard ได้มารู้จักกันตอนที่คุณตั้มมาแลกเปลี่ยน MBA ที่ Kellogg เ หลังจากจบมาก็ได้เคยลองทำโปรเจคสตาร์ทอัพร่วมกัน และจึงมองเห็นโอกาสในการเริ่มทำ Glazziq ด้วยกันเพราะมี Competitive advantage ชัดเจน และคิดว่าน่าสามารถทำธุรกิจที่สร้างประสบการณ์การซื้อแว่นที่ดีได้

มองหาอะไรในตัวคนที่เลือกเข้ามาทำงานด้วย

เราเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ไม่เคยคิดว่าตัวเองพอแล้วหรือเก่งแล้ว ถ้าหากว่าไม่มีคุณสมบัติที่ชอบการเรียนรู้เหมือนกันก็จะทำงานร่วมกันลำบาก คีย์หลักๆ ที่เราใช้ในการเลือกคนที่จะมาร่วมทีมคือจะดูว่ามีเคมีตรงกันไหม มีทัศนคติและ Logic เป็นอย่างไรบ้าง Logic เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถึงแม้จะเป็นคนที่ไม่ความรู้เฉพาะทางในการแก้ปัญหามาตั้งแต่แรกก็ไม่เป็นไร แต่ที่สำคัญคือต้องมี Logic ในการคิด การทำความเข้าใจที่มาที่ไปของปัญหาต่างๆ ถ้าไม่มีพื้นฐานด้าน Logic เลยก็จะทำงานด้วยกันยาก และลำบากในแง่ของการสอนงาน

ในด้าน Tech talent มองว่าตอนนี้ทักษะอะไรที่ยังขาดในไทย

ยังมีทักษะที่ขาดไปอยู่อีกพอสมควรเลย เนื่องจาก Tech talent เป็นตัวหลักในการผลักดันในการสนับสนุนให้ธุรกิจโต ด้วยความที่มีประสบการณ์การทำงานกับบริษัทด้าน Consult มาก่อน จึงเคยชินกับคนประเภทที่มี Self-autonomy คือทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเองทั้งหมด แต่พอออกจากงานมาแล้วจึงรู้เลยว่าคนประเภทนี้หายากมาก ฉะนั้นเราจึงมองหาคนที่มีคุณสมบัติหรือความเป็นไปได้ที่จะเทรนหรือบ่มเพาะความสามารถได้แทน

ที่สำคัญคือต้องเรียนรู้เร็ว เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตีโจทย์หรือการแก้ปัญหาทางการตลาด เทคโนโลยีต่างๆ มันเปลี่ยนเร็วจริงๆ เดี๋ยวนี้เวลาเห็นฟีดแบคจากตลาดแล้ว เราต้องเปลี่ยนตามให้ได้ในทันที

ดามองว่าที่เมืองไทยคนเป็นเหมือน Book smart มากกว่า คือเรียนเยอะแต่ไม่ได้ทำ ซึ่งที่ต่างประเทศส่วนใหญ่ จะให้คนไปฝึกทำจริง ทำให้การปรับกับการทำงานมันง่ายกว่า แต่ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหน สุดท้ายพอมาทำงานร่วมกันแล้ววัฒนธรรมองค์กรมันจะ shape มาจากตัวผู้นำอยู่แล้ว อย่างที่ Glazziq คือทุกคนต้อง Speak up สามารถออกความเห็นได้และพร้อมจะรับฟังกันและกัน

มีวิธีการสร้างวัฒนธรรมในบริษัทให้เอื้อต่อการออกไอเดียใหม่ๆ อย่างไร

เรื่อง Leadership หรือความเป็นผู้นำนั้นสำคัญมาก เพราะวัฒนธรรมองค์กรจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างมาจากตัวผู้นำหมด

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในบริษัทล้วนเป็นสิ่งสะท้อนมาจากตัวผู้นำเอง เรามองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรนั้นไม่สามารถโทษใครได้เลย หากไม่โทษตัวผู้นำ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา

ฉะนั้น เราจึงรับผิดชอบกับเรื่องนี้อย่างสุดความสามารถ ในทุกวันศุกร์ ที่บริษัทจะมีการทำ Employee Pulse Check กับพนักงานทุกคน เป็นการให้ฟีดแบคว่าใคร หรือมีอะไรตรงไหนที่ต้องการพัฒนา หรืออยากจะให้หัวหน้าปรับปรุงบ้าง ซึ่งหลังจากที่ทำ ก็เห็นได้ชัดเลยว่าพนักงานมีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วม ซึ่งมันเป็นการช่วยลดช่องว่างและแรงกดดันระหว่างองค์กร  เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายเข้าถึงกันได้

โปรแกรม Simona Ventures สนับสนุนผู้ก่อตั้งสตรีในเอเชียแปซิฟิก

คุณปริณดายังได้เป็นหนึ่งใน 12 ผู้ก่อตั้งหญิงที่ชนะรางวัล Simona Women Accelerator batch 1 ที่อินโดนีเซียอีกด้วย Simona Ventures สนับสนุนผู้ก่อตั้งสตรีในเอเชียแปซิฟิก โดยผู้ที่เข้ารอบจะได้รับการสนับสนุนและการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจไปยังอินโดนีเซีย ผู้ชนะของโปรแกรมนี้จะมีโอกาสได้รับคำปรึกษาจาก Google และเข้าร่วมโปรแกรมพิเศษที่ประเทศเกาหลีใต้

เป้าหมายของโปรแกรมคือความต้องการลดช่องว่างทางเพศ การเปิดโอกาสแก่ผู้ก่อตั้งหญิงในการขยายธุรกิจ อีกทั้งยังมีการสนับสนุนหลังจากโปรแกรมสิ้นสุดลง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโปรแกรมศิษย์เก่าเพื่อให้ผู้เข้าร่วมทั้งเก่าและใหม่สามารถพบปะกันเพื่อสร้างเครือข่ายหลังจากจบโปรแกรม

ช่วยเล่าถึงประสบการณ์ในครั้งนี้ให้ฟังได้ไหม

ทาง Techsauce ติดต่อมาให้เข้าร่วม ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ดีมาก คนที่เข้าร่วมมาจากหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ภาคการเงิน, ประกัน, E-commerce ไปจนถึงด้าน HR ซึ่งก็ได้มีการแลกเปลี่ยนไอเดีย อีกทั้งยังได้พาร์ทเนอร์การทำธุรกิจร่วมกันจากโปรแกรมนี้ด้วย เป็น Startup จากจีน ซึ่งตอนนี้เรากำลังคุยกันในเรื่องโอกาสในการทำธุรกิจร่วมกันอยู่ว่าจะทำอะไรต่อไปดี อยากให้มีโปรแกรมสนับสนุนแบบนี้มากขึ้น และอยากสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอื่นๆ เข้าร่วมด้วย

มองว่าการเป็นผู้หญิงมีผลต่อการ Pitch ไอเดียต่อนักลงทุนหรือเปล่า

เมืองไทยยังถือว่าค่อนข้างเปิดมากนะ แต่ในเอเชียโดยรวมแล้วยังเป็นประเทศที่ยังมีชายเป็นใหญ่อยู่ดี มันมี Bias อยู่แล้ว แต่ในท้ายที่สุด ทุกอย่างถูกพิสูจน์ด้วยตัวเลข เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการว่าเราจะ โน้มน้าวนักลงทุนได้อย่างไร เพราะอันที่จริง ถ้าคุณเก่งก็คือคุณเก่ง หากทำได้ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็คงไม่เวิร์ค เพราะทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับ Data และ Logic ของการ pitch แต่ละครั้ง

อยากจะฝากอะไรสำหรับผู้ที่อยากเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร

‘Ask yourself WHY’ ถามตัวเองก่อนว่าอยากทำเพราะอะไร เมื่อตอบคำถามนี้ได้ มันจะช่วย shape ต่อไปว่า เราควรทำต่อไปไหม ทำแล้วไปทางไหนต่อ

หากต้องรอให้ทุกอย่างพร้อมถึงจะเริ่มได้ นั่นแสดงว่า ไม่ได้มี passion กับมันมากพอ เพราะทุกคนเวลาก้าวออกมาทำ จะต้องมีต้นทุนค่าเสียโอกาสอยู่แล้ว คุณต้องให้น้ำหนักในเรื่อง cost กับ benefit คำนวณว่าการลงทุนครั้งนี้มันคุ้มค่าไหม

ก่อนหน้าที่ทำงานกับบริษัท BCG มาถึงจุดไหนที่รู้ตัวว่าต้องกระโดดออกจากงานประจำ

เราจะรู้ได้เองนะ เรารู้สึกว่ามันไม่มีกฎตายตัว ต้องคิดว่า เราอยากจะทำมันมากพอ ถึงขนาดยอมลงนรกขุมที่จะต้องเจอหรือเปล่า ก่อนที่ไอเดียมันจะเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เพราะในช่วงปีสองปีแรกที่ทำ มันอาจจะแย่มากก็ได้ ต้องถามตัวเองว่า คุณสามารถทนอยู่แบบนั้นได้หรือเปล่า? มี passion ที่จะทำมันมากพอหรือเปล่า? เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำมากพอหรือเปล่า? และอย่าคิดว่าจะทำแล้วรวย ศจ. ที่ Kellogg บอกว่า

ถ้าอยากจะรวย อย่าเป็นผู้ประกอบการ เธออยู่ได้เพราะทำเพื่อสนอง WHY ของเธอเอง แต่การที่คุณประสบความสำเร็จ Wealth มันจะตามมาเอง แต่ถ้าคุณทำแล้วตั้งเป้าว่าจะรวย มันจะไม่มีทางเกิดขึ้น

การที่คุณอยู่ในคอมฟอร์ตโซนแล้วไม่อยากออกมา มันแปลว่า แม้คุณจะชอบสิ่งนั้นมากแค่ไหน การลงทุนที่คุณจะให้มันยังไม่คุ้มค่าพอที่จะแลกมันมา ถ้าแค่นี้รู้สึกว่าไม่พอที่จะแลก อย่า jump เลย เพราะถ้าคุณ jump ออกมา มันจะมีความท้าทายอีกมากมายที่จะต้องเจอ แล้วคุณจะรอดเหรอ

อย่าเอาความกดดันจากคนภายนอกมาทำให้เราต้องตัดสินใจตามนั้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว เขาอาจจะพูดเพราะหวังดีหรือเปล่าไม่รู้ แต่คนที่จะทุกข์จริงๆ ก็คือตัวเรา หากไปแคร์คนอื่นมาก มันก็จะทำให้ไม่มีความสุข

แต่แน่นอนเมื่อคุณตัดสินใจเลือกอะไรไปแล้ว สุดท้ายมันก็คือสิ่งที่คุณเลือก คุณจะเลือกทำอะไรก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วคุณคือคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับผลลัพธ์ที่จะตามมา

ฉะนั้น ‘You have to live with your own choices’ ลองคิดดูว่าสามารถใช้ชีวิตกับผลลัพธ์ที่จะตามมาได้ไหม ไม่ต้องสนใจบรรทัดฐานสังคมที่บอกว่าจะต้องทำอะไร ถ้าเราคิดตามแบบนั้นตั้งแรก ชีวิตก็คงไม่ได้มาถึงจุดนี้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...

Responsive image

กระทรวง AI : เมื่อ AI อันตรายเกินกว่าจะปล่อยไว้ โลกเร่งออกกฎควบคุม

AI กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมาย และต้องถูกจับตาดูโดยหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง ‘กระทรวง AI’ ที่มีอำนาจ และความสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่น ๆ แต่ทำไม AI ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล ? กร...