การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผลงานที่ไม่สู้ดีนักของ Intel โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่าง Nvidia ที่กำลังมาแรงจากกระแส AI เหตุการณ์นี้จึงเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนสำคัญที่ Intel ต้องเลือกว่าจะเดินไปทางไหน
บทความนี้จะวิเคราะห์ความล้มเหลวของ Gelsinger และความท้าทายที่ Intel กำลังเผชิญ รวมถึงความเป็นไปได้ในอนาคตของบริษัท
Gelsinger เป็นวิศวกรไฟฟ้าลูกหม้อของ Intel ที่ทำงานรับใช้บริษัทมาเป็นเวลานานกวา 30 ปี โดยดูแลธุรกิจในส่วนของหน่วยประมวลผล เซิฟเวอร์ และลูกค้าองค์กร ก่อนที่จะขยับมารับตำแหน่ง Chief Technology Officer (CTO) ในช่วงปี 2005 นับเป็นคนแรกของ Intel Corp ที่ได้รับตำแหน่งนี้
ในปี 2009 Gelsinger ได้ลาออกจาก Intel เพื่อร่วมงานกับ EMC ในฐานะประธาน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และ VMware ในฐานะซีอีโอ หลังจากสั่งสมประสบการณ์ในฐานะผู้บริหารมาอย่างยาวนาน เจ้าตัวก็ได้ย้ายกลับมาที่ Intel อีกครั้งในปี 2021 เพื่อรับตำแหน่ง CEO ซึ่งภารกิจหลักในตอนนั้นคือ ‘พลิกฟื้นกิจการของ Intel ให้กลับมามีความได้เปรียบอีกครั้ง’
ในช่วงที่ Gelsinger กลับมารับตำแหน่ง กำไรของบริษัทกำลังลดลง คู่แข่งอย่าง AMD กำลังแย่งส่วนแบ่งตลาดจากธุรกิจ PC และ Data Center ทาง Apple เองก็เพิ่งจะเปลี่ยนสถาปัตยกรรมของชิปตัวเองจาก X86 ของ Intel มาใช้ชิปแบบ ARM ทั้งบน Mac ไปจนถึง iPad รวมทั้งคู่แข่งอย่าง TSMC ก็เริ่มมีความก้าวหน้าในเรื่องการผลิตชิป จึงทำให้ Intel จำเป็นต้องเร่งตามทุกฝีก้าว
แนวคิดการพลิกฟื้นกิจการของ Gelsinger คือการรุกตลาด foundry หรือการเป็นผู้รับจ้างผลิตชิปให้กับบริษัทอื่นๆ ไม่ได้ผลิตแค่ชิปที่ตัวเองออกแบบเท่านั้นเพื่อแข่งขันกับผู้นำตลาด foundry อย่าง TSMC โดยวางแผนถึงขั้นสร้างโรงงานเพิ่มทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป หวังที่จะกลับมาเป็นผู้นำทั้งในด้านผู้ออกแบบชิป และผู้ผลิตชิป ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าแม้จะดูเป็นความคิดที่ทะเยอทะยานเป็นอย่างมาก แต่ก็อาจเป็นความคิดที่ผิดด้วยเหตุผล 2 อย่างคือ
ถึงแม้ Intel จะได้ลูกค้าใหญ่สองรายอย่าง Microsoft และ Amazon มาใช้บริการ Foundry ในการผลิตชิปแบบกำหนดเองด้วยเทคโนโลยี 18A แต่สัญญายังเล็กเกินกว่าจะทำให้ธุรกิจนี้ทำกำไรได้ เห็นได้จากผลขาดทุนจากการดำเนินงานของ Foundry ที่สูงถึง 5.8 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แถมรายได้ยังลดลงไปอีก 8% ด้วย
ความสำเร็จที่โดดเด่นที่สุดของ Gelsinger คือ การระดมทุนเพื่อสร้างโรงงานผลิตชิป โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ถึง 7.86 พันล้านดอลลาร์ ภายใต้โครงการ CHIPS Act ของรัฐบาล Joe Biden ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาการผลิตชิปจากไต้หวัน
นอกจากนี้ Gelsinger ยังดึงนักลงทุนภายนอกมาร่วมลงทุนสร้างโรงงานขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง โดยร่วมมือกับ Brookfield Asset Management ลงทุน 30 พันล้านดอลลาร์สร้างโรงงานที่รัฐ Arizona ในปี 2022 และร่วมมือกับ Apollo Global Management ลงทุน 11 พันล้านดอลลาร์สร้างโรงงานที่ไอร์แลนด์ในปีนี้ โดยในทั้งสองดีล Intel ถือหุ้นใหญ่ 51% ส่วนนักลงทุนถือหุ้น 49%
แต่กลับกลายเป็นว่าดีลครั้งนี้จะเป็นอุปสรรคหลายอย่างหาก Intel ต้องการขายกิจการ Foundry ที่ยังไม่มีกำไรออกไป อย่างแรกคือ เงื่อนไขของเงินทุนจาก CHIPS Act เพราะหาก Intel ขาย Foundry หรือเสียสิทธิ์ควบคุมธุรกิจนี้ ก็จะเสียเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ไปด้วย
อีกทั้ง Intel ยังติดเรื่องข้อตกลงการลงทุนกับ Brookfield และ Apollo ที่กำหนดไว้ว่า Foundry ต้องผลิตชิปให้ Intel เองด้วย ซึ่งหมายความว่า Foundry จะต้องทำกำไรให้ได้ก่อนจึงจะขายได้ แต่การแข่งขันในตลาด Foundry นั้นดุเดือด แถมมีเจ้าตลาดอย่าง TSMC ที่มีลูกค้ารายใหญ่ในมือนับไม่ถ้วน การทำกำไรใหญ่ให้ได้ในระยะเวลาอันนั้นจึงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับ Intel ในตอนนี้
นักวิเคราะห์เชื่อว่า อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ Gelsinger ถูกปลดสายฟ้าแลบน่าจะเกิดมาจากการแย่งชิงอำนาจภายในของ Intel ระหว่างฝ่ายธุรกิจชิปพีซี (CCG) กับฝ่ายอื่นๆ โดย CCG เป็นธุรกิจหลักดั้งเดิมของ Intel และดูเหมือนว่าจะมีปัญหาไม่ลงรอยกับโครงการใหม่ๆ ที่ทำรายได้เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ของ CCG (ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Foundry) ซึ่งทำให้สุดท้ายแล้วโครงการใหม่ๆ ของ Intel มักจะถูกยกเลิกไปก่อนที่จะเกิด
นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่งในซีอีโอร่วมชั่วคราวของ Intel ตอนนี้อย่าง Michelle Holthaus คือคนที่มาจากฝ่าย CCG ซึ่งยิ่งตอกย้ำการวิเคราะห์ว่า CCG ดูเหมือนจะมีอำนาจเหนือซีอีโอ
แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเข้ามารับตำแหน่ง CEO คนต่อไปของ Intel แต่บอร์ดบริหารก็เลือกแต่งตั้ง David Zinsner และ Michelle Holthaus พนักงานมากประสบการณ์ของ Intel เพื่อเป็นผู้บริหารองค์กรแบบขัดตาทัพ โดยภารกิจต่อไปของว่าที่ผู้บริหารคนใหม่ Intel คือการเร่งแก้ปัญหาทั้งหมด 3 อย่าง คือ
Intel มีรายได้ลดลง 14% ในปี 2023 ขาดทุนมากกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์ตอนนี้ต้องเผชิญส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลงเนื่องจากคู่แข่งอย่าง NVIDIA และ TSMC ก้าวล้ำกว่าในด้านนวัตกรรม และการดำเนินงาน
ธุรกิจ Foundry ซึ่งเป็นเสาเหลักของแผนพลิกฟื้นกิจการ ซึ่งถูกก่อตั้งเพื่อแข่งขันกับ TSMC ในการผลิตชิปให้กับลูกค้าภายนอก ยังเป็นธุรกิจที่ไม่สามารถทำกำไรได้ โดยซีอีโอร่วมชั่วคราวของ Intel ได้ร่างแผนการปรับปรุงกำไรโดยมุ่งเน้นไปที่เวฟเฟอร์มูลค่าสุง และลดต้นทุน รวมถึงจะเน้นไปที่ Lunar Lake ชิปใหม่ของ Intel ที่เน้นไปที่การประมวลผล AI เป็นหลัก ซึ่งน่าจะเป็นไพ่ตายที่ทำให้แข่งขันในยุค AI บูมเช่นนี้ได้
การครองตลาด GPU อย่างต่อเนื่องของ NVIDIA รวมถึงความสามารถด้านการผลิตชิปของ TSMC เป็นสองปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Intel อาจต้องหาจุดยืนในตลาดเซมิคอนดักเตอร์อีกครั้ง แม้ว่า Intel จะมีธุรกิจ Foundry ซึ่งน่าจะช่วยทำเงินให้อีกทางแล้ว แต่โจทย์ที่ท้าทายคือการหาลูกค้า พาร์ทเนอร์ และเรียกความเชื่อมั่นท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านของ CEO
อ้างอิง : winbuzzer, yahoofinance, inc, bloomberg
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด