“Google” กับการพัฒนาทัศนคติในการทำงานเพื่อความก้าวหน้า | Techsauce

“Google” กับการพัฒนาทัศนคติในการทำงานเพื่อความก้าวหน้า

ถอดบทเรียนจากเสวนา True Digital Park: Time for Thailand #6” 

โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยี ผู้คน และธุรกิจต่างๆ หากองค์กรใดสามารถปรับตัวได้เร็ว และไม่หยุดนิ่ง ก็จะอยู่รอดในช่วงเปลี่ยนผ่านได้ ซึ่งหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรปรับตัวและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้ โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล ก็คือ “คน” ที่ไม่เพียงแต่เป็นคนเก่ง แต่ต้องเป็นผู้ที่มองเห็นโอกาสอยู่เสมอ ไม่ย่อท้อที่จะเรียนรู้และพัฒนา

True Digital Park จุดหมายปลายทางระดับโลก (Global Destination) ของคนยุคดิจิทัล จึงจัดงานเสวนา Time for Thailand #6 หัวข้อ "Inside culture of success led by innovation and growth mindset" หยิบยกเรื่อง “Growth Mindset” หรือทัศนคติในการทำงานเพื่อความก้าวหน้า ซึ่งเป็นคุณสมบัติของ “คน” ที่จะเป็นกุญแจสำคัญนำพาองค์กรให้สามารถปรับตัว ยืดหยุ่น และพร้อมเผชิญกับความท้าทายในอนาคตได้ โดย คุณชูชาติ อาลีคาน Industry Manager จาก Google ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม ได้มาถ่ายทอดแนวคิดและทิศทางในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

คุณชูชาติ อาลีคาน Industry Manager จาก Google เล่าว่าเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว กูเกิลได้เริ่มแตกตัวเป็นบริษัทย่อยๆ เพื่อให้การปลูกฝัง Growth Mindset ทำได้ทั่วถึงทั้งองค์กร แนวทางนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า และโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งจะมี KPI เป็นตัวชี้วัด นั่นคือทุกคนจะต้องมีการเติบโตหรือการพัฒนาที่ดีขึ้น

สำหรับองค์กรที่เริ่มต้นพัฒนาด้าน Growth Mindset สิ่งที่บุคลากรต้องมีเป็นพื้นฐานคือ ทัศนคติแห่งการถ่อมตน คือการรู้และยอมรับในความสามารถของตนเองอย่างเหมาะสม เพื่อที่พร้อมจะเรียนรู้พัฒนาศักยภาพของตนเพิ่มเติม สิ่งนี้เป็นทัศนคติที่ทำให้เกิดการเติบโต ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ก้าวไปยังจุดที่สูงขึ้น การทำให้ทุกคนมีความถ่อมตน ไม่ใช่เรื่องง่ายในองค์กรใหญ่ๆ แต่ถ้าทำได้ จะก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่า เราจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้อย่างไร จะช่วยให้คนทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นได้

อีกประเด็นสำคัญขององค์กรที่มี Growth Mindset คือ การยอมรับความผิดพลาดได้ ควรมีการคิดล่วงหน้าไว้ว่า หากโปรเจ็คของเราล้มเหลว จะเป็นอย่างไรหรือจะทำอย่างไร และองค์กรควรทำให้พนักงานรู้สึกว่า ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เมื่อล้มเหลวแล้ว ให้เรียนรู้ แก้ไข เพื่อก้าวไปต่ออย่างรวดเร็ว เพราะโอกาสไม่เคยรอใคร

สำหรับ Google นอกจากการมี Growth Mindset ของคนและองค์กรแล้ว ปัจจัยภายนอกที่ผลักดันให้กูเกิลพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง คือผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งทำให้เกิดโอกาสมหาศาลสำหรับ Google ด้วย ผู้บริโภคชาวไทยมีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเพียงแค่บริการพื้นฐาน ซึ่งความต้องการเหล่านี้ เป็นแรงผลักดัน และเป็นโอกาสที่กูเกิลจะพัฒนาบริการมาเติมเต็มพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ “เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยน จึงมีบริการที่ตอบสนอง ความต้องการเฉพาะของตลาดในประเทศไทยตามมาด้วย เช่น แผนที่เดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ และ ฟรีอินเทอร์เน็ตในสถานที่สำคัญ เป็นตัวอย่างการปรับให้เข้ากับตลาด ซึ่งต้องอาศัย Growth Mindset ในการก้าวไปกับตลาดและอยู่ให้ได้นาน ทั้งนี้ Google ไม่ได้โฟกัสที่การแข่งขันเป็นอันดับแรก แต่สิ่งสำคัญคือ “ผู้ใช้” ต้องมีประสบการณ์การใช้งานที่ดี แล้วอย่างอื่นก็จะตามมา”

เมื่อกล่าวถึง Growth Mindset กับการนำมาใช้ในวิธีการทำงานของพนักงาน Google นั้น คุณชูชาติ กล่าวว่า จะมีการตั้งคำถามในทุกสิ่งที่ทำว่า เรารู้จักลูกค้าดีหรือยัง มีโซลูชั่นตอบโจทย์หรือไม่ รวมทั้งการใส่ใจกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ เช่น เรื่องแมชชีนเลิร์นนิ่งเพื่อเรียนรู้จากข้อมูลและ คำติชมของผู้ใช้ และนำไปพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ดีมากยิ่งขึ้น หรือจากบริการค้นหาข้อมูลพื้นฐาน ก็เพิ่มเติมมาเป็น Google Translate ที่พัฒนาประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วน Google Photos เป็นทั้งที่เก็บภาพและเครื่องมือในการเสิร์ชที่ดีด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้ การพัฒนาบุคลากรของ Google ก็เกิดขึ้นตลอดเวลา หากพนักงานคิดว่ายังขาดทักษะและต้องการพัฒนา ก็จะมีหลักสูตรให้เลือกหลายโครงการ ส่วนผู้นำเองก็ถูกประเมินด้วยเช่นกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ได้รับข้อมูลเพื่อพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น มีระบบการให้ข้อมูลย้อนกลับ และแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน มีการทำงานเป็นทีม เปิดเผยเป้าหมายและผลลัพธ์ที่ต้องการ มีความไว้วางใจ ซึ่งถือเป็นการสร้าง ความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในองค์กร

“สิ่งสำคัญคือ การยึดมั่นในพันธกิจ การก้าวไปไกลกว่าขีดจำกัดที่เป็นไปได้ เป็นที่มาของผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาบริการให้ตอบสนองผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น ผู้ก่อตั้งกูเกิลคือ คุณแลร์รี่ เพจ ได้ให้ข้อคิดถึงการทำให้ดีขึ้น 10 เท่าไม่ใช่แค่ 10%” คุณชูชาติ กล่าวทิ้งท้าย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...

Responsive image

เปิดดีล NVIDIA ปี 2024 ในอาเซียนไปร่วมมือใครมาบ้าง ?

NVIDIA ขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2024 ด้วยการลงทุน AI Centers และการพัฒนาระบบ AI ร่วมกับพันธมิตรในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ขับเคลื่อนภูมิภาคสู่การเป็นศูนย์...