พลังงานสะอาด หรือ พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ได้กลายเป็นประเด็นหลักที่ผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นทางเลือกเสริมที่สามารถทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงที่กำลังจะหมดไปได้อย่างดี อีกทั้งมีส่วนสำคัญในการลดมลพิษต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อม ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และมนุษย์ได้อย่างยั่งยืน
จึงไม่แปลกใจเลยว่าประเทศต่าง ๆ เริ่มออกนโยบายที่จะผลักดันพลังงานสะอาดให้เป็นวาระสำคัญแห่งชาติ โดยเฉพาะประเทศไทยเองก็ได้กำหนดแผนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นผ่านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือแผน PDP และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 25-30% ภายในพ.ศ. 2573 ขณะเดียวกันไทยยังกำหนดแผนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ผลที่เกิดขึ้นก็คือ หลาย ๆ บริษัทพลังงานก็ได้ตอบรับถึงนโยบายดังกล่าว และอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงเป็นพลังงานสะอาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป
วันนี้ Techsauce จะพามาทำความรู้จักกับ Global Power Synergy Public Company Limited หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจพลังงานไฟฟ้าของกลุ่มปตท. ที่ต้องการจะพัฒนาบริษัทให้สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานแห่งอนาคต ด้วยการเริ่มเดินหน้าเปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 64 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อผลิตนวัตกรรมแบตเตอรี่ที่มีชื่อว่า “G-Cell” อันเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และยานยนต์ไฟฟ้า แล้ว G-cell แตกต่างจากแบตเตอรี่ทั่วไปอย่างไร ตอบโจทย์ใคร แล้วจะสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญกับสภาพแวดล้อมของเราในอนาคตอย่างไรบ้างมาดูกัน
ปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่ดีที่สุดสำหรับการกักเก็บพลังงานจะมาจากลิเทียมไอออน (Lithium Ion) ที่มีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก ปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตราย มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เหมาะแก่การใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง สมาร์ทโฟน แต่ข้อเสียของแบตเตอรี่ชนิดนี้คือมีต้นทุนการผลิตที่ราคาสูง และอาจเกิดสารเคมีรั่วไหลระหว่างกระบวนการผลิต รวมไปถึงไม่สามารถรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ได้
G-Cell เป็นนวัตกรรมแบตเตอรี่ลิขสิทธิ์ของบริษัท 24M จากสหรัฐฯ ที่ GPSC ได้เข้าไปลงทุน จะนำมาตอบโจทย์ข้อเสียของแบตเตอรี่ลิเทียมที่ใช้งานในปัจจุบันมาแก้ไขด้วยการผลิตรูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า ‘Semi-Solid’ การผสมผสานระหว่างเซลล์แบตเตอรี่แบบ LFP (Lithium Ion Phosphate) กับแบตเตอรี่ประเภท Solid State (แบตเตอรี่ที่ไม่มีของเหลวผสม) เข้าด้วยกัน เป็นการนำจุดแข็งด้านการกักเก็บพลังงานและอายุการใช้งานของลิเทียมไอออนมาผนึกกับคุณสมบัติของ Solid State ที่ดึงไฟและชาร์จไฟได้รวดเร็ว และที่สำคัญ กระบวนการการผลิตรูปแบบนี้ไม่ได้ใช้แร่โลหะเช่น ทองแดง หรืออลูมิเนียม ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง ปลอดภัยและสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้หลังแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งานไปแล้ว
เรียกได้ว่า G-Cell เป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าวิถีการผลิตแบบปกติ นำไปใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ (Mobility Application - Light Duty and Heavy Duty) อาทิ รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Stationary Application)
โรงงานกักเก็บพลังงานแห่งใหม่ของ GPSC ที่จะเข้ามาเติมเต็มระบบนิเวศพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มปตท. กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)
นอกจากจะมีผลิตภัณฑ์ตัวชูโรงอย่าง G-Cell ที่อยู่ในรูปแบบ Battery Pouch Cell แล้ว ยังมีศักยภาพที่จะขยับขยายระดับกำลังการใช้งานแบตเตอรี่ G-Cell เพื่อกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ G-Pack ซึ่งนำ Battery Pouch Cell ต่อกันเป็น Battery Module และ Pack พร้อมทั้งติดตั้งระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ หรือ Battery Management System (BMS)
ยิ่งไปกว่านั้น โรงงานสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดผลิตแบตเตอรี่จนไปถึงผลิตภัณฑ์กลุ่ม G-Box ซึ่งเหมาะสำหรับระบบสำรองไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System หรือ ESS) ที่มีขนาดตั้งแต่ 10-1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) AI (ระบบปัญญาประดิษฐ์) และ Block-chain เข้ามาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มการให้บริการกับกลุ่มลูกค้า ตามขนาดของความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ขณะนี้โรงงานกักเก็บพลังงานแห่งใหม่ของ GPSC ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง รองรับกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง) ต่อปี และเน้นการผลิตและจัดจำหน่ายเซลล์แบตเตอรี่แบบ LFP ในระยะแรก แม้ว่าเซลล์แบตเตอรี่ประเภทนี้ช่วยในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ ได้จำกัด และยังไม่สามารถนำไปใช้กับรถยนต์ส่วนบุคคลได้ แต่ GPSC ก็เห็นความสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม Passenger EV ว่าจะเข้ามาเติบโตในไทยและมีบทบาทสำคัญในอนาคต จึงนำเข้าแบตเตอรี่แบบ NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) ที่ผลิตจากเทคโนโลยี Semi-Solid โดยบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (AXXIVA) ประเทศจีน ที่ GPSC ได้เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาแผนการลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด Giga-scale เพื่อสอดรับกับความต้องการและนโยบายภาครัฐฯ
ในอนาคตมีแนวโน้มว่า GPSC อาจพัฒนาแบตเตอรี่จากเซลล์ NMC เพื่อช่วยเติมเต็มอุตสาหกรรม EV ในไทยให้เติบโตได้ก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน
โรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งนี้ GPSC ยังได้พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องของแบตเตอรี่ และระบบกักเก็บพลังงาน ภายใต้ชื่อ Experience center ที่จะเปิดให้กลุ่มลูกค้า นักเรียน นักศึกษาและเยาวชน สามารถเข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีที่สำคัญของไทย ซึ่งจะช่วยให้เป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ โดยในศูนย์ดังกล่าวแบ่งเป็นหลายโซนตั้งแต่การให้ความรู้การพัฒนาแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และชนิดของแบตเตอรี่ลิเธียมไอรอน ที่มีหลายรูปแบบที่จะเป็นส่วนสำคัญพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวหรือเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะเกิดขึ้นในประเทศที่จะมีบทบาทในชีวิตประจำวันในอนาคต
บทความนี้เป็น Advertorial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด