ล้ำหน้าไปกับไอเดียพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ โดยคนรุ่นใหม่ในโครงการ GPSC Greenovation Startup Sandbox | Techsauce

ล้ำหน้าไปกับไอเดียพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ โดยคนรุ่นใหม่ในโครงการ GPSC Greenovation Startup Sandbox

ทุกวันนี้ในอุตสาหกรรมต่างให้ความสำคัญกับเรื่อง ความยั่งยืน (Sustainability) กันมากขึ้น ทำให้องค์กรต้องเร่งผลักดันให้ตอบรับกับกระแสนี้ ทั้งในด้านการออกนโยบาย การสร้างบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และรวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น

และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ก็คือหนึ่งในองค์กรด้านพลังงานที่ต้องการสร้างนวัตกรรมบนความยั่งยืน ผ่านฝีมือของคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวไปเป็นส่วนสำคัญของโลก และเป็นกลุ่มที่เล็งเห็นประโยชน์จากเทคโนโลยีนั่นเอง

ในบทความนี้ Techsauce จึงจะพาผู้อ่านทุกคนไปทำความรู้จัก และชมผลงานล่าสุดของ GPSC ที่ได้ดึงมือของคนรุ่นใหม่มาร่วมพัฒนาไอเดีย และสร้างนวัตกรรม Green Energy เพื่อคนไทย

ทำความรู้จัก GPSC กับกลยุทธ์ 4S เน้นนวัตกรรมและความยั่งยืน

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC หนึ่งในยักษ์ใหญ่แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. โดย GPSC ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ น้ำอุตสาหกรรม ซึ่งจะประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และสาธารณูปโภคอื่น ๆ อย่างการเข้าไปลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่และธุรกิจแบตเตอรี่

ทั้งนี้ GPSC จะมุ่งสูการพัฒนาธุรกิจผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ 4S ซึ่งประกอบไปด้วย

  • S1: Strengthen and expand the Core สร้างความแข็งแกร่ง พร้อมขยายการให้บริการในธุรกิจหลัก มุ่งสร้างการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพในระดับสากล เพื่อให้เกิดสาธารณูปโภคที่ตอบรับกับความต้องการของลูกค้า พร้อมกับการเดินหน้าขยายไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ 

  • S2: Scale-up Green energy เพิ่มพอร์ตพลังงานสีเขียว มุ่งไปที่การเพิ่มปริมาณการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมพร้อมกับบูรณาการพลังงานหมุนเวียนร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน

  • S3: S-curve and Batteries เดินหน้าลงทุนด้านนวัตกรรมจากธุรกิจใหม่ และธุรกิจแบตเตอรี่ ทั้งการลงทุนในธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน ธุรกิจแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และรวมไปถึงธุรกิจเชิงนวัตกรรม

  • S4: Shift to customer-centric solutions สร้างบริการโซลูชั่นที่มุ่งลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พัฒนาการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภค ณ จุดใช้งานโดยใช้นวัตกรรมพลังงาน พร้อมกับการพัฒนาโซลูชั่นและการบริหารจัดการพลังงาน ที่จะสามารถดูแลได้ทั้งลูกค้าและสิ่งแวดล้อม

GPSC กับอีกก้าวของการสนับสนุนสตาร์ทอัพ Green Energy

ในช่วงที่ผ่านมา GPSC ได้เปิดตัวโครงการ “GPSC Greenovation Startup Sandbox” ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียดี ๆ และ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้เข้าร่วมประกวดการพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาด ภายใต้โจทย์ “เราจะพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยใช้นวัตกรรมพลังงานสะอาดที่คุณสามารถเข้าถึงได้”

โดยตลอดระยะเวลาของโครงการที่ดำเนินไปกว่า 5 เดือน ผู้เข้าร่วมการแข่งขันได้รับประสบการณ์มากมาย ผ่านการทำกิจกรรมเวิร์กช็อปที่เข้มข้น พร้อมฟังคำปรึกษาในการต่อยอดไอเดียธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ โดยในการแข่งขัน Pitching จะมีการตัดสินโดยคณะกรรมการ 5 ท่าน ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก GPSC, VC และ Venture Builder และผู้ชนะเลิศในรอบสุดท้าย (Final Pitching Day) ได้รับเงินรางวัลไปทั้งสิ้น 100,000 บาท และผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอีก 2 ทีมได้รับเงิน 30,000 บาท เพื่อไปต่อยอดธุรกิจ

ซึ่งโครงการนี้เป็นปีแรกของ GPSC กับการพัฒนานวัตกรรมควบคู่ไปกับคนรุ่นใหม่ โดยโครงการนี้ได้เฟ้นหาเอาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน 

ทำความรู้จัก Electron+ ทีมชนะเลิศจาก GPSC Greenovation Startup Sandbox

Electron+ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการ GPSC Greenovation Startup Sandbox เจ้าของไอเดีย เทคโนโลยี Flexible Thermo Electric หรือ FTE เทคโนโลยีการทำความเย็นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นระบบทำความเย็นแบบใหม่ ที่ตอบรับกับ Green Energy โดยสมาชิกของทีมประกอบไปด้วย คุณจักรกฤษ กอบพันธ์ (CEO) คุณณัฐริกา ทีฆะสุข (COO) และ คุณฮันนาตุลฆอรอห์ นะปิต๊ะ (CHO)

โดยทั้ง 3 ท่านได้อธิบายว่า ในปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นที่สนใจในสังคม ซึ่งหัวใจหลักของยานยนต์ไฟฟ้า คือ แบตเตอรี่ ที่ทำหน้าที่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อป้อนมอเตอร์ในการขับเคลื่อน ขณะเดียวกันยังป้อนส่วนอื่น ๆ ที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในรถด้วย โดยเฉพาะแอร์ ทำให้เกิดอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานของรถยนต์เพิ่มมาก ในกรณีของรถยนต์สันดาป จะทำให้อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นถึง 30% แต่ถ้ากรณีรถยนต์ไฟฟ้าจะทำให้เวลาที่ควรจะวิ่งได้ลดลงไปถึง 40% และ ปัญหาที่พบ คือ การทำงานของรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อแบตเตอรี่ใกล้จะหมดรถยนต์จะเปิดโหมดอีโค่เพื่อเซฟแบตเตอรี่ ระบบแอร์จะไม่ทำงาน เหลือเพียงลมที่ออกมาจากคอนโซลหน้ารถเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นสารทำความเย็นในคอมเพรสเซอร์หากมีการหลุดลอยออกไปในอากาศ มันจะเป็นสารที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่นำไปสู่การเกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย

ด้วยโจทย์นี้ทาง Electron+ ที่มีประสบการณ์ในการทำวิจัยเรื่อง Thermo Electric มาตลอด 7-8 ปี จึงได้นำเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาเป็นระบบทำความเย็นแบบใหม่เปลี่ยนจากใช้ระบบคอมเพรสเซอร์มาใช้ FTE โดยจะติดตั้งระบบทำความเย็นไว้กับรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ไม่มีแอร์ ซึ่งระบบทำความเย็นนี้จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลเข้ามาจ่ายให้กับการทำความเย็นโดยไม่ไปรบกวนแบตเตอรรี่รถยนต์ไฟฟ้าตัวหลัก นอกจากนี้ยังนำเอาเทคโนโลยี IoT เข้ามาเป็นตัวช่วยให้สามารถสั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือได้ โดยจากการทดสอบเมื่อนำรถจอดไว้กลางแดดจัด และสามารถวัดอุณหภูมิตัวรถได้ที่ 55 องศา แต่ขณะเดียวกันในตัวรถที่เปิดระบบทำความเย็นของ Electron+ อุณหภูมิภายในรถจะอยู่ที่ 25 องศาเท่านั้น

อนาคตของ Electron+ และเทคโนโลยี Thermo Electric

Electron+ อธิบายเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยี Thermo Electric จะมีโหมดในการทำงานหลัก ๆ อยู่ 2 โหมด คือ 

  1. การนำไปใช้เป็น Generator คือ การเปลี่ยนพลังงานความร้อนเหลือทิ้งไปเป็นพลังงานไฟฟ้า 
  2. การนำไปประยุกต์เป็นอุปกรณ์สร้างความร้อนและความเย็น ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้หลากหลาย 

ซึ่งปัจจุบันนี้พลังงานหมุนเวียนมีเพียง กังหันลม โซลาร์เซล เขื่อน และนิวเคลียร์ แต่ยังไม่มีการนำความร้อนเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะการทำกับข้าว หุงต้ม หรือในอุตสาหกรรมที่ใช้ความร้อน งานวิจัยพบว่า Waste heat มีมากถึง 50-70% ยกตัวอย่างเช่น ความร้อนที่ออกมาจากแก๊สหุงต้ม จะมีการใช้จริงเพียง 30% ส่วนอีก 70% เป็นความร้อนเหลือทิ้ง ไม่เกิดประโยชน์ และหากว่ามีเทคโนโลยีที่เข้ามาปิดช่องว่างตรงนี้ นำเอา Waste heat มาใช้งานได้จริง ก็จะเป็นประโยชน์ในวงการพลังงานเป็นอย่างมาก 

โดยในต่างประเทศ อย่าง เกาหลีใต้ และอเมริกา ก็กำลังให้ความสนใจกับเทคโนโลยี Thermo Electric นี้อย่างมาก และกำลังแข่งขันกันในการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ และรวมไปถึงลดต้นทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีตัวนี้

นอกจากนี้ Electron+ ยังได้คาดการณ์อีกว่า ภายใน 5-7 ปี เทคโนโลยี Thermo Electric นี้จะสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพตามทันโซลาร์เซลอย่างแน่นอน อย่างในอดีตที่โซลาร์เซลเป็นสิ่งที่มีราคาสูง การทำงานก็ยังไม่มีประสิทธิภาพพอ แต่ทุกวันนี้เมื่อมีการลงทุนมากขึ้น ทำให้ราคาลดลง มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีคนใช้งานมากขึ้น เช่นเดียวกันกับ Thermo Electric ที่ตอนนี้ประสิทธิภาพอาจจะยังไม่สูงมาก ราคาต้นทุนยังไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะสามารถพัฒนาให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น และราคาถูกลงนั่นเอง

และสำหรับ Electron+ หลังจากที่ได้รับรางวัล ได้ตั้งเป้าที่จะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในการพัฒนาเทคโนโลยีและหาศักยภาพในการไปใช้ในงานต่าง ๆ มากขึ้น พร้อมที่จะเดินหน้าไปเป็นบริษัทนักพัฒนาและสร้าง Semiconductor แห่งแรกของประเทศไทย 

นอกจาก Electron+ แล้ว ยังมีอีก 2 ทีมที่น่าสนใจ เป็นทีมที่ได้รางวัลรองชนะเลิศ ซึ่งประกอบไปด้วย ทีม Onecharge ที่นำเสนอแอปพลิเคชันค้นหาสถานีชาร์จสำหรับผู้ใช้งานรถยนต์ EV เป็นแอปพลิเคชันแบบ One-stop Service คือผู้ใช้สามารถค้นหา และจ่ายผ่านแอปได้เลย ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางใหม่ ๆ ให้กับผู้ใช้รถ EV ได้มีความสะดวกมากขึ้น 

และอีกหนึ่งทีมคือ ควายงาน ผู้คิดค้น Buffbox ซึ่งเป็นผลงานที่น่าสนใจของทีมนี้ โดยจะสามารถเข้าไปช่วยภาคเกษตรกรรมได้เป็นอย่างดี อุปกรณ์ Buffbox เป็นเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน

โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ 4S ของ GPSC ที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ในการนำพลังงานสะอาดที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรามาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและลดการปล่อยคาร์บอนจากพลังงานแบบเดิม ๆ ที่เราใช้ เพื่อให้ตอบโจทย์ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

แม้ว่าผู้ได้รับรางวัลจะมี 3 อันดับ แต่สิ่งที่คนรุ่นใหม่ที่ได้แสดงออกมาทำให้เห็นได้ว่าไอเดียของคนรุ่นใหม่จะเป็นการเปิดโอกาสและประตูสู่พลังงานทางเลือกในอนาคตที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมและโลกดีขึ้นได้

บทความนี้เป็น Advertorial


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดดีล NVIDIA ปี 2024 ในอาเซียนไปร่วมมือใครมาบ้าง ?

NVIDIA ขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2024 ด้วยการลงทุน AI Centers และการพัฒนาระบบ AI ร่วมกับพันธมิตรในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ขับเคลื่อนภูมิภาคสู่การเป็นศูนย์...

Responsive image

ใครคือ SIAM AI CLOUD ? บริษัทเทคไทยที่ NVIDIA เลือก ด้วยอายุจดทะเบียนเพียง 10 เดือนกับ 19 วัน

บทความนี้จะพาไปสำรวจเบื้องหลังความสำเร็จของ SIAM AI CLOUD ทำไมไทยที่ก่อตั้งมาไม่ถึงปีถึงสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการเทคโนโลยีจนดึงตัวแม่ทัพใหญ่ของ NVIDIA มาไทยได้ !...

Responsive image

10 ไฮไลท์นวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพไต้หวัน ก้าวล้ำนำอนาคตในงาน Taiwan Expo 2024

10 นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ไฮไลท์จาก Taiwan Healthcare Pavilion ที่จะมาปฏิวัติวงการแพทย์ในทุกมิติ จากงาน Taiwan Expo 2024...