ปลุกชีพอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลัง COVID-19 ด้วย 'Travel Bubble' | Techsauce

ปลุกชีพอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลัง COVID-19 ด้วย 'Travel Bubble'

ผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 เปรียบเสมือนสึนามิที่ถาโถมเข้ามายังภาคธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างไม่ทันตั้งตัวเริ่มตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (2562) และลากยาวมาจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 เกือบจะครึ่งปีแล้วโดยรวมดูเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้นแต่ก็ดีขึ้นเพียงแค่ในบางประเทศบางภูมิภาคเท่านั้นเพราะในบางพื้นที่ของโลกยังประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดและจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่

สำหรับประเทศไทยน่าภูมิใจที่เราคือหนึ่งในประเทศที่มีการควบคุมการระบาดและสามารถบริหารจัดการกับวิกฤต COVID-19 ได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลกและแน่นอนเมื่อสถานการณ์เริ่มทุเลาลงก็เริ่มมีการพูดถึงเรื่องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เมื่อต้นน้ำของกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างการเดินทางถูกระงับไปกิจกรรมอื่นๆ จึงได้รับผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยในปัจจุบันการท่องเที่ยวถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญของผู้คนทั่วไปที่มีพฤติกรรมต้องการสร้างประสบการณ์ชีวิตและให้รางวัลชีวิตโดยการท่องเที่ยวบางประเทศการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมหลักในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ

ด้วยเหตุนี้หลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและในหลายๆ ประเทศที่สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นจึงเริ่มหันมาพิจารณานโยบายในการเร่งฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวเพราะการท่องเที่ยวถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่สามารถฟื้นตัวและสร้างผลตอบแทนได้เป็นกอบเป็นกำซึ่งจะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ง่ายที่สุดทั้งเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวรวมถึงอัตราการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการจากสถิติระบุไว้ว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวของโลกมีผลโดยตรงต่อ GDP ประมาณ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวของสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนโดยตรงกับจีดีพีทั่วโลกสูงสุด 580.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัท ท่องเที่ยวชั้นนำคือ Expedia Group และ Booking Holdings สร้างรายได้จากการขายสูงถึง 99 พันล้านเหรียญสหรัฐและ 92.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับในปี 2561 (Statista: Tourism worldwide - Statistics & FactsPublished by S. Lock, Mar 31, 2020) ซึ่งหนึ่งในมาตรการในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโลกที่กำลังถูกพูดถึงกัน ณ ขณะนี้ (เมษายน – มิถุนายน 2563) คือ Trend การท่องเที่ยวแบบ “Travel Bubble หรือระเบียงการท่องเที่ยวหรือการท่องเที่ยวในฟองอากาศ”

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจของแนวคิดนี้ก่อนว่ามันเกิดมาจากอะไร? 

Travel Bubble เกิดจากแนวคิดที่ต้องการฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศหรือระหว่างภูมิภาคแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยเป็นการอนุญาตให้ประเทศที่เป็นคู่ตกลงและเป็น Stakeholders กันมาทำข้อตกลงให้ประชากรของแต่ละประเทศสามารถเดินทางไปมาระหว่างกันได้โดยไม่ต้องผ่านมาตรการกักตัว 14 วันซึ่งการกักตัวเป็นข้อกำหนดที่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนักในหลายพื้นที่ทั่วโลกแต่ ณ ปัจจุบันนี้ (มิถุนายน 2563) 

สถานการณ์ในบางประเทศเริ่มดีขึ้นหลายประเทศเริ่มมีการอนุญาตให้ประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านได้มากขึ้นและแน่นอนเมื่อผู้คนที่ถูกกักบริเวณอยู่เป็นเวลานานๆ ความต้องการ (Demand) ในการท่องเที่ยวซึ่งเป็นพฤติกรรมนิยมของผู้คนในปัจจุบันย่อมเพิ่มสูงขึ้นตามมาด้วยประกอบกับหน่วยงานและผู้ประกอบการในด้านการท่องเที่ยวก็เริ่มที่จะเล็งเห็นถึงโอกาสในการที่จะใช้โอกาสนี้ในการพลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้คนหลังจากการถูกจำกัดบริเวณในช่วง COVID-19 ระบาดแต่โจทย์ที่สำคัญที่สุดในการพลิกฟื้นการท่องเที่ยวที่สำคัญคือ “ความปลอดภัยในการเดินทาง” เพราะหากเปิดให้ผู้คนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั่วโลกเหมือนก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 “ทุกฝ่ายจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดการระบาดระลอก 2 กลับมา?” ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดแนวคิด “ระเบียงท่องเที่ยวหรือ Travel Bubble” ขึ้นซึ่งเป็นแนวคิดในการให้ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันหรือมีพรมแดนติดกันสามารถเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันได้โดยไม่ต้องผ่านการกักตัว 14 วันซึ่งการถูกกักตัวถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่อาจทำให้การท่องเที่ยวไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งตัวอย่างของการนำแนวคิด Travel Bubble ไปดำเนินการที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือประเทศ “ออสเตรเลีย” และ “นิวซีแลนด์” ซึ่งล่าสุดทั้งสองประเทศก็ได้มีการตกลงด้วยวาจาในการที่จะนำแนวคิด Travel Bubble ไปปฏิบัติเนื่องจากหากดูตามสถิตินักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเยือนระหว่างกันของทั้งสองประเทศจะพบว่าในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวชาวนิวซีแลนด์ไปเยือนออสเตรเลีย 15.1% และมีนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียไปเยือนนิวซีแลนด์ 38.5% นอกจากนี้ประชากรของทั้งสองประเทศยังมีการย้ายถิ่นฐานรวมกันมากถึง 58,900 คนแบ่งเป็นชาวนิวซีแลนด์ย้ายถิ่นฐานไปยังออสเตรเลีย 31,300 คนและชาวออสเตรเลียย้ายไปนิวซีแลนด์ 27,600 คน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้สองประเทศหาทางร่วมมือการฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ประชากรของทั้งสองประเทศสามารถเดินทางไปมาระหว่างกันได้โดยไม่ต้องผ่านมาตรการกักตัว 14 วัน 

ภายใต้แนวคิดของการทำ “Travel Bubble” โดย Mr. Chris Roberts ผู้บริหารสมาคมการท่องเที่ยวของนิวซีแลนด์ให้แนวคิดหนึ่งที่สำคัญต่อการเกิด Travel Bubble ว่า “Travel Bubble จะมีศักยภาพในการทำงานสำหรับนักเดินทางหากเกิดวิธีการการทดสอบ COVID-19 อย่างรวดเร็วได้ที่สนามบิน” เนื่องจากหากไม่ต้องการให้มีการกักตัว 14 วันมาตรฐานการตรวจสอบเชื้อ COVID-19 ที่สนามบินซึ่งเป็นด่านแรกของการท่องเที่ยวย่อมต้องเป็นมาตรฐานที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเหตุผลที่ทำให้นิวซีแลนด์และออสเตรเลียเป็นตัวเลือกแรกของกันและกันในการทำ Travel Bubble เพราะแม้ว่าทั้งสองประเทศจะแยกจากกันโดยประมาณ 2,000 กิโลเมตร (1,243 ไมล์) และไม่ได้มีพรมแดนติดกันตามหลักของ Travel Bubble แต่ทั้งสองประเทศนี้มีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ใกล้ชิดระหว่างกันโดยผู้ถือหนังสือเดินทางชาวออสเตรเลียสามารถเดินทางและทำงานในนิวซีแลนด์ได้โดยไม่ต้องมีวีซ่าจากวิกฤต COVID-19 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนักดังนั้นแนวคิด Travel Bubble จึงได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหาแนวทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมและดูเหมือนจะได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศอีกด้วย ซึ่ง Mr. Simon Westaway ผู้อำนวยการบริหารของสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของออสเตรเลียกล่าวว่า 

มันเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยพลิกฟื้นการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในออสเตรเลียในอนาคตอันใกล้นี้ได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการอยู่รอดของธุรกิจการท่องเที่ยวและพนักงานหลายพันตำแหน่งในอุตสาหกรรม  

หากเราจะทำความเข้าใจให้ง่ายขึ้นถึงแนวคิดของ Travel Bubble เราสามารถนึกภาพของการท่องเที่ยวที่อยู่ในฟองอากาศโดยสมมติให้การเดินทางไปยังประเทศคู่ตกลงในการทำ Travel Bubble และสามารถท่องเที่ยวได้โดยที่ยังมีฟองอากาศเสมือนเกราะคุ้มกันไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมภายนอกเข้ามารบกวนและทำให้เราเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพราะก่อนจะมีการทำข้อตกลงกันทั้งสองประเทศหรืออาจจะใหญ่กว่านั้นเป็นระดับภูมิภาคต่างฝ่ายต่างได้ทำการตรวจสอบประชากรของตนเองแล้วอย่างเคร่งครัดก่อนออกเดินทางตลอดจนมีมาตรการรองรับการตรวจสอบด้านการเดินทางระหว่างกันเมื่อเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางที่มีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องกักตัวตามมาตรการป้องกัน COVID-19 เช่น อาจกำหนดให้มีการตรวจเชื้อด้วยชุดตัวแบบ Rapid Test ที่สนามบินหรือการกำหนดพื้นที่เฉพาะที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากประเทศคู่ตกลงสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ในประเทศของตนเองซึ่งเมื่อมาตรการที่เข้มงวดของทั้งสองประเทศมีประสิทธิภาพการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันก็จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างปลอดภัยเพราะไม่ได้เปิดให้ประเทศอี่นๆ ที่ไม่ได้เป็นคู่ตกลงในสัญญาของ Travel Bubble เข้ามาด้วยการจำกัดความเสี่ยงจะตกอยู่เพียงแค่ 2 ประเทศหรือแค่ในระดับภูมิภาคเท่านั้น

สำหรับประเทศไทยของเรานั้นในอนาคตแนวคิดนี้ก็อาจถูกนำมาพิจารณาปรับใช้ได้ในอนาคตเช่นกันโดยอาจไม่จำเป็นต้องรอการทำ Travel Bubble ในระดับมหาภาคเพียงอย่างเดียวซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานเนื่องจากต้องผ่านการเห็นชอบของประเทศคู่ตกลงในการทำ Travel Bubble แต่เราสามารถเริ่มต้นการทำ Travel Bubble ในระดับจุลภาคก่อนก็ได้ เช่น การอนุญาตให้ประชาชนในจังหวัดที่ “ไม่มีผู้ติดเชื้อหรือมีผู้ติดเชื้อในระดับต่ำ” สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้โดยไม่ต้องกักตัวภายใต้มาตรการการป้องกันอย่างเคร่งครัดและค่อยๆ ขยายไปยังการอนุญาตให้เดินทางระหว่างจังหวัดอื่นๆ หรือแม้แต่การทำ Travel Bubble ให้เป็น Cluster การท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดในแต่ละภูมิภาคซึ่งจะเป็นการช่วยฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบค่อยเป็นค่อยไปเพราะหากเราจะไปหวังนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่สถานการณ์จะกลับมาเหมือนเดิมเพราะแม้หลายประเทศจะอนุญาตให้เดินทางระหว่างกันได้แต่ความกังวลของนักท่องเที่ยวความเชื่อมั่นในมาตรการการป้องกัน COVID-19 ของประเทศปลายทางยังเป็นเครื่องหมายคำถามที่สำคัญว่าจะทำอย่างไรให้ผู้คนเกิดความมั่นใจ? ซึ่งคงต้องใช้ “เวลา” สักระยะในการรอให้พฤติกรรมของผู้คนกลับมาเหมือนเดิม แต่เพราะมี New Normal เกิดขึ้นหลายอย่างหลัง COVID-19 แน่นอนว่าพฤติกรรมของผู้คนที่กลับมาย่อมไม่มีทางเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป 

สำหรับการทำ Travel Bubble ในระดับภูมิภาคในส่วนของ Asian อาจเป็นจุดหมายต่อไปในการทำ Travel Bubble ระหว่างกันเพราะภูมิภาค SEA นอกจากบางประเทศจะมีพรมแดนติดกันแล้วหลายๆ ประเทศยังมียอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในระดับต่ำและมีการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี เช่น ไทย เวียดนาม พม่า บรูไน ลาว กัมพูชา ซึ่งประเทศเหล่านี้พึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการนำแนวคิด Travel Bubble ไปปฏิบัติน่าจะเป็นอีกหนึ่งวาระของ AEC ที่จะหารือแนวทางร่วมกันในอนาคตอันใกล้นี้

ถึงอย่างไรแนวคิดนี้ยังคงเป็นแค่ข้อเสนอหนึ่งเพราะในการปฏิบัติจริงคงมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายๆ อย่างที่รอการแก้ไขอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมาตรการคัดกรองที่ไม่ต้องเข้ากระบวนการกักตัว 14 วันหรือความเชื่อมั่นของผู้คนในพื้นที่ๆ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากประเทศคู่ตกลงทำ Travel Bubble เดินทางไปว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้พวกเขาได้อย่างไรว่ามีความปลอดภัยและไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของในพื้นที่นั้นๆ อีกและที่สำคัญที่สุดคือ “พฤติกรรมของนักท่องเที่ยว” ที่เชื่อว่าแม้แนวคิด Travel Bubble จะถูกนำมาปฏิบัติได้จริงผู้คนก็ยังคงมองเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศก่อนเป็นอันดับแรกไปอีกสักระยะก่อนที่จะมองถึงเรื่องการเดินทางระหว่างประเทศซึ่งกรณีนี้จะมีส่วนของ Supply Chain อื่นๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างสายการบิน สนามบิน บริการขนส่ง ฯลฯ เข้ามาเกี่ยวข้องและน่าจะต้องหาทางออกร่วมกันอีกสักระยะกว่าแนวคิดนี้จะนำมาปฏิบัติได้ต่อไปในอนาคต

อ้างอิง: Statista, CNN

Natthapat Kamolpollapat – POP 

FB: Hotel Man


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...